茶花 – ฉาฮวา

茶花 – ฉาฮวา

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ตรุษจีนแล้ว ขออวยพรกันก่อนนะคะ 新正如意 新年發才 ถ้าอ่านออกเสียงภาษาจีนกลางคือ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ ซึ่งตรงกับสำเนียงแต้จิ๋วที่คนไทยเรารู้จักกันดีก็คือ ซิงเจียอยู่อี่ ซิงนี้ฮวกไช้ นั่นล่ะค่ะ ความหมายก็ประมาณว่า ปีใหม่นี้ ขอให้สมปรารถนาในทุกๆ สิ่ง และเงินทองไหลมาเทมา บังเอิญไปเห็นโพสต์ของเพื่อนคนนึง มีตัวหนังสือจีนแปดตัวนี้ แล้วนางเขียนเสียงอ่านกำกับไว้ด้วย แต่เขียนผสมสองสำเนียงเข้าไว้ด้วยกัน ฉันเลยคิดว่าเอามาใช้อวยพรพร้อมชี้แจงด้วย เผื่อใครสับสนระหว่างสองสำเนียงนี้ แต่โดยปกติที่นี่เวลาเจอหน้ากัน ก็มักจะพูดอวยพรกันสั้นๆ ว่า 新年快樂 – ซินเหนียนไคว่เล่อ แปลว่า แฮปปี้นิวเยียร์นั่นล่ะค่ะ คงยังจำกันได้นะคะ ที่ปีที่แล้วเล่าไว้ในบทเกี่ยวกับตรุษจีนว่า ตามธรรมเนียมจีนแล้ว คนจีนฉลองปีใหม่กันยาวถึง 15 วัน เรายังอวยพรกันได้ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ฉันขออวยพรครบหมดเลยแล้วกัน 新年快樂 新正如意 新年發才 นะคะ 😊

สวนฉาฮวาที่บนเขาหลังพิพิธภัณฑ์ชาที่ผิงหลิน

ช่วงนี้ขึ้นเขาไปไฮกิ้ง นอกจากจะได้พบเห็นดอกซากุระที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่า 櫻花 – อิงฮวา แล้ว ยังมี 茶花 – ฉาฮวา ที่ฉันโปรดปรานไม่น้อยไปกว่ากัน ฉาฮวาถ้าแปลตรงตัวเป๊ะก็คือ ดอกชาหรือที่ในภาษาอังกฤษมีชื่อว่า camellia ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Camellia japonica แต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ Japanese camellia หรือในภาษาญี่ปุ่นว่า tsubaki ออกเสียงจริงๆ ในภาษาญี่ปุ่นว่าอะไรก็ไม่รู้นะคะ แต่จำได้แว้บๆว่า เคยเห็นคำๆ นี้ตามข้างขวดแชมพูหรือสบู่เหลวอยู่บ้างนะ😅 จากหน้าตาฉาฮวานี้ ดูแล้วคล้ายดอกกุหลาบนะ โดยเฉพาะตอนกำลังโรย ฉันเคยเห็นยังนึกว่าเป็นดอกกุหลาบโรยเลย ดังนั้นฉาฮวาก็เลยมีอีกนิคเนมว่า Rose of Winter กุหลาบแห่งหน้าหนาว ชื่อนี้ฟังแล้วโรแมนติกดีเหมือนกันนะคะว่าไหม😍

ฉาฮวาอีกพันธ์ุหนึ่ง

ฉาฮวานี้จะพบได้บนภูเขาที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,100 เมตร แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นดอกชาจากต้นชาที่เราเอาใบชามาใช้ดื่มกันนะคะ ต้นชาที่เรานิยมเด็ดใบชามาดื่มกันนั้นคือ Camellia sinensis คงเป็นลูกพี่ลูกน้องญาติๆ กันประมาณนั้นล่ะค่ะ จำได้ว่าเคยเล่าเรื่องใบชาไป แล้วมีรูปไร่ชาที่ฉันไปเที่ยวมาให้ดูด้วย มันก็เป็นลักษณะพุ่มไม้เตี้ยๆ ปลูกเรียงกันไปเป็นแถวๆ แต่สำหรับต้นชาที่มีฉาฮวานี้ ที่ฉันเจอบนภูเขาส่วนใหญ่จะเป็นต้นสูงๆ ทั้งนั้น โดยเฉลี่ยความสูงประมาณ 1.5-6 เมตร แต่อาจมีบางต้นสามารถโตได้ถึง 11 เมตรเลยทีเดียว ถ้าเจอต้นสูงขนาดนี้ จะชมฉาฮวาคงต้องแหงนกันคอตั้งเลยนะน่ะ ฉาฮวาจะออกมาให้ยลโฉมกันประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม ฉันถึงชอบไฮกิ้งที่สุดในช่วงนี้ เพราะได้เห็นดอกไม้นานาพรรณออกดอกต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง

ถ้าพูดถึงความสำคัญในแง่ของวัฒนธรรม ฉาฮวาถือเป็นสัญลักษณ์นำโชคสำหรับตรุษจีน ซึ่งจัดว่าเป็นการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวย่างเข้าสู่ปีใหม่แบบโชคดีมีชัย นอกจากนั้น ยังใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าในช่วงตรุษจีนด้วย แต่ผู้หญิงชาวจีนไม่นิยมนำฉาฮวามาประดับผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เนื่องจากฉาฮวาหลังจากที่เริ่มเป็นดอกตูมจนกว่าจะบานนั้น ใช้เวลานานมาก เลยถือเป็นลางว่าผู้หญิงคนไหนเอามาประดับผม ก็จะใช้เวลานานกว่าจะมีลูกชายสักคน

ต้นนี้มีทั้งดอกตูมและดอกบาน ดอกบานดูเหมือนดอกกุหลาบมาก

ขอคุยเพิ่มเติม นอกเรื่องแบบเฉออกไปนิดๆ นะ ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทเป และต้องการเที่ยวชมไร่ชากัน มักจะไป ‘เมาคง – Maokong’ เพราะว่าไปสะดวก นั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปจนสุดสายที่สวนสัตว์ไทเป จากนั้นนั่งกระเช้าต่อขึ้นไปที่เมาคง ก็สามารถเที่ยวชมไร่ชาและ Taipei Tea Promotion Center ซึ่งสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับชา ว่ากันตั้งแต่ความเป็นมา วัฒนธรรมการดื่มชา ประเภทของชา สรุปทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับชานั่นล่ะ แถมยังมี Tea house หรือร้านน้ำชาหลายร้านให้นั่งชมวิวจิบชากินขนมได้อีก

แต่สำหรับฉันแล้ว ฉันชอบไปที่เขตผิงหลิน เมืองนิวไทเปมากกว่าค่ะ ทำไมเหรอคะ ข้อแรกเลยคือ คนน้อยกว่า เดินสบายดี ข้อสอง มีฉาฮวาให้ชมเพลินๆ ในสวนที่ตั้งอยู่ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ชา และข้อสำคัญคือ ใกล้บ้านค่ะ ฮิฮิ😁 อีกอย่างนึงก็คือ ฉันชอบพิพิธภัณฑ์ชาที่ผิงหลินมากกว่า เพราะเดินเข้าไปในอาคารก็ได้กลิ่นชาหอมอบอวล ทำให้รู้สึกผ่อนคลายดีจริงๆ แล้วที่เตะตามากๆ เล่นเอาฉัน (ผู้นิยมงาน Typography) วี้ดว้ายกระตู้วู้ ก็คือ ตัวหนังสือจีนคำว่าชาที่เขียนในแบบต่างๆ ได้ถึง 39 แบบ ส่วนของนิทรรศการที่แสดงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับชา ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมา ขั้นตอนการผลิต วัฒนธรรมการชงชา และอื่นๆ อีกมากมาย บรรยายไม่หมด (จริงๆ คือจำไม่หมดค่ะ แฮ่ะ แฮ่ะ😅) มันดูสนุกน่าสนใจดีค่ะ อย่างเรื่องของคุณลู่ อวี่ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา และเป็นผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับชาเล่มแรกของโลก (เขียนเล่าไว้ในบท ‘ว่าด้วยเรื่องชา’ ไปค้นอ่านกันเองนะคะ) ฉันก็รู้จากพิพิธภัณฑ์ที่ผิงหลินเนี่ยล่ะค่ะ สำหรับนักท่องเที่ยวอาจจะไปลำบากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าใครสนใจ ลองเข้าไปเช็กข้อมูลวิธีการไปจากเว็บไซต์ของทางพิพิธภัณฑ์กันได้ค่ะ https://www.tea.ntpc.gov.tw/tea_en ตามลิงก์นี้ แต่ขอบอกก่อนนะคะว่า อย่าคาดหวังว่าจะเจอเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีถนนคนเดินอะไรแบบนั้น มันเป็นเขตปลูกชาจริงๆ ถนนคนเดินก็แค่สั้นๆ ไม่มีร้านอาหารกิ๊บเก๋อะไร ร้านรวงที่ขายก็ออกแนวบ้านๆ โดยมากก็เป็นเจ้าของไร่ชาขายเองแบบนั้นน่ะค่ะ และควรไปช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม จะได้ชมสวนฉาฮวาที่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ได้แบบเพลินตาเพลินใจกัน

แถมข้อมูลอีกนิด เผื่อใครเจอน้ำมันเมล็ดชาวางขาย ที่ภาษาจีนเรียก ขู่ฉาโหยว ( 苦茶油 ) แปลตรงตัวก็น้ำมันชาขม ภาษาฝรั่งเรียก Tea-seed Oil หรือ Tea Oil Camellia เห็นว่ากันว่าเป็นน้ำมันมะกอกของชาวตะวันออกอย่างเราๆ ล่ะค่ะ สรรพคุณคงพอๆ กับน้ำมันมะกอกของพวกฝรั่งเขา ฉันชิมแล้วจะบอกว่า รสชาติขมตามชื่อภาษาจีนก็ไม่เชิงขมนะคะ ฉันว่ากลิ่นมันออกเหมือนจะขมๆ มากกว่าค่ะ ไม่ใช่รสชาติหรอก ตอนเราเจอขู่ฉาโหยววางขายอยู่ คนขายชวนให้ชิมว่าของแท้นะจ๊ะ ชิมเสร็จคุณชายก็ซื้อเลย ไหนๆ มาถึงที่แล้วนี่ ไม่ต่อเลยสักคำ ขวดนึง 750 มิลลิลิตรจ่ายไป 1,000 ดอลลาร์ไต้หวัน

โอ๊ย อิฉันจะสลบ น้ำมันทำกับข้าวขวดละพันนึง ทอดไข่เจียวแล้วมันจะช่วยให้อร่อยขึ้นไหมเนี่ย😅

Don`t copy text!