เอนหลังนั่งคุยเรื่อง ‘ตรุษจีน’

เอนหลังนั่งคุยเรื่อง ‘ตรุษจีน’

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– เอนหลังนั่งคุยเรื่อง ‘ตรุษจีน’ –

ตอนแรกวางแผนไว้ว่าจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับตรุษจีนสักประมาณเดือนมกราคม แต่มานึกอีกที เราเล่าแบบชิลๆ ดีกว่าเนอะ เผื่อใครอ่านแล้วอยากปฏิบัติตามธรรมเนียมจีนๆ จะได้มีเวลาเตรียมตัว เพราะตรุษจีนปีหน้ามาถึงค่อนข้างเร็วคือ วันที่ 25 มกราคม 2563  แล้วรู้สึกว่ามีเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับตรุษจีนอยากเล่าให้ฟังกันเยอะพอสมควร

เทศกาลตรุษจีนเป็นหนึ่งในสามเทศกาลใหญ่ๆ ของชาวจีน (อีกสองได้แก่ เทศกาลบะจ่าง – ตวนอู่เจี๋ย กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ – จงชิวเจี๋ย) จัดได้ว่าเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของคนจีนนะ เพราะเป็นเทศกาลฉลองขึ้นปีใหม่ ที่นี่เราเรียก ‘春節 – ชุนเจี๋ย’ บ้าง ‘กั้วเหนียน’ บ้าง (โดยมากเวลาพูดคุยกันจะเรียกว่ากั้วเหนียน) ชาวจีนเริ่มนับปีใหม่กันที่ฤดูใบไม้ผลิ นั่นคือคำตอบว่าทำไมเรียกชุนเจี๋ย ซึ่งแปลว่าฤดูใบไม้ผลิ ตรุษจีนปีแรกที่ฉันมาอยู่ที่นี่ เห็นบางบ้านแปะตัว 春 กลับหัวก็งงสิคะ คุณชายเฉลยให้หายงงว่า เป็นการเล่นคำของคนไต้หวัน คือ “春到了- ชุนเต้าเลอ” แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว แต่มีอีกคำนึงที่ออกเสียงว่าเต้า (倒) เหมือนกัน แต่ ‘倒’ ตัวนี้แปลว่า เท, กลับหัวกลับหาง, ล้ม… ประมาณนี้นะคะ ดังนั้น ‘春倒了- ชุนเต้าเลอ’ ก็คือ ตัว 春 ตีลังกากลับหัวกลับหาง อธิบายแบบนี้ ไม่งงกันนะคะ

ชุนเต้าเลอ
ฝูเต้าเลอ = ความสุขมาถึงแล้ว

ที่ไต้หวัน ในแต่ละปีรัฐบาลจะประกาศวันหยุดช่วงตรุษจีน แต่ละปีจะไม่เท่ากัน มีบางปีเคยหยุดถึงสิบวันแน่ะ ฉันเข้าใจว่าต้องดูว่าวันตรุษจีนของแต่ละปีตกอยู่ช่วงไหนของปฏิทินสากล แต่รัฐบาลประกาศหยุดนี่ บางบริษัทเอกชนอาจจะไม่หยุดตามวันที่รัฐบาลประกาศได้นะ ตรุษจีนปีหน้ามาถึงค่อนข้างเร็วคือ วันที่ 25 มกราคม 2563 (เรียกว่า ‘初一 – ชูอี’ หรือภาษาแต้จิ๋วคือ ‘ชิวอิก’) โดยปกติวันหยุดช่วงตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันสิ้นปี (เรียกว่า ‘除夕 – ฉูซี’ ที่เมืองไทยเราเรียกวันไหว้กันนั่นล่ะค่ะ) ปีหน้าตรงกับวันที่ 24 มกราคม หยุดไปจนถึงวันที่ 29 มกราคม ทั้งหมดหกวันถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ วันที่ 30 มกราคมที่ถือเป็นวันทำงานวันแรกของปีใหม่ (นี่ฉันพูดถึง การนับทางปฏิทินจันทรคติของชาวจีนที่เรียกว่า ‘หนงลี่’ นะคะ) เปิดทำการปุ๊ป พวกบริษัทห้างร้านบางแห่งที่ถือธรรมเนียมเคร่งครัดหน่อยก็จะตั้งโต๊ะไหว้เจ้า มีการจุดประทัดเรียกแขกด้วย (อันนี้ศัพท์คุณนายฮวงตั้งเองค่ะ😉) เรื่องของวันเปิดทำงานตรงนี้ ต่างจากของธุรกิจห้างร้านของคนจีนในเมืองไทยนะ ที่เมืองไทยเปิดร้านกันที่วันที่ 4 ของปีใหม่ (หรือภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า ‘ชิวสี่’ ซึ่งปีหน้าจะตรงกับวันที่ 28 มกราคม) อย่างที่บ้านฉัน ถ้าหากชิวสี่ตรงกับวันอาทิตย์ ก็ต้องมาเปิดร้านเอาฤกษ์พร้อมทั้งไหว้เจ้า (ไหว้ตี่จู๋เอี๊ย) ไหว้เสร็จก็ค่อยปิดร้าน (ก็วันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการที่ไทยนิ) แล้ววันจันทร์ถึงเปิดค้าขายตามปกติ

ตามธรรมเนียม ก่อนถึงตรุษจีนก็ต้องทำความสะอาดบ้านหรือร้านค้ากันชุดใหญ่ ทาสีประตูใหม่ แล้วก็ตกแต่งบ้านต้อนรับสิ่งดีๆ ที่จะเข้ามาในปีใหม่ มีการเปลี่ยนฮู้ (ภาษาแต้จิ๋ว) หรือยันต์ใบใหม่ แต่อันนี้ต้องหลังวันปีใหม่ค่ะ เพราะต้องเอาจากทางวัดที่ไปไหว้ในวันปีใหม่ แต่วัดที่นี่บางทีก็ให้เป็นสิ่งอื่นๆ นะ เช่น วัดหลังบ้านฉัน มีอยู่ปีหนึ่ง ฉันได้มาเป็นที่ห้อยกระเป๋าเป็นด้ายถักร้อยตัวหนังสือมงคลกับเงินเหรียญทำจากพลาสติก ตอนมาถึงเกาะนี้ใหม่ๆ ฉันตื่นตาตื่นใจกับของตกแต่งบ้านรับชุนเจี๋ยจริงๆ มีพวกรูปสัตว์ในสิบสองปีนักษัตร (สมัยเด็กๆ เยาวราชยังไม่มีของแบบนี้ขายนี่คะ มีแต่พวกคำมงคลที่เขียนด้วยพู่กันจีน เป็นหมึกสีทองบนกระดาษสีแดง) ทำได้หน้าตาน่ารักทั้งนั้นเลย อดใจไม่ไหว ต้องซื้อมาติดหน้าประตูบ้านบ้าง (บางปีฉันยังตั้งชื่อให้ซะอีกแน่ะ ฮิฮิ) มีตัวเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง (เรียกว่า ‘ไฉเสิน’) เป็นโคมไฟบ้าง หรือเป็นตุ๊กตาตั้งพื้นตัวใหญ่ยักษ์ก็มี แล้วก็มีซองอั่งเปาลวดลายสวยงามขาย สารพัดสินค้าที่จะคิดกันขึ้นมาขายถ่ายเทเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคสู่กระเป๋าผู้ขายกันนั่นล่ะค่ะ😄

พูดถึงการจ่ายตลาดเพื่อเทศกาลตรุษจีนที่นี่กันหน่อย คนไทเปนิยมไปจับจ่ายซื้อของที่จะใช้ในช่วงกั้วเหนียนกันที่ ‘ตี๋ฮว้าเจีย’ เทียบกับกรุงเทพฯ ก็เยาวราชนั่นล่ะ ทุกปีเห็นข่าวแล้วก็อยากไปมั่ง แต่คุณชายไม่เล่นด้วย จนกระทั่งตอนที่อยู่เกาะนี้มาได้สัก 6 ปีมั้ง ปีนั้นมีลูกยุแนวร่วมจากพี่ที่เคยทำงานด้วยกันที่การบินไทย แล้วพี่เขามาประจำที่นี่ ลากคุณชายไปเดินจนได้ โฮ่ย! เข็ดจนตายค่ะ จะไม่ไปตี๋ฮว้าเจียช่วงก่อนตรุษจีนอีกเลยชีวิตนี้ คลื่นมหาชนเดินแบบไหลกันไป แล้วก็แต่ละร้านตะโกนโหวกเหวกเรียกแขกกันสนั่น ดูของไม่ได้สักเท่าไร จะหาร้านกินข้าวกลางวัน ก็ยังลำบากยากเย็น รู้ซึ้งถึงสำนวนที่ว่า ‘Curiosity killed the cat’ วันนั้นจริงๆ😅 แต่ถ้าไม่ใช่ช่วงนั้นนี่โอเคนะคะ เพราะเป็นเขตเมืองเก่า มีตึกเก่าๆ สวยๆ ให้ดู แล้วเดี๋ยวนี้ทายาทรุ่นสามก็เข้าไปปรับปรุงร้านรวงให้สุดฮิป มีคาเฟ่ ร้านขายของกิ๊บเก๋เยอะอยู่ เดินเพลินเงินอาจหมดได้

ตานี้ขอคุยเรื่องการไหว้ช่วงตรุษจีนของที่นี่กันบ้าง ประเพณีการไหว้บรรพบุรุษนี่แล้วแต่ครอบครัวมั้งคะ อย่างบ้านสามีของฉันไม่ค่อยเคร่งครัดธรรมเนียมมาก เลยไม่มีการไหว้บรรพบุรุษในช่วงนี้ (ไหว้แค่ช่วงเช็งเม้ง) ไม่รู้ว่าเป็นเพราะรูปอากงอาม่าคุณชายไม่ได้อยู่ที่บ้านหรือเปล่า (คือเป็นครอบครัวใหญ่มากน่ะค่ะ รูปอากงอาม่าอยู่ที่บ้านคุณอาเขา) แต่ฟังจากเพื่อนคนไทยบางคน ครอบครัวสามีที่เคร่งมากก็จะมีการจัดของไหว้ ทั้งไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษในช่วงเช้า ช่วงบ่ายจัดโต๊ะเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ อาหารและผลไม้ที่ใช้ในการไหว้ก็ต้องมีข้อบังคับอีก เช่น สาลี่นี่ห้ามใช้ไหว้ผีไม่มีญาติ เพราะในภาษาไถอวี่ออกเสียงพ้องกับคำว่า ‘ไล้ = มา’ เหมือนเป็นการเรียกให้เขามา ซึ่งไม่เป็นมงคล บางครอบครัวไหว้เจ้าต้องใช้อาหารเจเท่านั้น แต่ที่เหมือนกับบ้านฉันที่เมืองไทยคือบนโต๊ะไหว้ต้องมี ‘ซาแซ’ แน่ๆ ที่บ้านฉันซาแซประกอบด้วยหมู+ไก่+ไข่เป็ด บางทีก็ใช้ปลาแทนไก่ (ถ้าใช้ปลา ก็ใช้ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้) ไหว้เสร็จก็เราก็กินได้เลย แต่ที่นี่เห็นเพื่อนบางคนเล่าตรงกันว่า บ้านสามีเขาจะเก็บปลาไว้กินวันชิวอิก (วันปีใหม่) เท่านั้น คิดว่าคงให้สมกับคำอวยพรที่ใช้กันในช่วงนี้ที่ว่า ‘年年有餘 – เหนียนเหนียนโหย่วอวี๋ = ทุกปีมีเงินเหลือกินเหลือใช้’ มั้งคะ คือคำว่า อวี๋ – 魚 ตัวนี้แปลว่าปลา เสียงไปพ้องกับ 餘 ตัวนี้ที่มาจากคำว่าเหลือกินเหลือใช้เลยมีเหลือไว้เก็บออม

พอวันปีใหม่ (ชูอี) ก็เป็นวันรวมญาติทางฝั่งฝ่ายชายล่ะ กินข้าวด้วยกัน ให้หงเปาหรืออั่งเปากัน บางครอบครัวก็จะไปไหว้เจ้ากันที่วัด ซึ่งทุกปีก็มีข่าวให้ดูทางทีวี คนจะไปรอกันแต่เช้า พอประตูวัดเปิด ก็จะกรูกันเข้าไปแย่งปักธูปลงกระถางเป็นคนแรก เพราะเชื่อว่าจะได้มีโชคดีก่อนใคร (ประมาณชิงโชคกันน่ะ😅) บางปีก็มีล้มลุกคลุกคลานกันบ้าง ฉันไม่เข้าใจเล้ยว่าแย่งกันจนหกล้มไปเนี่ย มันจะโชคดีตรงไหน (ความเห็นส่วนตัวค่ะ) วันนี้มื้อเช้าบางบ้านกินเจกัน ซึ่งบ้านฉันก็เป็นค่ะ ตั้งแต่เล็กๆ แล้วจำได้เลย ต้องหลังสิบโมงเช้าถึงจะกินอาหารปกติได้ สมัยเด็กๆ พี่ชายฉันจะตื่นสายบ้าง กะเวลาให้ได้กินข้าวเช้าที่หลังสิบโมง จะได้ไม่ต้องกินเจ😆 ก็กับข้าวเจที่เมืองไทยไม่มีขายนี่นะ แล้ววันตรุษจีนบ้านฉันมีธรรมเนียมว่าไม่ทำงาน ก็ไม่มีการทำกับข้าว เอาง่ายๆ สะดวกๆ ก็มื้อเช้ากินข้าวต้มกับเกี่ยมไฉ่ กานาไฉ่มั่ง (พวกผักดองน่ะค่ะ)

เครื่องรางมงคล

พอวันที่ 2 ของปีใหม่(ชูเอ้อ หรือชิวหยีในภาษาแต้จิ๋ว) ตามธรรมเนียมก็ถึงคิวรวมญาติทางฝั่งฝ่ายหญิง ภาษาจีนกลางเรียกว่า “หุยเหนียงเจีย = กลับบ้านแม่ฝ่ายหญิง” เวลาหุยเหนียงเจีย ที่บ้านฉันจะต้องนำส้มสี่ลูกใส่ห่อไปแลกกับผู้ใหญ่ด้วย เรียกว่า “ไป้เจีย” แต่มาที่นี่ คุณชายบอกไม่มีธรรมเนียมนี้ มีแต่ซื้อของขวัญไปให้ เช่น พวกอาหารบำรุง ฯลฯ ฉันเองถึงวันนี้ก็ไม่เคยได้กลับบ้านตัวเองหรอก เพราะอยู่กันคนละประเทศ ก็อยู่บ้านพ่อแม่สามียาวไปจนเกือบหมดวันหยุดนั่นล่ะ คือพยายามชิงกลับมาไทเปก่อนจะเจอคลื่นมหาชนน่ะค่ะ ถึงตรงนี้ขอเล่านอกเรื่องนิด ตอนตรุษจีนแรกที่ฉันมาอยู่เรายังไม่มีรถ ก็กะว่าใช้บริการรถไฟละกัน(ตอนนั้นยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง) ซึ่งจะเปิดให้จองตั๋วได้ทางโทรศัพท์และทางเว็บไซต์ล่วงหน้าแค่หนึ่งอาทิตย์ พอถึงเช้าวันแรกของการเปิดจอง(เริ่มรับจองที่หกโมงเช้า) คุณชายนั่งประจำที่หน้าคอมพ์ ฉันก็นั่งหน้าโทรศัพท์ ประมาณตีห้า ห้าสิบห้านาทีฉันเริ่มหมุนโทรศัพท์กะว่าเดี๋ยวหกโมงจะได้แค่กดปุ่ม redial เพื่อความรวดเร็ว… ตู๊ดๆๆๆๆๆ เฮ้ย! อะไรเนี่ย สายไม่ว่าง! ส่วนฮีก็พยายามจองทางเว็บไซต์ เชื่อไหมคะว่าเราพยายามกันอยู่ 45 นาที ไม่ประสบผลสำเร็จเลยทั้งสองทางค่ะ เลยต้องนั่งรถบัสเอา ถึงวันสิ้นปีคุณชายเลิกงาน ก็ไปเบียดคนที่สถานีรถบัสซื้อตั๋ว มีแต่คน คน และคน พอได้ตั๋วก็เดินไปหาข้าวกิน ฉันโดนคนเดินชนจนเวียนหัวควักยาดมวาเป๊กซ์แทบไม่ทัน

กว่าจะได้ขึ้นรถปาเข้าไปสามทุ่มได้ นั่งรถกว่าจะถึงเกาสง (ที่ปกติรถไม่ติดใช้เวลาประมาณห้าชั่วโมง) ปาเข้าไปตอนเช้ามืด ฉันงี้สะบักสะบอมซะบ่นไม่ออกไปเลยค่ะ พอเห็นภาพช่วง ‘กั้วเหนียน’ กันแล้วนะคะ ไว้จะมาเล่าต่อ โปรดติดตามตอนต่อไป😜

Don`t copy text!