The Bride Wore Black

The Bride Wore Black

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

ผู้กำกับ : François Truffaut

ผู้อำนวยการสร้าง : Marcel Berbert, Oscar Lewenstein

ผู้เขียนบท : François Truffaut, Jean-Louis Richard

อ้างอิงจากนวนิยายเรื่อง La Mariée Était en Noir โดย William Irish

นักแสดง : Jeanne Moreau, Michel Bouquet, Jean-Claude Brialy, Claude Rich, Charles Denner, Michael Lonsdale, Serge Rousseau

ดนตรีประกอบ : Bernard Herrmann, Antonio Vivaldi

ผู้กำกับภาพ : Raoul Coutard

ผู้ตัดต่อ : Claudine Bouché

เรื่องราวของหนังเป็นแนวตามฆ่าล้างแค้น หญิงสาวหม้ายคนหนึ่ง Julie Kohler แต่งชุดดำออกตามฆ่าชาย 5 คน ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาได้ฆ่าสามีของเธอในวันแต่งงาน

การดำเนินเรื่องจะเริ่มจากปริศนาความพิศวง ชวนให้ผู้ชมเกิดข้อสงสัย 5 ประการ หญิงสาวคนนี้คือใคร จุดประสงค์แรงจูงใจเพื่ออะไร เป้าหมายของเธอคือใคร เป้าหมายมีทั้งหมดเท่าไหร่ และสุดท้ายจะทำสำเร็จครบหมดหรือไม่

คำตอบเหล่านี้จะค่อยๆ ได้รับการเฉลยทีละเปลาะ ส่วนใหญ่ด้วยการเล่าเรื่องย้อนอดีตในมุมมองของหญิงสาว แต่จะมีตอนเฉลยเป้าหมายพวกเขาเป็นใคร จำต้องเปลี่ยนไปใช้มุมมองของหนึ่งในชายทั้ง 5 คน อธิบายเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น

เราจะได้ยินเพลงประกอบดังขึ้นตลอดแทบทั้งเรื่อง นำพาอารมณ์ของผู้ชมให้เป็นไปตามเรื่องราวความรู้สึกของหนัง เรียกว่าเป็นความพยายามสร้างบรรยากาศอย่างถึงที่สุดเลย เราสามารถหลับตาแล้วนั่งฟังเฉพาะเพลงประกอบ ก็ยังสามารถรับรู้อารมณ์ทั้งหมดของหนังได้เลยนะ

ความตั้งใจของผู้กำกับ Truffaut สร้างหนังเรื่องนี้เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูสไตล์ของ Hitchcock ความคล้ายคลึง อาทิ อุบัติเหตุ ความตายของสามีที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น สร้างความพิศวงสงสัย ทำให้ภรรยาสาวต้องออกเดินทางตามหาความจริง  ความเข้าใจผิด จับพลัดจับผลู หลายตัวละครที่เป็นผู้บริสุทธิ์แต่ต้องมารับเคราะห์กรรมบางอย่าง ลีลาการฆาตกรรม ใช้มุมกล้อง ตัดต่อ เล่นกับภาษาภาพยนตร์ได้อย่างเหนือชั้น และความลุ้นระทึกที่จะค่อยๆ ทวีความตื่นเต้นเร้าใจ คาดการณ์อะไรไม่ได้ บางสิ่งบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว

แต่สิ่งที่แตกต่างคือ หนังของ Hitchcock จะไม่ค่อยมีการเคลื่อนกล้องหรือซูมเข้าออกหวือหวารุนแรงมากมายขนาดนี้ (แต่ถ้ามองว่านี่คือลายเซ็นของ Truffaut เป็นการทำเพื่อคารวะให้เกียรติก็ยังพอรับได้อยู่) ปกติแล้วหนังของ Hitchcock มักต้องมีอธิบายการเกิดขึ้นของทุกสิ่งอย่าง แต่สำหรับเรื่องนี้ทิ้งเหตุผลที่ว่าทำไมหญิงสาวถึงได้รู้ว่ามีชาย 5 คน แหล่งข่าวข้อมูลนั้นมาจากไหน เหมือนว่าผู้กำกับพยายามชักจูงให้ผู้ชมสนใจวิธีการทำงานและแผนฆาตกรรมของหญิงสาวมากกว่าที่จะสร้างบรรยากาศตื่นเต้นลุ้นระทึกพิศวงสงสัย

เพราะนี่คือหนังของ Truffaut ไม่ใช่ของ Hitchcock แม้จะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ เรียนรู้ศึกษาเข้าใจอย่างถ่องแท้ พยายามนำเสนอในรูปแบบคล้ายคลึง (เลียนแบบ) ใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่ไม่วาย ยังไงก็ไม่มีทางเหมือนได้เป๊ะอยู่ดี ภาพรวมของหนังมองเป็นความเคารพก็ถือว่ายังพอรับได้อยู่ ซึ่งผลลัพธ์จากการสร้างหนังเรื่องนี้แล้วได้เสียงตอบรับอันเลวร้ายจากนักวิจารณ์ ก็ทำให้ Truffaut รู้ตัวเลยล่ะ ฉันก็คือฉัน ทำไมต้องไปแส่หาเรื่องพยายามทำหนังเลียนแบบคนอื่นด้วย!

สำหรับใจความสำคัญ หลายคนคงตั้งคำถามทางศีลธรรม “มีประโยชน์อะไรกับการแก้แค้น” แต่หนังไม่ได้ชวนให้เราเกิดความรู้สึกอยากตั้งคำถามนี้เลยนะ ด้วยเพราะวิธีการนำเสนอ เล่าเรื่องโดยให้เกิดการลุ้นระทึกของหญิงสาวว่าเธอจะฆาตกรรมคนที่ฆ่าสามีตนเองสำเร็จได้หรือไม่ ซึ่งทุกครั้งเมื่อทำสำเร็จ ผู้เขียนเกิดความพึงพอใจขึ้นมากกว่าจะรู้สึกขยะแขยงต่อต้าน

นี่แปลว่าหนังมันไม่ได้มีสาระหรือทำให้ผู้ชมตั้งคำถามอะไรในนั้นเลยนะ เป็นความพึงพอใจทางอารมณ์ต่อเรื่องราวของการแก้แค้นล้วนๆ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ Hitchcock ไม่มีวันสร้างหนังแบบนี้ขึ้นแน่ อย่างน้อยที่สุดสำหรับคนสุดท้าย หญิงสาวน่าจะปล่อยเขาไปหรือไม่ก็เกิดการ ‘ให้อภัย’ แบบนี้อาจจะหักมุมคาดไม่ถึงยิ่งกว่า

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเท่าไหร่ อย่างที่บอกไป แทนที่ผู้ชมควรจะรู้สึกขยะแขยงต่อต้านกับการกระทำล้างแค้นนี้ แต่กลับพึงพอใจ ยินดีปรีดาแทนตัวละครที่กระทำสำเร็จ แบบนี้ผู้เขียนไม่โอเคเท่าไหร่

 

Don`t copy text!