The Manchurian Candidate

The Manchurian Candidate

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

The Manchurian Candidate

ผู้กำกับ : John Frankenheimer

ผู้อำนวยการสร้าง : George Axelrod, John Frankenheimer

ผู้เขียนบท : George Axelrod

อ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง The Manchurian Candidate โดย Richard Condon

นักแสดง : Frank Sinatra, Laurence Harvey, Janet Leigh, Angela Lansbury, Henry Silva, James Gregory

ผู้บรรยาย : Paul Frees[

ดนตรีประกอบ : David Amram

ผู้กำกับภาพ : Lionel Lindon

ผู้ตัดต่อ : Ferris Webster

 

ทหารอเมริกันถูกจับกุมในสงครามเกาหลี โดนล้างสมองโดยคอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นสายลับ เป้าหมายคือจัดการคู่แข่งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพื่อหวังยึดครอบครองอำนาจให้อยู่ในกำมือ

ภาพลักษณ์ของ แฟรงก์ ซินาตรา ถือว่าเหมาะสมกับบทบาท สวมเครื่องแบบวางมาดแล้วดูดี แต่ก็มีความลึกลับหลบซ่อนเร้นภายใน เรื่องการแสดงถือว่ายอดเยี่ยมสุดเท่าที่ศักยภาพจะไปถึง

ความยะเยือกเย็นชาของ ลอว์เรนซ์ ฮาร์วีย์ ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้าดวงตา ท่าทางอารมณ์ ได้อย่างทรงพลังมากๆ เก็บสะสมความอึดอัดอั้น ขัดแย้งภายใน แม้ถูกสะกดจิตไม่อาจจดจำอะไรได้ น้ำตายังหลั่งออกมาเมื่อต้องกระทำการเข่นฆ่า… แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าน้ำเสียงเขาฟังดูทะแม่งๆ แปลกๆ สงสัยคงไม่ชินกับภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันสักเท่าไหร่

จริตของ แองเจลา แลนส์เบอรี ช่างมีความจัดจ้าน ร่าน เร่าร้อน ดูเหมือนคุณหญิงคุณนาย นิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการส่วนตนเท่านั้น! ซึ่งยุคสมัยก่อนผู้หญิงยากจะได้รับการยอมรับ เลยใช้วิธีผลักดันสามีแล้วตนเองคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง นี่สามารถเรียกได้ว่าผู้ร้ายตัวจริง!

เทคนิคแรกที่พบบ่อยคือ Deep-Focus พบเห็นใบหน้าตัวละครคมชัดระยะใกล้-ไกล (แต่มันอาจดูเบลอๆ สักหน่อยกับตำแหน่งคนอยู่ใกล้) อย่างฉากหนึ่งที่คงมุมกล้องไว้ระหว่างสามตัวละครหลังตรงเข้ามาหา สร้างความตื่นตาให้กับคนเข้าใจข้อจำกัดยุคสมัยนั้นไม่น้อยทีเดียว

มุมก้ม-เงย จับภาพพื้นหรือเพดานเป็นอีกเทคนิคหนึ่งพบเห็นบ่อยครั้งในหนัง ซึ่งมักสะท้อนสภาพจิตวิทยาของตัวละคร อย่างช็อตหนึ่งที่ตีความได้ถึงนิสัยเย่อหยิ่ง ทะนงตน และหลงตนเอง ตัวละครจะไม่ยินยอมฟังคำร้องขอหรือการครอบงำของแม่อีกต่อไป! และเงาด้านหลังเสมือนว่ามีบางอย่างชั่วร้ายปกคลุมและอยู่เหนือการควบคุมของเขาซ่อนเร้นอยู่

ช็อตหนึ่งเหมือนจะไม่ได้ใช้เทคนิค Deep-Focus แต่ก็ซ่อนเร้นนัยยะบางอย่าง แม่นั่งอยู่ข้างหน้า แต่สถานะจริงๆ ของเธอคือผู้บงการอยู่เบื้องหลัง พ่อเลี้ยงยืนอยู่ด้านหลัง แม้ระยิบระยับเจิดจรัสท่ามกลางแสงดาว (คือคนอยู่เบื้องหน้าฉากของครอบครัว) แต่ภาพเบลอๆ คือหาได้อยู่ในความสนใจ ไม่มีบทบาทสลักสำคัญอะไร

ยุคสมัยสงครามเย็น มนุษย์ยังมีมุมมองทัศนคติสุดโต่งซ้าย-ขวา ซึ่งการให้สัมภาษณ์ของกองทัพเรือ (ขวาจัด) ทั้งที่ไม่รู้เรื่องแถมปฏิเสธฟังคำบอกเล่าของสมาชิกวุฒิสภารายนี้ กล่าวอ้างถึงหนอนบ่อนไส้คอมมิวนิสต์หลบซ่อนเร้นภายใน (ซ้ายจัด)

ช็อตนี้อีกเช่นกันที่แม่ปรากฏอยู่ตำแหน่งระยะใกล้ แต่คือคนชักใยบงการ มิใช่ผู้อยู่เบื้องหน้าท่ามกลางฝูงชนนักข่าว ขณะที่อีกฝั่งตรงข้ามปรากฎเพียงภาพในจอโทรทัศน์ สะท้อนการสื่อสารด้านเดียวที่ต่างฝ่ายไม่รับฟังคำใดๆ ต่อกัน!

สภาพอันดูไม่ได้ของตัวละครออกเดินทางขึ้นรถไฟ ตั้งใจไปพักร้อนยัง New York City แต่ภาพช็อตในรถไฟพบเห็นบานเกล็ดด้านหลังดูเหมือนกรงขัง จิตใจคงโหยหาอิสรภาพ ต้องการไขปริศนาให้พ้นความทุกข์ทรมานนี้เสียที!

Senator Thomas Jordan คนนี้นี่ชัดเจนเลยว่าคืออเมริกันแท้ๆ (แต่ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่ามีความคิดเหมือนคอมมิวนิสต์) เพราะตำแหน่งการยืนช็อตหนึ่งที่ตรงกับปีกอินทรี (สัตว์สัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกา)

ผู้เขียนคิดว่ามีช็อตหนึ่งชัดเจนเลยนะว่า Mrs. Iselin ไม่ได้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ สังเกตจากภาพวาด อับราฮัม ลินคอล์น ด้านหลัง ถูกบดบังปิดหน้า ขณะที่รูปปั้นก็หันข้าง ตัวเองก็แสดงพฤติกรรมเผด็จการ ไหนล่ะความเสมอภาคเท่าเทียมกันในครอบครัว

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

มีช็อตหนึ่งที่หนังเล่นกับไพ่ Queen ได้เจ๋งเป้งมากๆ คือมันคาดไม่ถึงเลยนะว่าแฟนสาวของ เรย์มอนด์ ชอว์ จะกล้าสวมใส่ชุดดังกล่าว ซึ่งมันมีนัยยะชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าความรักที่ชายหนุ่มมีให้หญิงสาวต่อจากนี้คือตัวตนแท้จริงของเขาหรือกำลังต้องมนต์สะกดกันแน่

มีช็อตหนึ่งที่เป็นวินาทีที่ Bennett Marco รับทราบถึงการตัดสินใจอันผิดพลาดของเขา เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมที่มิอาจตระเตรียมใจพร้อมรับ สังเกตว่าถ่ายทำด้วยมุมเอียง สะท้อนสภาพทางจิตวิทยาอันบิดเบี้ยว ตุปัดตุเป๋ เล่นเอาเดินไม่ตรงเลย

แม้ Hays Code จะเริ่มเสื่อมศรัทธาลงแล้วในยุคสมัยนั้น แต่ประเด็น incest ถือว่าละเอียดอ่อนเกินไป แต่ผู้กำกับก็ยังอดไม่ได้ด้วยภาพไพ่ Queen ขนาดใหญ่ และแม่บรรจงจูบลูกชาย แค่นั้นแหละก็ชวนให้จิ้นไปไกลลิบลับ

The Manchurian Candidate ไม่เพียงมีใจความต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ยังปรปักษ์ต่อทัศนคติจากกลุ่มสุดโต่งของประชาธิปไตย โดยเฉพาะการล่าแม่มด หากคุณไม่อยู่ข้างเดียวกับฉันต้องเป็นศัตรูเท่านั้น! ครุ่นคิดแบบนี้เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งมันจะหลงเหลือหนทางออกเดียว คือฆาตกรรมทำลายบุคคลฝั่งตรงข้ามให้หมดสิ้นซาก

ใครก็ตามที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ในทัศนคติชาวอเมริกันสมัยนั้นราวกับถูก ‘ล้างสมอง’ เอาจริงๆ ก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะ ก็แค่ความคิดเห็นต่างระดับสุดโต่ง ซ้าย-ขวา พวกเขาเหล่านั้นคงพบเห็นว่าประชาธิปไตยที่อ้างว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม แต่ไฉนบรรดาผู้นำกลับมากด้วยอภิสิทธิ์ชน คนรวยมีเงินก็พยายามเอารัดเอาเปรียบประชาชน นี่มันโกหกหลอกลวงกันชัดๆ และเมื่อพบเห็นแนวความคิดใหม่ของคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์ที่พยายามให้ทุกคนเสมอภาคเท่ากันจริงๆ มีหรือจะไม่อยากลิ้มลองไขว่คว้า

ขณะเดียวกัน นักการเมืองหรือบุคคลผู้ที่ใครๆ เชื่อว่าคือตัวแทนของประชาธิปไตยจริงๆ อาจมีเบื้องหลังโยงใยหลบซ่อนอยู่ก็เป็นได้! กำลังตระเตรียมวางแผนกระทำการณ์ไต่เต้าสู่เป้าหมายแห่งอำนาจ ซึ่งเมื่อไหร่ตกอยู่ในกำมือของคนกลุ่มนี้เบ็ดเสร็จ ธาตุแท้คงจักค่อยๆ ถูกเปิดเผยแสดงออกมาทีละเล็กละน้อย

มันคือผลกรรมของบุคคลชื่นชอบการครอบงำผู้อื่น สักวันหนึ่งจักถูกย้อนแย้ง กลายเป็นผู้ถูกครอบงำเข้าหาตนเอง เมื่อลูกชายสุดที่รักกลายเป็นเครื่องจักรสังหาร หัวอกคนเป็นแม่ย่อมทุกข์ทรมาน เช่นกันเมื่อถูกกระทำมามาก เขาจึงตัดสินใจแน่วแน่กระทำบางสิ่งบางอย่าง แม้ถูกเรียกว่าอกตัญญู แต่บางครั้งอุดมการณ์ก็สูงส่งเหนือกว่าสิ่งใด

ผู้กำกับ John Frankenheimer ลงเอยภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเจตนารมณ์ชวนเชื่อรักชาติ ถึงจะถูกล้างสมองก็ไม่ใช่หัวอกจิตวิญญาณกระทำการมิให้ศัตรูแห่งประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ เสียสละแม้มารดาผู้ให้กำเนิด แต่การกระทำดังกล่าวสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวเกินกว่าจักธำรงชีพอยู่ สวมใส่เหรียญเกียรติยศอย่างภาคภูมิ อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตนี้ ได้กระทำสิ่งทรงคุณค่าตอบแทนผืนแผ่นดินจริงๆ เสียที

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ หลงใหลในลีลาถ่ายภาพ แนวคิดและเนื้อเรื่องราว การตัดต่อ และทิศทางการกำกับของผู้กำกับ John Frankenheimer น่าสนใจมากๆ ทีเดียว

Don`t copy text!