The Shining (1980)

The Shining (1980)

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

*************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ผู้กำกับ : Stanley Kubrick

ผู้อำนวยการสร้าง : Stanley Kubrick

ผู้เขียนบท : Stanley Kubrick, Diane Johnson

อ้างอิงจากนวนิยาย The Shining โดย Stephen King

นักแสดง : Jack Nicholson, Shelley Duvall, Scatman Crothers, Danny Lloyd

ดนตรีประกอบ : Wendy Carlos, Rachel Elkind

ผู้กำกับภาพ : John Alcott

ผู้ตัดต่อ : Ray Lovejoy

 

ครอบครัวทอร์เรนซ์ ซึ่งประกอบด้วย แจ็ก ทอร์เรนซ์ นักเขียนผู้เคยติดเหล้าและมีประวัติทำร้ายลูกตัวเอง, เว็นดี้ ทอร์เรนซ์ ภรรยาผู้อ่อนโยน และ แดนนี ทอร์เรนซ์ เด็กผู้มีสัมผัสที่หก แจ็กพยายามจะแก้ตัวด้วยการหางานทำพร้อมทั้งใช้เวลาอยู่กับลูกเมียเพื่อกระชับความสัมพันธ์ลบล้างอดีตอันเลวร้ายออกไป เลยรับงานเฝ้าโรงแรม Overlook ซึ่งจะปิดบริการทุกฤดูหนาวและเคยเกิดการฆาตกรรมสุดสยอง ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งวิญญาณสยองที่สิงในโรงแรมเริ่มปั่นหัวแจ็กและพวกมันยังต้องการตัวแดนนี อีกทั้งสิ่งเหนือธรรมชาติอีกหลายอย่าง จนส่งผลให้แจ็กเปลี่ยนไปและสองแม่ลูกทอร์เรนซ์ก็ต้องมาเผชิญกับเรื่องสยองที่สุดในชีวิต ทำให้ครอบครัวทอร์เรนซ์ต้องหาทางเอาตัวรอดจากโรงแรมแห่งนี้

โดยไม่รู้ตัว สแตนลีย์ คูบริก ถือว่าได้บัญญัตินิยามเพิ่มเติมของคำว่า Horror ไม่ใช่แค่ความน่ากลัวสยดสยอง เขย่าขวัญสั่นประสาท แต่ยังเป็นการสะท้อนด้านมืด/ความชั่วร้ายในจิตใจของมนุษย์ที่แสดงออกมาโดยสัญชาตญาณไม่รู้ตัว (ผสมผสานจิตวิทยาเข้ากับเรื่องราวเหนือธรรมชาติได้อย่างลงตัว) กล่าวคือด้านมืดของมนุษย์นี่แหละที่สร้างความสะพรึงกลัวให้กับผู้ชมอย่างขนหัวลุกซู่

ภาพ : https://www.rogerebert.com/

The Shining เป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่มีการใช้ Steadicam ทำให้ตากล้องสามารถเคลื่อนไหว เดินตาม บันทึกภาพ Tracking Shot ตามติดตัวละครได้โดยไม่ต้องพึ่งรางเลื่อนดอลลีหรือเครนอีกต่อไป (กล้อง Steadicam ช่วยทำให้การถ่ายภาพมีความสะดวกขึ้นมากทีเดียว)

ช็อตพิศวงหนึ่งของหนัง เชื่อว่าสร้างความสับสนมึนงงให้กับผู้ชมส่วนใหญ่เป็นแน่ ในนิยายคือชุดหมา แต่หนังเหมือนจะเป็นชุดหมี ส่วนผู้ชายที่เห็นหน้ากำลังถูก Blowjob อยู่นั้นคือ Horace Derwent เจ้าของ Overlook Hotel คนแรก โดยในคืนงานเลี้ยงวันเปิดกิจการโรงแรม เขาต้องการให้เพื่อนๆ (ที่เป็นเกย์) แต่งตัว Cosplay เป็นสุนัขแล้วนัดมา Make Love พบกันที่ห้องนอนส่วนตัว สิ่งที่เว็นดี้เห็นในฉากนี้ จะมองว่าคือภาพหลอน/นิมิต/หลงย้อนสู่อดีต ก็ยังได้

สำหรับผู้ชมทั่วไปที่ไม่เคยอ่านนิยาย ปฏิกิริยาแรกต่อช็อตนี้ย่อมต้องงงเป็นไก่ตาแตก ตามด้วยความสั่นสะท้านหัวใจ ทั้งๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าคืออะไร แค่เพียงความรู้สึกก็ถือว่าสัมฤทธิ์ผลในความตั้งใจของผู้กำกับแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนชุดหมาเป็นชุดหมี ก็มิได้สร้างความแตกต่างอะไรแม้แต่น้อย (สงสัยคงหาชุดหมาไม่ได้ เลยให้ใส่ชุดหมี)

ความน่าพิศวงของเขาวงกตไม่ใช่แค่ที่อยู่ด้านนอกโรงแรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงห้องโถงทางเดินภายในโรงแรม Outlook  ที่มีขนาดใหญ่โต เวียนวนชวนให้สับสนหลงทางได้ง่าย (สังเกตพรมที่พื้น ก็มีลักษณะคล้ายกับเขาวงกตเช่นกัน)

และสำหรับช็อตสุดท้ายของหนัง เป็นการซูมเข้าที่รูปภาพใบหนึ่ง เขียนว่า Overlook Hotel, July 4th Ball 1924 คือวันเปิดกิจการของโรงแรมแห่งนี้ และภาพวัยหนุ่ม บุคคลหน้าเหมือนแจ็กเป็นอย่ายิ่ง จุดนี้ตีความได้คือชายในรูปชื่อ Grady ผู้เป็นคนฆ่าลูกสาวทั้งสองและภรรยากลับมาเกิดชาตินี้กลายเป็น แจ็ก ทอร์เรนซ์

ภาพ : The Shining 1980 HD Trailer

หนังใช้การแบ่งแยกเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วน แล้วมีข้อความขึ้นคั่นประกอบด้วย

Part 1 : The Interview และ Closing Day

Part 2 : A Month Later, Tuesday, Thursday, Saturday, Monday, Wednesday

Part 3 : 8 AM, 4 PM

นัยยะการนำเสนอแบบนี้เป็นการค่อยๆ ทำให้ระยะเวลาสั้นลง กระชั้นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงแรกอาจมีความห่างเป็นเดือนหรือระดับปียังได้ พอช่วงสองนับหน่วยเป็นวัน และช่วงสุดท้ายเหลือเพียงระดับชั่วโมง ซึ่งระยะห่างนี้สะท้อนความสัมพันธ์/จิตวิทยา/ความรู้สึกของตัวละครจากห่างไกลไม่คิดอะไรมาก พอเวลาผ่านไป สำหรับการอยู่คนเดียวมันจะเริ่มเชื่องช้าเนิ่นนาน จิตใจร้อนรุ่มกระวนกระวาย 1 นาทีในชีวิตจริงอาจยาวนานเท่ากับ 1 ชั่วโมงในจิตใจของพวกเขา

ถ้าเปรียบโรงแรม Overlook แห่งนี้เสมือนโลกใบหนึ่ง/ประเทศอเมริกา มีผู้นำปกครองคือพ่อแจ็กผู้บริหารจัดการ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปได้คือแม่เว็นดี้ ส่วนลูกแดนนีคือประชาชนผู้ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใดๆ ต้องทำตามคำสั่งทั้งพ่อและแม่โดยมิอาจขัดขืน

ความลึกล้ำของ The Shining คือการที่คูบริกแทรกใส่พื้นหลังประวัติศาสตร์ของโรงแรม/ประเทศแห่งนี้ ด้วยวิธีการนำเสนอแทนที่จะเป็น Flashback ภาพย้อนอดีต แต่ให้ผู้ชมเกิดความคิดเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่านิมิตหรือจินตภาพของตัวละคร (นิมิตในสายตาของแดนนีส่วนแจ็กเหมือนว่าจะมีทั้งที่จินตนาการขึ้นเอง และถูกวิญญาณในอดีตสร้างภาพหลอนขึ้นในหัว) หลายครั้งเหมือนว่าตัวละครทั้ง 3 เป็นผู้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ในอดีต นี่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ถ้าเรามองว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นปัจจุบันคล้ายกับการกลับชาติมาเกิด สิ่งใดที่เขาเคยทำมาชาตินี้ย่อมหวนคืนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมได้

ต้นกำเนิดของโรงแรมนี้อธิบายโดยย่อจากคำบอกเล่าต้นเรื่องของ Stuart Ullman เจ้าของคนปัจจุบันว่าสร้างขึ้นจากการขับไล่ที่เข่นฆ่าชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง (นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แดนนีเห็นนิมิตเป็นทะเลเลือดไหลทะลักมาจากประตูลิฟต์) ชื่อโรงแรม Overlook ก็แปลว่ามองข้ามไม่ได้สนใจ นี่เป็นการพยายามกลบเกลื่อนหรือปกปิดประวัติศาสตร์ความชั่วร้ายของชาติตัวเองในอดีต (ที่มาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์/Holocaust)

Shining แปลว่าส่องแสง เรืองรอง ระยิบระยับ มันคือความสามารถสื่อสาร รับรู้ มองเห็น โทรจิต ในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ (เร็วกว่าความเร็วแสง) มันจึงเป็นประกายที่สวยงามน่าหลงใหล ซึ่งการที่แดนนีสามารถเรียนรู้อดีต ทำให้เขาเข้าใจ และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอาตัวรอด ไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

แจ็ก ผู้เป็นตัวละครแห่งความบ้าคลั่ง จะว่าไปก็น่าสงสารนะ เพราะเขายังคงว่ายเวียนวนอยู่ในวิถีชีวิต แนวคิดกรอบรูปแบบเดิมๆ ไม่สามารถเอาชนะ ก้าวผ่าน หลุดพ้นออกสู่การเป็นคนที่ดีกว่า เอาชนะใจตัวเอง ไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ขณะที่แดนนีถือว่าเป็นวีรบุรุษเลยละ บุคคลที่กล้าย่ำรอยเท้าของตัวเอง ไม่แสดงความหวาดหวั่นกลัวต่ออดีตความชั่วร้ายที่ผ่านมา สำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต นี่เป็นคำแนะนำของหนัง บอกว่าเราควรก้าวถอยหลังออกมาก่อนที่จะเริ่มเดินหน้าต่อ เพื่อให้เห็นรอยเท้าที่เดินผิดพลาด ถึงจะสามารถค้นหาเส้นทางใหม่ได้โดยไม่ซ้ำรอยเดิม

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ในความลึกลับซับซ้อน สัมผัสบรรยากาศที่ทั้งหลอกหลอน น่าสะพรึงกลัว และความบ้าคลั่งของ สแตนลีย์ คูบริก ที่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเขามีอิทธิพลเหนือทุกสิ่งทุกอย่างในโลกภาพยนตร์ การที่เขาได้รับคำชมพูดถึงมากที่สุดก็ถือว่าสมควรเป็นอย่างยิ่ง นิยายเรื่องนี้ไม่ว่าตกอยู่ในมือใคร ก็ไม่มีวันเทียบชั้นหรือวิสัยทัศน์ระดับของปรมาจารย์ผู้กำกับคนนี้ได้อย่างแน่นอน

กาลเวลาผ่านไปผู้คนจดจำหนังเรื่องนี้ว่า แจ็ก นิโคลสัน รับบทตัวละครที่เสียสติ แต่ผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก คือผู้บ้าคลั่งไร้สติสมประดี

Don`t copy text!