三合院 – ซันเหอเยวี้ยน

三合院 – ซันเหอเยวี้ยน

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ฉันเคยบอกไหมคะว่า หนึ่งในอาชีพที่เคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นคือสถาปนิก แต่ด้วยความที่ตอนเรียน ม.ปลาย วิชาหลักๆ ที่ใช้ในการสอบเข้าคณะสถาปัตย์ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คุณนายฮวงทำคะแนนออกไปทางแนวรุ่งริ่งซะมากกว่ารุ่งเรือง😅 ก็เลยต้องดับฝันนั้นไปโดยปริยาย แต่ความชอบเรื่องสถาปัตยกรรมต่างๆ ก็ยังคงอยู่ไม่หนีหายไปไหน เวลาไปเที่ยวที่ไหนๆ นอกจากความสนใจในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนพลเมืองประเทศนั้นๆ แล้ว ก็มีเรื่องตึกรามบ้านช่องนี่ล่ะ ที่อิฉันชอบสอดส่ายสายตามองดู โดยเฉพาะบ้านเก่าๆ ยิ่งถ้าเป็นบ้านที่มีงานไม้สวยๆ ประกอบอยู่ จะยิ่งปลื้มหนักขึ้นไปอีก

พอมาอยู่เกาะนี้ ก็ได้รู้จักบ้านแบบ 三合院 ซันเหอเยวี้ยน ที่อาจกล่าวได้ว่าคือหนึ่งในแบบบ้านสไตล์ 福建 ฝูเจี้ยน (ในภาษาแต้จิ๋วคือฮกเกี่ยง หรือที่คนไทยเรียกเพี้ยนมาเป็นฮกเกี้ยนนั่นล่ะค่ะ) อันเป็นมณฑลที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน มีช่องแคบไต้หวันกั้นระหว่างฝูเจี้ยนกับเกาะไต้หวัน ดังนั้น บรรดาบ้านแบบซันเหอเยวี้ยนในไต้หวัน จึงเป็นบ้านของชาวฝูเจี้ยนที่อพยพข้ามช่องแคบมาตั้งรกรากบนเกาะนี้ซะเกือบทั้งนั้น

ตานี้มาอธิบายถึงลักษณะของบ้านแบบซันเหอเยวี้ยนกันนิดนึง มันเป็นบ้านยอดนิยมของคนจีนสมัยโบราณ มีรูปร่างเป็นตัว U คว่ำคล้ายกับตัวอักษรจีน อาว ที่แปลว่าเว้าเข้ามา โดยจะมีทางเดินเชื่อมต่อกันได้หมดทั้งสามตึก (ทางเชื่อมนี้ภาษาจีนกลางเรียกว่า 廂房เซียงฝัง) ซันเหอเยวี้ยนจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ได้ คือหมายถึงว่า ทั้งสามตึกนั้นจะมีความยาวของแต่ละตัวตึกเท่ากัน หรือตัวตึกที่เป็นส่วนกลางจะยาวกว่า หรือสองตึกที่เป็นด้านซ้ายขวาจะยาวกว่าก็ได้ทั้งนั้น และจะเป็นบ้านชั้นเดียวหรือมีหลายชั้นก็ได้อีกเช่นกัน แล้วแต่ขนาดของครอบครัวผู้พักอาศัย ด้วยความที่มันเป็นอาคารสามหลังที่มาเชื่อมต่อกันเข้าเป็นรูปตัวยู จึงเรียกได้อีกว่า 三間屋ซันเจียนอู แปลตรงตัวเป๊ะก็คือ บ้านสามห้อง

ตัวอาคารหลักที่อยู่ตำแหน่งตรงกลางนั้น จะมีห้องหลัก (ฉันขอใช้คำว่าห้องโถงใหญ่ละกันนะ) ที่จะใช้เป็นห้องอะไรก็แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่จะใช้เป็นห้องสำหรับทำพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน จากนั้นจึงเป็นห้องนอนขนาบข้างห้องโถงใหญ่นี้ โดยมากเป็นห้องนอนของหัวหน้าครอบครัวนั้นล่ะ ส่วนตึกที่เป็นปีกทั้งสองข้างของตัวยูนั้น จะสั้นหรือยาวก็แล้วแต่ความต้องการพื้นที่ใช้สอยของแต่ละครอบครัวปีกทั้งสองนี้เป็นที่ตั้งของห้องครัว ห้องน้ำ ห้องเก็บของ และห้องนอนในกรณีที่มีคนอยู่เยอะ ในไต้หวันเราเรียกตึกที่เป็นปีกสองข้างนี้ว่า 護龍หู้หลง แปลตรงตัวได้ว่า มังกรคุ้มภัย แหมฟังแล้วรู้สึกน่าเกรงขามดีจัง จะว่าไปก็เข้าเค้านะ เพราะมันเป็นตึกเหมือนเป็นปีกสองฝั่งที่โอบล้อมตัวอาคารหลักที่เป็นฐานของตัวยูเอาไว้ แล้วถ้าจะมีการต่อเติมบ้านเพราะขนาดครอบครัวใหญ่ขึ้น ก็จะสร้างตึกหู้หลงขึ้นมาอีกคู่นึง ตั้งขนานไปกับตึกหู้หลงแรกทั้งปีกซ้ายและปีกขวาค่ะ ไม่ต่อเติมแบบมั่วๆ นะ มีแบบแผน แล้วก็มีการเรียกชื่อแบ่งโซนกันคือ คู่แรกดั้งเดิมนั้นก็จะถูกเรียกว่า 內護เน่ยหู้ความหมายคือตัวป้องกันชั้นใน ส่วนหู้หลงที่เป็นคู่ต่อเติมก็เรียกกันว่า 外護ไว่หู้ หรือตัวป้องกันชั้นนอกนั่นเอง ตานี้ฉันก็เลยสงสัยว่า ถ้ามีต่ออีกคู่และอีกคู่ต่อไปอีกเรื่อยๆ ตานี้จะเรียกยังไงหว่า 外護 หนึ่ง,สอง,สามเหรอ😆

พูดถึงตัวอาคารไปแล้ว เรามาพูดถึงสนามตรงกลางที่บ้านสร้างโอบล้อมกันบ้างนะ ตรงนี้จะทำเป็นลานนั่งเล่นชมจันทร์รวมญาติกันวันไหว้พระจันทร์ หรือสวนสวยอะไรก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละครอบครัวกันนะจ๊ะ แต่ที่เป็นข้อห้ามแน่ๆ ถ้าจะปลูกต้นไม้ในลานตรงกลางบ้านนี้ ห้ามปลูกต้นหม่อน (桑樹ซังซู่) ต้นหลิว (柳樹หลิ่วซู่) ต้นสาลี่ (梨樹หลีซู่) ต้นแคฝรั่ง (刺槐樹ชื่อหวยซู่) คิดว่าเหตุผลน่าจะเป็นเพราะชิ่อของต้นไม้พวกนี้ เสียงไปพ้องกับคำที่มีความหมายไม่ค่อยดีนัก เช่น ซังซู่ คำว่าซังมีตัวหนังสือจีนอีกตัวนึงที่ออกเสียงเหมือนกันเป๊ะ แต่แปลว่าบาดเจ็บ ส่วนต้นอื่นๆ ที่เหลือนั้น ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกันค่ะ ว่ากันว่าซันเหอเยวี้ยนนี้เริ่มมีขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ที่ตามหมู่บ้านต่างๆ สร้างบ้านแบบนี้ ก็เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ใช้สอยจากที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

บ้านตะะกูลหลินที่ปั่นเฉียว (Facebook : Natchapol Krongboonying)

ในไต้หวันนี้ยังมีบ้านแบบซันเหอเยวี้ยนนี้อยู่หลายแห่ง สภาพบ้านก็แล้วแต่เจ้าของจะดูแลกัน ถ้าในละแวกไทเป ที่ยังรักษาไว้ในสภาพดี เท่าที่ฉันรู้ก็มีบ้านของตระกูลหวาง ที่ได้กลายมาเป็นส่วนนึงของโรงเรียนมัธยมต้นหลงเหมินที่เขตต้าอัน เข้าใจว่าโรงเรียนเป็นผู้ดูแลรักษาไว้นะ แล้วก็มีLin An-Tai Historical House & Museum ที่อยู่ไม่ไกลจาก Taipei Fine Art Museum เท่าไหร่นัก อยู่ในระยะพอเดินไหวค่ะ อาจจะหอบลิ้นห้อยเล็กน้อยแค่นั้นแหละ😅 มีอีกที่ที่อยากแนะนำคือ 林本源園邸 ออกเสียงตามภาษาจีนกลางว่า หลินเปิ่นหยวน หยวนตี้ อยู่ที่เขตปั่นเฉียว เมืองนิวไทเปค่ะเพราะจัดได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมบ้านแบบจีนที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดในไต้หวัน  ตอนที่ฉันอพยพ (ฟังเหมือนผู้อพยพลี้ภัยหน่อยๆเนอะ 😄) มาอยู่ไต้หวัน บ้านเช่าหลังแรกของเราก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านตระกูลหลินนี่ล่ะค่ะ ตอนเห็นป้ายบอกทางตามถนนครั้งแรกก็ถามคุณชายว่าตระกูลหลินนี่สำคัญยังไงเหรอ (นึกว่าเผื่อจะเป็นแบบ บ้านแม่ทัพตระกูลหยาง น่ะค่ะ) ฮีตอบว่า ไม่มีอะไร แค่บ้านคนรวยสมัยก่อนน่ะ แล้วฉันก็ยุ่งๆกับชีวิตจนลืมบ้านนี้ไป จนกระทั่งปลายปี 2013 นั่นแน่ะ ถึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม

บ้านตะะกูลหลินที่ปั่นเฉียว (Facebook : Natchapol Krongboonying)

บรรพบุรุษของบ้านตระกูลหลินนี้คือ คุณหลินอิงอิน อพยพข้ามทะเลจากมณฑลฝูเจี้ยนมาลงหลักปักฐานที่ไต้หวันเมื่อปี ค.ศ. 1778 คุณหลินตอนมานี่ก็ยังไม่ใช่คนร่ำรวยเท่าไรหรอกค่ะ เพราะมีอาชีพเป็นครู แต่ลูกชายของเขาคุณหลินผิงโหว คนนี้ตะหากที่มาตามหาพ่อ แล้วก็ไปรับจ้างทำงานที่โรงสีข้าวแห่งหนึ่ง ทำไปทำมาเถ้าแก่โรงสีคงเห็นแววเลยให้ยืมเงินไปลงทุนทำเอง ด้วยความที่คุณหลินคนลูกเป็นคนมีหัวการค้าและขยันขันแข็งจึงทำมาค้าขึ้น จนกลายเป็นไฮโซตระกูลหลินไปนั่นแล บ้านตระกูลหลินที่ปั่นเฉียวผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1851 จนถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นสำหรับฉัน การอนุรักษ์ดูแลให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ได้ขนาดนี้ ต้องบอกว่าผู้น้อยขอคารวะจริงๆค่ะ👍👏

ถ้าใครอยากชมบ้านคนรวยไฮโซของไต้หวันในอดีต ก็เชิญได้นะคะเช็ควิธีเดินทางไปจากเว็บไซต์ก่อนได้ค่ะ ค่อนข้างสะดวกพอสมควร https://en.linfamily.ntpc.gov.tw/

Don`t copy text!