Call Me by Your Name

Call Me by Your Name

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

*************************

ผู้กำกับ :  Luca Guadagnino

ผู้อำนวยการสร้าง : Peter Spears, Luca Guadagnino, Emilie Georges, Rodrigo Teixeira, Marco Morabito, James Ivory, Howard Rosenman

ผู้เขียนบท : James Ivory

อ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง Call Me by Your Name โดย André Aciman

นักแสดง : Armie Hammer, Timothée Chalamet, Michael Stuhlbarg, Amira Casar, Esther Garrel, Victoire Du Bois

ผู้กำกับภาพ : สยมภู มุกดีพร้อม

ผู้ตัดต่อ : Walter Fasano

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

สำหรับ Call Me By Your Name นั้นเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายโรแมนติกของ อังเดร เอซิแมน ที่พูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเอลิโอ เด็กหนุ่มวัย 17 เชื้อสายอเมริกันอิตาเลียน-ยิว กับโอลิเวอร์ นักศึกษาหนุ่มชาวอเมริกันวัย 24 ปี ขณะมาช่วยงานคุณพ่อของเอลิโอช่วงปิดภาคฤดูร้อนในช่วงยุค 80’s

สำหรับคนที่อ่านหนังสือมาก่อน… ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียอรรถรส เพราะหนังดัดแปลงหลายๆ อย่างที่ปรากฏในหนังสือไปพอสมควร เช่น โลเคชันตามที่บรรยายในหนังสือ รวมถึงการหายไปของตัวละครบางตัว แต่ก็ยังคงไว้ซึ่ง ‘ข้อความ’ ที่ว่า “ความสวยงามของความรัก และความสัมพันธ์ที่แม้จะเริ่มต้นด้วยตัณหา แต่ก็ไปจบลงที่มิตรภาพอันแสนบริสุทธิ์งดงาม”…

ภาพ : https://fangirlish.com/

กัวดาญีโนถักทอองค์ประกอบต่างๆ ในหนังเข้าหากันได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นงานภาพของผู้กำกับภาพชาวไทย สยมภู มุกดีพร้อม ที่จับเอารายละเอียดต่างๆ (ตั้งแต่ทิวทิศน์ อุณหภูมิของแสงแดด แมลงวันที่ไต่ตอม ไปจนถึงเงาของคลื่นน้ำที่สะท้อนขึ้นมากระทบใบหน้า) เอาไว้ในภาพได้อย่างสวยสดเป็นธรรมชาติ เพลงประกอบที่ได้ ซุฟยาน สตีเฟนส์ มาเป็นผู้ประพันธ์และขับขานถึงความรักได้ชวนเคลิบเคลิ้ม ไปจนถึงเคมีที่เข้ากันได้ดีเยี่ยมระหว่างชาลาเมต์กับแฮมเมอร์​ โดยเฉพาะการแสดงของชาลาเมต์ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเสน่ห์เหลือล้นและยังเต็มไปด้วยความเปราะบาง ละเอียดอ่อน และซับซ้อนทางอารมณ์

ภาพ : https://www.newyorker.com/

หนังจึงไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าตัวละครกำลังตกอยู่ในห้วงภวังค์แห่งความรักใคร่ (โดยเฉพาะตัวเอลิโอที่กำลังอยู่ในวัยกลัดมัน) แต่ยังชโลมให้ทุกอณูของภาพและเสียงเปี่ยมล้นไปด้วยแรงปรารถนา ทำให้คนดูตกอยู่ในมนตร์สะกดได้ แม้หนังแทบจะไม่มีเหตุการณ์ที่เด่นชัดหรือพล็อตตามตำรับหนังแนว coming-of-age มากนักก็ตาม

ตลอดทั้งเรื่อง หนังค่อยๆ เผยให้เห็นชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ของฤดูร้อนนั้น บทสนทนาบนโต๊ะอาหารมื้อแล้วมื้อเล่า การกระโจนลงน้ำเพื่อคลายร้อนในยามบ่าย การง่วนอยู่กับหนังสือและการถอดโน้ตดนตรีของเอลิโอ และประโยคบอกลา “ค่อยว่ากัน!” อันเป็นเอกลักษณ์ของโอลิเวอร์ก่อนที่เขาจะขี่จักรยานจากไป

ภาพ : https://theplaylist.net/

หลายครั้งแต่ละฉากถูกตัดจบไปดื้อๆ โดยไม่บอกเหตุผลหรือจุดคลี่คลายของเหตุการณ์ แต่ด้วยการเผยให้เห็นฉากสั้นๆ หลายๆ ฉากที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญนี่เอง หนังได้แสดงให้เห็นตัวตนของคนทั้งสองและพัฒนาการความสัมพันธ์ของพวกเขาไปด้วยในตัว จากที่เริ่มรู้จัก สู่การหยั่งเชิงกันไปมา การโกรธเคืองกันด้วยความไม่เข้าใจ ไปถึงการเปิดเผยความรู้สึกทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งรักกันจนหมดหัวใจ

ดนตรี บทประพันธ์​ งานศิลปะ และโบราณวัตถุที่รายล้อมกลายมาเป็นสื่อกลางที่พวกเขาใช้ในการเรียงร้อยเชื่อมโยงความรู้สึกถึงกัน ดังเช่นประโยค “พูดออกไปหรือตายซะดีกว่า” ในวรรณคดีโรแมนซ์ของฝรั่งเศส ไม่เพียงถูกใช้เพื่อยั่วล้อการเก็บงำความในใจ หากยังสะท้อนภาวะที่ต้องปกปิดเมื่อตกหลุมรักคนเพศเดียวกันด้วย

ขณะที่อนุสาวรีย์สงครามโลกครั้งที่ 1 กลายมาเป็นสถานที่สารภาพความรู้สึก ในฉากนั้น ทั้งสองเดินอ้อมอนุสาวรีย์ไปคนละฝั่ง เอลิโอเผยความในใจให้โอลิเวอร์ได้รับรู้จากฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฝั่ง ก่อนจะเดินกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง การสารภาพรักครั้งนี้จึงยั่วเย้าไปกับระยะห่างทางใจและสิ่งที่กีดขวางความรู้สึกของคนทั้งคู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไม่เพียงทำให้มันกลายเป็นฉากบอกรักที่น่าจดจำที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ แต่ยังเป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่แสดงให้เห็นว่าหนังเรื่องนี้จับวางความรู้สึกของคนให้สัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อย่างชาญฉลาด สวยงาม และละเอียดลออเพียงไร

ภาพ : https://www.nytimes.com/

แต่ต่อให้ฤดูร้อนนั้นพิเศษแค่ไหน มันก็ต้องมาถึงจุดจบ และเพราะหนังได้เล่าเรื่องการจากลา Call Me by Your Name จึงไม่ได้เป็นหนังที่ดีแต่พร่ำเพ้อถึงความรัก หากเป็นหนังที่เข้าใจพลังของรักครั้งแรกและความร้าวรานของดวงใจที่แตกสลายลงเพราะมัน เพราะนั่นคือความรักที่เราทุ่มลงไปสุดตัวราวกับไม่มีอะไรจะเสีย ความรักที่ตัวตนของอีกฝ่ายได้เข้ามาผนวกเข้ากับตัวตนของเรา ทำให้เราต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล (ดังเห็นได้จากการที่เอลิโอกับโอลิเวอร์เรียกขานกันและกันด้วยชื่อของอีกฝ่าย)

Call Me by Your Name จึงมอบโอกาสให้คนดูได้สบตากับใบหน้าของความรักอีกครั้ง กระตุ้นเตือนถึงฤดูรักครั้งแรกของพวกเราเองที่ถูกกลบฝังอยู่ในความทรงจำ แม้อาจต้องปวดหัวใจกันอีกหน (ไม่ต่างจากเพลงประกอบภาพยนตร์ในฉากจบ ซึ่งใคร่ครวญถึงความรักที่กลายไปเป็นเพียงภาพวิดีโอที่เล่นซ้ำอยู่ในความทรงจำ) คำพูดยืดยาวกินใจของพ่อเอลิโอในตอนท้ายเรื่องจึงเป็นเสมือนเสียงเพรียกเตือนสติในวันที่ใจแหลกราญ ย้ำให้จดจำความรักอย่างถ้วนทั่ว ทั้งช่วงเวลาอันหอมหวานและความเจ็บปวดที่มาพร้อมกับมัน เพราะการก้าวเดินต่อไปในชีวิตอย่างเร่งรีบเพื่อที่จะลืมเลือนนั้น มีแต่จะทำให้หัวใจด้านชา ราวกับว่าการลืมความเจ็บปวดที่มาจากรักคือการลืมไปด้วยว่าหัวใจของเรานั้น… รักเป็น

Don`t copy text!