จากถ้ำสู่วัง

จากถ้ำสู่วัง

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

ฉันเชื่อว่าทุกคนที่มาเที่ยวไต้หวัน ต้องบรรจุโปรแกรมการเยือน National Palace Museum เอาไว้ด้วยอย่างน้อยเป็นเวลาครึ่งวัน ตัวอาคาร National Palace Museum (國立故宮博物院) หรือที่ชาวไต้หวันเรียกกันติดปากว่ากู้กง – 故宮 ที่ทุกคนเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ใช้เวลาในการก่อสร้างสี่ปี เริ่มเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการได้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1965 (หูย! อายุมากกว่าอิฉันซะอีกนะเนี่ย😄) แต่จะมีใครรู้บ้างไหมคะว่า บรรดาวัตถุโบราณเหล่านี้ กว่าจะได้มาอวดโฉมให้ชาวประชาได้ชมกัน ต้องรอนแรมฝ่าลมฝน หรือแม้แต่ผจญกับความชื้นในถ้ำมาก่อน มาค่ะ วันนี้ฉันจะเล่าที่มาที่ไปของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ฟังกัน

อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่า รัฐบาลกั๋วมินตั่งของเจียงไคเช็คพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง หนีข้ามทะเลมาปักหลักอยู่ที่ไต้หวันในปี ค.ศ. 1949 แต่ไม่ได้อพยพกันมาแค่ทหารในกองทัพหรอกนะคะ เจียงไคเช็คได้ขนสมบัติพัสถานทั้งหลายจาก National Palace Museum ในเมืองนานกิงมาด้วย ตอนที่คุณชายพาฉันไปเที่ยวกู้กงครั้งแรกเมื่อตอนมาถึงใหม่ๆ แล้วก็เล่าว่า ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีคอลเลกชันของจีนๆ ดีที่สุดในโลกแล้ว เจียงไคเช็คคัดเลือกขนมาด้วยตอนอพยพมา ฉันก็หาว่าฮีโม้แล้วย้อนว่า ตัวเจียงไคเช็คเองยังจะเอาชีวิตไม่รอด ต้องหนีภัยมา แล้วยังจะบ้าขนของข้ามทะเลมาอีกด้วยเนี่ยนะ ฮีบอกว่า ยูต้องเข้าใจก่อนนะว่า ของพวกนี้มันเป็นของโชว์สถานภาพของฮ่องเต้ ดังนั้น ใครได้ครอบครองก็เป็นการประกาศเป็นนัยว่า ข้าคือฮ่องเต้นะจ๊ะ ฉันฟังแล้วก็มึน เพราะฉันน่ะเป็นคนที่ชอบเดินทางแบบตัวเบาๆ เลยไม่ค่อยเข้าใจตรรกะแนวนี้นัก

จวงเอี๋ยน – 莊嚴 เริ่มเข้าทำงานกับกู้กงเมืองนานกิงตั้งแต่ปี ค.ศ.1925

วัตถุโบราณทั้งหลายที่ขนมาจากกู้กงในเมืองนานกิงทั้งหมด 2,249 ลังนี้ นับเป็น 20% ของกรุสมบัติในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็น 20% ที่ถูกเลือกแล้วว่ามีมูลค่ามากๆ นับว่าเจียงไคเช็คหนีแบบมีสติจริงๆ นะเนี่ย😏 ถึงขั้นวางแผนขนสมบัติหนีออกมาเป็นปีๆ กันทีเดียว โดยผู้ที่ได้รับหน้าที่คัดเลือกว่าจะขนสิ่งใดออกมาบ้างก็คือคุณจวงเอี๋ยน – 莊嚴 ที่เริ่มเข้าทำงานกับกู้กงเมืองนานกิงตั้งแต่ปี ค.ศ.1925 ของที่ขนมากับเรือรบชื่อจงติ่งเห้า – 中鼎號 นี้ กว่าจะได้ย้ายบ้านมาอยู่ในกู้กงไทเปในปี 1965 ก็ต้องระหกระเหินถูกเก็บไว้ในโกดังและถ้ำใกล้ๆ กับหมู่บ้านเป่ยโกว -北溝 ในเขตอู้ฟง – 霧峰 เมืองไถจงเป็นเวลาประมาณถึง 16 ปี ในปีค.ศ. 1956 ได้มีการจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมในอาคารที่จัดสร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว แต่คงเป็นเพราะอยู่ไกลปืนเที่ยงแล้วก็ไม่อลังการเท่าไหร่ เลยไม่ค่อยดึงดูดคนให้ไปเยี่ยมชมกันเท่าที่ควร ดังนั้น ห้าปีให้หลังจึงเริ่มการก่อสร้างกู้กงที่ไทเปขึ้นมาเพื่อให้เป็นบ้านถาวรของวัตถุโบราณเหล่านี้

ขอเล่าย้อนถึงการกำเนิดของกู้กงกันนิดนะคะ เมื่อจักรพรรดิผู่อี้ – 溥儀 (หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Puyi) ผู้เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง ถูกขับไล่ออกจากพระราชวังต้องห้าม (the Forbidden City) ในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1924 เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนจีน ปีถัดมาก็ได้มีการก่อตั้งกู้กงขึ้นในบริเวณของพระราชวังต้องห้าม และคุณจวงเอี๋ยนที่เพิ่งจบเป็นบัณฑิตใหม่สดๆ ซิงๆ ก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของทางพิพิธภัณฑ์นับแต่นั้นมา และเมื่อญี่ปุ่นรุกรานจีน รัฐบาลกั๋วมินตั่งที่ปกครองจีนอยู่ในขณะนั้น กลัวว่าสมบัติของชาติจะตกอยู่ในมือคุณยุ่น ก็เลยจัดการโยกย้ายจากปักกิ่งไปที่เซี่ยงไฮ้ในปี ค.ศ.1933 แล้วก็ย้ายต่อไปยังนานกิง พอสถานการณ์ยิ่งตึงเครียดขึ้นอีก ก็จัดการย้ายต่อไปเก็บไว้ที่กุ้ยโจวและเสฉวน และเมื่อจัดการขับไล่ญี่ปุ่นออกไปได้แล้ว จึงย้ายกลับมาที่นานกิงอีกครั้ง พอเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้น ครั้งนี้เจียงไคเช็คเลยตัดสินใจเริ่มขนถ่ายเทสมบัติของชาติออกจากกู้กงนานกิงมาสู่ไต้หวัน

ย้ายไป-มาจนคุณจวงถึงกับเขียนเล่าไว้ในบันทึกที่ชื่อว่า Stories from the Mountain Hall (山堂清話 – ซันถังชิงฮั่ว) ดังนี้ “ผมใช้เวลาไปกับการโยกย้ายสมบัติของชาติประมาณครึ่งชีวิตของผม ก็ไม่อยากจะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ชำนาญการแพ็วัตถุโบราณเพื่อการโยกย้ายหรอกนะ แต่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงล่ะ ผมว่าชีวิตผมคงถูกลิขิตมาให้ทำหน้าที่นี้นะ

รัฐบาลกั๋วมินตั่งตัดสินใจย้ายบรรดาวัตถุและหนังสือโบราณต่างๆ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948 สี่วันหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์บุกโจมตีสำนักงานใหญ่ของพรรคกั๋วมินตั่งที่ซูโจว ของล็อตแรกที่ขนมาถูกเก็บไว้ที่ห้องเก็บของบริเวณสถานีรถไฟหยางเหมยเมืองเถาหยวนในปัจจุบัน แล้วก็ถูกย้ายต่อไปเก็บที่โกดังของโรงงานน้ำตาลไถถังที่เมืองไถจง เพราะสภาพอากาศแห้งกว่าทางเถาหยวน แต่ด้วยความที่อยู่ใกล้เมืองและสถานที่ราชการบางแห่งเกินไป อันเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางอากาศ จึงมีมติให้ย้ายไปเก็บไว้ที่บริเวณเชิงเขาใกล้กับหมู่บ้านเป่ยโกว และของล็อตสุดท้ายที่มาถึงในเดือนเมษายน ค.ศ. 1950 ก็ได้ถูกส่งมาเก็บรวมกันไว้ที่นี่ด้วย โดยมีการขุดถ้ำขนาดลึกลงไปใต้ดิน 100 เมตร กว้าง 2.5 เมตร เพื่อเก็บสมบัติโบราณล้ำค่าบางชิ้น

พิพิธภัณฑ์ชั่วคราวใน Beigou, Taichung จัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1956

บรรดาโบราณวัตถุที่ขนมาทั้งหมดนี้ กว่าภัณฑารักษ์จะใช้เวลาสะสาง แยกแยะ จัดเป็นหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ ก็กินเวลาถึงสี่ปีแน่ะค่ะ ซึ่งทุกขั้นตอนที่เล่ามาทั้งหมดนี้คุณจวงเอี๋ยนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยตลอด อพยพครอบครัวตามสมบัติของชาติไปทุกที่ จนมาถึงการก่อสร้างกู้กงไทเป ให้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานที่เก็บรักษาในปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้นคุณจวงเอี๋ยนมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการกู้กงแล้ว คุณชายบอกดิฉันว่า เราไปชมกันได้เป็นระยะๆ เพราะด้วยความที่ของเยอะมาก ก็จะมีการจัดแสดงหมุนเวียนเปลี่ยนของให้ชมกันไป จำได้ว่ามีอยู่ครั้งนึงเจอคอลเลกชันขวดยานัตถ์ อู๊ย สวยจริงๆ ค่ะ ฉันชอบมากเลย คือฉันเป็นคนชอบของจิ๋วน่ะค่ะ แล้วขวดยานัตถ์บางขวดก็มีขนาดเล็กๆ น่าเอ็นดู งานฝีมือก็สวยประณีตมากๆ ปลื้มสุดๆ ที่ได้มีโอกาสเห็นคอลเลกชันชุดนั้น

The National Palace Museum ช่วงที่กำลังก่อสร้าง ปี1965.

นอกจากนั้นก็ยังมีการนำไปแสดงตามพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศอีกด้วย ฉันเคยดูสารคดีเกี่ยวกับกู้กงไทเปเมื่อหลายปีก่อนนู้น ถ้ำที่ขุดมาเพื่อเป็นสถานที่ เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ ถูกควบคุมทั้งความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อให้วัตถุโบราณทั้งหลายคงสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ดูแล้วก็ เอ้อเฮอ งานช้างจริงๆ ค่ะกับการดูแลวัตถุโบราณ

เห็นไหมคะ กว่าจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์ให้พวกเราได้ชมกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะคะ จนอยากตั้งชื่อบทความนี้ว่า The Long and Winding Road จัง แต่กลัวทายาทของ The Beatles เค้ามาเก็บค่าลิขสิทธิ์ชื่อ😁

 

ภาพจาก https://www.taipeitimes.com/

Don`t copy text!