เป็ดปักกิ่งสไตล์ไต้หวัน กับ 農曆 (หนงลี่)

เป็ดปักกิ่งสไตล์ไต้หวัน กับ 農曆 (หนงลี่)

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

เมื่อเดือนก่อนที่ทางอ่านเอา rerun บทความที่ฉันเขียนเกี่ยวกับของกิน (เรื่องไหนก็จำไม่ได้แล้ว😅) แล้วมีคุณผู้อ่านคนนึงได้คอมเมนท์ว่า ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งฉันก็ได้ตอบขอบคุณไปที่ได้สละเวลามาเขียนคอมเมนท์ให้ feedback ชอบที่มีคนมาคอมเมนท์คุยกันเป็น Two-way communication น่ะค่ะ ไม่งั้นมันรู้สึกเหมือนคุยอยู่คนเดียว😆 แล้วอิฉันก็บ้าจี้ซะด้วยสิ พอมีคนบอกชอบอ่านเรื่องอาหารการกิน คุณนายสายเจี๊ยะอย่างคุณนายฮวงเลยขอจัดให้อีกร้านนึง ที่จัดเป็นติ๋มซำประจำปีของเราสองคนกันซะหน่อยนะ😁 นั่นก็คือ Yen Chinese restaurant (紫艷中餐廳 – จื่อเอี้ยนจงชันทิง) ที่อยู่บนชั้น 31 ของ W hotel ไทเป ที่ MRT City hall station ค่ะ

ที่เรียกเป็นติ๋มซำประจำปีก็เพราะว่า เรามักจะไปฉลองวันเกิดของฉันกันที่นี่แทบทุกปี ทำไมเหรอคะ เพราะว่าฉันชอบกินติ๋มซำ แล้วก็อีกเหตุผลนึงที่ค่อนข้างจัดเป็นแรงดึงดูดสำคัญสำหรับฉันก็คือ เขามีจัด 壽桃 – โซ่วเถา  (Longevity Peach) หรือในภาษาแต้จิ๋วคือ “สิ่วท้อ” ให้เป็นอภินันทนาการค่ะ

 

คุณผู้อ่านที่มีเชื้อสายจีนน่าจะคุ้นเคยกับสิ่วท้อกันบ้างนะ เอ้าเล่าเกร็ดจิ๊บๆให้ฟังซะหน่อยละกัน ความหมายของการให้โซ่วเถานั้น ก็คือการอวยพรให้เจ้าของวันเกิดมีอายุมั่นขวัญยืน ตามตำนานพื้นบ้านจีนนั้น ต้นท้ออมตะ (Peaches of Immortality) จะออกผลท้อทุกหนึ่งพันปี ใครก็ตามที่ได้กินผลท้อจากต้นท้อนี้ จะมีชีวิตอมตะ ดังนั้นชาวจีนจึงใช้โซ่วเถามาเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายอวยพรให้มีอายุยืนยาว ปกติแล้วโซ่วเถาจะทำเป็นรูปลูกท้อสีขาวมีสีแดงแต้มที่ส่วนยอด ให้ดูเหมือนผลท้อของจริง เผอิญว่าสีม่วงเป็นสีหลักของภัตตาคารนี้ โซ่วเถาก็เลยออกมาเป็นสีม่วง ที่ฉันคิดว่าน่าจะมีส่วนผสมของเผือกด้วย เพราะกินแล้วได้กลิ่นหอมของเผือกจางๆ แต่ไส้ข้างในคือไส้ถั่วแดงที่ฉันว่าน่าจะเป็นไส้ยอดฮิตของเกาะนี้มั้งคะ 😉

ตีนไก่พะโล้

แต่เหตุผลที่ไปประจำไม่ใช่มีแค่ได้โซ่วเถาน้า (เดี๋ยวจะว่าคุณนายฮวงจอมงกชอบของฟรี แค่เป็นคุณนายสายมูเท่านั้นเอ๊ง😆) อาหารที่นี่อร่อยถูกปากเราสองคนมากค่ะ ทุกอย่างที่เคยลองสั่งกินมีรสชาติกำลังดีโดยไม่ต้องพึ่งซอสใดๆเลย อย่างเช่น ซาลาเปาไส้หมูแดงแบบอบนี่ (มีทั้งแบบนึ่งตามสไตล์ดั้งเดิมกับแบบใช้อบเหมือนขนมปัง) ฉันว่าอร่อยกว่าของ Tim Ho Wan ที่ฉันกินแล้วรู้สึกว่ารสชาติออกหวานเกินไป

ซาลาเปาอบไส้หมูแดง

ฉันมีของโปรดที่จะต้องสั่งทุกครั้งเวลาไปกินก็คือ Braised chicken feet, peanut with abalone sauce หรือตีนไก่พะโล้ซอสเป๋าฮื้อ ที่ตุ๋นได้รสชาติกำลังเหมาะไม่เหนียวหรือยุ่ยเกินไป

ผัดขนมผักกาด

อีกรายการก็ Air-cured sausage and sakura shrimp radish cake หรือผัดขนมผักกาดน่ะ ภาษาไทยเรียกขนมผักกาดใช่ไหม ภาษาจีนกลางเรียก 蘿蔔糕 – หลัวปัวเกาที่มีส่วนผสมหลักเป็นหัวไช้เท้าน่ะค่ะ

ซาลาเปาไส้ครีมลาวา ที่ถ่ายมาให้เพื่อนๆเล่นเกมส์อะไรเอ่ย

ซาลาเปาไส้ครีมลาวานี่ก็แจ่มมากค่ะ แถมมาในรูปแบบที่เห็นแล้วต้องรีบคว้ามือถือมาถ่ายรูปทันที เอาไว้เล่นเกมส์เดาของกินกับเพื่อนๆบนเฟซบุ๊คให้ครื้นเครงกัน😉 บางปีก็สั่งเป็นอาหารชุดบ้าง จะได้ลองกินหลายๆอย่าง รู้สึกจะเป็นเซ็ต 7 คอร์สมั้งคะถ้าจำไม่ผิดนะ แต่เท่าที่กินมาก็ยังไม่เคยผิดหวังซักอย่างนะคะ

ปีนี้เราสองคนเล่นใหญ่กันนิดนึงด้วยการสั่งเป็ดปักกิ่งมาลองกินซะที หลังจากที่ทางภัตตาคารถามมาตลอดเวลาโทรไปจองโต๊ะว่า จะสั่งไหม สั่งครึ่งตัวก็ได้นะ แต่ฉันก็ไม่เอาเพราะที่เคยกินมากี่ร้านบนเกาะนี้ มักจะแล่เนื้อเป็ดติดมากับหนังตลอด คุณชายบอกเป็ดปักกิ่งสไตล์ไต้หวันเป็นแบบนี้ล่ะจ้ะ ฉันก็ว่ามันก็เหมือนกับเป็ดย่างธรรมดาๆสิ ไม่ใช่เป็ดปักกิ่งซะหน่อย แต่เท่าที่จำได้ตอนที่คุณเตี่ยพาไปเที่ยวเมืองจีนเมื่อสักสามสิบกว่าปีที่แล้ว เป็ดปักกิ่งที่ปักกิ่งเองก็แล่ติดเนื้อมาเหมือนกันนะ อันนี้จำไม่ค่อยได้แน่ๆ แต่จำได้แม่นว่า ไม่อร่อย สู้เป็ดปักกิ่งบ้านเราไม่ได้🤣

ตอนที่โทรสั่งของ Yen Chinese restaurant นี่ ฉันก็พยายามถามว่า เขาจะแล่เนื้อเป็ดติดมากับหนังด้วยไหม แต่อาหมวยที่รับโทรศัพท์ไม่เข้าใจที่ฉันถามนัก ฉันก็เลยงั้นเสี่ยงดวงเอาละกัน ปรากฎว่าก็ยังคงเป็นสไตล์ไต้หวันนั่นแล ดีหน่อยตรงที่มีเนื้อติดมาไม่มากนัก ฉันพอรับได้ แต่ซอสมีมาให้สองชนิด แบบทั่วไปกับซอสบ๊วยเปรี้ยวๆหวานๆ ฉันจิ้มทั้งสองซอสกินพร้อมกันเลย ก็เปลี่ยนบรรยากาศรสชาติการกินอร่อยแปลกไปอีกแบบค่ะ แป้งที่ห่อมีสองอย่างให้เลือกด้วยนะ เราขอลองทั้งชนิดธรรมดากับแบบผสมผักโขมด้วย แป้งที่มีผักโขมผสมจะแข็งกว่านิดนึง นี้ดเดียวจริงๆค่ะ ฉันว่ารสชาติก็ใช้ได้นะ แต่ที่ขำคือ ตอนอาตี๋ที่ดูแลโต๊ะเราถามว่า จะเอาเนื้อไปทำอะไรดี มีให้เลือกระหว่างทำน้ำแกง ข้างต้มเป็ด หรือเอาไปผัด แต่วันนี้เชฟใหญ่ไม่มา ขอแนะนำว่าอย่าเลือกผัดเลย เอ๊อ มีงี้ด้วยแฮะ😆 เราก็เชื่อตี๋เค้าซะหน่อยละกัน ไหนๆอุตส่าห์แนะนำแล้ว เลยเลือกทำข้าวต้ม ซึ่งก็กินไม่ไหว ต้องขอให้ห่อกลับบ้าน พร้อมเนื้อเป็ดด้วย คือในข้าวต้มส่วนใหญ่เป็นกระดูกติดเนื้อน่ะค่ะ แต่ขอบอกว่าขนาดเอามาเข้าตู้เย็นไว้สองคืน เอามาอุ่นกินก็ยังอร่อยเด็ดเลยค่า แล้วจะไม่ให้เป็นร้านโปรดของคุณนายฮวงได้ไงจริงมั้ยคะ😉

อะตานี้มาเข้าเรื่องของ 農曆 (หนงลี่) กันซะที แปลเป็นภาษาอังกฤษตรงตัวเป๊ะๆก็คือ agricultural calendar

หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่าปฏิทินจีนนั่นล่ะค่ะ ที่เราสองคนจัดใหญ่สั่งเป็ดปักกิ่งในปีนี้ก็เพราะฉันบังเอิญค้นพบว่า วันเกิดตามปฏิทินสากล (Gregorian calendar) ของฉันตรงกับวันเกิดตามปฏิทินจีนหรือหนงลี่พอดีเป๊ะ ก็เลยตื่นเต้นซะยกใหญ่ แล้วก็ตอนที่ดูปฏิทิน (ที่ขนมาจากเมืองไทย) ก็เห็นว่าวันเกิดของพี่สาวคนนึงที่แก่กว่าฉันห้าปี แต่วันเกิดของเขาก่อนหน้าของฉันหนึ่งสัปดาห์ก็ดันมาตรงกับวันเกิดตามหนงลี่อีกด้วย ตานี้ด้วยความสงสัย ฉันก็เลยลองเช็คดูวันเกิดของพี่สาวอีกคนนึงที่แก่กว่าฉันสิบสองปีพอดีเป๊ะตามปฏิทินสากล ปรากฎว่าไม่ยักกะตรงกับหนงลี่แฮะ แล้วเลยลองไล่เช็คดูวันเกิดเพื่อนสนิทอีกสองคนที่เกิดไล่ๆกับฉัน ของคนนึงที่เกิดก่อนฉันสิบแปดวันตรงกันทั้งสองปฏิทิน แต่อีกคนที่เกิดหลังฉันแค่สัปดาห์เดียวกลับไม่ตรงวันกัน ก็เลยเกิดคำถามว่า ระบบของหนงลี่นี่เป็นยังไงกันนะ อย่ากระนั้นเลย อินเดียน่าจินต์ต้องตามล่าสุดขอบฟ้า หาคำตอบให้หายคาใจซะหน่อย (ยิ่งกว่าอินเดียน่าโจนส์ตามหา The Holy Grail ซะอีก😆) แต่อ่านจนมึนไปหมดไม่ว่าจะอ่านภาษาไหน😅 มาค่ะ จะพยายามอธิบายให้ฟังตามเท่าที่อิฉันเข้าใจนะคะ ถ้าใครมีความรู้ด้านนี้แล้วพบว่า ฉันอธิบายผิดก็ช่วยแก้ให้ด้วยนะ จะขอบคุณมากๆเลย

สำหรับปฏิทินสากล (Gregorian calendar) นับเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปี แต่ละเดือนมีจำนวนวันเท่ากันทุกปี ยกเว้นปีอธิกสุรทิน (Leap years ที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน) ส่วนหนงลี่หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Lunisolar calendar นับระยะเวลาที่ดวงจันทร์ใช้ในการโคจรรอบโลกเป็นเวลาหนึ่งเดือน จะขึ้นอยู่กับรอบการโคจรของดวงจันทร์ที่สังเกตหรือคำนวณได้ โดยเริ่มนับเดือนใหม่ที่การขึ้นของพระจันทร์จนกระทั่งเต็มดวงในวันที่ 15 ของเดือน จากนั้นพระจันทร์ก็จะเริ่มแหว่งไปเรื่อยๆจนไม่เห็นพระจันทร์อีกก็นับเป็นจบหนึ่งเดือน (ดังนั้นวันแรกของแต่ละเดือนจะเป็นคืนเดือนมืดตึ๊ดตื๋อ เข้าใจตรงกันนะคะ) ซึ่งตามการคำนวณของทางจีนหนึ่งเดือนคือเวลาประมาณ 29.530589 วัน (ตามวงจรของข้างขึ้นข้างแรม) ดังนั้นเดือนในปฏิทินจีนจึงกำหนดให้มี 29 วันหรือ 30 วัน โดยเดือนที่มี 29 วันเรียกว่า 小月-เสี่ยวเยว่ และเดือนที่มี 30 วันเรียกว่า 大月-ต้าเยว่ ฉะนั้นในหนึ่งปีปกติของหนงลี่จะมีประมาณ 353-355 วัน แต่ละปีจะไม่เท่ากัน (และแต่ละเดือนของแต่ละปีก็อาจจะมีวันไม่เท่ากันได้ เช่นเดือนสี่ของปีนี้อาจเป็น 小月 แต่ปีถัดไปเดือนสี่อาจกลายเป็น 大月 ก็เป็นได้) ในขณะที่วงจรข้างขึ้นข้างแรมจะเกิดขึ้นซ้ำทุกๆ 29.530589 วัน ดังนั้นระยะเวลาของข้างขึ้นข้างแรมจึงเปลี่ยนไปโดยเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งวันเล็กน้อยในแต่ละเดือนต่อเนื่องกัน หรือประมาณ 12 วัน/ 1ปี;  24 วัน/ 2 ปี; 36 วัน/ 3 ปี และเมื่อนับวันทดไปเรื่อยๆ ก็จะมีผลทำให้บางปีมีสิบสามเดือน (เรียกว่าปีอธิกสุรทิน – Leap years)

Mango Cheese Crepe

ในขณะเดียวกันหนงลี่ก็นับเวลาที่โลกใช้ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ในเวลาหนึ่งปีด้วย (ถึงมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Lunisolar calendar ไง) หนงลี่จะถูกปรับตามความยาวของปีสุริยคติ (the solar year) โดยการเพิ่มเดือนพิเศษตามช่วงเวลาปกติ ทุกๆปีที่สองหรือสามจะมีเดือนอธิกสุรทิน (leap month หรือ intercalary month) ปีอธิกสุรทินมี 13 เดือน เพื่อตรวจสอบว่าปีใดเป็นปีอธิกสุรทินหรือไม่ ต้องคำนวณจำนวนดวงจันทร์ใหม่ระหว่างเดือนที่ 11 ในหนึ่งปีถึงเดือนที่ 11 ในปีถัดไป หากมีดวงจันทร์ขึ้นใหม่ 13 ดวงตั้งแต่ต้นเดือน 11 ในปีแรกถึงต้นเดือน 11 ในปีที่สอง จะต้องใส่เดือนอธิกสุรทินเข้าไป

การคำนวณจากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ที่แบ่งเวลาออกเป็น 24 ช่วง (24 solar term หรือในภาษาจีนเรียกว่า 24 節氣-เอ้อร์สือซื่อเจี๋ยชี่) ซึ่งอันนี้ใช้ดูในแง่ของลมฟ้าอากาศ เพื่อใช้กับการเพาะปลูก นี่จึงเป็นที่มาของชื่อหนงลี่ (農曆) หรือ agricultural calendar นั่นเอง โอย อธิบายจนเหนื่อย😅 หวังว่าคุณผู้อ่านจะไม่งงนะคะ แต่ถ้ามึนก็ถือซะว่า มึนเป็นเพื่อนคุณนายฮวงละกันนะคะ😁 อิฉันจะไม่ยอมมึนอยู่คนเดียว🤣 เลิฟยู😘

 

Don`t copy text!