ระบอบการปกครองของไต้หวัน

ระบอบการปกครองของไต้หวัน

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– ระบอบการปกครองของไต้หวัน –

วันที่ 11 มกราคม ปี ค.ศ. 2020 เป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไต้หวัน โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ‘ไช่อิงเหวิน’ ลงสังเวียนสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ภาษานักมวยก็ต้องบอกว่าเป็นการชกป้องกันตำแหน่ง จะป้องกันได้รึเปล่าเดี๋ยวก็รู้ เวลามีเลือกตั้งทีฉันแทบไม่อยากดูข่าวทีวีเลย เพราะว่าจะมีแต่ข่าวผู้สมัครชิงตำแหน่งกัน เริ่มตั้งแต่ว่าผู้ใดสังกัดพรรคไหนจะลงสมัครขอเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พอโหวตกันในพรรคได้ตัวแทนพรรคเรียบร้อย ก็จะเป็นข่าวการหาเสียงทุกวัน ฟังๆ แล้วก็ไม่กระไรนักหนานิ คุณนายฮวงจะบ่นไปไย คือถ้ามันไม่มีดราม่าการเมือง มันก็โอนะ แต่ตั้งแต่อยู่มา ก็เห็นมันมีข่าวกันตั้งแต่หนึ่งปีก่อนถึงวันเลือกตั้งประมาณนั้นเลย ใครจะลงสมัคร ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เลยว่าจะมีคนขุดคุ้ยทุกอย่างเกี่ยวกับตัวคุณขึ้นมาหมด อย่างที่เคยเล่าให้ฟังในบทเรื่องทีวีนั่นล่ะ

ไต้หวันมีพรรคการเมืองอยู่ 2 พรรคใหญ่คือ พรรคกั๋วมินตั่ง (สีน้ำเงิน) กับ พรรคหมินจินตั่ง (สีเขียว) และในปัจจุบันนี้ก็มีพรรคเล็กๆ อีก 17 พรรคเพิ่มสีสันขึ้นมาอีกนิดนึง พรรคกั๋วมินตั่งเป็นพรรครัฐบาลมาตั้งแต่ที่เจียงไคเช็คอพยพหนีมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ (เพราะพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง) มาตั้งหลักที่ไต้หวัน แล้วก็จัดตั้งรัฐบาลตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีซะเลย แล้วก่อนตายก็ส่งต่อตำแหน่งให้ลูกชายชื่อเจียงจิงกั๋ว ซึ่งก็ส่งมอบอำนาจต่อให้กับลีเติงฮุย ฟังๆ ดูประมาณรัฐเผด็จการไหมคะ จากที่คุณชายเล่าให้ฟัง ก็ทำนองนั้นแหละค่ะ โดยเฉพาะช่วงพ่อลูกแซ่เจียงเป็นประธานาธิบดีแบบกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ มีเคอร์ฟิวด้วย สมัยก่อนประชาธิปไตยประเทศแถวเอเชียคงเป็นแบบนี้กันเกือบทั้งนั้นมั้ง แต่ฮีก็บอกเหมือนกันนะคะว่า ต้องยอมรับว่าเจียงจิงกั๋วเห็นการณ์ไกลพอควร พัฒนาระบบสาธารณูปโภคของไต้หวันเผื่อรองรับความเจริญในอนาคต ฟรีเวย์ 2 สายที่ให้รถวิ่งได้จากหัวเกาะถึงท้ายเกาะ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเค้าล่ะค่ะ แล้วก็เป็นยุคที่เศรษฐกิจไต้หวันเฟื่องฟูแข็งแกร่งมาก จำได้ว่าตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นมีประเทศ 4 เสือแห่งเอเชียเป็นกรณีศึกษาในแง่ของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี แล้วก็ไต้หวัน แต่ก็อย่างว่านะคะ มีอำนาจนานๆ ไปมันก็เหลิง คอร์รัปชันบ้างอะไรบ้างตามเรื่องตามราว ถึงเวลาที่คนหมดความอดทน ก็เลยมีพรรคใหม่เกิดขึ้นมาเพื่อคานอำนาจรัฐบาล และแล้วก็ถึงเวลาที่ผู้สมัครของพรรคกั๋วมินตั่งคือ เหลียนจั้น (ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีสมัยลีเติงฮุย) แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2000 เปลี่ยนให้เฉินสุยเปี่ยนของพรรคหมินจินตั่งมากุมอำนาจเป็นฝ่ายรัฐบาลแทนไป

รูปร่างหน้าตาของตรายางที่ใช้ประทับตราโหวต

เฉินสุ่ยเปี่ยนนี่ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไหร่ กินแหลกอีกเหมือนกัน (ทั้งๆ ที่ตอนเป็นนายกเทศมนตรีไทเป ก็ทำงานดีมากนะ ระบบการจัดเก็บขยะก็คนนี้ล่ะที่เป็นผู้ริเริ่ม) จนหมดวาระสองเทอมก็เจอศาลตัดสินเข้าไปนอนในคุกข้อหาคอร์รัปชัน ฉันมาอยู่ที่ไต้หวันนี่ก็เป็นช่วงที่ตาคนนี้เป็นประธานาธิบดีกำลังต่อสู้ป้องกันตำแหน่งอยู่ ตอนนั้นเนี่ยประมาณว่าโพลชี้ว่าคะแนนก้ำกึ่งมาก จนวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แกถูกลอบยิงขณะยืนอยู่ในรถเปิดประทุนหาเสียง เลยทำให้คนที่ลังเลไม่รู้จะโหวตให้เหลียนจั้น (ลงสมัครอีกครั้ง หลังจากแพ้ไปครั้งนึงแล้ว) ดี หรือเฉินสุ่ยเปี่ยนดี หันมาเทคะแนนให้เฉินสุ่ยเปี่ยนเข้าทำเนียบรอบสองไปอย่างเฉียดฉิว ว่ากันว่าไอ้การลอบยิงนี้ เฉินสุ่ยเปี่ยนเป็นคนจัดฉากซะเองเพื่อเรียกคะแนนสงสารจากประชาชน (ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหนนะคะ นี่เล่าตามข่าวทีวี) แล้วการสอบสวนมือปืนที่ยิงก็จบลงอย่างรวบรัดตัดความ ไม่มีคนบงการใดๆ ปิดคดีกันรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม ฉันนั่งดูข่าวทุกวันแล้วก็ขำ มีการเปรียบเทียบกับกรณีของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ อีกต่างหาก แถมตั้งฉายาลูกกระสุนว่า ‘Magic Bullet’ เออ มีงี้ด้วยเนะ มือปืนลอบสังหารอะไรวะ ยิงที่หัวเข่าเนี่ยนะ สงสัยสมองคนยิงคงอยู่ที่หัวเข่ามั้งน่ะ หุหุ

แล้วพรรคกั๋วมินตั่งก็กลับมาเป็นพรรครัฐบาลอีกครั้ง ภายใต้การนำของหม่าอิงจิ่ว ที่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีถึงสองเทอม (แปดปี) ตอนเทอมที่สองเนื่องจากจัดการคดีคอร์รัปชันของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เจ้าใหญ่ยักษ์ของเกาะไม่ดีนัก ประชาชนไม่พอใจ เลยเทคะแนนให้พรรคหมินจินตั่งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ภายใต้การนำของประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศไช่อิงเหวินที่กำลังจะหมดเทอมแรกในวันที่ 10 มกราคม 2020 ฟังมาถึงตรงนี้ รู้สึกไหมคะว่า อำนาจอยู่ในมือประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ประชาชนโหวตให้เข้ามาบริหารประเทศ ถ้าทำไม่ดี เลือกตั้งครั้งต่อไปก็ไม่มีใครโหวตให้กันละ แต่เมื่อประมาณสองปีที่แล้วนี่เอง ฉันเพิ่งรู้ว่าที่นี่ประชาชนมีสิทธิ์โหวตเอา ส.ส. ที่ตัวเองไม่พอใจออกจากตำแหน่งได้ด้วย

ใบนี้ทางก.ก.ต.ส่งมาให้แต่ละบ้าน ระบุชื่อ ที่อยู่และสถานที่ที่ไปโหวต ผู้โหวตจะต้องถือใบนี้ไปพร้อมตรายางชื่อตน ยื่นต่อเจ้าหน้าที่

ตอนนั้นจำได้ว่ามีอยู่วันนึง ไปตลาดสดหน้าบ้าน เจอคนมาล่ารายชื่อถามว่า จะลงชื่อไหม ตอนนั้นคือให้ประชาชนลงชื่อเพื่อขอยื่นเรื่องต่อ กกต. ของที่นี่ ถ้าครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดก็ยื่นเรื่องขอถอดถอนได้ ซึ่งก็มีคนลงชื่อครบตามกฎหมายกำหนด มีการยื่นเรื่องขอถอดถอน แล้วก็มีการกำหนดวันให้คนลงคะแนนโหวตว่าจะให้ ส.ส. คนนี้ (ส.ส.เขตบ้านอิฉันเองแหละ) พ้นสภาพไหม มีการจัดลงคะแนนเหมือนลงคะแนนเลือกตั้งเลย ผลออกมาคือจำนวนประชาชนที่โหวตให้ออกมีไม่ถึงที่กฎหมายกำหนด ฮีก็เลยยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป คุณชายบอกว่าไม่ใช่แค่ ส.ส. นะ ตามรัฐธรรมนูญของประเทศนี้ประชาชนมีสิทธิ์โหวตเอาประธานาธิบดีออกยังได้เลย เพียงแต่ตัวเลขของประชาชนที่ลงชื่อขอถอดถอนสูงกว่าการถอด ส.ส. เยอะ น่าสนใจดีเนอะรัฐธรรมนูญประเทศนี้😉

เอกสารทั้งหมด มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งปธน. , ส.ส. , ส.ส.ปาร์ตี้ลิสท์ของแต่ละพรรคการเมือง
พับเรียงกันให้ดูว่าชุดนึงมีตั้งหกใบ ไซส์ใหญ่ยักษ์ให้เห็นกันจะๆ

ขออธิบายหน่อยนะคะว่า ไต้หวันเนี่ยอิงระบบเลือกตั้งแบบอเมริกา คือเลือกประธานาธิบดีแยกไปเลย แล้วประธานาธิบดีก็เลือกนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีเข้ามาร่วมทีมบริหารประเทศ ส่วนพวก ส.ส. นั่นประชาชนก็เลือกแยกออกไป ใบลงคะแนนก็เลยออกจะใหญ่อยู่ซะหน่อย เพราะต้องกาลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี แล้วก็เลือกพวก ส.ส. อีกด้วย เอกสารเรียกให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะมาถึงหนึ่งอาทิตย์ก่อนวันเลือกตั้งทุกครั้งเสมอ (ไปรษณีย์ไต้หวันนี่ตรงเวลาเป๊ะดีจริงๆ) แล้วก็จะมีใบที่จะระบุชื่อของคนที่มีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง ซึ่งบุคคลผู้นั้นจะต้องถือไปแสดงพร้อมกับบัตรประชาชนและตรายางชื่อของเขา เจ้าหน้าที่จะเช็กกับเอกสารที่ศูนย์เลือกตั้ง ถ้าถูกต้องก็ให้ใช้ตรายางชื่อนั้นประทับตราว่ารับใบลงคะแนนเลือกตั้ง แล้วก็เดินเข้าไปในช่องจัดการเลือกได้เลย โดยในนั้นจะมีตรายางที่เป็นรูปวงกลมมีสองขีดอยู่ในวงกลมนั้น(วงกลมมีสองขีดนี้ เลยเป็นสัญลักษณ์ของการเลือกตั้งไปซะแล้ว) จัดไว้ให้ใช้เพื่อลงคะแนนเลือกคนที่ต้องการ ผู้ออกเสียงโหวตใช้ตรายางอันนี้ประทับลงในเบอร์ช่องผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตัวเองต้องการโหวตให้ แค่นี้เป็นอันเสร็จสิ้น ออกมาก็พับหยอดลงกล่องเหมือนที่เมืองไทยค่ะ

เอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีพร้อมรองประธานาธิบดี มีอธิบายวิธีการลงคะแนน พร้อมแสดงหน้าตาใบลงคะแนนให้ด้วยในกรอบที่เป็นตารางเล็ก

อ่านมาถึงตรงนี้ เริ่มงงใช่ไหมคะว่าทำไมมีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ฉันก็ว่าแปลกดีเนอะ แล้วเมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคมปี 2018 มีการสับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เปลี่ยนตัวกันห้าถึงหกตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจคือ นายกรัฐมนตรีของไต้หวัน (行政院院張-สิงเจิ้งย่วนย่วนจั่ง) ‘ไล่ชิงเต๋อ (ณ เวลานั้น)’ ซึ่งพอดูข่าวทำให้ฉันยิ่งแปลกใจหนักขึ้นไปอีกที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่นายกฯ ไม่ใช่ประธานาธิบดี (แถมไม่ต้องมีการผ่านความเห็นชอบจากสภาด้วย) ไม่เหมือนกับระบบของอเมริกา

แต่ถ้าใครได้อ่านเกี่ยวกับ ‘三民主義-ซันหมินจู่อี้’ ของ ดร.ซุนยัดเซน มาบ้าง ก็จะรู้ว่าซุนยัดเซนเขียนหลักการนี้ (ที่ได้กลายมาเป็นหลักการของระบอบการปกครองของไต้หวัน) โดยมีจุดเริ่มต้นแนวคิดจากของทางอเมริกา โดยเฉพาะจากคำพูดอันโด่งดังของ อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า ‘Government of the people, by the people, for the people’ ซึ่งได้กลายมาเป็น 民族主義-หมินจู๋จู่อี้, 民權主義-หมินฉวนจู่อี้, 民生主義-หมินเซิงจู่อี้ แต่มาตกผลึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างสมบูรณ์หลังจากที่ได้ไปเยือนยุโรปถึงสองครั้ง เพราะฉะนั้นน่าจะอธิบายได้ว่าทำไมเกาะนี้ถึงมีทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี เนื่องจากซุนยัดเซ็นเก็บประสบการณ์จากของประเทศอื่นๆ มาผสมกันนั่นเอง คุยให้ฟังแค่นี้ดีกว่านะคะ เดี๋ยวยาวเกินไปจะมึนกันซะก่อน🙂

อ้อ! ที่ไต้หวันนี่ หัวหน้าเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็มาจากการเลือกตั้งด้วยนะคะ ประชาชนลงคะแนนเลือกพร้อมไปกับตอนที่เลือกนายกเทศมนตรีของแต่ละเมืองนั่นล่ะค่ะ ทุกตำแหน่งมีวาระ 4 ปีเท่ากันหมด เพียงแต่จะเหลื่อมวาระกันสองปี คือเลือกระดับประเทศไป ต่อมาอีกสองปีก็ถึงเวลาเลือกระดับท้องถิ่น เลยทำให้ฉันรู้สึกว่าที่ไต้หวันนี่มันเลือกตั้งกันบ่อยจริงวุ้ย แต่ก็ดีเหมือนกัน จัดเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางนึง ที่ไต้หวันผู้สมัครรับเลือกตั้งมักจะทำของแจก โดยปะหน้าตัวเองไว้บนของแจก ฉันชอบเหมือนกันนะของแจกพวกนี้ ใช้ประโยชน์ได้ เป็นกระดาษทิชชู่บ้าง ฟองน้ำหรือสก็อตไบรท์ล้างจานก็มี ไม่ก็พัดกระดาษ จะแจกอะไรก็แล้วแต่ ราคาห้ามเกิน 30 หยวนก็แล้วกัน กฎหมายกำหนดไว้อย่างนั้น ไหนจะธุรกิจสิ่งพิมพ์+สื่อโฆษณาอีกเศรษฐกิจคึกคักชัวร์ๆ 😁

Don`t copy text!