คนไต้หวัน

คนไต้หวัน

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– คนไต้หวัน –

นิสัยประจำชาติของคนไต้หวันเนี่ย คงให้คะแนนเรื่องความอยากรู้อยากเห็นเต็มร้อยได้เลย ที่สำคัญคือ ไม่ค่อยเก็บความอยากไว้ด้วยซิ ตอนแรกๆ ที่เจอ ฉันก็นึกว่าอาจจะเป็นนิสัยเฉพาะตัวมั้ง แต่พอเจอบ่อยๆ เข้า สรุปได้ว่า ค่อนข้างเป็นกันทั่วหน้าค่ะ

ที่เจอประจำตอนปีแรกก็คือเวลาได้ยินฉันพูดภาษาอังกฤษกับสามี ก็จะถามทันทีว่า ทำไมฉันสองคนพูดภาษาอังกฤษกันล่ะ ไม่ว่าจะเป็นคนขายของ พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร แรกๆ ที่ประสบพบเหตุการณ์แบบนี้ก็พอจะเข้าใจอะนะว่าหน้าตาฉันมันก็หมวยดีๆ นี่เอง แต่ทำไมกระแดะคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งสามีฉันก็จะตอบสั้นๆ ว่าฉันเป็น ‘หัวเฉียว’ คือคนจีนโพ้นทะเลน่ะ เขาก็จะถึงบางอ้อกัน เพราะคนไต้หวันที่ไปเกิดหรือโตในอเมริกา แล้วกลับมาเยี่ยมญาติที่นี่ก็มีเยอะแยะ อันนี้นี่ไม่ค่อยรังเกียจหรอกนะ แต่ไอ้แบบที่เวลาอยู่รวมกันกะพวกแก๊งแม่บ้านฉัน แล้วได้ยินพวกเราคุยภาษาไทยกัน แล้วก็ถามว่าไม่ใช่คนไต้หวันเหรอ มาจากไหน แล้วมาทำอะไรที่ไต้หวันนี่ ฯลฯ โฮ้ย! อันนี้นี่รำคาญจริงจริ๊ง จะทำสำมะโนประชากรกันหรือ (วะ) คะ ^_^

คือสำหรับพวกเขา ไม่ใช่เรื่องเสียมารยาทหรือเป็นเรื่องของ invade privacy อะไร เป็นคำถามธรรมดา อยากรู้ก็ถาม แต่สำหรับฉันบางคนมันก็ออกจะล้ำเส้นไปหน่อย (อย่างว่าล่ะนะ ทุกชาติทุกภาษาก็ต้องมีทั้งคนดีและไม่ดี) อย่างที่เคยเจอตอนที่เพิ่งย้ายเข้าบ้านนี้ใหม่ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งก็ออกจากประตูบ้านมาเจอเพื่อนบ้านยูนิตฝั่งตรงข้าม เขาก็ทักทายเราว่าเพิ่งย้ายเข้ามาใหม่เหรอ สามีก็ตอบใช่ เสร็จก็ถามต่อว่าเช่าหรือซื้อ สามีก็ใจเย็นตอบอีกว่าซื้อ แล้วคำถามเด็ดก็ตามมาเลยว่า ซื้อที่ราคาเท่าไร ไม่แต่ฉันเท่านั้นที่รู้สึกว่า เฮ้ย! มากไปหน่อยแล้วมั้ง คุณชายเธอก็อึ้งไปนิดเหมือนกัน คงไม่นึกว่าจะเจอเพื่อนบ้านอยากรู้อยากเห็นซะขนาดนี้ ฉันเนี่ยคันปากอยากจะพูดว่า ถามทำไม อยากจะซื้อเหรอ งั้นฉันจะขายให้แบบราคา (โขก) คนกันเองก็ได้นะ แต่ก็อะนะ คุณสามีผู้ได้รับโล่ห์มารยาทดีแห่งปี (จากเมียเธอเอง) ก็ตอบเขาไปว่าหกล้าน ยังค่ะ ยังไม่หยุด ถามต่ออีกว่าเนื้อที่เท่าไหร่ โอ้! ช่วยด้วยกล้วยทอด! สามีฉันอึ้งไป ก่อนบอกราคาคุณยังไม่รู้ตัวอีกหรือนี่ คุณชายมารยาทงามเธอเลยตัดบทว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าหักพื้นที่ส่วนกลางแล้วเหลือเท่าไร เป็นไงคะ อย่างนี้ควรเรียกว่าสอดรู้สอดเห็นจะดีกว่ามั้ย

เมื่อปีที่แล้วเพื่อนฉันพาลูกชายวัยรุ่นมาเที่ยว หลังจากเดินเที่ยวได้สองสามวัน พ่อหนุ่มน้อยได้ข้อสรุปว่า คนไต้หวันคือคนญี่ปุ่นพูดภาษาจีนดีๆ นี่เอง ฉันฟังแล้วก็นึกขำเลยบอกพ่อหลานชายไปว่า จะสรุปอย่างนั้นก็พอได้อยู่ แต่ทุกชาติมันก็ต้องมีคนร้อยแปดพันเก้าล่ะนะหลานเอ๊ย อย่างที่เจอเมื่อสองวันก่อนนี้เอง ลิฟต์ในสถานีรถไฟฟ้าส่วนมากจะมีขีดแถวแบ่งเขียนไว้บนพื้นให้ยืนรอเข้าลิฟต์กัน (Priority Line กับ General Line) ซึ่งฉันยืนเป็นคนที่สองในแถวทั่วไป (พอดีเข่าเจ็บค่ะ เลยใช้บริการลิฟต ) แถวข้างๆ คือ Priority มีรถเข็นเด็กรอเข้าอยู่สองคัน พอลิฟต์มา แถวเราก็ให้รถเข็นเด็กเข้าก่อน แล้วเจ๊ที่ยืนหน้าฉันก็ก้าวตามเข้าไป ฉันกำลังจะก้าวเข้า มีเจ้าตี๋ที่มาจากไหนฉันก็ไม่ทันสังเกตก้าวพรวดตัดหน้าฉันเข้าลิฟต์ไปยืนหน้าตาเฉย วินาทีนั้นฉันชั่งใจว่า จะเป็นป้ามหาภัยดีไหม หรือปล่อยตี๋มันไปดี (วะ) แต่แล้วก็คิดว่าวันนี้ฉันไม่อยากให้อารมณ์เสียแต่เช้า แล้วยังมีที่สำหรับฉันอีกคน เอาเหอะ ทำบุญปล่อยนกปล่อยกาสักวัน

จอดรถมุมถนน

ถ้าพูดถึงเรื่อง “ทำตามใจคือไทยแท้” คนไต้หวันก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกันนะ ที่เจอประจำคือมารยาทในการขับขี่รถ นึกอยากกลับรถที่สี่แยกก็กลับกันเลย ไม่ได้สนใจว่าจะอันตรายหรือก่อความไม่สะดวกต่อผู้อื่นไหม อีกอย่างก็คือจอดรถซื้อของหรือทำธุระ จอดซ้อนคันนี่ฉันเห็นจนชินซะแล้ว อีกประเภทนึงคือจอดรถตรงทางแยก เพราะร้านที่ต้องการมันอยู่ตรงหัวมุมนั้น คือเขาจะไม่เดินกันเลยค่ะ จอดเลยไปนิดหรือก่อนถึงสักหน่อย (ที่มันจอดได้โดยไม่กระทบชาวบ้าน) นี่ไม่ได้เลย ต้องจอดมันตรงหน้าร้านนั่นล่ะ กระพริบไฟจอดไปสิ (บางคนไม่เปิดไฟจอดกระพริบไว้ก็มีนะ) สนใจที่ไหนว่ามันเป็นหัวมุมสี่แยก

organic store
ผักออแกนิกในซุปเปอร์ฯหน้าคอนโด

สิ่งที่ฉันสังเกตเห็นอีกเรื่องคือ คนไต้หวันค่อนข้างดูแลรักษาสุขภาพ เพราะฉะนั้น สินค้าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพก็จะขายดี ไม่ว่าจะเป็นพวกอาหารเสริม, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณความสวยความงาม, ไปจนถึงหม้อไหกะทะเครื่องครัวประเภทแบบใช้น้ำมันน้อยๆ ทอดปลาได้ไม่ติดกระทะ ฯลฯ อู๊ย! สากกะเบือยันเรือรบนั่นล่ะ ที่นี่จะมีร้านขายของออร์แกนิก (ภาษาจีนกลางเรียกว่า ‘有機~โหย่ว จี’) อยู่ทั่วไป มีทั้งร้านที่เป็นเครือใหญ่ๆ หรือร้านเล็กๆ ก็มี หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมไปก็มีพวกผักออร์แกนิกมาวางขายกันให้คนได้เลือกซื้อ ซึ่งอันนี้ฉันชอบมากค่ะ สะดวกดี ไม่เหมือนเวลาฉันกลับมากรุงเทพฯ อยากได้มะระออร์แกนิกสักลูก ต้องไปซื้อที่ซุูเปอร์มาร์เกตในพารากอน แต่พวกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพบางอย่าง ฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าเวิร์กจริงรึเปล่า ในทีวีนี่มีโฆษณามากมาย อย่างพวกหินที่บอกว่าช่วยดูดสารพิษออกจากร่างกายมั่ง หรือหินที่ช่วยปรับพลังหยินหยางในตัวมั่ง จะซื้อมาลองก็รู้สึกจะแพงไปหน่อยนะ คงเป็นนางสาว ซ.ต.พ. (ซึ่งต้องพิสูจน์)ไม่ไหวล่ะ ขอบายค่ะ ฮิฮิ

ผักปลูกเองขายเอง ไม่มียาฆ่าแมลง
ตลาดนัดชาวนาที่ Maji square-แหล่งพักผ่อนของครอบครัวชาวไทเปในวันสุดสัปดาห์

ตอนปีที่สองที่มาอยู่ ได้รู้จักกับ ‘อ๊อด’ เพื่อนคนไทยคนแรกที่นี่ อ๊อดชวนไปเรียนนวดเท้ากับ ‘อาหลินเจี่ย’ เขารู้จักกันที่โบสถ์ แกบอกว่าสอนให้ฟรีๆ เพื่อจะได้นวดให้สุขภาพดี ตอนแกนวดให้อ๊อดก็สอนไปด้วยว่าจุดนี้ๆ คืออวัยวะใด ซึ่งอ๊อดรู้สึกเจ็บตามจุดที่เกี่ยวกับอวัยวะของระบบปัสสาวะ อ๊อดบอกว่าใช่ อ๊อดเคยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พอเสร็จจากอ๊อด ก็ถึงตาฉัน หลินเจี่ยก็นวดไปแล้วก็ถามว่าตรงนี้เจ็บไหม ปรากฏว่าฉันเจ็บไปหมด เจ็บจนเกือบเป็นลมไปเลยค่ะ หลินเจี่ยก็บอกว่า นี่เขาใช้แรงน้อยมาก แล้วก็ดูมือฉัน หลินเจี่ยบอกว่ามือฉันสีซีดๆ นะ ไม่แดงอย่างของแก ว่าแล้วก็โชว์มือแกให้ฉันดู หลินเจี่ยก็ถามว่าไม่ค่อยทำกับข้าวกินเองใช่ไหม ฉันตอบว่าใช่ แกเลยบอกว่า ให้ฉันพยายามทำกับข้าวกินเอง สะอาดกว่า ผงชูรสก็ไม่มี แล้วก็อย่ากินขนมปังมาก มีผงฟู ไม่ดีต่อร่างกาย ให้กินหมั่นโถวแทน ทำกินเองก็ได้ ไม่ยาก เอาไหม สอนวิธีทำให้ แล้วก็นวดเท้าเองเบาๆ ทุกวัน ตอนเช้าตื่นมากินน้ำก่อนเลยสี่แก้ว ทำแบบนี้สักพักเดี๋ยวก็ดีขึ้น ฉันก็เลยลองทำตามคำแนะนำของเขา ทำกับข้าวกินเอง ให้คุณชายนวดเท้าให้ทุกคืนก่อนนอน ส่วนเรื่องกินน้ำตอนตื่นนอนฉันทำเป็นประจำอยู่แล้วตั้งแต่สมัยจบปริญญาตรีใหม่ๆ สามีเริ่มนวดเท้าให้ทุกคืน แรกๆ ก็เจ๊บเจ็บ พอปฏิบัติตัวตามนี้ เดือนเดียวเท่านั้นล่ะค่ะ เห็นผลจริงๆ หนึ่งเดือนให้หลังนวดเท้าไม่รู้สึกเจ็บแล้ว โชคดีค่ะว่าคุณชายพอมีความรู้เรื่องจุดที่เท้าอยู่บ้าง เขาก็ทำให้ได้ เพราะหลินเจี่ยบอกว่าให้ใครนวดเท้าซี้ซั้วไม่ได้นะ อันตราย ต้องคนที่นวดเป็นทำให้เท่านั้น ไอ้พวกร้านนวดเท้าน่ะ อย่าได้ลองสุ่มสี่สุ่มห้าเชียว เฮ้อ! อันนี้พิสูจน์ด้วยตัวเอง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะ ตั้งแต่นั้นมา สามีเลยต้องทนกินกับข้าวฝีมือฉันเพื่อสุขภาพค่ะ อาจจะไม่อร่อย แต่รับรองเรื่องความสะอาด ฮิฮิ

คนออกกำลังกายที่สวน

ทางภาครัฐก็รณรงค์ส่งเสริมให้คนรักสุขภาพ ที่ทุกเขตในไทเปมี sport center บางเขตประชากรหนาแน่นจะมีสาขามากหน่อย ที่ทุกศูนย์มีแน่ๆ คือสระว่ายน้ำ ฟิตเนส ราคาก็ไม่แพง ครั้งละ 100-120 หยวน ส่วนกีฬาอย่างอื่นก็แล้วแต่แต่ละสาขาว่ามีพื้นที่แค่ไหน แล้วก็มีสวนสาธารณะเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนทั่วเมืองเพื่อให้เป็นที่พบปะสังสรรค์ จะมีคนแก่มานั่งคุยกัน เล่นหมากรุก ออกกำลังเบาๆ กับเครื่องออกกำลังกายที่มีไว้ให้ แล้วก็ที่ฉันเห็นบ่อยๆ ตามสวนฯ ก็คือ ทางเดินที่เป็นหินกลมมนเพื่อสำหรับเดินนวดเท้า ข้างๆ ก็จะมีแผนที่เท้าสองข้างอธิบายว่าจุดไหนตรงส่วนไหนของเท้าเชื่อมกับอวัยวะภายในใดบ้าง (แต่เพื่อนไต้หวันฉันคนนึงเคยบอกว่าคนเท้าผอมๆ อย่างฉันที่ไม่มีไขมันเนี่ย ไม่ควรเดิน เพราะมันจะกลายเป็นทำร้ายอวัยวะภายในไปแทนซะ ไม่รู้จริงรึเปล่านะคะ) ฉันเคยลองเดินดู โอ๊ย! สามก้าวเท่านั้นแหละ เจ็บไปหมดไม่ไหวแล้ว ว่าแล้วฉันก็ขอนั่งสังเกตการณ์ดีกว่า มีหลายคนที่เดินแบบสบายๆ มีอีกหลายคนเหมือนกันที่รู้ว่าเขาคงเจ็บอยู่บ้าง แต่เขาก็ค่อยๆ เดินกันต่อไป เฮ้อ! ข้าน้อยนับถือจริงๆ ขอคารวะ ฉันเคยเห็นอาม่าคนนึงโหนบาร์ที่สวนฯ แห่งหนึ่งด้วย โอ้โฮ! ยอมแพ้จริงๆ ค่ะ เจอซูเปอร์อาม่าแบบนี้ หมวยเยาวราชขอ “🎵ถอยดีกว่า ไม่อาวดีกว่า🎼” ข้าน้อยขอแค่ไฮกิ้งก็พอแล้วจ้า😄

Don`t copy text!