ซ่งไอ่หลิง

ซ่งไอ่หลิง

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– ซ่งไอ่หลิง –

ไหนๆก็เล่าถึง ‘คนที่สองรักชาติ กับคนสุดท้องที่รักอำนาจ’ ไปแล้ว ขอเล่าถึงคนโตที่รักเงิน ‘ซ่งไอ่หลิง – 宋靄齡’ ให้ครบสามศรีพี่น้องแห่งตระกูลเคนเนดีภาคประเทศจีนละกันนะคะ ตรงนี้ต้องขออธิบายนิดนึงว่า ชื่อของเธอออกเสียงว่าซ่งไอ่หลิงนะคะ แต่ฉันมักจะเห็นเขียนกันในภาษาไทยว่าซ่งอ้ายหลิง เมื่อครั้งที่เขียนถึงเธอในบทซ่งเหม่ยหลิง จึงเขียนตามความนิยมกันไปก่อน เพื่อให้สะดวกต่อคุณผู้อ่านที่อาจจะเคยผ่านตาเรื่องของสามสาวตระกูลซ่งนี้มาบ้าง

บางคนอาจจะคิดว่าพี่สาวคนโตแห่งตระกูลซ่งนี้ไม่ค่อยมีบทบาทหรือเป็นที่รู้จักของชาวโลกเท่ากับน้องสองคนของเธอ อาจจะจริงที่ไม่เป็นที่รู้จักนัก ไม่ค่อยมีคนรู้เรื่องราวของเธอเท่าไหร่ แต่จากที่ฉันอ่านหนังสือหรือบทความทั้งหลายมา ฉันได้ข้อสรุปว่า ซ่งไอ่หลิงนี่ล่ะค่ะที่เป็นตัวจริงเสียงจริง มีบทบาทต่อครอบครัวและมาตุภูมิของเธออย่างเงียบๆ อยู่เบื้องหลัง ด้วยความที่เธอเป็นลูกคนแรกและคนโปรดของ ชาร์ลี ซ่ง เธอจึงเติบโตมาภายใต้การเลี้ยงดูของพ่อ เธอเป็นเด็กทอมบอยที่ฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบดี (คิดไปถึงเปลว บ้านบางเบิด คุณหญิงยอดนักสืบเลย😉) ประกอบกับการที่พ่อพาเธอไปไหนต่อไหนด้วยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโรงพิมพ์ โรงทอผ้า โรงงานยาสูบ หรือโรงโม่แป้งที่เป็นกิจการของครอบครัว รวมไปถึงในระหว่างการเดินทางไปที่ต่างๆ ในตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ ชาร์ลีจะชี้ให้เธอดูสิ่งต่างๆ พร้อมทั้งอธิบายสอนลูกสาวคนโปรดถึงทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในสายตาของพวกเขาขณะที่นั่งอยู่บนรถลากที่มีบอดี้การ์ดของเขาเป็นคนลากรถอีกด้วย นอกจากนี้ การนั่งอยู่ในห้องทำงานของพ่อเธอตลอดเวลา ไม่ได้ต่างจากการนั่งอยู่ในห้องเรียนเลย เธอได้เห็นการทำงานของจับกังที่ด้านนอกห้อง ได้เห็นได้ฟังการเจรจาเรื่องธุรกิจระหว่างพ่อและนักธุรกิจทั้งหลาย  เธอมีโอกาสสัมผัสเรียนรู้มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจว่าทำไมเธอจึงมีความเจนจัดช่ำชองในเรื่องธุรกิจและการเงิน

เมื่ออายุได้เพียงห้าขวบ เธอบอกเองว่า เธอพร้อมแล้วที่จะไปโรงเรียน ชาร์ลีจึงพาเธอไปสมัครเข้าเรียนที่ McTyeire School for Girls ที่จัดเป็นโรงเรียนต่างชา ติ(เทียบกับสมัยนี้ก็โรงเรียนอินเตอร์ที่เราเรียกๆ กันนั่นแหละ) ชั้นนำของเซี่ยงไฮ้ในเวลานั้น ถึงแม้ว่าซ่งไอ่หลิงอายุยังน้อยเกินเกณฑ์ แต่ชาร์ลีก็เกลี้ยกล่อมครูใหญ่ด้วยเหตุผลว่า ลูกสาวของเขาคนนี้ ฉลาดเป็นเลิศและอายุสมองแก่กว่าอายุจริงมาก ครูใหญ่จึงยอมผ่อนผันให้เป็นกรณีพิเศษ และสอนซ่งไอ่หลิงด้วยตัวเองไปก่อนที่จะเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ ในเวลาไม่นานนัก เด็กน้อยแซ่ซ่งคนนี้ก็กลายเป็นขวัญใจของชาว McTyeire School จัดได้ว่าเธอได้แผ้วถางทางในโรงเรียนนี้ให้กับน้องสาวทั้งสองคนที่ตามเข้ามาเรียนในเวลาต่อมา

และแล้วเมื่ออายุได้ 14 ปี สาวน้อยไอ่หลิงก็พร้อมลงเรือไปเรียนต่อที่อเมริกาตามความประสงค์ของยอดคุณพ่อ ชาร์ลี ซ่ง ทำให้เธอเป็นผู้หญิงจีนคนแรกที่ได้รับการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ในเวลานั้นอย่าว่าแต่ชาวจีนเลย แม้แต่ชาวตะวันตกเอง การที่ผู้หญิงจะได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษานั้นยังจัดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ฉันบอกว่า ชาร์ลี ซ่ง เป็นยอดคุณพ่อได้ยังไงคะ และซ่งไอ่หลิงก็ช่างกล้าหาญชาญชัยผิดวัย เดินทางรอนแรมไปในเรือกับฝรั่งมิชชันนารีเพื่อนของพ่อเป็นแรมเดือน ไปเรียนต่อในประเทศที่เคยแต่ได้ยินพ่อเล่าให้ฟังแค่นั้น เธอเข้าศึกษาต่อที่ Wesleyan College ในเมือง Macon รัฐจอร์เจีย

หลังจากที่จบการศึกษา เธอเดินทางกลับเซี่ยงไฮ้และเริ่มงานแรกในชีวิตคือเลขาของซุนยัตเซ็น ก่อนที่จะส่งต่อตำแหน่งนี้ให้กับชิ่งหลิงในเวลาต่อมา และเมื่อทั้งครอบครัวต้องอพยพหนีการไล่ล่าจากหยวนซื่อไข่ไปญี่ปุ่นพร้อมซุนยัตเซ็น ไอ่หลิงได้พบกับ ‘ข่งเสียงซี’ ชายหนุ่มที่มีดีกรีจากมหาวิทยาลัยเยล อีกทั้งมาจากตระกูลที่ร่ำรวย มีธุรกิจมากมายรวมทั้งการเงินการธนาคาร ว่ากันว่าเขาสืบเชื้อสายจากขงจื้อ โดยนับเป็นรุ่นที่ 75 ของตระกูล ทั้งสองได้แต่งงานกันที่โยโกฮามาในปี 1914 และหลังจากที่ได้กลับไปเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง สองสามีภรรยาก็ได้ร่วมแรงร่วมใจแผ่ขยายอาณาจักรทางธุรกิจของตระกูลออกไป ถึงขั้นที่ข่งเสียงซีจัดเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในเมืองจีนเลยทีเดียว

ข่งเสียงซี สามีของซ่งไอ่หลิง The richest man in China ช่วงต้นศตวรรษที่ 20

เมื่อน้องนุชสุดท้องซ่งเหม่ยหลิงเรียนจบกลับมาอยู่บ้านแล้ว พี่สาวคนโตที่กุมบังเหียนสองตระกูลไว้ ก็จัดการดำเนินการเจรจากับเจียงไคเช็คให้แต่งงานกับน้องสาวคนเล็ก โดยมีข้อแม้ว่าต้องเลิกกับภรรยาคนปัจจุบัน และที่สำคัญกว่านั้นคือ ให้น้องชายคนโต ‘ซ่งจื่อเหวิน’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และสามีของเธอ ข่งเสียงซี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐจีน ยอดเยี่ยมไหมคะหลังบ้านคนนี้ของตระกูลข่ง ฉันว่าเธอเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นของชาร์ลีซ่งเลยล่ะ ให้ความสนับสนุนกุมอำนาจเงียบๆ อยู่เบื้องหลังก็พอใจแล้ว

แน่นอนค่ะว่าเจียงไคเช็คไม่ปฏิเสธข้อเสนอที่มีแต่ได้กับได้แบบนี้ ได้ทั้งเงินมาสนับสนุนกองทัพของตัวเอง เพื่อสู้รบกับก๊กอื่นๆ (อย่างที่เคยเล่าค่ะว่า เมืองจีนช่วงนั้นวุ่นวาย แตกเป็นก๊กๆ สารพัดนายพลทั้งหลายสู้รบแย่งชิงอำนาจกัน) โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์ที่มาแรงมาก นอกจากแหล่งเงินทุนที่มาจากบรรดานายธนาคารทั้งหลายในเซี่ยงไฮ้ แล้วยังได้เป็นเขยสกุลซ่งอีก มีหรือจะไม่รีบคว้าโอกาสนี้ไว้ ซ่งไอ่หลิงให้การสนับสนุนน้องเขยคนนี้อย่างเต็มกำลัง ถึงแม้ว่าน้องสาวคนรอง-ชิ่งหลิง จะคัดค้านการแต่งงานยังไงก็ไม่มีผล ก็จะได้ผลยังไงล่ะคะ ในเมื่อตัวซ่งเหม่ยหลิงเองก็อยากจะเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งอยู่แล้วด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามที่มาดามข่งวางแผนไว้ แต่เธอคงลืมนึกถึงคำที่ว่า ‘คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต’ และแล้วเจียงไคเช็คก็พ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง ต้องถอยร่นมาตั้งหลักที่เกาะไต้หวันในปี 1949 อย่างที่ทราบกันดี ส่วนซ่งไอ่หลิงและครอบครัวอพยพไปอยู่อเมริกา จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1973

ในบรรดาสามศรีพี่น้องสกุลซ่งนี้ ฉันชื่นชมซ่งชิ่งหลิงที่สุด เลื่อมใสกับความรักชาติแผ่นดินเกิดของเธอ แต่ต้องยอมรับค่ะว่าฉันก็นิยมในมันสมองของพี่ใหญ่สกุลซ่งเช่นกัน ในสายตาฉัน ซ่งไอ่หลิงฉลาดที่เลือกเงิน เมื่อมีเงินก็สามารถกุมบังเหียนในทุกๆ ด้าน เธอสามารถส่งน้องชายขึ้นตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของประเทศ สามีครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี น้องสาวคนเล็กก้าวขึ้นเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ฉันว่าเธอคงเรียนรู้ความจริงของโลกนี้ข้อนึงจากพ่อของเธอนะคะว่า ‘เมื่อมีเงินแล้ว อำนาจก็ไม่ไปไหนหรอก’

สามมุกงามแห่งตระกูลซ่ง เป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีน มีส่วนในการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์จีนในยุคก้าวผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบสาธารณรัฐ วลีอมตะที่ชาวโลกใช้กล่าวขานถึงเธอทั้งสามนั้น ไม่ได้ผิดจากความเป็นจริงแม้แต่น้อย… “One loved money, one loved power, and one loved China.”

 

Don`t copy text!