Repulsion

Repulsion

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

ผู้กำกับ : Roman Polanski

ผู้อำนวยการสร้าง : Gene Gutowski

ผู้เขียนบท : Roman Polanski, Gérard Brach, David Stone

ผู้ประพันธ์ : Roman Polanski, Gérard Brach

นักแสดง : Catherine Deneuve

ดนตรีประกอบ : Chico Hamilton

ผู้กำกับภาพ : Gilbert Taylor

ผู้ตัดต่อ : Alastair McIntyre

หนังเรื่องนี้จะนำพาคุณเข้าไปข้างในจิตใจของตัวละครของ Catherine Deneuve เพื่อค้นหาว่าแท้จริงแล้วเธอมีปัญหาทางจิตอะไร ถึงได้แสดงความสะอิดสะเอียนต่อต้านเมื่อพบเจอกับผู้ชาย ผลักไสตัวเองออกห่างจากสังคม แล้วกักขังตัวอยู่ในห้องพัก ไม่ยอมออกไปเห็นเดือนเห็นตะวัน

แต่เราอาจหาข้อสรุปทางจิตวิทยาไม่ได้แน่ชัดว่าหญิงสาวป่วยเป็นโรคอะไร ได้เพียงข้อสันนิษฐานจากการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น โดยใช้ภาษาภาพยนตร์ทำความเข้าใจ ซึ่งผู้เขียนจะนำเอาทฤษฎีที่คนส่วนใหญ่ครุ่นคิดเห็นมาแนะนำให้รับรู้กันด้วย ส่วนจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นกับวิสัยของคุณเอง

จะว่าไปการรับชมหนังเรื่องนี้มีลักษณะเหมือนการวินิจฉัยผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป สังเกตพฤติกรรม ค้นหาความสัมพันธ์ ตั้งสมมติฐาน แต่จิตแพทย์มักไม่สามารถหาข้อสรุปได้เป๊ะๆ หรอกว่าเป็นอะไร ความเข้าใจล้วนเกิดจากการอ้างอิงทฤษฎี แนวโน้มและความเป็นไปได้ เพราะเหตุนี้ การรักษาส่วนใหญ่จึงมักทำได้เพียงแค่ปลายเหตุไปตามอาการ ยากนักจะเข้าถึงต้นตอของปัญหา

ในความผิดปกติปัญหาทางจิต การจะรักษาให้หายมันอยู่ที่ตัวคนไข้เองเท่านั้น ถ้าเขาเปิดรับฟังคำแนะนำก็พอจะมีแนวโน้มกลับคืนเป็นคนปกติ แต่ถ้าไม่… คงเป็นเรื่องของโชคชะตาและเวรกรรม ชาติก่อนเคยทำอะไรใครไว้แบบนี้ ชาตินี้จึงได้รับผลกรรมตามนั้น

จุดเด่นของหนังคือการใช้แสงเงา ระดับภาพระยะใกล้ การสร้างบรรยากาศ และความหมายเชิงสัญลักษณ์ ผู้เขียนจะขอเน้นวิเคราะห์แยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นถึงเหตุผลและความหมายของแต่ละช็อตๆ ไป

การตีความเชิงสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนจะว่าต่อไปนี้สามารถมองได้ว่าเป็นลักษณะของ Symbolism ไม่เชิงเป็น Surrealism เสียเท่าไหร่ เพราะต้องใช้หลักจิตวิเคราะห์ในการครุ่นคิดทำความเข้าใจ ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากความรู้สึกภายในของตัวละคร/ผู้สร้างเป็นหลัก

Opening Credit เป็นภาพ Extreme Close-Up ดวงตาของ Deneuve ตัวอักษรเครดิตที่ปรากฏขึ้น มักมีการเคลื่อนไหวไปมา ลักษณะคล้ายใบโกนมีดกรีดตา แบบหนังเรื่อง Un Chien Andalou ของผู้กำกับ Luis Buñuel มีนัยยะถึงการพยายามมองทะลุเข้าไปข้างในจิตใจของตัวละคร

ร้านเสริมสวยที่หญิงสาวทำงานเป็นช่างตกแต่งตัดเล็บ ช็อตหนึ่งภาพ Close-Up ใบหน้าของลูกค้า ที่พอกด้วยอะไรสักอย่างหนาเตอะ เพื่อให้ใบหน้าเต่งตึง ผิวพรรณเปล่งปลั่ง นี่มีนัยยะถึงเปลือกนอกของมนุษย์ ที่พยายามปกปิดตัวตนแท้จริงของตนเอง กะเทาะออกก็จะพบตัวตนแท้จริงภายใน

ฉากที่ Carol นอนฟัง ได้ยินเสียงพี่สาวมีเซ็กซ์กับแฟนหนุ่ม หนังจะมีการตัดต่อ 3 ช็อตที่น่าสนใจมากๆ เพดานที่มีโคมไฟห้อยต่องแต่ง ตู้เสื้อผ้า และเตาผิงไฟที่มอดสนิท เพดานคือสิ่งที่อยู่สูงสุดในห้อง มองขึ้นไปคือการจินตนาการเพ้อฝัน (อาจมองว่าเซ็กซ์คือจุดไคลแม็กซ์ก็ได้เช่นกัน) ตู้เก็บเสื้อผ้า/กระเป๋าคือห้องแห่งความลับ สถานที่ซุกซ่อนข้าวของส่วนตัว เสื้อผ้า และตัวตน เตาผิงแทนด้วยเพลิงราคะที่เร่าร้อน แต่เพราะมันไม่มีไฟจุดขึ้นจึงมีนัยยะตรงข้าม นั่นคือความทุกข์ทรมานจากเซ็กซ์

รอยแตกที่พื้นและผนังแสดงถึงความเปราะบางแตกร้าวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของหญิงสาว ราวกับมีบางสิ่งบางอย่างพยายามแทรกตัวเข้ามาภายใน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เธอหวาดวิตกที่สุดเลย

ความคิดที่บิดเบี้ยวผิดปกติของ Carol เริ่มต้นจากการมองเห็นใบหน้าของตัวเองสะท้อนจากกาต้มน้ำ มีลักษณะโค้งมนบิดเบี้ยวไม่สมประกอบ

จิตใจของหญิงสาวจะค่อยๆ จมดิ่งลงสู่ด้านมืดของตนเอง ซึ่งสักกลางๆ เรื่องเราจะเริ่มเห็นใบหน้าของเธอ ครึ่งหนึ่งถูกความมืดปกคลุม นี่คือเหตุผลที่ทำให้ต้องถ่ายทำหนังเรื่องนี้ด้วยภาพขาว-ดำ สามารถเล่นกับแสงและเงาได้อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้

สภาพของหญิงสาวเปลือยเปล่านอนศิโรราบราบลงกับพื้นหมดแรงสิ้นหวัง จริงๆ เธอไม่ได้ถูกข่มขืนโดยใครเลยนะ นั่นเป็นสิ่งที่เจ้าตัวเพ้อฝันจินตนาการขึ้นเองทั้งหมด เพื่อเป็นการหาข้ออ้างให้กับความหวาดกลัวและอ้างว้างโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นในใจ

ฟังดูอาจแปลกประหลาด แต่นี่คือลักษณะของผู้ป่วยจิตเวชที่คิดเพ้อเห็นภาพหลอน ซึ่งมักมีเหตุผลเพื่อตอบสนองรองรับความหวาดกลัวในสิ่งที่ตนไม่สามารถรับรู้และเข้าใจ ทั้งๆ ที่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่จิตก็คิดเพ้อไปว่าเกิดขึ้นกับตนแล้ว

สำหรับหนังเรื่องนี้ ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าจริงอยู่ที่ผู้ป่วยจิตเวชในปัจจุบันมักได้รับการวินิจฉัยว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นมักเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างครั้นสมัยวัยเด็ก แต่หลักฐานของหนังเรื่องนี้มันไม่เพียงพอที่ไปจะตัดสินแบบนั้น แค่มีความเป็นไปได้หนึ่งก็เท่านั้น

อีกสมมติฐานหนึ่งที่ผู้เขียนครุ่นคิดขึ้นเองคือความปมอิเล็กตร้าหรือ Electra Complex สังเกตว่าเด็กหญิงที่น่าจะเป็นพี่สาวของ Carol นั่นก็คือ Helen นั่งหนุนตัก (น่าจะเป็น) ปู่ แสดงว่าเธอเป็นเด็กขี้เอาอกเอาใจ เป็นที่รักเอ็นดูของครอบครัวมากกว่า นี่ทำให้ Carol ลูกสาวคนเล็กเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่ได้รับการสนใจจากครอบครัวเท่าที่ควร จึงสร้างโลกส่วนตัวปลีกตนเองออกห่าง ไม่ต้องการให้คนนอกผู้อื่นใดบุกรุกเข้าไป

จริงๆ หนังเรื่องนี้ต้องถือว่าไม่มีพล็อตนะ ใช้การดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมายปลายทางหรือผลสัมฤทธิ์อะไรเกิดขึ้นตอนจบ โดยเริ่มจากหญิงสาวเป็นคนปกติ จากนั้นสติค่อยๆ บิดเบี้ยวผิดเพี้ยน จนกลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติ ซึ่งตอนจบเหมือนว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากแฟนหนุ่มของพี่สาว แต่ดูแล้วแนวโน้มกลับคืนสู่ปกตินั่นยากยิ่ง ซึ่งหนังเลือกช็อตจบโดยการเคลื่อนกล้องนำพาย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ถือเป็นความพยายามชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดค้นหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วหญิงสาวคนนี้มีปัญหาอะไร

คำตอบที่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกคน แล้วแต่การวินิจฉัยใจความ ตีความภาษาภาพยนตร์ของคุณเองเลย หมอคงได้คำตอบอีกอย่าง ที่ผู้เขียนคิดก็เล่าให้ฟังไปแล้ว แต่ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งซึ่งตอบคำถามสะท้อนตัวตนผู้กำกับ Polański เพราะเหตุใด ทำไมผู้กำกับถึงชอบทำอะไรแบบนี้กับหญิงสาว

เปรียบเซ็กซ์ประหนึ่งสงคราม ความวิปลาสบ้าคลั่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนปกติกลายเป็นผู้เสียสติ เด็กชาย Polański อาจได้ประสบพบเจอมากับตัวเอง จดจำภาพฝังใจ พยายามศึกษาเรียนรู้ จัดการ ทำความเข้าใจปมบาดแผลของตัวเอง นำมาถ่ายทอด ตีแผ่ ระบายอารมณ์ สิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในใจตัวเองออกมา เหตุที่นิยมใช้ตัวเอกเป็นหญิงสาว เพราะเป็นเพศที่ผู้ชมรู้สึกสงสารน่าเห็นใจได้ง่าย มีความอ่อนไหวไม่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นการสะท้อนตัวตนที่อยู่ในใจของผู้กำกับ จริงอยู่ภายนอกเขาเป็นผู้ชาย แต่ข้างในด้วยความอ่อนไหวและอ่อนแอนำมันออกมาด้านนอก ก็สามารถแทนได้ด้วยภาพลักษณ์ของอิสรตรีเพศหญิง

นี่ถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนทางจิตใจของศิลปินระดับนี้อย่างยิ่ง เพราะผลงานกับชีวิตจริงของเขาได้ข้ามเส้นกลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันไปแล้ว การสร้างสรรค์ผลงานลักษณะนี้จึงคล้ายกับการสารภาพบาปของศาสนาคริสต์กับความทุกข์สาหัส เจ็บปวดอัดอั้น รวดร้าวใจ เมื่อได้รับการเปิดเผยระบายออกมา มันย่อมสามารถทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย และทนต่อการมีชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

ต้องถือว่า Repulsion เป็นหนังที่เกือบสมบูรณ์แบบเรื่องหนึ่ง (บ้างยกเป็นผลงานชิ้นโบแดงของผู้กำกับ) โดยเฉพาะนักแสดง งานภาพ และการสร้างบรรยากาศ มีความหลอกหลอน สั่นสะท้าน และบ้าคลั่ง จุดที่น่าตำหนิใหญ่ๆ ที่ผู้เขียนค้นพบคือหนังขาดไคลแม็กซ์ที่หลอนสะท้านไม่เท่าตอนสำคัญกลางๆ เรื่อง กระนั้นเราสามารถมองข้ามจุดนี้ไปที่ผลลัพธ์ภาพรวม ความทรงพลัง และหลายฉากที่ทำให้ผู้ชมสะดุ้งสะพรึง คนขวัญอ่อนรับชมอาจถึงขั้นไม่หลับไม่นอนเลยทีเดียว

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เสียเท่าไหร่ ในความปั่นป่วน อลม่านและบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นภายใน เพราะการครุ่นคิด วิเคราะห์เข้าไปในจิตใจของฆาตกร หรือผู้ป่วยจิตเวช มันไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เริงใจแม้แต่น้อย พาลแต่จะให้คนคิดมากอย่างผู้เขียนคลุ้มคลั่ง แทบกลายเป็นบ้าตามตัวละครไปด้วย

Don`t copy text!