ว่าด้วยเรื่องชา (tea นะจ๊ะ มิใช่เหน็บชา😊)

ว่าด้วยเรื่องชา (tea นะจ๊ะ มิใช่เหน็บชา😊)

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– ว่าด้วยเรื่องชา (tea นะจ๊ะ มิใช่เหน็บชา😊) -​

เนื่องจากชานมไข่มุกมันฮิตติดอันดับเหลือเกิ๊น เลยอยากคุยให้ฟังเรื่องชากันหน่อย แต่ขอคุยตามสไตล์คุณนายฮวงผู้ไม่นิยมดื่มชานมไข่มุกนะ ฮิฮิ สาวกชานมไข่มุกจะหยุดอ่านไหมเนี่ย ฮ่า ฮ่า ฮ่า

ชาที่นักท่องเที่ยวเห็นขายกันทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นชาอูหลงจากอาลีซัน ส่วนใหญ่จะขึ้นป้ายว่า ‘高山烏龍茶’ จาก 阿里山 แต่ฉันจะคุยให้ฟังถึงใบชาอีกประเภทนึง ที่ไม่ได้ปลูกบนภูเขาสูงขนาดอาลีซัน แถมแหล่งปลูกก็อยู่แถวบ้านอิฉันนี่ล่ะ (จริงๆ ก็ไม่ถึงขนาดแถวบ้านหรอก😜) ชาที่ปลูกในละแวกไทเปนี้ ชื่อว่า ‘เหวินซันเปาจ่ง-Wenshan Baozhong’ ค่ะ คนไทยเราส่วนใหญ่จะรู้จักชาอูหลง ชาเถี่ยกวนอิม หรือไม่ก็ที่บ้านๆ หน่อยก็ชาดอกมะลิ (Jasmine Tea) กันเป็นส่วนใหญ่ ฉันเองก็ประเภทลิ้นจระเข้ จมูกพิน็อคคิโอ ดื่มชาแล้วก็แยกแยะไม่ค่อยจะถูกหรอกค่ะ ไม่เหมือนคุณชายเธอ รายนั้นน่ะอุปกรณ์ดื่มชาครบครัน แต่เอาเป็นว่า ฉันรู้สึกว่าชาเป่าจงนี่รสชาติออกจะเบาๆ ไม่เข้มเท่าอูหลง ฉันชอบมากกว่าค่ะ เมื่อตอนช่วงปลายปีที่ผ่านมา (2019) มีรุ่นพี่พาลูกสาวมาเที่ยว ฉันพาไปกินอาหารหูหนันร้านโปรดของฉัน แล้วพี่เขาอยากดื่มชาร้อน ฉันเลยสั่งชาเป่าจงมาให้ลอง พี่เขาชอบมากค่ะ อยากซื้อกลับไปฝากคุณพ่อ คุณนายฮวงก็จัดให้สิคะ พาไป Jasons Market Place ที่ตึกไทเป 101 มีอาเจ๊ตั้งบูธเล็กๆ ขายใบชาเหวินซันเปาจ่งโดยเฉพาะ โดยอาเจ๊โฆษณาว่า ใบชาของอาเจ๊นี่ปลอดภัยถึงขนาดชงน้ำแรกก็ดื่มได้เลย พี่เขาเลยจัดไปสองกระป๋องใหญ่ๆ กระป๋องหนึ่งเป็นแบบรสอ่อนของพี่เขาเอง ส่วนอีกกระป๋องเป็นแบบเข้มนิดนึงให้คุณพ่อ รสชาติเข้มหรืออ่อนขึ้นกับกระบวนการผลิตค่ะ เช่น ระยะเวลาของการอบแห้ง ฯลฯ

ฉันเป็นคนไม่ดื่มกาแฟ ดื่มแต่ชาเพียวๆ ด้วย ไม่ชอบเติมนมหรือน้ำตาลแบบฝรั่ง อาจจะแช่แท่งอบเชยลงไปสักแท่งในถ้วยชาร้อนๆ อืม! แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว แต่จะชอบชาจีนมากกว่าชาฝรั่งนะ ฉันว่าชาจีนกลิ่นหอมกว่าชาฝรั่งค่ะ คือจะ Earl Grey Tea หรือ English Breakfast Tea หรือ Darjeeling Tea ฉันก็ว่ากลิ่นและรสชาติเหมือนกันหมดน่ะ เวลาฉันดื่มชาฝรั่งฉันก็ดื่มเพียวๆเหมือนกับดื่มชาจีนล่ะค่ะ แต่มีความรู้สึกว่าชาฝรั่งสู้ชาจีนไม่ได้ ชาจีนบางชนิดดื่มแล้วรู้สึกว่าชุ่มคอดี แหม! คุยซะอย่างกับเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาแน่ะ ไม่ใช่นะคะ ทั้งหมดนี่คือความเห็นส่วนตัวของฉันแค่นั้น แต่คุณชายเธอบอกนะว่า ถ้าใบชาที่ดีจะไม่ผสมอะไรทั้งสิ้น พวกชาที่ผสมผลไม้หรือดอกไม้นั่นคือ ใบชาที่เกรดไม่ดีถึงเอามาผสมกับสิ่งอื่นๆ

หนังสือเล่มแรกที่เขียนเกี่ยวกับชาคือ ‘The Classic of Tea – (ฉา จิ่ง)’ คนแต่งชื่อ ‘Lu Yu –  陸羽 (ลู่ อวี่)’ คุณลู่ อวี่ นี่มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) เขาได้แต่งหนังสือเล่มนี้ในช่วงปี ค.ศ. 760-762 แถวๆ นั้น โดยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของตัวเองมาเขียน ประมาณว่าชงชาให้อาจารย์ดื่มทุกวัน เกิดหลงใหลในชาขึ้นมา เลยศึกษาค้นคว้าทดลองเรื่อยไปตั้งแต่การปลูก การเก็บใบชา  แม้กระทั่งน้ำที่จะใช้ในการชงชา คุณลู่เธอก็ยังให้ความสำคัญ เห็นไหมคะ จะดื่มชาให้อร่อยมันต้องมีเทคนิคนะ

ขออธิบายวิธีการดื่มชาแบบละเมียดละไมกันสักนิดนะคะ (แบบย่อๆ นะ) จากรูปอุปกรณ์การชงและดื่มชา จะเห็นว่ามีถ้วยชา 2 แบบตั้งคู่กันอยู่บนฐานไม้ ต้องรินน้ำชาใส่ถ้วยทรงสูงก่อน แล้วใช้ถ้วยทรงเตี้ย (ซึ่งเป็นถ้วยน้ำชาที่เราคนไทยคุ้นเคยกันดี) คว่ำปิดลงไปบนถ้วยทรงสูง (เหมือนปิดฝาหม้อ) ทิ้งไว้สักครู่ จากนั้นก็จับพลิกให้ถ้วยใบเตี้ยอยู่ด้านล่าง ยกถ้วยใบสูงออกมาสูดกลิ่นชาหอมชื่นใจพร้อมๆ ไปกับค่อยๆ จิบชา (จะได้ไม่ลวกถูกปากนะจ๊ะ ฮิฮิ) จากใบเล็ก แค่นี้เองค่ะ สำหรับการเสพชาทั้งกลิ่นและรสสัมผัสอย่างละเมียดอารมณ์ ^^

ตามที่เคยอ่านหนังสือมา เขาบอกว่าช่วงปลายศตวรรษที่19 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาได้เอาชาเหวินซันเปาจ่งจากเขตฝูเจี้ยนเมืองจีนแผ่นดินใหญ่มาปลูกที่บริเวณเขตหนันกั่ง ท่าทางชานี้จะชอบดินและอากาศแถวนั้น เลยกลายเป็นที่นิยมปลูก แถมขยายความป๊อปปูลาร์ออกไปยังละแวกใกล้เคียง คือ เขตสือติ้ง เซินเคิง เรื่อยไปจนถึงผิงหลินนู่น

ในช่วงที่ไต้หวันถูกปกครองโดยญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาที่ชื่อคุณเว่ยจิ้งสือ มาช่วยพัฒนาคุณภาพของชาเปาจ่ง และจัดตั้งโรงผลิตใบชาที่ถนนจิ้วจวง ตั้งแต่นั้นมา ชาเปาจ่งจากหนันกั่งก็กลายมาเป็นสินค้าส่งออก แบบประมาณเป็นระดับตำนานมีชื่อเสียงระบือไกลข้ามไปถึงญี่ปุ่น ว่ากันว่าถึงขนาดจักรพรรดิญี่ปุ่นก็ชื่นชมชอบดื่ม อู้ฮู! ขนาดนั้นเลย^^

การเก็บใบชาต้องทำในเวลาเช้าตรู่ ก่อนที่พระอาทิตย์จะส่องแสงแผดเผาน้ำค้างที่เกาะอยู่บนยอดอ่อนของใบชา เพราะเชื่อกันว่าแสงแดดทำให้คุณภาพของใบชาเสียได้ ว่ากันว่าชาดีต้องมาจากยอดอ่อน ยิ่งอ่อนยิ่งดี จำได้ว่าคุณพ่อสามีเคยคุยให้ฟังว่า ใบชาที่เก็บช่วงเดือน 1 เดือน 2 จะดีสุด ซึ่งถ้านับตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน (หนงลี่) ก็เป็นฤดูใบไม้ผลิ (ช่วงตรุษจีนไงคะ จำกันได้ไหม) เพราะในฤดูหนาวใบชาจะเติบโตช้า ใบชาจึงไม่ค่อยมีรสขม

ด้วยความที่ชาเป็นเครื่องดื่มรุ่นแรกๆ ของโลก ทำให้ชามีบทบาทในวัฒนธรรมและชีวิตของมนุษย์ค่อนข้างมาก อย่างตอนนี้ ฉันรู้สึกว่าค็อฟฟี่ช็อปเริ่มได้รับความนิยมลดลง (ดูข่าวนะ) เดี๋ยวนี้ถ้าจะให้เก๋เท่เป็นฮิปสเตอร์กับเขา ต้องไปนั่งทีเฮ้าส์หรือโรงน้ำชาแทน สตาร์บัคส์ก็สตาร์บัคส์เหอะ นั่งแล้วไม่เท่เท่าโรงน้ำชามิตรามิตรนะ ขอบอก^^

Don`t copy text!