Comrades: Almost a Love Story
โดย : ภาสกร ศรีศุข
นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์ “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์
************************
Comrades: Almost a Love Story
ผู้กำกับ : Peter Chan
ผู้อำนวยการสร้าง : Peter Chan
ผู้เขียนบท : Ivy Ho
นักแสดง : Maggie Cheung, Leon Lai
ดนตรีประกอบ : Chiu Jun-Fun, Chiu Tsang-Hei
ผู้กำกับภาพ : Jingle Ma
ผู้ตัดต่อ : Chan Ki-hop, Kwong Chi-Leung
ในช่วงที่จีนแผ่นดินใหญ่ข้าวยากหมากแพง ‘หลี่เสี่ยวจิน’ และ ‘หลี่เฉียว’ ต่างหวังที่จะมาขุดทองที่ฮ่องกง หลี่เสี่ยวจินมาฮ่องกงเพื่อเก็บหอมรอมริบหวังจะได้พาแฟนเสี่ยวถิงที่อยู่จีนแผ่นดินใหญ่มาแต่งงานและอยู่กันที่ฮ่องกง แต่โชคชะตากลับเล่นตลกเมื่อหลี่เสี่ยวจินได้พบกับหลี่เฉียว ทั้งสองทำงานที่ร้านแมคโดนัลด์ หลี่เฉียวทำให้ชีวิตของหลี่เสี่ยวจินเปลี่ยนไป ด้วยความเหงา ความรักแอบก่อตัวขึ้นจากภายในส่วนลึกของทั้งคู่
หลี่เสี่ยวจินตั้งตัวได้และพาแฟนเสี่ยวถิงมาแต่งงานและอยู่กันที่ฮ่องกง แต่ชะตาฟ้าลิขิตในที่สุด หลี่เสี่ยวจินต้องหย่าและย้ายไปอยู่อเมริกา ส่วนหลี่เฉียวหลังจากแยกทางกับหลี่เสี่ยวจิน ก็แต่งงานกับหัวหน้าแก๊งซึ่งเป็นมาเฟีย มีการหักหลังกันระหว่างแก๊ง ต้องหนีมาอเมริกา หลายปีผ่านไป สามีของหลี่เฉียวถูกฆ่าตาย
หลี่เฉียวยังอยู่อเมริกาหลังจากสามีตาย ทำงานเป็นมัคคุเทศก์นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเที่ยวชมเทพีเสรีภาพ สุดท้ายโชคชะตานำพาทั้งคู่มาพบกันอีกครั้งบนเส้นทางรักที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 3,650 วันที่ผ่านมา
ภาพยนตร์ Comrades: Almost a Love Story หรือเรียกแบบไทยๆ แบบคุ้นหูในชื่อ ‘เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว’ เป็นภาพยนตร์ฮ่องกงที่กำกับโดย ปีเตอร์ ชาน ออกฉายเมื่อปี 1996
‘เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว’ ตั้งชื่อลำลองของภาพยนตร์ตามชื่อเพลงของเติ้งลี่จวิน ในวันนี้มีอายุประมาณ 35 ปีแล้ว แต่ความคลาสสิกของภาพยนตร์รักโรแมนติกเรื่องนี้ข้ามยุคข้ามสมัย เทียบเคียงกันกับความสัมพันธ์ของตัวละครหลักทั้งสอง นั่นคือ ‘หลี่เสี่ยวจิน’ และ ‘หลี่เฉียว’ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากจีนแผ่นดินใหญ่สู่เกาะฮ่องกงและสู่มหานครนิวยอร์ก ข้ามกาลเวลาจากวันแรกสู่การรู้จักกันครบรอบสิบปี แต่ความรู้สึกและความรักที่มีตั้งแต่แรกเจอยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ห่างหายไปไหน
นอกเหนือจากเรื่องราว ‘ความรัก’ ของคนทั้งสอง หลายองค์ประกอบในหนังมันคือการบอกเล่าถึง ‘ภาวะทันสมัย’ ที่ฮ่องกงมีกับ ‘ภาวะล้าหลัง’ แบบที่จีนแผ่นดินใหญ่ถูกมอง ณ ขณะนั้น
จีนแผ่นดินใหญ่เพิ่งผ่านพ้นห้วงเวลาการปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงปี 1966-1976 และก้าวสู่ ‘นโยบาย 4 ทันสมัย’ ในปี ค.ศ. 1978 สมัยเติ้งเสี่ยวผิงกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ 4 เรื่อง ได้แก่ การเกษตร การอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ
ในช่วงเวลายุคกลางทศวรรษ 1980 ในระบบเศรษฐกิจ จีนเริ่มเลี้ยวจากคอมมิวนิสต์สู่แนวทางทุนนิยม แต่การวางระบบอุตสาหกรรมของประเทศยังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ โดยเริ่มต้นวางแผนเขตเศรษฐกิจที่กวางโจวเมืองที่หลี่เฉียวจากมานั่นเอง (ก่อนที่จะวางระบบอุตสาหกรรมเต็มกำลังบนพื้นที่อื่นๆ ในประเทศในช่วงเวลาต่อมา) เนื้อหาของ Comrades: Almost a Love Story เริ่มต้นที่ช่วงเวลานั้น
1 มีนาคม 1986 คือวันที่หลี่เสี่ยวจินเหยียบย่างมาที่เกาะฮ่องกง พร้อมด้วยคำบรรยายในจดหมายถึงแฟนสาวที่จีนแผ่นดินใหญ่ (เขามีคนรักอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่จะมาพบกับหลี่เฉียวที่ฮ่องกง) ถึงเสี่ยวถิงที่รัก “ความจริงฮ่องกงก็ไกลนะ ที่นี่ผิดกับเทียนจินมาก ผู้คนเยอะ รถแยะ มีตึกสูงมากมาย หัวขโมยเยอะด้วย” นี่คือคำบรรยายเป็นภาษาจีนกลางในจดหมายเพื่อสื่อว่าฮ่องกงเจริญกว่าจีนมากๆ การค้าขายคึกคักกว่าที่จีนแผ่นดินใหญ่
ภาพลักษณ์ฮ่องกงที่นำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงแรกจึงเหมือนการสร้างภาพของ ‘ความทันสมัย’ ผ่านองค์ประกอบรอบข้างในฮ่องกงอย่างเช่นถนน ตึกรามบ้านช่อง แมคโดนัลด์ สถาบันสอนภาษาอังกฤษ การเล่นหุ้น ไปจนถึงเครื่องดื่มไวตาซอย (หลี่เฉียวเคยบอกว่าเธอเป็นคนฮ่องกงเพราะ ‘ดูทีวีฮ่องกง ดื่มไวตาซอย’ ไวตาซอยเป็นนมถั่วเหลืองแบรนด์ฮ่องกง) ซึ่งผลักให้ภาพของจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงเวลานั้นกลายเป็นภาพที่ ‘เชย’ ‘ล้าหลัง’ และ ‘ไม่ทันสมัย’ เท่าฮ่องกง
แม้ว่าหลี่เสี่ยวจินจะมาอยู่ที่ฮ่องกงที่ดูเจริญแล้วเพื่อมาสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ในภาพยนตร์ก็ได้นำเสนอความเป็นอยู่ของคนทำงานแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานว่าไปอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรมได้อย่างน่าสนใจและที่ดูขัดแย้งกับความทันสมัยของฮ่องกงดังคำรำพึงของเขาในช่วงที่เริ่มตั้งตัวได้แล้วว่าเมื่อก่อนลำบาก ทำงานหนักมาก กินข้าววันละสามชามใหญ่ (เพื่อให้มีแรงทำงาน)
ความเขินอายในอัตลักษณ์ความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่นี้ถูกนำเสนอผ่านฉากสำคัญฉากหนึ่งในเรื่อง นั่นคือตอนที่ขายเทปเติ้งลี่จวินไม่ออกในช่วงตรุษจีน แม้ว่าเติ้งลี่จวินจะดังในแผ่นดินใหญ่ แต่คนทางนั้นที่มาทำงานที่ฮ่องกงอายที่จะซื้อมาฟัง เพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นคนที่อื่นมาหางานที่ฮ่องกง ไม่ต่างอะไรกับหลี่เฉียวที่ตอนแรกเนียนหลอกพระเอกได้อย่างสนิทใจว่าเธอเป็นคนฮ่องกง เพราะว่าเธอพูดภาษาจีนกวางตุ้งแบบคนฮ่องกงได้ (เธอมาจากกวางโจวที่พูดภาษาจีนกวางตุ้งอยู่แล้ว)
ในแง่นี้ ภาษาจีนรูปแบบที่ต่างกันที่ตัวละครใช้ จึงบอกเล่าถึงภาวะความทันสมัยและความสัมพันธ์ของพระเอกนางเอกได้อย่างน่าสนใจ ภาษาจีนกวางตุ้งคือความทันสมัย ภาษาจีนกลางคือความไม่ทันสมัย
โดยฉากสำคัญที่พูดถึงนัยของภาษาจีนที่แตกต่างกันนี้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ ฉากแรกสุดที่หลี่เสี่ยวจินพบกับหลี่เฉียวในร้านแมคโดนัลด์ ฝ่ายชายเข้าคิวสั่งแมคโดนัลด์ หลี่เฉียวเป็นพนักงานขายในร้าน ความเคอะเขินในการสั่งอาหารและการพูดจีนกวางตุ้งไม่คล่องทำให้หลี่เฉียวจับได้ว่าหลี่เสี่ยวจินคือ ‘สหาย’ มาจากแผ่นดินใหญ่ เธอจึงพยายามใช้ภาษาจีนกลางและจีนกวางตุ้งสลับกันเพื่อสื่อสารกับพระเอก ‘อยู่ฮ่องกงต้องหัดพูดกวางตุ้ง แต่หลังจากพูดเป็นแล้ว ยังมีอีกหลายภาษาที่เราไม่เข้าใจ’
หลังจากนั้นหลี่เฉียวแนะนำให้หลี่เสี่ยวจินคุยกับผู้จัดการร้าน หลังจากที่อ่านความต้องการของฝ่ายชายได้ว่ากำลังมาหางานทำ ผู้จัดการร้านถามหลี่เสี่ยวจิน ‘พูดกวางตุ้งได้ไหม’ ‘พูดได้นิดหน่อยครับ’ ‘แล้วภาษาอังกฤษล่ะ’ ‘ไม่ได้เลยครับ’ บทสนทนาเล็กๆ นี้น่าสนใจมาก หากหลี่เสี่ยวจินอยากมีอนาคตที่ฮ่องกง เขาต้องฝึกพูดภาษากวางตุ้งให้คล่อง และนอกเหนือจากนั้นคือการฝึกพูดภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของโลก และเป็นภาษาของประเทศที่กำกับดูแลฮ่องกงในช่วงเวลานั้น เขาจึงต้องแปรเปลี่ยนตัวเองให้ทันสมัยขึ้น
ในการแปรเปลี่ยนตัวตนด้วยภาษา นอกจากจะทำให้หลี่เสี่ยวจินดูทันสมัยในนิยามแบบฮ่องกงแล้ว ภาษาจีนมีนัยของการกำหนดความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องอย่างชัดเจน การสื่อสารด้วยภาษาจีนกลางของพระเอกคือเสียงบรรยายในตอนที่หลี่เสี่ยวจินเขียนจดหมายถึงคนรักที่จีนแผ่นดินใหญ่ รักเก่าที่บ้านเกิด และกับการสนทนาบางช่วงบางตอนกับหลี่เฉียว เพื่อบ่งบอกว่านี่คือคนบ้านเดียวกันที่ลาจาก ‘ราก’ ของตัวเองมาเพื่อตามหาความฝันใหม่ๆ ภาษาจีนกลางจึงสื่อถึง ‘ที่มา’ ของตัวละครหลี่เสี่ยวจินในขณะที่ภาษาจีนกวางตุ้งสื่อถึง ‘ที่ไป’ ของตัวละครทั้งหลี่เสี่ยวจินและหลี่เฉียวที่พวกเขาเปลี่ยนตัวตนใหม่เพื่อการทำมาหากินที่ฮ่องกง และรวมถึงความสัมพันธ์ที่แสนซับซ้อนของคนทั้งคู่ต่างถูกนำเสนอผ่านภาษาจีนกวางตุ้ง
อย่างไรก็ดี ช่วงท้ายของภาพยนตร์ ‘เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว’ โชคชะตานำพาให้ตัวละครหลักทั้งสองเดินทางไกลอีกครั้งจากฮ่องกงสู่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลี่เสี่ยวจินไปเป็นพ่อครัว หลี่เฉียวไปเป็นไกด์ ทั้งคู่คลาดกันไปมาจนในปี 1995 (2 ปีก่อนที่ฮ่องกงจะเปลี่ยนมือจากสหราชอาณาจักรกลับสู่จีน) หลังจากจากกันไปนาน ทั้งคู่ก็กลับมาพบกันในที่สุด
ในช่วงเวลานั้น อะไรหลายอย่างก็เปลี่ยนไป หลังจากที่ประเทศจีนเข้าสู่ระบบทุนนิยมเต็มตัว เดินเครื่องการผลิตจนกลายเป็นโรงงานของโลก จากปี 1990 เศรษฐกิจมวลรวมภายในประเทศของจีนโตขึ้น หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 1991-1995 ตามท้องเรื่อง เศรษฐกิจของจีนโตแบบก้าวกระโดด
หลายครั้งบทสนทนาในเรื่องนี้จะพูดถึง ‘อุดมการณ์’ ของพระเอก แต่หลี่เสี่ยวจินเคยออกตัวว่า ‘ผมไม่มีอุดมการณ์นี่หน่า’ แต่ตัวตนของพระเอกนำเสนอความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างชัดเจนมาก เขาเปลี่ยนตัวเองจากสหายในระบอบคอมมิวนิสต์มาเป็นระบบทุนนิยมที่ทำงานเพื่อความมั่งคั่งอย่างเต็มตัวผ่านการตั้งใจทำมาหากินจนตั้งตัว มีชีวิตใหม่ได้
ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ภาพลักษณ์ที่คนทั่วโลกมีต่อจีนเปลี่ยนไป ฉากท้ายๆ ที่ลูกทัวร์ชาวจีนมาคุยกับหลี่เฉียวซึ่งทำงานเป็นไกด์ ตอนลูกทัวร์บ่นว่าเมื่อไหร่จะเปลี่ยนจากเที่ยวที่เทพีเสรีภาพไปช้อปปิ้งเสียที เธออยากไปซื้อกระเป๋ากุชชี่ ซึ่งเหมือนกับการบอกอ้อมๆ ว่าตอนนี้คนจีนมีเงินมีทองร่ำรวยกว่าเดิมแล้วนะ ภาษาจีนกลางที่ไกด์และลูกทัวร์คุยกันมันไม่ ‘เชย’ เหมือนเดิมแล้ว ก่อนที่ลูกทัวร์จะคุยกับหลี่เฉียวว่า “เมื่อก่อนใครก็ออกมาหางาน แต่ตอนนี้แห่กลับกันแล้วแหละ คนฮ่องกงไปทำงานบ้านเรากันเยอะแยะเลย คนที่ออกมาก่อนเสียใจนะ โอกาสทำเงินในประเทศมีมากกว่า”
ฉากจบของเรื่องซึ่งเป็นฉากที่คลาสสิกมาก ร้านขายโทรทัศน์ที่นิวยอร์กเปิดข่าวการเสียชีวิตของเติ้งลี่จวินทิ้งไว้ จากเทปคาสเซ็ตที่ขายไม่ออกที่ฮ่องกงเมื่อ 10 ปีก่อน ในวันนี้เธอคือนักร้องที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เพลงของเธอถูกเปิดเสมอในทุกประเทศที่มีย่านไชน่าทาวน์ ยิ่งตอกย้ำว่าจีนเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ
แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลยแม้ว่าสังคมรอบข้างจะแปรเปลี่ยนแค่ไหนคือความรู้สึกที่มีต่อกันตลอดสิบปีที่ผ่านมาของคนทั้งสองคน สหายหลี่เสี่ยวจินและหลี่เฉียว หลังจากพลัดพรากจากกันมาหลายปี ทั้งคู่ต่างบังเอิญยืนที่หน้าร้านขายโทรทัศน์ร้านเดียวกันเพื่อหยุดดูข่าวการเสียชีวิตของเติ้งลี่จวิน ทั้งสองคนต่างหันมาสบตากัน… นี่คือฉากจบที่ดีที่สุดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮ่องกง
- READ Gangubai Kathiawadi
- READ In the Mood for Love
- READ Pain and Glory
- READ Singin’ in the Rain
- READ Sonic the Hedgehog
- READ The Invisible Man
- READ The Meg
- READ Unhinged
- READ Exit
- READ Encanto
- READ Sky of Love
- READ Still Human
- READ The Curse of the Weeping Woman
- READ The Nun
- READ Yesterday
- READ Rocketman
- READ Ocean’s 8
- READ Greenland
- READ Bird Box
- READ Hula Girls
- READ The Outpost
- READ It Happened One Night
- READ Joker
- READ Soylent Green
- READ My Fair Lady
- READ The Babadook
- READ The Bride Wore Black
- READ There will be Blood
- READ Waterloo Bridge
- READ The Arrival of a Train at La Ciotat
- READ The Philadelphia Story
- READ Brief Encounter
- READ Incident in a Ghostland
- READ Dolemite Is My Name
- READ I Kill Giants
- READ As Good as It Gets
- READ Belle de Jour
- READ Andrei Rublev
- READ Monster Hunter
- READ The Climb
- READ The Conjuring : The Devil Made Me Do It
- READ Cruella
- READ A Woman Under the Influence
- READ Ivan’s Childhood
- READ Loki
- READ Repulsion
- READ The Tenant
- READ Chinatown
- READ Promising Young Woman
- READ Rosemary’s Baby
- READ The Man Who Fell to Earth
- READ Tom and Jerry
- READ Walkabout
- READ Harold and Maude
- READ Comrades: Almost a Love Story
- READ The Killing of a Chinese Bookie
- READ Being There
- READ Burning
- READ Better Days
- READ The Poseidon Adventure
- READ Don’t Look Now
- READ The Manchurian Candidate
- READ Midnight Cowboy
- READ The Firm
- READ Ammonite
- READ Charlie Wilson’s War
- READ Soul
- READ Tootsie
- READ Close Encounters of the Third Kind
- READ Dog Day Afternoon
- READ Crazy Rich Asians
- READ 1917
- READ Closer
- READ The Shining (1980)
- READ We Are X
- READ Last Christmas
- READ Breakfast at Tiffany’s
- READ Call Me by Your Name
- READ The Impossible
- READ Gravity
- READ The Last Five Years
- READ The Eight Hundred
- READ A Beautiful Day in the Neighborhood