利息 – ลี่สี

利息 – ลี่สี

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ช่วงนี้ฉันนั่งดูข่าวเศรษฐกิจแล้วก็ต้องถอนหายใจ ก็เกือบทุกประเทศในโลกนี้กำลังเผชิญกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อกันทั้งนั้น ที่ไต้หวันนี่ก็ใช่ ข้าวของแพงไปหมด (ตรงนี้ขอเมาท์หน่อย ก็ร้าบานนี้เล่นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมันทุกปี ต้นทุนมันก็สูงขึ้นตามไปด้วยสิ) เวลาไปจ่ายตลาดทีไร ก็นึกอยากให้ตัวเองกลายเป็นนางสวาหะไปซะนั่นเลย กินแต่ลมไปซะ… จบ จะได้ประหยัดเงินไม่ต้องซื้อหมูเห็ดเป็ดไก่ที่ราคาขึ้นกันโครมๆ แต่มีข้อนึงที่อิฉันคิดยังไงก็ไม่สามารถเข้าใจได้นั่นก็คือ เวลาน้ำมันขึ้นราคา ก็อ้างว่าเพราะน้ำมันขึ้น ราคาของก็ต้องขึ้นตาม แต่เวลาน้ำมันลงราคา ไหงราคาของไม่ปรับลงมั่งอะ ขึ้นแล้วขึ้นเลย🙄

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว จะปราบเงินเฟ้อให้อยู่ก็ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ธนาคารกลางของอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และอีกหลายๆ ประเทศได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันทั่วหน้า โดยเฉพาะทางอเมริกาเนี่ย ปรับทีก็ส่งผลกระทบไปถึงหลายๆ สิ่ง เพราะเป็นเงินตราสกุลหลักที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายกันอยู่ทั่วโลก ทางอังกฤษเองก็คาดว่ากำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย น่าจะเริ่มคุมเงินเฟ้อได้บ้างไม่มากก็น้อย ฉันก็แค่หวังว่าจะหาจุดสมดุลกันได้โดยเร็ว อย่าให้ถึงกับกลายเป็นภาวะถดถอยกันไปทั้งโลกละกัน😰

แหม วันนี้เปิดประเด็นเครียดมาเลยนิ คุณนายฮวง😅 จริงๆ แล้วคือนั่งดูข่าวธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นระยะๆ มาพักใหญ่แล้ว เพิ่งนึกออกเกิดไอเดียปิ๊งขึ้นมาเมื่อคืนนี้เองว่า น่าจะเล่าให้คุณๆ ฟังกันซะหน่อยถึงระบบอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของที่นี่ เพราะฉันว่ามันน่าสนใจดีเหมือนกันค่ะ คำว่าดอกเบี้ยในภาษาจีนกลางคือ 利息 – ลี่สี นะคะ ตามชื่อบทความนี้ล่ะ จำได้ว่าตอนเปิดบัญชีธนาคารครั้งแรกด้วยตัวเองที่นี่ คือตอนที่ได้รับทุนการศึกษาจากซือต้า (ฮะแอ้ม ตรงนี้ขอโม้หน่อย😆 ตอนเข้าไปเรียนซือต้าเทอมแรก สมัครขอสอบชิงทุนแข่งกะเค้าด้วย) เขาบอกให้ไปเปิดบัญชีกับธนาคารแถวนั้น เพราะจะจ่ายเงินทุนเข้าบัญชีให้ทุกเดือน หนนั้นแค่เปิดบัญชีออมทรัพย์ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะดอกเบี้ยมันน้อยนิดและขึ้นลงตามธนาคารประกาศไว้อยู่แล้ว แต่ตอนหลังที่มีการเปิดบัญชีเงินฝากประจำนี่สิ เริ่มมึนล่ะค่ะ😅

Bankbook for foreign currency

ตอนอยู่อเมริกาก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสักเท่าไหร่ เพราะมันก็เหมือนกับเมืองไทยคือ บัญชีประเภทออมทรัพย์ทั่วไป อัตราดอกเบี้ยต่ำและขึ้นลงตามประกาศของธนาคาร ส่วนของบัญชีเงินฝากประจำที่สูงกว่าออมทรัพย์นั้น ก็มีให้เลือกฝากเป็นระยะเวลากี่เดือนกี่ปีก็ว่ากันไป แล้วแต่เราเลือกฝากได้ตามใจชอบ พอมาเจอของเกาะนี้ พนักงานธนาคารต้องเสียเวลาอธิบายให้หมวยเยาวราชที่หน้าหมวยเสียเปล่า แต่พูดจีนแบบแบ๊ะๆๆ เล่นเอากว่าจะจัดการเข้าบัญชีเงินฝากประจำได้ต้องสื่อสารกันอยู่นานมาก (ใส่ ก.ไก่เพิ่มเข้าไปอีกร้อยตัว🤣) ทั้งเรื่องของสมุดเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย คืออย่างนี้ค่ะ ที่นี่สมุดเงินฝากแบ่งเป็นเงินสกุลไต้หวันกับเงินสกุลต่างประเทศ ที่ไต้หวันนี่แต่ละธนาคารมีให้บริการรับฝากเงินในสกุลต่างประเทศด้วยค่ะ โดยถ้านำเงินสดมาฝากต้องเสียค่าฝากด้วยนะคะ ถ้าจำไม่ผิดตอนที่เพิ่งกลับจากอเมริกากันใหม่ๆ ค่าฝากเงินสดอยู่ที่ 1% สมมติว่าเอายูเอสดอลลาร์ฯ มาฝากเข้าบัญชีจำนวน 1,000 ดอลลาร์ฯ ดังนั้น ต้องจ่ายค่าฝากที่ 10 ดอลลาร์ฯ คิดเป็นเงินไต้หวันก็ประมาณ 300 หยวนแน่ะ เอาเรื่องอยู่เหมือนกันนะ แต่นี่คือซิตี้แบงค์นะ เรื่องค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศตรงนี้ แต่ละธนาคารแตกต่างกันไปค่ะ

Bankbook for Taiwan dollar

ดังนั้น สมุดบัญชีเงินฝากจึงแบ่งแยกโดยสกุลเงิน ไม่ใช่แบบบ้านเราที่จะแยกตามประเภทของบัญชี บัญชีออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำเงินสกุลไหนก็รวมหมดอยู่ในเล่มเดียวกัน โดยแบ่งส่วนหน้าเป็นบัญชีออมทรัพย์มีให้ 7 หน้า ส่วนหลังคือบัญชีฝากประจำมี 3 หน้า ท้ายสุดมีหนึ่งหน้าครึ่งเป็นส่วนสำหรับการฝากเช็ค พอฉันเกิดความคิดอยากจะเอาเงินจากบัญชีออมทรัพย์ (活期 – หัวฉี) มาเปิดบัญชีเงินฝากประจำ (定期 – ติ้งฉี) ก็ไปธนาคารแล้วบอกความประสงค์กับอาหมวยพนักงาน นางก็บอกว่า ไม่มีปัญหา จะฝากประจำเท่าไรล่ะ แล้วจะฝากระยะเวลานานเท่าไหร่ เอาอัตราดอกเบี้ยแบบไหน แบบลอยตัว (機動利率 – จีต้งลี่ลวี่) หรือแบบคงที่ (固定利率 – กู้ติ้งลี่ลวี่) ตลอดระยะเวลาการฝาก ห้ะ อะไรอีกล่ะเนี่ย คุณนายฮวงที่เวลานั้นภาษาจีนก็ยังไม่ค่อยจะกระดิก แล้วยังกระแดะมาเปิดบัญชีฝากประจำเองอีกจึงเริ่มมึน แถมไม่ได้ถามคุณชายมาก่อนซะด้วย ก็เลยถามนางว่า เสียวเจี่ย คุณพูดภาษาอังกฤษได้ไหมจ๊ะ ตานี้ถึงทีนางอึ้งมั่ง😁 แล้วนางก็พยายามอธิบายด้วยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น กว่าอิฉันจะถึงบางอ้อ ก็เล่นเอาเหงื่อตกกันไปทั้งคู่😂 พอตกลงกันเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้วว่าฉันจะเอาแบบไหน นางก็ช่วยอิฉันกรอกใบฝากและใบถอน เซ็นชื่อเสร็จ นางก็เปิดไปหน้าที่ 8 ของสมุดบัญชีฉัน แล้วจัดการพิมพ์รายการทำให้ ยื่นสมุดกลับมาบอกเรียบร้อยแล้ว อิฉันก็งงสิ ไรวะ นางเลยต้องชี้ให้ดูแต่ละช่องอธิบายว่าคืออะไร เฮ้อ แบบนี้ก็มีด้วยแฮะ เปิดบัญชีเงินฝากมาสองประเทศ ไม่เคยเจอแบบนี้นี่หว่า รวมจบมันในเล่มเดียวเนี่ย🤨

For CD account – deposit page
For Saving account – deposit page
For deposit check page

ขออธิบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยโดยยกตัวอย่างนะ จะได้อธิบายง่ายหน่อย สมมติว่าฉันต้องการฝากประจำระยะเวลาหนึ่งปี อัตราดอกเบี้ยคือ 2.5% แบบ 固定利率 – กู้ติ้งลี่ลวี่ ฉันก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีแน่ๆ แต่ถ้าฉันเลือกแบบ 機動利率 – จีต้งลี่ลวี่ ซึ่งอาจจะเป็น 2% หรือ 3% (แบบจีต้งจะสูงหรือต่ำกว่าแบบกู้ติ้ง อันนี้ไม่แน่นอนค่ะ แล้วแต่นโยบายของแต่ละธนาคารและแนวโน้มดอกเบี้ยในช่วงเวลานั้นๆ) ตรงนี้ขอสมมติให้เป็นที่ 3% ละกันนะ พออิฉันเห็นว่ามันมากกว่าแบบกู้ติ้ง ความโลภบังเกิดจึงตัดสินใจเลือกว่าจะฝากเอาดอกเบี้ยแบบลอยตัวดีกว่า ฝากระยะหนึ่งปี ตานี้บังเอิ๊ญบังเอิญ ฝากไปได้สักหกเดือน ธนาคารประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากลงไป โดยแบบจีต้งลดเหลือแค่ 2% เดือนที่เจ็ดฉันก็จะได้ดอกเบี้ยแค่ 2% และเมื่อบาปซ้ำกรรมกระทืบพอเดือนที่แปดธนาคารดันประกาศลด 機動利率 – จีต้งลี่ลวี่ เหลือแค่ 1% แน่นอนค่ะว่า เริ่มตั้งแต่เดือนที่แปดไปจนถึงวันครบกำหนดหนึ่งปี ฉันได้ดอกเบี้ยแค่ 1% เท่านั้น

น่าสนใจไหมคะ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเทศนี้ ต้องมีการเสี่ยงดวงเอา ฉันว่าไม่ค่อยต่างจากเล่นพนันเลยนะเนี่ย เพราะถ้าเกิดฉันเลือกแบบกู้ติ้งไป แล้วเดือนที่สามธนาคารขึ้นดอกเบี้ย ฉันก็อดได้อัตราดอกเบี้ยใหม่ที่สูงขึ้น อ้อ นี่คือเฉพาะเงินฝากสกุลไต้หวันนะ สกุลอื่นๆ มีแบบคงที่แบบเดียว ดังนั้น ถ้าจะหากินกับดอกเบี้ยเงินฝากบนเกาะนี้ ก็ต้องคอยเปิดหูเปิดตาไว้บ้าง ไม่งั้นอาจรับประทานแห้วได้จ้ะ😅

Don`t copy text!