冬至 – ตงจื้อ

冬至 – ตงจื้อ

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เปิดศักราชใหม่มาได้แป๊บเดียว คุณนายฮวงก็มีเรื่องป้ำเป๋อมาอีกแล้ว แหะๆ😅 คือตั้งใจว่าจะคุยให้ฟังเกี่ยวกับเทศกาลบัวลอย หรือที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่า 冬至 – ตงจื้อ พอเจออากาศหนาว 5-6 องศาเข้าไป เลยเอ๋อๆ กลายเป็นเล่าเรื่องของกินแก้หนาวไปซะนั่น😆 ขออภัยนะคะ แต่มาช้าดีกว่าไม่มาเนอะ😉 ถ้าใครเป็นแฟนคอลัมน์ตัวจริงคงจะจำกันได้ว่า เคยเล่าให้ฟังไปแล้ว รู้สึกจะในบทชิงหมิงเจี๋ยมั้งคะ เกี่ยวกับปฎิทินทางสุริยคติของชาวจีนที่เรียกว่า 24 節氣 – เอ้อร์สือซื่อเจี๋ยชี่ โดยฉันยกตัวอย่างให้ดูกันบ้าง หนึ่งในนั้นคือ 冬至 – ตงจื้อ (เมื่อปีที่แล้วตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม) ซึ่งเป็นวันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุด ถือกันว่าเป็นวันที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว คนจีนก็จะต้ม 湯圓 – ทังหยวนหรือบัวลอย กินกันให้ร่างกายอบอุ่น

จากที่ฉันเล่าๆ มาตลอด จะเห็นได้ว่า ทังหยวนนี่เป็นที่นิยมกินกันในหลายๆ โอกาส แต่สำหรับตงจื้อ ทังหยวนนับเป็นตัวเอกของเทศกาลค่ะ ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะกล่าวกับลูกหลานตัวน้อยว่า 吃完冬至湯圓就長一歲 – ชือหวันตงจื้อทังหยวนจิ้วจั่งอิ๊ซุ่ย แปลเป็นไทยได้ประมาณว่า กินทังหยวนในเทศกาลตงจื้อแล้วก็โต (หรือแก่) ขึ้นอีกหนึ่งปี ฉันได้ยินแล้วก็ให้สงสัยว่า ทำไมล่ะ ทังหยวนในเทศกาลตงจื้อนี้ มีการผสมเครื่องปรุงใดเป็นพิเศษรึ ถึงทำให้เด็กโตขึ้น (แต่ฉันว่าแค่กินแป้งล้วนๆ ขนาดนั้น มันก็น่าหรอกที่จะทำให้แก่😆) ถามคุณชาย ฮีก็บอกไม่รู้ ถามคุณหม่ามี้ คุณหม่ามี้ก็ตอบว่า “ก็ถูกแล้วไง โตขึ้นขวบนึง” แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทำไมถึงมีคำกล่าวนี้ เดือดร้อนอากู๋อีกแล้วสิคะ ฮิๆ

ภาพจาก https://www.setn.com/

คืออย่างนี้ค่ะ ในสมัยก่อนนู้น ประมาณราชวงศ์โจวจนถึงช่วงต้นๆ ของรางวงศ์ฮั่น คนจีนนับการเริ่มต้นปีใหม่กันที่วันตงจื้อ ดังนั้นพอเริ่มเข้าปีใหม่ ก็อายุเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปีไงคะ คือเขาไม่ได้รอให้ถึงครบรอบวันคล้ายวันเกิด พอขึ้นปีใหม่ปุ๊บก็บวกเพิ่มทันทีเลย แหม แบบนี้คนเกิดปลายปีก็แก่ทันคนเกิดต้นปีสิเนอะ😊 สมัยปัจจุบันก็นับแบบนี้เหมือนกันนะ จำได้ว่าปีที่ฉันอายุครบ 45 ปี เพิ่งผ่านวันปีใหม่มาได้ไม่กี่วันเอง ทางสำนักอนามัยเขตบ้านฉันก็โทรมาที่บ้านแจ้งว่า ปีนี้ฉันอายุ 45 สามารถไปรับการตรวจแมมโมแกรมได้ฟรี จะไปตรวจที่ไหนก็ได้ แค่นำบัตรเจี้ยนเป่าไปแจ้งว่าต้องการรับสิทธิ์ตรวจฟรี ทั้งๆ ที่ถ้านับกันจริงๆ ฉันเพิ่งอายุครบ 44 ปีเต็มมาไม่นานเอง

ตานี้ก็มาว่ากันถึงความเชื่อและประเพณีนิยมของชาวไต้หวันในวันตงจื้อกันนะคะ ข้อแรกสุดเลยคือ วันตงจื้อต้องกินทังหยวน เพื่อความสมัครสมานสามัคคีในครอบครัว และประสบความสำเร็จในปีที่กำลังมาถึง โดยควรกินทั้งสองสีคือสีแดงที่หมายถึงมีโชคในเรื่องความรักและไปถึงไหนก็มีแต่คนนิยมชมชอบ ส่วนทังหยวนสีขาวกินแล้วจะได้ร่ำรวยทำมาค้าคล่อง และที่สำคัญคือ กินทังหยวนจะกี่ลูกก็แล้วแต่ ต้องให้เป็นเลขคู่ จะได้โชคดีแบบเด้งสองต่อ (นั่นแน่ คุณนายฮวงวันนี้มาแบบภาษาป๊อกเด้งเลยนะ😁)

ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/

นอกจากทังหยวนแล้ว ก็ควรกิน 餃子 – เจี่ยวจึ หรือเกี๊ยว (เกี๊ยวแบบไหน ไปตามอ่านได้ในบทเกี๊ยว) เพราะว่าเจี่ยวจึมีรูปร่างคล้ายกับ 元寶 – หยวนเป่า หรือเงินที่ชาวจีนใช้กันในสมัยโบราณ กินแล้วจะได้ร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไป ยังค่ะ ยังไม่จบรายการของกิน😁 แหม ไม่ใช่แค่คนไทยนะคะ คนจีนก็ถือว่าเรื่องกินเรื่องใหญ่เหมือนกันนา อีกอย่างที่ควรกินในวันตงจื้อก็คือ วุ้นเส้นกับขาหมูค่ะ ลูกๆ ชาวชวนป๋วยปี่แปกอ-ตราลูกกตัญญู ควรต้มวุ้นเส้นกับขาหมู (หรือจะซื้อเจ้าที่อร่อยลือชื่อก็ได้นะ ถ้าคุณทำกับข้าวไม่เก่งเหมือนอิฉัน😆) ให้ปาป๊า-มาม้ากิน เพื่อให้ท่านมีอายุยืน และขับไล่โชคร้ายออกไป วุ้นเส้นก็อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปในบทไหนสักบทนึงแล้วว่า มีความหมายเกี่ยวกับอายุยืน ส่วนขาหมู… ตรงนี้นี่ฉันตีความเองว่า ขาหมูมันหนักแน่น ใช้เตะโชคร้าย จะได้กระเด็นออกไปไกลๆ ฮ่าๆๆ

แผงขายบัวลอยในตลาดหน้าบ้านคุณนายเอง

วันตงจื้อนี้ เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าวัน 敬老節 – จิ้งเหล่าเจี๋ย แปลตรงตัวก็คือ วันเคารพผู้อาวุโส น่าจะจัดเป็นวันผู้สูงอายุก็คงได้มั้ง ดังนั้น อีกหนึ่งรายการที่ลูกกตัญญูควรทำในวันนี้คือ พาพ่อแม่ออกไปเดินเล่น ซื้อเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้าใหม่ให้พ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อตา-แม่ยาย หรือพ่อ-แม่สามี จะได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และช่วยให้โชคดีมีความราบรื่นในชีวิต (อ่านมาถึงตรงนี้ ฉันแอบขำ นึกในใจว่า ก็ซื้อของให้ กระชับมิตรซะขนาดนี้ ชีวิตมันก็น่าจะราบรื่นอยู่หรอก😜) นอกจากนี้แล้วก็ต้องตั้งโต๊ะกราบไหว้บรรพบุรุษ แน่นอนว่าหนึ่งในของไหว้ก็คือทังหยวน ไหว้แล้วก็ขอพรให้บรรพบุรุษช่วยปกป้องคุ้มครองลูกหลาน

สมัยเด็กๆ ฉันเรียกวันตงจื้อว่า วันไหว้อี๊ (อี๊ในภาษาแต้จิ๋วก็คือ 圓 – หยวน ที่หมายถึงทังหยวนนั่นล่ะ) เพราะไม่รู้ภาษาแต้จิ๋วพูดตงจื้อว่ายังไง (วันก่อนคุณหม่ามี้สอนให้แล้วค่ะว่าออกเสียง ตังโจ่ย) เวลาตั้งโต๊ะไหว้อากงอาม่าเสร็จเรียบร้อย ก็จะขอให้หม่ามี้ต้มน้ำกะทิให้ จะได้เอาอี๊ใส่กินแทนน้ำต้มใส่น้ำตาลใสๆ ที่เอาไว้ไหว้อากงอาม่า คือรู้สึกว่ากินแบบต้มบัวลอยของคนไทยมันอร่อยกว่าน่ะ😋 แล้วตอนกลางคืนก่อนวันไหว้ก็ชอบมาก เพราะต้องช่วยปั้นอี๊ แหม เป็นโอกาสเล่นสนุกแบบใช้ความคิดสร้างสรรค์ของคุณนายฮวงประจำปีเชียวนา คือถ้าปั้นได้ครบตามที่จะใช้ไหว้แล้ว คุณหม่ามี้อนุญาตให้ปั้นเพิ่มเล่นได้ตามใจชอบ แต่มีข้อแม้ว่า ปั้นแล้วต้องกินเองนะ😂

ตอนหาข้อมูล มีอ่านเจอที่หมอดูฮวงจุ้ยของไต้หวันชื่อ 謝沅瑾 – เซี่ยหยวนจิ้น บอกเคล็ดเพิ่มเติม ที่ควรทำในวันตงจื้อนี้อีกด้วยค่ะ เขาบอกว่าควรวางทังหยวนที่ยังไม่ได้ต้ม ใส่ถ้วยเล็กๆ ไว้หน้าประตู หน้าต่างเพื่อเป็นเกียรติแก่เทพเจ้าประตูหน้าต่าง อันนี้นี่ฉันว่าน่าจะหมายถึงการตั้งโต๊ะเล็กๆ ไหว้เจ้าที่หน้าประตูบ้านนะ (ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะว่า ใช่อย่างเดียวกันไหม) เพราะที่บ้านฉันจำได้ว่า ก็เห็นอาเตี่ยจัดไหว้เหล่าเอี๊ยด้วย โดยเฉพาะตรุษจีนกับวันไหว้อี๊เนี่ยล่ะ ที่ไต้หวันฉันก็เคยเห็นพวกบริษัทห้างร้านตั้งโต๊ะเล็กๆไหว้ที่หน้าประตูร้านเหมือนกัน นอกจากประตูหน้าต่างแล้ว คุณเซี่ยยังบอกให้เอาทังหยวนที่ยังไม่ได้ต้มห่อใส่ผ้าเช็ดหน้า วางเอาไว้ที่หัวเตียง เป็นการอธิษฐานช่วยให้ปีที่กำลังมาถึงเป็นปีที่ดีประสบความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง ยังมีอีกนะ ให้เอาทังหยวนที่ยังไม่ได้ต้มสามลูกใส่ในจานเล็กๆ สี่จานวางไว้สี่มุม จากนั้นวางเหรียญสี่กองโดยมีลำไยไว้ตรงกลาง สิ่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ว่าทุกอย่างจะราบรื่นสำหรับทั้งครอบครัวในปีหน้า

เฮ้อ เคล็ดเยอะจัง จะเชื่อหรือไม่ แล้วแต่วิจารณญาณนะคะ แต่คุณนายฮวงคงทำไม่ไหวนะ เพราะเป็นคนซุ่มซ่าม แขนขาเก้งก้างเป็นระยางไปหมด วางอะไรไว้มากๆ อาจมีรายการปัดตกหรือเตะเอาได้ แล้วก็เป็นคนแนวมินิมอล จะชอบให้บ้านโล่งๆ สบายตาสบายใจน่ะค่ะ😊

Don`t copy text!