A Woman Under the Influence

A Woman Under the Influence

โดย : ภาสกร ศรีศุข

Loading

นอกจากนวนิยายออนไลน์สนุกๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักเขียนมากมายแล้ว อ่านเอายังมีเรื่องหนังมาเล่าให้อ่านในคอลัมน์  “อ่านเอาเล่าหนัง” โดย โอ่ง – ภาสกร ศรีศุข ผู้มีความสนใจในเรื่องภาพยนตร์และมีความรักในการอ่านการเขียน เขาจึงเขียนมาเล่าให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

************************

A Woman Under the Influence

ผู้กำกับ : John Cassavetes

ผู้อำนวยการสร้าง : Sam Shaw

ผู้เขียนบท : John Cassavetes

นักแสดง : Gena Rowlands, Peter Falk

ดนตรีประกอบ : Bo Harwood

ผู้กำกับภาพ : Mitch Breit, Al Ruban

ผู้ตัดต่อ : David Armstrong, Sheila Viseltear, Beth Bergeron

เรื่องราวของ Mabel Longhetti ภรรยาของ Nick Longhetti กรรมกรแรงงานเชื้อสายอิตาลี วันหนึ่งนัดหมายกันเป็นอย่างดีว่าค่ำคืนนี้จะมอบความสุขสำราญเฉพาะสองเรา จึงส่งลูกๆ ทั้งสามไปอยู่กับแม่ แต่สามีดันมีงานด่วนเข้าทำให้ต้องโทร.บอกยกเลิกแผนการ ภายในจิตใจของเธอคงเต็มไปด้วยความผิดหวังอย่างรุนแรง จึงออกนอกบ้านเที่ยวเตร่ตามผับบาร์ มึนเมาได้ที่ ก็พาผู้ชายกลับมาร่วมรักหลับนอน

A Woman Under the Influence เป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้ผู้ชมตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าหดหู่ ภายใต้อิทธิพลคลุ้มคลั่งเสียสติแตกของตัวละคร เต็มไปด้วยความอัดอั้นทุกข์ทรมาน นี่คือผลงานชิ้นโบแดงที่ผู้เขียนเกลียดมาก!

ด้วยความยาว 155 นาที อารมณ์ความคลุ้มคลั่งดั่งพายุเฮอริเคนของภาพยนตร์เรื่องนี้อาจทำให้คุณเสียสติ จิตตก กลายเป็นคนบ้าวิกลจริตได้เลย! ขอเตือนเอาไว้ ถ้าคิดจะรับชม จงเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อม อดรนไม่ได้ก็อย่าทนฝืน เดี๋ยวกู่ไม่กลับคืนมา อย่ามาโทษผู้เขียนก็แล้วกัน

ผลงานของผู้กำกับ John Cassavetes เลื่องชื่อลือชาในการศึกษาจิตวิทยาตัวละคร เพราะเหตุใด ทำไม ชักชวนให้ครุ่นคิดติดตาม อะไรคืออิทธิพลให้บุคคลครุ่นคิด-พูดกล่าว-แสดงออก กลายเป็นเช่นนั้น ซึ่งหนังก็จะไม่ให้คำตอบ วิธีช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาใดๆ ทอดทิ้งผู้ชมให้จมอยู่กับสภาวะ PTSD (Post-Traumatric Stress Disorder) หมดเรี่ยวแรงจนแทบไม่สามารถทำอะไรต่อไปได้

ขณะที่ไฮไลต์คือการแสดงของ Gena Rowlands เป็นอะไรที่สุดเหวี่ยงจนหลุดออกนอกกฎเกณฑ์ สวมวิญญาณกลายเป็นตัวละครได้อย่างสมบูรณ์แบบ! ใกล้เคียงสุดเท่าที่ผู้เขียนเทียบได้คือ Jack Nicholson เรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest

พฤติกรรมของ Mabel มีอาการคล้ายภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หุนหันพลันแล่น มีความคิดและนิสัยไม่คงที่

คงต้องถือว่า Rowlands ได้แสดงบทบาทท้าทายสมใจอยากจริงๆ! ตัวละครเต็มไปด้วยความกวัดแกว่งทางอารมณ์ สวมวิญญาณไม่ใช่แค่สีหน้า คำพูด แต่ยังท่วงท่าลีลา ต้องชมเลยว่าสามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว มีปฏิกิริยาโต้ตอบออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ นี่น่าจะมีระบบอัตโนมัติโดยสัญชาติญาณเลยกระมัง

ช่วงที่ส่วนตัวมองว่าคือไฮไลต์การแสดง ไม่ใช่ตอนที่ตัวละครแสดงความคลุ้มคลั่งเสียสติ แต่คือหกเดือนให้หลังเมื่อเธอกลับบ้าน เหมือนว่าจะเริ่มสามารถควบคุมตนเองได้แล้ว แต่ชีวิตยังรายล้อมด้วยบุคคลต้นสาเหตุอาการดังกล่าว พยายามอย่างยิ่งเพื่ออดรนฝืนทน ร่างกายเทิ้มสั่นเทา ร้องขอให้ทุกคนกลับบ้าน แต่สามีไม่ยินยอม

การให้ตัวละครฝ่ายชายมีเชื้อสายอิตาลี (เหมือนพวกมาเฟียใน The Godfather) ก็เพื่อสะท้อนโลกทัศน์ที่ผู้ชายยังคงเป็นใหญ่ ปากอ้างรักครอบครัวกลับปกครองด้วยความรุนแรงเผด็จการ ทุกอย่างต้องหมุนรอบตัวฉัน มองข้ามการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อนเยอะแยะมากมาย แต่ล้วนสนแค่การดื่ม-กิน

ภาพลักษณ์ของ Falk โดยเฉพาะดวงตาปลอม ถือว่าเข้ากับตัวละครนี้อย่างมาก เพราะสะท้อนสิ่งผิดปกติ/ปัญหาที่มองไม่เห็นอันเกิดจากตนเอง เก็บเอาความเครียดจากชีวิต/การงาน มาระบายลงกับครอบครัวที่บ้าน โดนหมดไม่ว่าจะแม่ ภรรยา หรือลูกๆ ครุ่นคิดว่าฉันสามารถควบคุมครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างในกำมือ แต่ยิ่งบีบรัดแน่น กลับทำให้ใครๆ เห็นต่างย้อนแย้ง แม้ปรารถนาดีแต่ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา นั่นไม่ใช่สิ่งน่าให้อภัยขณะเดียวกันก็สงสารเห็นใจ

แม้ว่าส่วนใหญ่ของหนังจะใช้ช็อต Close-Up เพื่อให้ผู้ชมสามารถสังเกตเห็นพฤติกรรม การแสดงออก และอารมณ์ความรู้สึกซ่อนเร้นภายในตัวละคร แต่ก็มีหลายๆ ครั้งอย่างช็อตที่เป็นการสร้างมิติให้กับภาพ กล่าวคือ Mabel นั่งตำแหน่งบนโต๊ะอาหารระยะห่างไกลลึกเข้าไปพอสมควร นั่นสะท้อนถึงสัมพันธ์ภาพของเธอกับสามี (ที่นั่งอยู่ตรงกันข้าม) และพรรคพวกเพื่อนหาได้รู้จักชื่อและสนิทสนมกันแม้แต่น้อย!

เห็นลูกโป่งแดงทีไร หวนระลึกถึง The Red Balloon ขึ้นมาทุกที! เรื่องนั้นคือเด็กชายไร้เดียงสา เรื่องนี้คนที่ถือวิ่งเล่นไปมาคือ Mabel ตัวตนแท้จริงของเธอดูไม่ต่างอะไรจะเด็กน้อยสักเท่าไหร่

สำหรับบทเพลง Tchaikovsky: Swan Lake เจ้าหญิงถูกสาปให้กลายร่างเป็นหงส์ตอนกลางวัน และสามารถกลับเป็นมนุษย์ในตอนกลางคืน นี่ก็สะท้อนพฤติกรรมผีเข้าผีออกของ Mabel ได้ตรงไปตรงมาดี

ผมชื่นชอบวินาทีนี้มากๆ เลยนะ ประมาณว่า Mabel กำลังใกล้ถึงสภาวะวิกลจริต เสียสติ ถ้าเป็นคนยุคกลางจะเรียกว่าผีเข้า แต่ฉากที่คนที่ยกสองนิ้วชี้มาทำไม้กางเขนกลับคือเธอเอง เป็นการบอกตรงๆ ว่า “ฉันไม่ใช่คนบ้า” ก็มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ตอบแบบนี้

เมื่อครั้น Mabel เดินทางกลับบ้าน การเลือกกล้องมุมนี้ที่ทุกคนบนโต๊ะอาหารสามารถจับจ้องมองเธอด้วยสายตาแห่งความคาดหวังสร้างความกระอักกระอ่วน เคอะเขิน สัมผัสได้ถึงความกดดันที่ใครๆ ถาโถมเข้ามา

ก่อนหน้านี้จะมีฉากหลังจากที่ Nick ส่ง Mabel เข้าโรงพยาบาล เขาเดินทางไปทำงานแต่ถูกเพื่อนๆ ซักถามโน่นนี่นั่นจนสร้างความรำคาญ… สำหรับ Nick แม้สามารถต่อกรกับความเครียด/กดดัน/คาดหวังจากสังคมนั้นได้ แต่กับ Mabel ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะเดียวกันจะเอาตัวรอดได้ที่ไหน!

และครั้งหนึ่งระหว่างล้อมวงบนโต๊ะอาหารนี้ เธอพูดกับพ่อว่า “Dad… will you stand up for me?” นี่เป็นประโยคเชิงนามธรรมมากกว่ารูปธรรมที่จะให้พ่อแค่ลุกขึ้นยืน แต่หมายถึงการยืนหยัดปกป้องเธอจากสามีจอมเผด็จการ สนแต่จะรักษาหน้าตา ออกคำสั่งโน่นนี่นั่น ไม่เคยรับฟังเสียงเรียกร้องใดๆ แม้แต่น้อย… ครั้งหนึ่งเหมือนว่าพ่อจะครุ่นคิดได้ กำลังจะทำอะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายก็แค่หมาหยอกไก่ หยุดยืนอึ้งทึ่งหมดอาลัย

Cassavetes พยายามสร้างความคลุมเครือ/ฉงนสงสัยให้ผู้ชม ด้วยการไม่ถ่ายให้เห็น Mabel ขณะกำลังเสียสติเต้นระบำบนโซฟา พบเพียงสีหน้าปฏิกิริยาของญาติขณะถูกขับไล่ให้กลับบ้าน และมือของเธอกวัดแกว่งเคลื่อนผ่านหน้ากล้องไปมา

มันไม่ใช่ว่าอาการของ Mabel หลังจากเข้ารักษาตัวจะมิได้ดีขึ้น แต่การหวนกลับมาพบเจอสภาพแวดล้อมเดิมๆ สามีเผด็จการ ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นยืนเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของเธอ มันเลยไม่แปลกเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งอาการคลุ้มคลั่งเสียสติจะหวนกลับมา

การวิ่งขึ้นๆ ลงๆ ห้องนอนของลูกถึงสามครั้งครา เป็นการตอกย้ำสิ่งที่จะบังเกิดขึ้นซ้ำๆ ถ้า Nick ยังคงดื้อด้านครุ่นคิดกระทำ/แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแค่เพียงครั้งเดียวที่ Mabel ยินยอมพาลูกๆ ไปส่งขึ้นห้องนอน (กล่าวคือ บุคคลที่เป็นผู้ยืนหยัดเคียงข้าง พยายามปกป้อง คือลูกๆ ทั้งสามของเธอ) เท่านั้นเองค่ำคืนแห่งความวุ่นวายนี้ถึงได้สงบสุขและจบสิ้นลง

ตอนจบแบบนี้คงสร้างความรวดร้าวฉานให้ผู้ชมมากมาย ไม่มีปัญหาอะไรเหมือนได้รับการแก้ไขสักอย่าง! นี่แหละคือชีวิต ใช่ว่าทุกอย่างจะสรรหาคำตอบได้ เราอาจแค่หลงลืมอดีต ช่างมันฉันไม่สนใจ แล้วเดินหน้าต่อไป หรือหมกมุ่นจมปลักจนกว่าจะค้นหาคำตอบได้ นั่นอยู่ที่ตัวคุณเอง

การปิดประตูห้อง เลื่อนผ้าม่านบดบัง นี่คงจงใจให้คล้ายกับละครเวที เมื่อการแสดงสิ้นสุดปล่อยผ้าม่านลงมา รอฟังเสียงปรบมือผู้ชม และเปลี่ยนจากนักแสดงออกมาโค้งคำนับ เป็นขึ้นเครดิตทีมงานสร้างหนัง

สำหรับแก่นความคิดของหนัง สังเกตว่าท่วงทำนองเปียโนมีลักษณะเหมือนการจิ้มๆ ของคนเพิ่งหัดเล่น แต่ว่าไปสะท้อนเข้ากับความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของตัวละคร แต่ถูกครอบงำบีบบังคับให้ต้องแสดงออกมาด้วยความคลุ้มคลั่งเสียสติ

บทเพลงตอนจบเป็นอะไรที่บิดเบี้ยวบูดบึ้ง บ้าบอคอแตกสิ้นดี สะท้อนเข้ากับพฤติกรรมเพี้ยนๆ ของตัวละครอย่างตรงไปตรงมา และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งจะมีเสียงแก้วแตกเพล้ง (ถึงจุดตัวละครนอตหลุด) โทรศัพท์ดัง (สร้างความรำคาญ) ชีวิตช่างเต็มไปด้วยความวุ่นวายเสียจริง

A Woman Under the Influence นำเสนอจิตวิทยาของหญิงสาวผู้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำบางอย่าง เก็บกดและสะสมความอึดอัดจนเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งมิสามารถหยุดยั้ง ก็ระบายความคลุ้มคลั่งเสียสติจนทะลักออกมา ในที่สุดคนรอบข้างมิสามารถยอมรับมองว่าเป็นคนปกติทั่วไปได้

หลายคนคงครุ่นคิดว่าสาเหตุที่ทำให้ Mabel คลุ้มคลั่งเสียสติกลายเป็นคนวิกลจริตเกิดจากความเผด็จการเห็นแก่ตัวของสามี! นั่นไม่ผิดนะ แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด ลองครุ่นคิดต่อไปอีกสักนิด แล้วอะไรคือสาเหตุให้ Nick กลายเป็นคนแบบนี้ละ ถ้าได้คำตอบก็ตั้งคำถามย้อนกลับไปเรื่อยๆ จะพบความไม่สิ้นสุด สรุปแล้วคือไม่มีทางที่ใครไหนจะสามารถตอบได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนคือปัจจัยทั้งนั้น

มนุษย์เราก็แปลกนะ เมื่อเกิดปัญหาไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีคนผิด แพะรับบาป บุคคลที่สมควรถูกตำหนิต่อว่าและลงโทษ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน นี่ไม่ใช่สิ่งผิดแต่คือ ‘อคติ’ ปรากฏภายในจิตใจมากๆ ย่อมทำให้หลงผิด สักวันกงจักรอาจกลายเป็นดอกบัวโดยไม่รู้ตัว

การไม่ยินยอมรับว่าตนเองคือผู้ก่อให้ปัญหาเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัวอย่างยิ่งในสังคม คนแบบนี้ย่อมมีชีวิตเหยียบย่ำอยู่กับที่ ไม่รู้จักพัฒนาตนเองจากความผิดพลาด… ก็ช่างเขาเถอะนะ บางคนถูกกรรมบดบังให้มีชีวิตเฉกเช่นชั้น ไม่ใช่เรื่องของเราต้องไปหนักอกหนักใจทุกข์ทรมานแทน

ผู้เขียนครุ่นคิดว่าผู้กำกับ Cassavetes ชีวิตจริงของเขาอาจไม่แตกต่างจาก Nick Longhetti เพราะการพัฒนาบทหนัง (ของศิลปิน) ย่อมจากประสบการณ์ส่วนตัว แถมภรรยาตัวจริงรับบทภรรยาในหนัง (ลูกสามคนก็เท่ากับชีวิตจริง) มันอาจเคยมีเหตุการณขัดแย้งรุนแรงอันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของทั้งคู่ แต่เพราะได้ลูกๆ เข้ามาปกป้องรุมล้อม ความสัมพันธ์ของพวกเขาจึงไม่อาจขาดสะบั้นลงได้ อดีตเคยเกิดอะไรขึ้นช่างมัน ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป

ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงแบ่งฝั่งฝ่ายสองขั้วชัดเจน คลั่งมากๆ ไม่ก็เกลียดสุดๆ ผู้เขียนคือประเภทหลัง เป็นการดูหนังที่ทุกข์ทรมาน ท้องไส้ปั่นป่วน จิตใจพลุกพล่าน จุกแน่นอกหายใจแทบไม่ออก ตระหนักได้ทันทีว่าคือผลงานชิ้นโบแดง แต่ไม่สามารถทำใจชื่นชอบได้ลง

Don`t copy text!