氣象先生 – ชี่เซี่ยงเซียนเซิง

氣象先生 – ชี่เซี่ยงเซียนเซิง

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

氣象先生 – ชี่เซี่ยงเซียนเซิง ถ้าแปลเป็นภาษาไทยออกมาก็คงได้ประมาณว่า ‘คุณนักพยากรณ์อากาศ’ ชี่เซี่ยงเซียนเซิงที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางและยาวนานของชาวไต้หวันคือคุณ- เหรินลี่อวี๋ คุณเหรินเพิ่งเกษียณอายุจากหน้าที่การรายงานพยากรณ์อากาศ ที่ทำมาทั้งหมดเป็นเวลา 50 ปี โดยรายงานเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมานี่เองทางช่อง TVBS เรามีโอกาสได้เห็นการรายงานครั้งสุดท้ายของคุณเหรินด้วย

ภาพ : https://tw.news.yahoo.co

คือปกติเวลาเราดูข่าวทีวี เราจะดูให้ครบทุกช่อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารให้ครบๆ ฉันเคยเล่ารึเปล่าคะว่าสื่อที่นี่มีเอียงๆ บ้าง เราสองคนก็เลยต้องดูให้ครบทุกช่อง แล้วใช้วิจารณญาณของเราเอาเอง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม เราดูข่าวโดยเปลี่ยนไป-มาเหมือนเคย ก็ให้โชคดีนักที่เปลี่ยนช่องมา ได้เห็นการอำลาพยากรณ์อากาศครั้งสุดท้ายของคุณเหรินพอดี คุณชายเล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นแต่คุณเหรินนี่ล่ะที่คอยพยากรณ์อากาศแทบทุกวัน ช่วงไต้ฝุ่นจะเข้าก็จะได้เห็นหน้าคุณเหรินวันละหลายรอบหน่อย เพราะต้องเกาะติดสถานการณ์เดาทางไต้ฝุ่นกัน คุณเหรินรายงานอากาศด้วยน้ำเสียงทุ้มๆ เรียบเรื่อย ซึ่งในแง่ของการรายงานข่าวไต้ฝุ่น ก็ถือว่าดีเหมือนกัน คนฟังจะได้ไม่รู้สึกตระหนกตกใจกันนัก😊 คุณเหรินกล่าวว่า “ช่วงนี้คนไม่ค่อยสนใจข่าวอากาศมากนัก เพราะสนใจตามข่าวการระบาดของโควิด-19 กัน จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะอำลา ถอนตัวจากจอทีวีอย่างเงียบๆ” แหม ช่างเป็นคนถ่อมตัวอะไรเช่นนี้ ชี่เซี่ยงเซียนเซิงของชาวไต้หวัน😊

สมัยนี้ถ้าอยากเช็กสภาพอากาศ มันแสนจะสะดวกสบายแค่ปลายนิ้วกดหน้าจอสมาร์ตโฟนก็รู้แล้วว่า วันนี้จะซักผ้าดีมั้ย😆 ฉันเห็นข่าวอำลาของคุณเหรินแล้วเกิดความอยากรู้ว่า ในสมัยก่อนเวลาไต้ฝุ่นจะเข้านี่ ชาวเกาะนี้เขาแจ้งข่าวกันยังไง ตามประสาคุณนายฮวงนะคะ สงสัยแล้วต้องได้คำตอบ ไม่งั้นนอนไม่หลับ (ยิ่งเป็นคนนอนหลับยากอยู่ด้วย😅) ไปหาคำตอบมาได้ความประมาณนี้ค่ะว่า…

ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง ถ้าไต้ฝุ่นกำลังเคลื่อนตัวมุ่งมาทางไต้หวัน ชาวบ้านเกาะนี้จะรู้ข่าวจากผู้ใหญ่บ้านที่เดินตีฆ้องป่าวประกาศเสียงลั่นไปตามถนนในหมู่บ้าน แจ้งให้แต่ละบ้านรู้กันเพื่อเตรียมตัวรับมือกับพายุ เอ… แล้วผู้ใหญ่บ้านรู้ข่าวมาจากไหนล่ะ เอ้า ล้อมวงเข้ามา คุณนายฮวงจะเล่าให้ฟังถึงประวัติของการพยากรณ์อากาศประเทศนี้กันจ้า😉

สถานีตรวจอากาศไทเปรุ่นนี้ใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2440 ถึง พ.ศ. 2480 (ภาพ : https://www.taipeitimes.com/)

จากหอจดหมายเหตุเมืองซินจู่ที่มีบันทึกไว้ว่า การสังเกตสภาพอากาศในยุคใหม่ของเกาะนี้เริ่มขึ้นในปลายสมัยราชวงศ์ชิง จากการให้คำแนะนำของอังกฤษ รัฐบาลของราชวงศ์ชิงได้เริ่มสร้างประภาคารและสถานีอุตุนิยมวิทยาที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพื้นฐานขึ้นตามพื้นที่แนวชายฝั่งทะเล สำหรับไต้หวันนั้น ในปี ค.ศ. 1885 ได้สร้างขึ้นสองแห่งคือ ที่เกาะเผิงหู – 澎湖 (Penghu) กับที่ผิงตง – 屏東(Pingtung) ตรงจุดปลายสุดของเกาะไต้หวัน บริเวณที่เรียกว่า เอ๋อหลวนปี๋ – 鵝鑾鼻 (Eluanbi) ซึ่งได้ปฎิบัติหน้าที่มาจนกระทั่งปี 1895 ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองไต้หวัน พอพี่ยุ่นเข้ามาปุ๊บก็จัดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาขึ้นใหม่ที่ไทเป ไถจง ไถหนัน และเหิงชุน (Hengchun ที่อยู่ในเขตเมืองผิงตง) และอีกห้าปีต่อมาก็สร้างเพิ่มอีกแห่งที่เมืองไถตง (Taitung) ฉันใส่ชื่อภาษาอังกฤษกำกับไว้เผื่อใครจะถามแผนที่อากู๋ดูนะคะ😉

กลับเข้าเรื่องกันต่อนะ ข้อมูลจากสถานีอุตุฯ ทุกแห่ง จะถูกรวบรวมแล้วส่งเข้ามาวิเคราะห์ที่ไทเป จากนั้นจึงตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ ซึ่งคนที่อยู่ในหมู่บ้านห่างไกลหน่อยก็คงต้องอาศัยผู้ใหญ่บ้าน ที่คงจะได้รับแจ้งจากส่วนกลาง ให้ไปตีฆ้องประกาศเตือนลูกบ้านของตน นอกจากนี้ข้อมูลเหล่านี้ก็ยังถูกส่งไปให้กับทางอังกฤษที่ปกครองฮ่องกงอยู่ด้วย

ครั้งแรกของการเดาทิศทางไต้ฝุ่นของสถานีอุตุฯ ทั้งห้าแห่งเกิดขึ้นในปี 1897 ครั้งนั้นไต้ฝุ่นเข้าถล่มไทเปเป็นเวลากว่า 24 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน น้ำท่วมสร้างความเสียหายกว่า 17,000 ครัวเรือน รัฐบาลเลยเพิ่งตระหนักว่า แค่แจ้งว่าไต้ฝุ่นจะเข้ามันไม่พอจ้ะ ไม่ได้ช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อีก จึงเกิดโครงการตาวิเศษเห็นนะ เอ๊ย! ไม่ใช่ๆ 😆 รัฐบาลกลางได้จัดโครงการจัดระเบียบชุมชนเพื่อบรรเทาภัยพิบัติในอนาคตขึ้น โดยให้ผู้ว่าฯ และผู้ใหญ่บ้านประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งการทำงานลักษณะนี้ยังเห็นได้อยู่จนถึงปัจจุบัน อย่างที่เห็นชัดเจนตอนนี้ก็เรื่องการประสานงานเรื่องฉีดวัคซีนให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 85 ปีขึ้นไปนี่ล่ะค่ะ เริ่มฉีดมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้เองค่ะ

นับจากเกิดภัยพิบัติครั้งนั้นมาอีกหนึ่งทศวรรษ พี่ยุ่นได้จัดสร้างสถานีกองหนุนอีก 78 แห่งพร้อมอุปกรณ์พื้นฐานทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายอุตุนิยมวิทยาขั้นต้นของประเทศให้เสร็จสมบูรณ์ และยังมีการสร้างเพิ่มอีกอย่างน้อย 14 แห่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อช่วยงานด้านวางแผนยุทธศาสตร์ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นจึงต้องการบุคลากรเพื่อดำเนินงานในสถานีใหม่เหล่านี้ และได้ทำการเริ่มฝึกนักอุตุนิยมวิทยาชาวไต้หวันกลุ่มแรก หนึ่งในนั้นคือ คุณชิวหมิงเต๋อ – 邱明德 ที่เคยเล่าในรายการประวัติศาสตร์ของ Formosa TV (民視 – หมินซื่อ) ว่า การฝึกอบรมกินเวลาตลอดทั้งปี โดยแทบไม่ได้มีเวลาพักเลย (น่าจะประมาณหลักสูตรเร่งรัดมั้งคะ ฉันว่านะ) เพราะพวกเขาต้องเรียนรู้วิชาพื้นฐานต่างๆ เช่น แคลคูลัส เคมี และรหัสมอร์ส คุณชิวยังเล่าอีกด้วยว่า เนื่องจากข้อมูลอุตุนิยมวิทยาถือเป็นข้อมูลลับในระหว่างสงคราม สถานีต่างๆ จึงหยุดส่งคำเตือนไปยังหมู่บ้านทุกแห่ง จนในปี 1942 มีพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มชายฝั่งอี๋หลาน คร่าชีวิตผู้คนกว่า 300 คนที่ไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ ทำลายบ้านเรือนกว่า 11,000 หลังคาเรือน คุณชิวบอกว่า จำได้ว่าเห็นความเสียหาย ชนิดรถไฟพลิกคว่ำและสถานีรถไฟก็ถูกพายุถล่มกวาดหายไปเลยทีเดียว รัฐบาลก็เลยต้องให้มีการเตือนภัยไต้ฝุ่นกลับมากันอีกครั้งนึง

หลังจากที่เจียงไคเช็คพากองทัพของกั๋วมินตั่งถอยร่น ข้ามมาตั้งหลักที่เกาะไต้หวันในปี 1949 ทางกองทัพก็เข้ายึดสถานีอุตุฯ ไว้ โดยให้อยู่ภายใต้การดูแลของทหาร ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านพยากรณ์อากาศ แน่นอนก็เจ๊งสิคะจะเหลืออะไร ในปี 1959 เนื่องจากทางสถานียกเลิกการประกาศเตือนภัยไต้ฝุ่นเร็วเกินกว่าที่ควร จึงเกิดภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ว่ากันว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์ของไต้หวันเลยทีเดียว วาตภัยครั้งนี้เลยทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของนักอุตุนิยมวิทยา ถึงขนาดจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียว จากนั้นมาจึงเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาด้านอุตุนิยมวิทยาอย่างจริงจัง ในปี 1987 รัฐบาลไต้หวันได้ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในทางปฏิบัติการของสถานีอุตุฯ ซึ่งทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่แปลงข้อมูลการสังเกตและพยากรณ์อากาศให้เป็นระบบดิจิทัล

แต่หลังจากที่ค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์งานนี้ ฉันก็นึกในใจว่า เฮ้อ ต้องรอให้วัวหายแล้วถึงล้อมคอกเนอะ พอหันกลับมาดูสถานการณ์ตอนนี้ อือ คุ้นๆ แฮะ😅

Don`t copy text!