ภัยธรรมชาติประจำเกาะ

ภัยธรรมชาติประจำเกาะ

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– ภัยธรรมชาติประจำเกาะ –

ภัยธรรมชาติที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวไต้หวันคือไต้ฝุ่นกับแผ่นดินไหว ดังนั้น ตึกรามบ้านช่องประเทศนี้เลยต้องสร้างอย่างแข็งแรงมากเพื่อต่อสู้กับภัยธรรมชาติสองอย่างนี้ อย่างที่เคยเล่าไว้ เกาะนี้ตั้งอยู่ในโซน Pacific Ring of Fire ดังนั้น ที่นี่จะไหวเล็กไหวน้อยกันอยู่เรื่อย คนไต้หวันก็เลยไม่ค่อยจะตื่นเต้นตกใจเหมือนกะเหรี่ยงอย่างฉัน

จำได้ว่าตอนหน้าหนาวปีแรกที่มา ปีนั้นหนาวมาก ตอนกลางคืนดึกๆ อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 4 องศาเซลเซียสก็มี มีอยู่คืนหนึ่งประมาณเที่ยงคืน ฉันกะสามีเพิ่งเอนตัวลงนอนได้แป๊บเดียว มาเลยค่ะ สั่นอย่างแรง จึกๆๆๆๆๆๆ ฉันพรวดพราดลุกขึ้นนั่ง อูย น่ากลัวจัง เหลียวหน้าเหลียวหลัง เอาไงดีวะ วิ่งลงไปห้าชั้น ไปตั้งหลักข้างนอกตึกดีไหม แต่แหม ข้างนอกก็อยู่ที่ 4 องศาเองน่ะ เลือกเอา หนาวตายหรือแผ่นดินไหวตึกถล่มตาย เอ แต่เราอยู่ชั้นบนสุดนี่นา คงไม่ถูกใครทับหรอกเนอะถ้าถล่มจริงๆ ว่าแล้วฉันก็เลยล้มตัวลงนอนต่อ เอเมน

คุณชายเองก็ชิน เขาบอกว่าตั้งแต่เค้าจำความได้ มันก็ไหวเล็กไหวน้อยแบบนี้แหละ ส่วนใหญ่ศูนย์กลางจะอยู่ในทะเล รู้สึกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับศูนย์กลางอยู่ห่างฝั่งแค่ไหน มีที่เกิดบนเกาะหนักหนาสาหัสสุดจริงๆ คือเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1999 (อันนี้หมายถึงที่สามีฉันจำความได้นะคะ เพราะที่เกิดเมื่อปี 1935 สามีฉันยังไม่เกิดค่ะ) ครั้งนั้นศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณกลางเกาะ ที่มณฑลหนันโถว ความแรงอยู่ที่ประมาณ 7.3 คนตายไป 2,415 คน บาดเจ็บ 11,305 คน ค่าเสียหายอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านหยวน ทำให้ถนนที่ตัดทะลุภูเขาเพื่อเชื่อมฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกช่วงกลางเกาะถล่มไป

ตอนที่เกิดเรื่องนี้เราสองคนยังอยู่ที่อเมริกา ได้แต่ดูข่าว (ซึ่งก็น่ากลัวจะแย่) และส่งกำลังใจช่วยผู้ประสบภัย เหตุการณ์ครั้งนี้คนไต้หวันเรียกว่า ‘九二一大地震 – จิ่วเอ้ออีต้าตี้เจิ้น’ แปลเป็นไทยได้ว่า “แผ่นดินไหวครั้งใหญ่วันที่ 21 เดือนกันยายน” คนที่นี่เขาจะใช้เดือนและวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญมาตั้งเป็นชื่อเหตุการณ์นั้นๆ โดยเริ่มจากเดือนแล้วตามด้วยวันที่ ที่ใช้แบบนี้เพราะภาษาจีนเวลาเขียนวันที่ จะเริ่มเขียนจากปี ต่อด้วยเดือน แล้วตามด้วยวันที่นั่นเอง

มีแผ่นดินไหวที่ศูนย์กลางอยู่บนแผ่นดินหลายครั้งหลังจากที่ฉันมาอยู่เกาะนี้แล้ว ก่อความเสียหายมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งพวกเพื่อนๆ ได้เห็นจากข่าวบนอินเทอร์เน็ตปุ๊บก็จะถามมาด้วยความห่วงใย เพราะรู้ว่าต่อให้อยู่มาสิบเจ็ดปีแล้ว ฉันก็ยังไม่ชินกับภัยธรรมชาติประเทศนี้ อยู่แบบใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ตลอด มีช่วงหนึ่ง (น่าจะสักประมาณไม่เกินสองปีที่แล้ว) ที่ชอบไหวตอนกลางคืนดึกๆ ประมาณเที่ยงคืนทุกคืน ช่วงนั้นนี่ฉันนอนแบบเอานกหวีดห้อยคอไว้เลย ข้างเตียงมีกระเป๋าใส่น้ำใส่ไฟฉายใส่ขนมเป็นห่อๆ ตั้งไว้ พอมันสั่นติดกันเป็นคืนที่สี่นี่ ฉันกลัวถึงขนาดบอกคุณชายว่า “นี่เธอ เราเลื่อนไปกรุงเทพฯ พรุ่งนี้เลยได้ไหม” พอดีอีกสองวันเรากำลังจะไปกรุงเทพฯ อยู่แล้ว หนนั้นกลับถึงบ้านที่กรุงเทพฯ แม่ตกใจเลยว่าลูกสาวกลายเป็นหมีแพนด้าไปซะแล้ว ก็… นะ… ใครจะไปหลับลง

ภัยธรรมชาติเจ้าประจำอีกรายก็คือพายุไต้ฝุ่น มาทุกหน้าร้อน (ประมาณเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม แต่บางปีจนถึงกันยายนซึ่งเริ่มฤดูใบไม้ร่วงก็ยังมีอยู่เหมือนกัน) มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ดวงค่ะ ตรงนี้คงต้องขออธิบายเพิ่มเติมนิดนึงนะคะ สำหรับคนที่อาจจะไม่รู้ว่า ที่จริงแล้วไต้ฝุ่น (Typhoon) เฮอร์ริเคน (Hurricane) ไซโคลน (Cyclone) เป็นพายุประเภทเดียวกันทั้งสามชื่อนั่นล่ะ แต่เรียกชื่อต่างกันตามสถานที่เกิดพายุ ถ้าเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเรียกไต้ฝุ่น ถ้าเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติก เรียกเฮอร์ริเคน ถ้าเกิดในมหาสมุทรอินเดีย เรียกไซโคลน จริงๆ รายละเอียดมีมากกว่านี้ แต่เอาเป็นว่าแบ่งแบบง่ายๆ อย่างที่ฉันบอกนี่ละกัน จำง่ายดี

ครั้งแรกที่เจอไต้ฝุ่นนั้นจำได้ว่าฉันไม่ค่อยกลัวมาก คงเป็นเพราะอยู่กงอวี้ มันแออัดเลยไม่ค่อยรู้สึกเรื่องลมแรง รู้สึกแค่ว่าฝนตกหนัก แต่พอวันรุ่งขึ้นหลังจากพายุผ่านไป ผ่านสวนสาธารณะที่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก ตกใจเลย ต้นไม้ใหญ่ๆ หักโค่นลงมาตั้งหลายต้น มาถึงตอนนี้ ด้วยความที่เจอมาเยอะ ยิ่งบ้านที่อยู่ตอนนี้หน้าต่างกว้าง มองออกไปโล่ง วิวสวย พอไต้ฝุ่นมาทีก็ขวัญกระเจิงตลอด เสียงลมและฝนกระแทกหน้าต่างนี่น่ากลัวจริงๆ ถ้าเข้าตอนกลางคืนล่ะก็ฉันไม่ได้นอนหรอกคืนนั้น ส่วนคุณชายน่ะ นอนหลับสบาย ไต้ฝุ่นเหรอ เรื่องจิ๊บๆ แค่ฝนตกหนักมากเท่านั้นเอง!

ไต้ฝุ่นที่ทำความเสียหายมากสุดในประวัติศาสตร์ไต้หวันคือไต้ฝุ่นมรกต ฉันจำได้แม่นเลยค่ะ เจ้าไต้ฝุ่นลูกนี้เกิดเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2009 มันเคลื่อนตัวช้ามาก ใช้เวลา 24 ชั่วโมงอยู่บนเกาะ คือไต้ฝุ่นยิ่งเคลื่อนตัวช้าก็ยิ่งก่อความเสียหายมาก เพราะมันจะกวาดรวบรวมลมฝนยิ่งเยอะ ปริมาณน้ำฝนรวมแบบทำลายสถิติอยู่ที่ 2,777 มิลลิเมตร ทำให้ดินโคลนถล่มกันถ้วนทั่ว ที่หนักสุดคือที่หมู่บ้าน ‘เสี่ยวหลิน’ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ดินถล่มฝังทั้งหมู่บ้านเลยค่ะ เหลือรอดอยู่แค่ตึกเดียว คนกว่า 600 ชีวิตถูกฝังทั้งเป็น

มีไต้ฝุ่นแบบออกนอกเกาะไปแล้ว ยังยูเทิร์นย้อนกลับเข้ามาอีกรอบด้วยนะ (ปี 2012) ฉันลุ้นกับเจ้าลูกนี้อยู่สองอาทิตย์เต็มๆ เดาใจมันไม่ถูกเลย ต้องคอยเช็กข่าวกันวันละหลายรอบ ทางใต้เสียหายมากเพราะเจ้าลูกนี้ ผักผลไม้เลยแพงอย่างชนิดได้ยินราคาแล้วจะเป็นลมเอา ผักชีกิโลละ 300 กว่าหยวน มะละกอลูกจิ๊ดเดียวลูกละร้อย ที่ไต้หวันนี่พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ค่ะ ถ้าไต้ฝุ่นเข้าภาคใต้ล่ะก็เสร็จเลย (ซึ่งโดยมากจะเข้าทางภาคใต้นั่นแหละ) ทำใจกินผักผลไม้แพงกันไป หรือไม่ก็มีนำเข้าจากที่อื่น จากเมืองไทยบ้าง อินโดนีเซียบ้าง ซึ่งฉันมักเลือกซื้อที่มาจากเมืองไทย

เอ้า แหม มันต้อง support homeland country กันหน่อยสิค้า

Don`t copy text!