國家太空中心 – กั๋วเจียไท่คงจงซิน

國家太空中心 – กั๋วเจียไท่คงจงซิน

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

อิฉันเป็นชาวเกาะนี้มายี่สิบปีแล้ว เพิ่งได้รู้ว่าที่นี่มีหน่วยงานชื่อ Taiwan Space Agency หรือ 國家太空中心 – กั๋วเจียไท่คงจงซิน ก็เมื่อลูกสาวเพื่อนได้มาฝึกงานกับ TASA อันเป็นชื่อย่อของ Taiwan Space Agency เมื่อช่วงเดือนเมษายนถึงต้นมิถุนายนนี้เองค่ะ แหม ก็เคยได้ยินแต่นาซ่า – NASA มาตลอดชีวิต พอรู้ว่าเกาะนี้ก็มี TASA ด้วย ตื่นเต้นกิ๊วก๊าวพูดกับคุณชายว่า “นี่ๆ ยู ลูกสาวเพื่อนไอจะมาฝึกงานกับ Taiwan Space Agency ยูรู้จักไหม” ฮีตอบเมียด้วยเสียงเรื่อยๆว่า “รู้สิ” “อ้าว แล้วทำไมยูไม่เห็นบอกไอเลยอะ” ฮีก็ยังคงตอบเรื่อยๆต่อว่า “ก็ยูไม่เคยถามไอนิ” แหมๆๆ🙄🙄  และเมื่อฉันไปถามอากู๋ อ่านไปๆ ก็แอบสงสัยเล็กๆ ว่า จากชื่อหน่วยงาน Taiwan Space Agency ถ้าเอาเฉพาะตัวหน้ามาเรียกชื่อย่อๆ มันไม่น่าจะเป็น TASA เลยนิ ก็อย่างของทางยุโรป European Space Agency ยังชื่อย่อว่า ESA เลยอะ ท่าทาง TASA คงอยากให้คล้องจองกับ NASA – National Aeronautics and Space Administration ของทางอเมริกามั้งเนี่ย😆

ตัวตึกสำนักงาน

เอาค่ะๆ เขาเรียกว่า TASA เราก็เรียกตามเขาไปละกันนะ😉 แต่ก่อนจะมาลงตัวเป็นหน่วยงานและชื่อนี้ เปลี่ยนชื่อมาหลายครั้งอยู่ค่ะ เริ่มจากในปี ค.ศ. 1991 ได้มีการก่อตั้ง National Space Program Preparatory Office ขึ้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ The Executive Yuan (ฉันไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเทียบได้กับหน่วยงานไหนของเมืองไทย น่าจะจัดเป็นฝ่ายบริหารมั้ง เพราะโดยโครงสร้างองค์กรส่วนหนึ่งมีการรวมพวกรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เข้าไปด้วย แล้วก็ต้องรายงานนโยบายต่างๆ ต่อ Legislative Yuan หรือฝ่ายนิติบัญญัติ) เพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการดาวเทียมแห่งชาติ จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ และฝึกอบรมกำลังคนด้านอวกาศ พอปี 2003 ก็ถูกควบรวมกับหน่วยงานอื่นเข้ามาอยู่ในสังกัดของ National Applied Research Laboratories (NARLabs) โดยเปลี่ยนชื่อเป็น National Space Program Office ใช้ชื่อนี้ได้สองปีก็ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น National Space Organization จนในที่สุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2023 นี้เอง ที่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Taiwan Space Agency เพิ่มชื่อ ‘ไต้หวัน’ เข้าไปเพื่อยกระดับการยอมรับในระดับสากล โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ National Science and Technology Council เฮ้อ เปลี่ยนชื่อหลายครั้งซะจนคนอธิบายเหนื่อยเลย😆

จากการสัมภาษณ์ลูกสาวเพื่อนที่เข้าไปฝึกงานอยู่สองเดือนเศษ พอจะได้ข้อมูลคร่าวๆ มาเล่าให้ฟังกันได้ประมาณนี้ ภารกิจหลักๆ ของ TASA มีอยู่สองอย่างคือ พัฒนาค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีทุกอย่างที่เกี่ยวกับอวกาศ เช่น สร้างดาวเทียมสำหรับสำรวจโลก รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอวกาศด้วย และอีกภารกิจหลักก็คือ ให้ความรู้ด้านนี้กับเด็กนักเรียนนักศึกษาทั้งหลาย โดยทางโรงเรียนสามารถติดต่อพานักเรียนมาทัศนศึกษาได้ในทุกวันพุธ และมีจัด open house 1-2 ครั้งต่อปีในช่วงปิดเทอม แล้วยังเคยมีจัดการแข่งขัน Water rocket competition ด้วย (นี่ถ้าให้เดาก็คงเป็นจรวดที่ใช้แรงขับด้วยแรงดันน้ำ) นอกจากนี้ทางหน่วยงานยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไต้หวันที่มีภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) อีกด้วย เข้าใจว่าทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีการค้นคว้าวิจัยด้านอวกาศด้วยนะคะ ก็คงจะศึกษาหาดูว่า ในจักรวาลมีดาวดวงไหนที่เหมาะจะอพยพชาวโลกไปอยู่หลังจากที่โลกใบนี้ร้อนจนอยู่ไม่ได้ละมัง😅 อันนี้ฉันเดาเอาน่ะนะ เพราะเขาให้ข้อมูลมาว่า ศึกษาเรื่อง deep space

แน่นอนค่ะว่า TASA ต้องมีโครงการสร้างดาวเทียม (Satellite) และจรวด (Rocket) ต่างๆ เพื่อใช้ในการสำรวจโลกใบนี้ด้วย โดยเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพดินฟ้าอากาศ ก็อย่างที่รู้ๆ กันน่ะว่า เกาะนี้ต้องผจญกับภัยธรรมชาติหลักๆ สองอย่างคือไต้ฝุ่นกับแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวน่ะจับทางไม่ได้ง่ายๆ อยู่แล้วล่ะ แต่เรื่องไต้ฝุ่นนี่ถ้ามีดาวเทียมคอยสังเกตการณ์ แล้วส่งข้อมูลเตือนเข้ามาทางภาคพื้นดินได้ มันก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างที่ฉันเคยเล่าไปแล้วน่ะว่า เวลาไต้ฝุ่นก่อตัวที ก็ต้องจับตามองกัน มีรายงานข่าวทางทีวีบ่อยเลย เพราะพายุมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บนดาดฟ้าของตึกที่ทำการ TASA จึงมีเสาอากาศที่คอยรับสัญญานจากดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรอยู่ ทางนี้ก็สามารถรับข้อมูลที่ดาวเทียมสำรวจได้ แล้วก็ยังสามารถรู้ความเป็นไปของตัวดาวเทียมได้ด้วย เช่น ดาวเทียมอาจจะแบตใกล้หมดแล้วน้า ช่วยเอาแบตมาเปลี่ยนให้ใหม่ด้วยจ้า 😁 ส่วนใหญ่ดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นไปสำรวจโลกนี้ จะถูกยิงขึ้นไปโคจรในระดับ LEO (Low Earth Orbit) แค่นั้นเองค่ะ ถ้าสูงกว่านี้เรียกว่า MEO (Medium Earth Orbit)  ขั้นสูงสุดหรือไกลสุดคือ GEO (Geostationary Orbit)

การสร้างและทดสอบดาวเทียม ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ก็ทำกันที่ตึกที่ทำการของสำนักงานที่เมืองซินจู่ (ที่ได้ฉายาว่า Silicon Valley of Taiwan) นี้ล่ะค่ะ โดยพยายามใช้วัสดุอุปกรณ์จากภายในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตรงนี้ทำให้ฉันนึกถึงหนังของฮอลลีวูดเรื่องหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเรื่อง Armegeddon มั้งคะ มีฉากนึงที่ยานอวกาศ (space shuttle) กำลังรั่วหรืออะไรแบบนี้ล่ะ จำไม่ค่อยได้แล้วเหมือนกัน😅 แต่จำได้แม่นที่ช่างซ่อมพูดว่า จะเป็นยานของอเมริกาหรือรัสเซียก็แล้วแต่ ชิ้นส่วนมันก็ Made in Taiwan ทั้งนั้นแหละ เล่นเอาฉันหัวเราะก๊ากเลย🤣

อีกตึกหนึ่งของ TASA แต่ตึกนี้มีบริษัทอื่นร่วมอยู่ด้วย

อ้ะ มากลับเข้าเรื่องของเรากันต่อนะ เมื่อสร้างเสร็จทดสอบเรียบร้อยก็เอาไปปล่อยกันที่ภาคใต้ทางฝั่งตะวันออกของเกาะไต้หวันกันค่ะ แต่เมืองไหนไม่ยักบอก คงเป็นความลับทางความมั่นคงของชาติมั้งคะ จะว่าไปโลกเราปัจจุบันนี้ มันแทบจะปิดความลับกันไม่ค่อยได้แล้วนะ แค่ส่งโดรนขึ้นไปเดี๋ยวก็รู้หมดแล้ว จริงมั้ยคะ😅

 

Don`t copy text!