“擂茶 – เหลยฉา” ของดีมีทีเด็ดที่ประโยชน์เต็มคำ

“擂茶 – เหลยฉา” ของดีมีทีเด็ดที่ประโยชน์เต็มคำ

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

วันก่อนดูรายการท่องเที่ยวเจ้าประจำของอิฉัน เขาพาไปเยือนชนบทของมาเลเซีย มีหมู่บ้านนึงที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นลูกผสมระหว่างชาวมาเลเซียกับชาวจีนแคะ แล้วมีการโชว์อาหารจานนึงที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษชาวจีนแคะนั่นคือ ‘擂茶 – เหลยฉา’ (คิดอยู่นานว่าจะเขียนเสียงอ่านภาษาไทยยังไงดีที่จะตรงเสียงที่สุด เพราะเสียงมันก้ำกึ่งระหว่างสระเอะกับสระเออ คิดว่า ‘เหลย’ น่าจะใกล้เคียงสุดแล้วนะ ถ้าใช้ตัวสะกดแบบจีนพินอินก็คือ léi chá ค่ะ) ซึ่งแปลตรงตัวความหมายคือ ชาบด ในภาษาอังกฤษแปลได้ว่า Pounded Tea หรือ Ground Tea บางทีก็มีเรียกอีกชื่อว่า thunder tea เพราะว่า 擂 กับ 雷 ที่แปลว่าฟ้าร้องนั้น ออกเสียงเหมือนกันค่ะ ดูรายการนั้นแล้วพบว่าวิธีการกินเหลยฉาของเขาไม่เหมือนกับที่ฉันกินอยู่ทุกเช้า ส่วนผสมก็แตกต่างไปอีก เลยคิดว่าน่ามาเล่าสู่กันฟัง ถือเป็นความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ (FYUI = For Your Useless Information ศัพท์คุณนายฮวงเองจ้ะ😅) ก็ได้ค่ะ

ว่ากันว่าที่มาของเหลยฉานี้สืบย้อนไปได้ถึงช่วงของราชวงศ์ฮั่นกันเลยนะ ก็ประมาณ 202 ปีก่อนคริสตกาลน่ะ เป็นของกิน (ขออนุญาตใช้คำนี้ละกันนะ) ที่แพร่หลายในหมู่ชาวจีนแคะหรือฮักกา – Hakka (客家 อ่านว่าเค่อเจีย) ซึ่งไม่ว่าจะกระจัดกระจายไปตั้งรกรากกันที่ไหนในโลกก็ตาม ก็ยังคงมีเหลยฉาเป็นหนึ่งในของกินสืบทอดกันไปเรื่อยๆ คุณผู้อ่านคงสงสัยว่าก็แล้วเหลยฉาคืออะไรกันแน่จ๊ะ

คำตอบคือตามชื่อเลยล่ะค่ะ เป็นใบชาแล้วก็ผสมอย่างอื่นบดเข้าไปด้วยอีก ซึ่งจะผสมอะไรเข้าไปอันนี้ก็แล้วแต่แต่ละพื้นที่กันล่ะค่ะ จะไม่เหมือนกันซะทีเดียว ภาษาแคะก็เช่นกันนะคะ สำเนียงของชาวจีนแคะในแต่ละพื้นที่ก็ยังมีความแตกต่างกันนิดๆ คุณชายบอกฉันว่า ชุมชนจีนแคะที่เหมียวลี่กับที่เหม่ยหนงก็ยังพูดสำเนียงต่างกันอยู่บ้าง เพื่อนมัธยมของฉันที่มีเชื้อสายจีนแคะก็บอกเช่นเดียวกันค่ะ นางเล่าว่าเคยถามคุณแม่ของนางว่า ทำไมภาษาจีนแคะที่แม่พูดกับที่เพื่อนคนจีนของนางพูด ฟังแล้วไม่ค่อยเหมือนกันล่ะ คุณแม่ตอบว่า ภาษาจีนแคะของบ้านเรามันเป็นจีนแคะบ้านนอกน่ะ จะไม่เหมือนกับจีนแคะที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อืม ความรู้ใหม่นะคะเนี่ย😄

นอกจากส่วนผสมที่มีใบชาเป็นหลักแล้ว ส่วนผสมอย่างอื่นๆ และวิธีการกินที่แตกต่างกันไปนี่ล่ะที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าน่าสนใจ จากที่ดูรายการวันนั้นบวกกับค้นหาอ่านต่อ ฉันเดาเอาว่าคงขึ้นกับวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้สูตรของเหลยฉาต่างกัน ส่วนผสมของเหลยฉาที่พบได้บ่อยหน่อยก็มี…

  • ใบชา ซึ่งสามารถใช้ใบชาชนิดใดก็ได้ แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือชาเขียวหรืออู่หลง บางครั้งก็อาจใช้ผงมัทฉะ (ชาเขียวบดละเอียด) เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
  • พืชตระกูลถั่วและเมล็ดพืชอบ ที่ใช้กันมากที่สุดคือถั่วลิสง ถั่วเขียว และงา เมล็ดอย่างอื่นๆ ก็ได้แก่ ถั่วเหลือง เมล็ดสน เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ถั่วเลนทิล (ภาษาไทยเรียกอะไรไม่รู้ 😅) และลูกบัว
  • ธัญพืชอบ ตัวอย่างอันนี้ก็เช่น ข้าวหุงสุกหรือข้าวพอง ข้าวสาลี
  • สมุนไพรและเครื่องปรุง เช่น ขิง เกลือ
  • ยาสมุนไพรจีน ที่บางครั้งใส่เพื่อสุขภาพ
เหลยฉา – อาหารเช้าของคุณนายฮวง

เหลยฉาที่ไต้หวันนี่ส่วนใหญ่ก็มีใบชาผสมกับพวกถั่วและธัญพืช ซึ่งมีแบบสำเร็จรูปขายในซูเปอร์มาร์เกตด้วยนะ เวลากินก็ฉีกซองชงผสมกับน้ำร้อน จัดเป็นเครื่องดื่มหรืออาหารว่างแก้หิวตอนอากาศหนาวๆ อุ่นท้องได้เลย ส่วนเราสองคนกินเป็นมื้อเช้าค่ะ โดยผสมอย่างอื่นเพิ่มเติมเข้าไปอีก อย่างที่เคยเล่าให้ฟังในบทเจ่าชันไปแล้วน่ะ ซึ่งเหลยฉาที่คุณชายสั่งซื้อมาใช้นี่ ส่วนผสมเยอะมากค่ะ ฉันพลิกดูส่วนผสมด้านหลังถุงแล้วมึน มันจะแยะอะไรขนาดนั้น นอกจากใบชาเขียว+บรรดาถั่วและธัญพืชทั้งหลายแล้ว ไอ้ที่ทำเอามึนก็เห็ดหูหนูกับเห็ดอะไรอีกสักอย่างนี่ล่ะ เพิ่งรู้นะเนี่ยว่าตัวเองกินเห็ดผงทุกวัน😆

อาหารเช้าคุณนายฮวงตอนยังไม่ชงน้ำร้อน
อาหารเช้าคุณนายฮวงตอนชงน้ำร้อนลงไปแล้ว

ส่วนในรายการที่ดูนั้น ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนแคะเค้าเอาใบชา+สารพัดผักในพื้นที่หลายชนิดมาก มากจนฉันจำไม่ไหวอะค่ะ😅 ต้องขออภัยด้วยที่คุณนายฮวงความจำสั้นนะคะ จำได้ 2-3 อย่างค่ะคือผักชี โหระพา แล้วก็ใบบัวบก มาสับๆๆๆๆ ซะละเอียดรวมกันจนแยกไม่ออกเลยว่าผักอะไรบ้าง แล้วก็เอาลงไปต้ม จนดูเหมือนซุปผักโขมของฝรั่งเลย จากนั้นก็ตักราดลงบนข้าวหรือเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ใส่เครื่องปรุงอย่างอื่นไว้เรียบร้อยแล้ว คุณชายนั่งดูอยู่ด้วยกันยังพูดเลยว่า เขากินแบบขนมจีนของเมืองไทยเลยเนอะ ยู 😄

แหมๆๆ เรียกขนมจีนได้เสียงชัดเป๊ะเชียว ก็ของโปรดของฮีนี่คะ อิฉันน่ะเวลาที่ฮีชอบกินอะไร ก็จะบอกว่าให้ท่องจำชื่อให้ได้นะ ไม่งั้นคราวต่อไปจะกินแล้วบอกไม่ได้ ก็อดกินไปนะจ๊ะ😁 ก็ตอนแรกๆ มีอยู่ครั้งนึงกลับเมืองไทยฮีบอกว่า ไออยากกินอาหารจานเดียวที่มีข้าวสีคล้ำๆ แล้วก็อะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างกองเป็นหย่อมๆ อยู่รอบๆ น่ะ ยู พาไอไปกินหน่อยสิที่ฟู้ดคอร์ตไหนสักแห่งน่ะ โอ้ช่วยด้วยกล้วยทอด! แล้วอิฉันจะรู้มั้ยเนี่ยว่ามันคืออะไร ที่ไหน🙄 เดาอยู่เป็นนานกว่าจะคิดออกว่า ฮีหมายถึงข้าวคลุกกะปิ! 🤣

กลับมาที่มาเลย์กันต่ออีกนิดนะ เท่าที่อ่านมาเห็นว่าที่มาเลเซียมีสตรีทฟู้ดยอดนิยมชื่อว่า khai lang lei cha ด้วยนะ ซึ่งหลังจากถามอากู๋ดู ฉันคิดว่าก็คงคล้ายๆ กับที่เห็นในรายการท่องเที่ยวที่ดูนั่นล่ะ ใครเคยไปเที่ยวประเทศมาเลเซียแล้วเจอสตรีทฟู้ดนี้ ก็ช่วยมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ จะได้ช่วยเปิดโลกทัศน์คุณนายฮวงให้กว้างขึ้นอีกหน่อย😉

 

Don`t copy text!