螢火蟲 – อิ๋งหั่วฉง

螢火蟲 – อิ๋งหั่วฉง

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ฉันเคยบอกใช่ไหมคะว่าชอบฤดูใบไม้ผลิที่สุดเพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ดอกไม้หลากหลายสีสันงดงาม ใบไม้สีเขียวอ่อนๆ เพิ่งแตกใบออกมาที่ให้ความรู้สึกสดชื่นสบายตาพาให้สบายใจไปหมด รองลงมาก็ฤดูใบไม้ร่วงที่มีใบไม้เปลี่ยนสีไปเรื่อยตั้งแต่สีส้ม สีแดง สีน้ำตาลที่มองแล้วได้บรรยากาศโรแมนติก แต่ในโลกกลมๆ ใบนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบหรอกจริงไหมคะ ตอนทำงานอยู่อเมริกายังไม่รู้สึกเท่าไร เพราะอยู่ทางตอนเหนือที่อากาศหนาวซะส่วนใหญ่ แต่พอมาอยู่ไทเปนี่สิ ความชอบสองฤดูนี้ก็มีระดับลดลงไปนิดนึง เพราะอากาศที่มันไม่ร้อนจ๊ากในฤดูร้อนหรือในฤดูหนาวที่มีลมหนาวพัดผ่านมาเนี่ย ศัตรูทางธรรมชาติของคุณนายฮวง (แหม พูดซะอย่างกับกบที่เป็นศัตรูทางธรรมชาติของแมลงงั้นเลยนะอาคุงนาย😆) จะอาละวาดใส่อิฉันแบบชนิดต้องพกพาน้ำมันเขียวย่านางติดตัวไว้ตลอดเวลา คำกล่าวที่ว่ายุงนั้นร้ายกว่าเสือเนี่ย อิฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์เลยค่า😅 ฉันเนี่ยเป็นของชอบของครอบครัวยุงจริงๆ นะคะ ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว นั่งเมาท์อยู่เป็นกลุ่มใหญ่กับญาติสนิทมิตรสหายที่ไหนก็ตาม ไม่มีใครโดนยุงกัดเล๊ย มีแต่คุณหนูเล็กแห่งเยาวราชนี่ล่ะค่ะที่ยุงรุมตอมอยู่คนเดียว😣 บ้านที่ไทเปนี่ถ้านับกันจริงๆ ก็อยู่ชั้นที่ 15 บนตึกคอนโดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กน้อยอีกด้วยนะ ก็ยังมียุงบินขึ้นมากัดฉันจนได้!! แล้วที่น่าเจ็บใจคือ มีกันอยู่สองคน แต่คุณชายเนี่ยไม่รู้ทำไมยุงมันไม่ไต่ไรก็ไม่ตอมเอาซะเลย นอนหลับอยู่บนเตียงเดียวกัน ฉันโดนยุงรุมกัดจนต้องตื่นมาทาน้ำมันเขียว ฮีนอนหลับสบายไม่โดนกัดซักตุ่ม ตื่นเช้ามาฉันบ่นให้ฟัง ฮีฟังแล้วก็ยิ้มตาหยีตอบเสียงบ่นของฉันว่า “ยุงมันคงชอบกินอาหารไทยมั้ง” แหมๆๆๆๆๆ เดี๋ยวแม่ก็ตั้งโต๊ะจีนซะเลยนิ เสริฟฮีนี่ล่ะเป็นจานแรก🙄🤣

เอ๊ะ ตกลงจะเล่าเรื่องอะไรกันแน่จ๊ะคุณนาย ร่ายยาวเรื่องยุง (蚊子- เหวินจึ) ทั้งๆ ที่จั่วหัวไว้ว่า ‘螢火蟲 – อิ๋งหั่วฉง’ ที่แปลว่าหิ่งห้อย😅 เอาล่ะค่ะๆ เข้าเรื่องหิ่งห้อยกันดีกว่าเนอะ พอดีเมื่อเช้าเห็นข่าวว่า ทางเทศบาลนครไทเปมีจัดทัวร์ดูหิ่งห้อยตั้งแต่วันที่ 16-23 เดือนเมษายนนี้ ที่เขาเสือหนึ่งในแหล่งไฮกิ้งของเราในช่วงหน้าหนาว ก็เลยนึกขึ้นได้ว่า น่าจะเล่าสู่กันฟังซะหน่อย เพราะเคยอ่านเจอบทความเกี่ยวกับการพยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้หิ่งห้อยคืนกลับมาสู่เมืองไทเป ฉันอ่านเจอบทความนี้ในนิตยสารไทเปตั้งแต่กลางปี 2017 แล้วก็อดใจรอให้เขาฟื้นฟูสภาพทางนิเวศวิทยาอยู่ปีกว่าๆ ถึงได้อ้อนคุณชายให้พาขึ้นเขาไปดูหิ่งห้อย “นี่ยูๆ ไอเห็นข่าวว่าช่วงนี้ทางเขาเสือที่เราไปไฮกิ้งน่ะ เขามีจัดทัวร์ดูหิ่งห้อยแน่ะ ยูพาไอไปดูหน่อยสิน้า ไอเกิดมาจนป่านนี้ยังไม่เคยเห็นหิ่งห้อยเลยอะ” คุณชายตาตี่กลายเป็นตาโตขึ้นมาทันใด😳 “ห้ะ! ยูล้อเล่นรึปะ ยูไม่เคยเห็นหิ่งห้อยเลยเหรอ เมืองไทยก็น่าจะมีนิ” อิฉันนี่อยากจะขว้างค้อนให้ตาตี่กลับไปซะนี่🙄 แต่กลัวเดี๋ยวฮีจะไม่พาไปเลยต้องตอบเสียงอ่อยๆว่า “แหม ก็ยูจะเอาอะไรกะหมวยเยาวราชอย่างไอล่ะ” และแล้วคุณนายฮวงก็ได้เห็นหิ่งห้อยเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาเสือ ณ กรุงไทเป😄 เราสองคนไม่ได้ไปตามกรุ๊ปทัวร์ที่เขาจัดเป็นรอบๆ หรอกนะ เพราะว่าคุ้นเคยกับ hiking trail นี้แบบชนิดหลับตาเดินก็ยังได้ แต่คุณชายรู้จักเมียฮีดีค่ะว่า ความซุ่มซ่ามนี่ไม่เป็นสองรองใครเค้า😅 ฮีก็เลยคอยจูงมืออิฉันไว้ตลอดทางที่เดินเพราะกลัวเมียจะตื่นเต้นจนก้าวพลาดตกเขา ซึ่งต้องขอบคุณฮีมากๆ🥰 เพราะฉันก็มัวแต่สอดส่ายสายตามองหิ่งห้อยจนเพลิน แล้วก็กรี๊ดกร๊าดเบาๆ เมื่อมีหิ่งห้อยบินออกจากพุ่มไม้มาตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด😍

ภาพ : https://www.taiwannews.com.tw/

อะ ขอเล่าเกร็ดจิ๊บๆ ที่อ่านจากบทความนั้นซะหน่อยแล้วกันนะคะ จะได้รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมฉันถึงอยากเล่าเรื่องหิ่งห้อยให้ฟัง ในบทความบอกว่า ในบรรดาเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรหนาแน่นบนโลกนี้ ไทเปเป็นหนึ่งในสองของเมืองที่สามารถนำหิ่งห้อยคืนกลับสู่เมืองได้ (แต่ไม่ยักบอกว่าอีกเมืองนั้นคือเมืองอะไร) ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยล้อมรอบด้วยภูเขา ไทเปจึงมีศักยภาพดีที่สุดในการเป็นเมืองบำบัดเชิงนิเวศ บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันในจุดนี้ จึงริเริ่มโครงการ The Taiwanese firefly restoration project ว่ากันว่าไทเปนี้เคยเป็นทะเลสาบมาก่อน เมื่อน้ำเหือดแห้งไปจนกลายเป็น Taipei basin ชาวฮั่นเริ่มลงมือปลูกข้าวบนท้องทุ่งนาที่มีหิ่งห้อยนับแสนโผบินกันฉวัดเฉวียนเริงร่า จนมีหลักฐานหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้นั่นคือ สะพานหิ่งห้อย – 螢橋 (อ่านว่าอิ๋งเฉียว) ที่เขตจงเจิ้ง และเมื่อทุ่งนากลายสภาพเป็นป่าคอนกรีต หิ่งห้อยก็เลยล่าถอยเข้าป่าจริงๆ ไป

แต่โครงการนำหิ่งห้อยคืนสู่เมืองนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะคะ เพราะหิ่งห้อยต้องการระบบนิเวศวิทยาที่เหมาะสมต่อการผสมพันธุ์และวางไข่ ต้องมีแหล่งน้ำที่สะอาด แสงน้อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีความร่วมมือจากทางภาคเอกชนด้วย ตามที่อ่านมาจากบทความ มีทั้งเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ที่ยอมสละที่ดินให้ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ไหนจะยังมีโรงเรียนภาคค่ำที่ยอมลงทุนติดตั้งผ้าม่านเพื่อกั้นแสงไฟจากห้องเรียนในอาคาร ไม่ให้มีแสงสว่างมากเกินไปจนรบกวนพื้นที่บริเวณนั้น นอกจากนี้ก็ยังมีปูชนิดหนึ่ง (Geothelphusa Miyazakii) ที่ชอบทำลายทำนบกั้นน้ำที่สร้างไว้เพื่อให้หิ่งห้อยมีแหล่งวางไข่ แล้วก็ต้องดักจับปูเพื่อเอาไปปล่อยที่อื่น หรือมีอาสาสมัครนับพันจาก Community College มาช่วยขุดดินขนย้ายพืชพรรณที่ไม่เหมาะสมต่อระบบนิเวศ แม้แต่บริษัทผลิตหลอดไฟ LED เจ้าใหญ่ของไต้หวัน ก็ลงมาร่วมช่วยผลิตหลอดไฟสำหรับใช้กลางคืน ที่มีคลื่นความยาว 590 นาโนเมตรซึ่งไม่รบกวนหิ่งห้อย และมอบให้ทางโครงการเอาไปใช้ติดตั้งตามสถานที่เหล่านั้นฟรีๆ เลย ฉันอ่านไปๆ ก็ต้องปรบมือให้กับความพยายามและความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ที่เสียสละทั้งแรงกายและทุนทรัพย์ เพื่อสร้างระบบนิเวศวิทยาที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเมืองไทเปหลายๆ แห่ง จนหิ่งห้อยสามารถเจริญเติบโตขยายพันธุ์จนอยู่ร่วมกับคนได้ในตัวเมือง

ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันขนาดนี้ จึงทำให้ไทเปได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน The International Firefly Festival 2017 เฉือนคู่แข่งอย่างออสเตรเลียและจีนไปได้ 👏 นับว่าเวลาที่ใช้ไปกว่ายี่สิบปีในการนำหิ่งห้อยคืนกลับสู่เมืองไม่เสียเปล่าจริงๆ ค่ะ ว่าแล้วอิฉันชวนคุณชายไปชมหิ่งห้อยอีกซักครั้งดีกว่า แต่คงต้องใส่เสื้อแขนยาว+กางเกงขายาว+หมวกตามที่เขาแนะนำ และห้ามลืมสิ่งสำคัญ – พกน้ำมันเขียวย่านางไปด้วย เผื่อเจอยุงที่ชอบเจี๊ยะอาหารไทยเข้า😆

 

Don`t copy text!