ชิงหมิงเจี๋ย

ชิงหมิงเจี๋ย

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– ชิงหมิงเจี๋ย –

เห็นเพื่อนที่เมืองไทยโพสต์แว้บๆ ในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องเทศกาลเช็งเม้งที่กำลังจะมาถึงว่าควรไปหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็เลยทำให้นึกถึงประสบการณ์ตัวเองที่ไต้หวันนี่ เนื่องจากบ้านเกิดคุณชายอยู่เมืองเกาสงทางภาคใต้ เราเลยต้องผจญกับการเดินทางที่หนาแน่นทั้งบนฟรีเวย์หรือบนรถไฟด้วย ซึ่งจัดว่าหนักหนาสาหัสกว่าช่วงตรุษจีนซะอีก (ความเห็นส่วนตัวนะคะ) เพราะช่วงตรุษจีน ยังพอมีการหาช่วงเวลาเดินทางที่พอหลีกเลี่ยงการจราจรหนาแน่นบนฟรีเวย์ได้บ้าง คือพอถึงช่วงเทศกาลใหญ่ๆ ที่จะต้องมีการเดินทางกลับบ้านเกิดกัน เช่น ตรุษจีน วันเช็งเม้ง และวันไหว้พระจันทร์ รัฐบาลก็จะมีนโยบายบรรเทาความแออัดของการจราจรบนฟรีเวย์ ด้วยการยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางบนฟรีเวย์ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนจนถึงหกโมงเช้า ทีนี้ช่วงตรุษจีนกับไหว้พระจันทร์นี่ ส่วนใหญ่จะมีวันหยุดยาวหลายวันหน่อย คนก็ยังพอมีทางเลือกว่าจะเลือกเดินทางวัน-เวลาไหนได้ แต่เทศกาลเช็งเม้งนี่มีแค่วันเดียวเลย ไม่วันที่ 4 ก็ 5 เมษายน เลี่ยงไม่ได้ ไม่มีให้เลือก การจราจรเลยออกจะหฤโหดอยู่สักหน่อย

เล่าประสบการณ์การไปเช็งเม้งครั้งแรกของฉันบนเกาะนี้ให้ฟังก่อนดีกว่า ขอตัดไปฉากช่วงการเดินทางไปไหว้เลยละกันนะ จำได้ว่าพ่อคุณชายขับรถไปจากบ้าน พอใกล้ถึงบริเวณที่จะเป็นทางเข้าไปสุสาน รถก็เริ่มติด ก็ค่อยๆ กระดึ๊บกันไปเรื่อยๆ พอถึงปากทางแยกที่จะเลี้ยวเข้าไป เราก็เห็นป้ายตั้งไว้อันใหญ่เลย บอกว่าให้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถด้านล่าง แล้วนั่งรถตู้ของทางสุสานที่บริการวิ่งรับ-ส่งระหว่างที่จอดรถข้างล่างกับสุสานบนเขา เพราะที่จอดรถข้างบนมีน้อยมาก สงวนไว้สำหรับผู้เคลื่อนไหวไม่สะดวกเท่านั้น เราก็เลยต้องจอดรถไว้แล้วเดินขึ้นไป เนื่องจากคิวที่รอขึ้นรถตู้บริการนั้นก็ยาวเหยียด กว่าจะเดินไปถึงเล่นเอาหอบแฮ่กพอสมควร ขึ้นไปถึงฉันก็ตะลึงกับคลื่นมหาชน ลานจอดรถด้านบนที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก ถูกกั้นบางส่วนเป็นที่ตั้งโต๊ะสำหรับตั้งของไหว้ เลยทำให้ยิ่งดูแออัดวุ่นวายขึ้นไปอีกในความรู้สึกฉัน แล้วก็ต้องไปยืนรอลิฟต์เพื่อจะขึ้นไปยังชั้นที่กระดูกของอากงอาม่าตั้งอยู่อีก เสร็จก็ต้องยืนรอเข้าคิวเผากระดาษเงินกระดาษทองที่เตาเผาของทางสุสานอีกต่างหาก สรุป เหนื่อยมากค่ะกับประสบการณ์เช็งเม้งครั้งแรกบนเกาะนี้ของอดีตอาหมวยเล็ก… เอ๊ย พูดผิดๆ😅…คุณหนูเล็กแห่งเยาวราช เหนื่อยยิ่งกว่าไปเช็งเม้งที่สระบุรีซะอีก

ก็มีแค่หนนั้นหนเดียวล่ะค่ะที่เจอกับคลื่นมหาชน เพราะปีนั้นเผอิญว่าอาปานัดกับพวกอาเจ็กอาโกวของคุณชายให้ไปไหว้อากงอาม่าวันเดียวกัน ต่อจากนั้นมาก็เลี่ยงไม่ไปวันตรงพอดีอีก แล้วในปัจจุบันเท่าที่ฉันสังเกตไม่ว่าจะที่ไทยหรือไต้หวัน เพื่อเลี่ยงรถติดก็จะเริ่มไปกันก่อนวันจริงกันสักอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ บ้านฉันที่กรุงเทพฯ ก็ใช่ เราจะไปกันก่อนอาทิตย์นึง แต่ก็ยังโชคดีที่สุสานที่เมืองไทยยังเป็นแบบดั้งเดิม ฮวงซุ้ยก็ยังตั้งแบบมีระยะห่างกันอยู่บ้าง เวลาไหว้จึงไม่รู้สึกแออัดเท่าที่ไต้หวันเพราะค่าที่ดินแพง เดี๋ยวนี้นิยมเผาและเก็บกระดูกไว้ที่สุสาน ซึ่งสร้างเป็นตึกสูงหลายชั้น (เรียกว่า “น่ากู๋ถ่า~納骨塔=columbarium”) แต่ละชั้นก็จะมีตู้สูงคล้ายล็อกเกอร์ตั้งเรียงกันเป็นแถวๆ เต็มไปหมดทั้งฟลอร์ ความสูงของตู้ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน (เรื่องของรายละเอียดของตู้ ฉันเดาว่าอาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในแต่ละสุสาน) แบ่งได้ประมาณ 8 แถวแนวนอน (นี่คือสุสานที่ฉันไปไหว้อากงอาม่าของคุณชายมานะคะ) แต่ละแถวแบ่งเป็นช่องๆ มีทั้งช่องสำหรับตั้งโถกระดูกเดี่ยวและแบบตั้งโถคู่ ราคาต่างกันไปตามแถว แถวที่อยู่ในระดับสายตาราคาจะสูงสุด จากนั้นก็ลดราคาไป แน่นอนว่าแถวที่ 8 (บนสุด) และแถวที่ 1 (ล่างสุด) ราคาต่ำที่สุด เวลามาไหว้จะจุดธูปตั้งของไหว้ไว้ที่ห้องโถงใหญ่ชั้นล่างของตัวตึก ที่มีพระพุทธรูปแบบจีนยืนเป็นองค์ประธาน (ซึ่งถ้าเป็นวันที่คนไปกันเยอะๆ ก็มีการตั้งโต๊ะที่นอกตึกเลยต่อมาให้วางของไหว้กัน) จากนั้นก็ขึ้นมาเปิดตู้ที่เก็บกระดูกบรรพบุรุษกัน ยกมือไหว้กันแค่นั้นค่ะ ไม่ได้ทำความสะอาดปัดกวาดฮวงซุ้ยตามธรรมเนียมโบราณกันแล้ว อย่างว่านะคะ โลกเปลี่ยนไป พิธีการก็ต้องปรับไปให้เหมาะสมกับชีวิตแต่ละสมัย แต่ถ้าคนที่มีเงินมากพอซื้อที่ในสุสาน ที่ฮวงซุ้ยเป็นแบบฝังศพอย่างในเมืองไทยเรา พิธีกรรมการไหว้ก็คงไม่ต่างจากคนจีนในเมืองไทยเรามากนัก

หมายเหตุ : ไม่ได้ถ่ายรูปน่ากู๋ถ่ามาให้ดูกัน เพราะฉันคิดว่าควรจะเคารพสิทธิส่วนบุคคลกันน่ะค่ะ ถ้าใครอยากเห็นภาพลองเสิร์ชหากันเองนะคะ หรือไม่ก็ถ้าใครเคยดูซีรีส์เกาหลี พวกฉากที่ตัวเอกไปยืนอยู่หน้าตู้กระจกเล็กๆ ที่ข้างในมีรูปภาพและสิ่งอื่นๆ ของผู้เสียชีวิตวางอยู่ ก็คงจะพอนึกภาพออกกัน ประมาณเดียวกันนั่นล่ะค่ะ

ตานี้ก็ขอคุยให้ฟังถึงเกร็ดจิ๊บๆ ของเทศกาลนี้นิดนึง 清明節~ชิงหมิงเจี๋ย หรือเทศกาลเช็งเม้งที่เรารู้จักกัน ปีนี้คือวันที่ 4 เมษายน ไม่ใช่วันที่ 5 อย่างบางปีก่อนๆ ตรงนี้ต้องขออธิบายเรื่องปฎิทินของจีน (農曆 – หนงลี่) ให้ฟังกันนิดนึง ปฎิทินของจีนนั้นเป็นการนับวันเวลาโดยอาศัยการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ในหนึ่งปีมีการแบ่งเวลาออกเป็น 24 ช่วง (24 solar term) โดยใช้การที่พระอาทิตย์อยู่ในช่วงเส้นแวงของฟ้า (celestial longitude) มาแบ่ง สำหรับเช็งเม้งเริ่มเมื่อพระอาทิตย์ถึงเส้นแวงที่ 15 องศา และจบเมื่อถึง 30 องศา ซึ่งคือประมาณวันที่ 4-5 เมษายน จนถึง 20-21 เมษายน ดังนั้น วันเช็งเม้งในแต่ละปีจึงอาจจะตกที่วันที่ 4 หรือ 5 เมษายนก็ได้

ปฏิทินทางจันทรคติของจีนจะขึ้นอยู่กับรอบการโคจรของพระจันทร์ที่สังเกตหรือคำนวณได้ โดยเริ่มนับเดือนใหม่ที่การขึ้นของพระจันทร์จนกระทั่งเต็มดวงในวันที่ 15 ของเดือน จากนั้นพระจันทร์ก็จะเริ่มแหว่งไปเรื่อยๆ จนไม่เห็นพระจันทร์อีกก็นับเป็นจบหนึ่งเดือน ซึ่งตามการคำนวณของทางจีนคือเวลาประมาณ 29.5 วัน ดังนั้น เดือนในปฏิทินจีนจึงมี 29 วันหรือ 30 วัน โดยเดือนที่มี 29 วันเรียกว่า 小月- เสี่ยวเยว่ และเดือนที่มี 30 วันเรียกว่า 大月- ต้าเยว่ และในบางปีหนงลี่ก็มี 13 เดือนเช่นปีนี้ ปีนี้ตามหนงลี่มีเดือนสี่สองเดือน เดือนสีครั้งที่สองเรียกว่าเดือนอธิกมาศ (the leap month) ตอนที่ฉันไปทำอันไท่ซุ่ย (ที่เมืองไทยเรียกแก้ชงกันน่ะ) ที่วัดหลังบ้าน ต้องทำบุญเพิ่มอีกร้อยหยวนเพราะมีสิบสามเดือน แล้วด้วยความสงสัยเลยถามอาซือเจี่ยที่วัดว่า ถ้าแบบนี้คนที่เกิดเดือนสี่จะฉลองวันเกิดที่เดือนสี่อันแรกหรืออันหลังที่เป็นเดือนอธิกมาศล่ะ ซือเจี่ยตอบว่ายึดอันแรกเป็นหลักสิ ที่ถามเพราะคนจีนส่วนใหญ่จะฉลองวันเกิดตามหนงลี่กัน

อย่างที่บอกว่า ปฎิทินของจีนนั้นเป็นการนับวันเวลาโดยอาศัย การโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (มีทั้งปฏิทินทางสุริยคติและจันทรคติ) จึงออกจะซับซ้อนอยู่สักหน่อย ถ้าจะอธิบายกันลึกซึ้งกว่านี้จะเบื่อกันซะก่อนรึเปล่า เอาเป็นว่า ตามที่อธิบายเรื่องการแบ่งเดือนมาคือการคำนวณจากดวงจันทร์ แต่ถ้าพูดถึงการคำนวณจากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ที่แบ่งเวลาออกเป็น 24 ช่วง (24 solar term หรือในภาษาจีนเรียกว่า 24 節氣-เอ้อร์สือซื่อเจี๋ยชี่) ซึ่งอันนี้ใช้ดูในแง่ของลมฟ้าอากาศ เพื่อใช้กับการเพาะปลูก ยกตัวอย่างสักนิดหน่อยละกันนะ โดยใช้ปฏิทินของปี 2020 เป็นตัวอ้างอิง

รูป 24節氣 โดยเริ่มจากตำแหน่งสิบสองนาฬิกา แล้วไล่ไปตามทิศทวนเข็มนาฬิกา

雨水 – อวี๋สุ่ย ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่น้ำฝนจะมีปริมาณมากขึ้นนับจากนี้ไป เริ่มทำการเพาะปลูกได้

春分 – ชุนเฟิน ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม เป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน

立夏 – ลี่เซี่ย ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน

夏至 – เซี่ยจื้อ ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันที่กลางวันยาวที่สุดและกลางคืนสั้นที่สุด แปลว่ามีเวลานอนได้น้อย พระอาทิตย์มาแยงตาตื่นเร็ว ฮ่าฮ่าฮ่า

秋分 – ชิวเฟิน ตรงกับวันที่ 22 กันยายน เป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน(อีกรอบ)

冬至 – ตงจื้อ ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม เป็นวันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุด นอนอุตุได้เลยจ้า😄 ถือกันว่าเป็นวันที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว เป็นวันเทศกาลขนมบัวลอยด้วย คนจีนก็จะต้มทังหยวน 湯圓กินกันให้ร่างกายอบอุ่น

 

มีคำกล่าวว่า “乾冬至 濕過年” (ออกเสียงว่า กันตงจื้อ ซือกั้วเหนียน) ความหมายคือ ถ้าวันตงจื้ออากาศดี ฝนไม่ตก วันตรุษจีนจะฝนตก แหม คุณนายฮวงจอมพิสูจน์ก็ต้องขอท้าพิสูจน์กันหน่อยล่ะนะ ตอนปี 2015 ฉันลองโพสเก็บไว้ในเฟซบุ๊กว่า วันนั้น (22 ธันวาคม 2015 )เป็นวันตงจื้อที่อากาศดีมาก ฟ้าใสแดดเปรี้ยง อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 29 องศา ปรากฎว่าพอถึงวันตรุษจีนในต้นปี 2016 (ซึ่งก็น่าจะอยู่แถวๆ ต้นเดือนกุมภา) ไทเปก็อากาศดี ฟ้าใสแดดจ้าให้ฉันเริงร่าดีด๊า สรุป… 乾冬至 濕過年 ใช้ไม่ได้กับยุคโลกร้อนนะจ๊ะ😆😂

Don`t copy text!