旗袍 – ฉีเผา

旗袍 – ฉีเผา

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– 旗袍 – ฉีเผา –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

พอดีได้อ่านหนังสือนิยายฝรั่งเล่มนึง ผู้แต่งคือคนอเมริกันเชื้อสายจีน แล้วมีกล่าวถึง ‘旗袍 – ฉีเผา’ หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า cheongsam (อ่านว่า ชองซัม) อันมีที่มาจากภาษากวางตุ้งของคำว่า 長衫 หรือในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ฉางซัน ที่แปลตรงตัวเป๊ะๆ ก็คือ เสื้อตัวยาว (คำที่มีความหมายว่าเสื้อตัวยาว หรือชุดยาวนั้นมีอีกคำหนึ่งคือ 長袍 – ฉางเผา) ในหนังสือเล่มนั้นบอกว่า ฉีเผานั้นมีต้นกำเนิดมาจากเสื้อผ้าของชาวแมนจูเรีย ฉันก็เพิ่งรู้ที่มาที่ไปเอาเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ล่ะค่ะ ดังนั้น คุณนายฮวงจอมสงสัยก็เลยไปค้นหาข้อมูลต่อด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่า ‘旗袍 – ฉีเผา’ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามว่า ‘กี่เพ้า’ ตามสำเนียงภาษาจีนแต้จิ๋วนั้น มันเป็นมายังไง ถึงได้กลายมาเป็นแฟชั่นประจำชาติจีนไปได้

ภาพจากหนังสือ In The Mood For Cheongsam

ต้องขอออกตัวสักนิดนะคะว่า ฉันไม่เคยอ่านหนังสือหรือดูละครเรื่อง กี่เพ้า มาก่อน เลยไม่ทราบเหมือนกันว่า คุณหมอพงศกรได้เขียนถึงประวัติของชุดประจำชาติของชาวจีนยุคใหม่ไว้ในหนังสือบ้างหรือเปล่า ถ้าใครรู้มาก่อนแล้วก็ต้องขออภัยด้วยนะ ตามที่อ่านมา ฉีเผา (旗 แปลว่า ธง, 袍 แปลว่า เสื้อคลุมยาว) เป็นเสื้อผ้าของชาวแมนจูเรีย ที่ได้เข้ามาปกครองแผ่นดินจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1644-1911 จริงๆ แล้วชาวแมนจูใส่ฉีเผาเป็นชุดชั้นนอกคลุมทับกางเกงและเสื้อชั้นในอีกที โดยเป็นลักษณะเสื้อตัวยาวตลอดตัว มีผ่าด้านข้างตั้งแต่บริเวณหัวเข่าลงไป แล้วก็เป็นชุดหลวมๆ แรกๆ ชาวฮั่นก็ต่อต้านแฟชั่นของผู้ปกครองชาวแมนจู แต่ไปๆ มาๆ ก็อย่างว่าล่ะนะ ถูกปกครองอยู่ตั้งเกือบสามร้อยปี แล้วก็โดยธรรมชาติของทุกสิ่งมันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อีกทั้งผู้หญิงเราจะยุคไหนๆ ก็ตาม หนีเรื่องความสวยความงามไม่พ้นหรอกค่ะ หญิงชาวฮั่นทั้งหลายก็ค่อยๆ รับเอาฉีเผามาสวมใส่ คงเพราะเห็นว่ามันก็ใส่สบายดี สวยสง่า แล้วก็ประมาณบ่งบอกสถานะความเป็นชนชั้นสูงของผู้สวมใส่อีกตะหาก ดังนั้น แฟชั่นของฉีเผาก็เลยเริ่มมีวิวัฒนาการแพร่หลายกันไปทั่วแผ่นดินใหญ่ ถ้าใครอยากเห็นแฟชั่นชุดฉีเผาสวยๆ ชนิดดั้งเดิมในระยะแรกๆ แนะนำให้ดูทีวีซีรีส์เรื่อง Ruyi’s Royal Love in the Palace (如懿傳 – หรูอี้จ้วน) เรื่องนี้โปรดักชันอลังการงานสร้างจริงๆ ค่ะ

ภาพจากหนังสือ In The Mood For Cheongsam
ภาพจากหนังสือ In The Mood For Cheongsam

แต่ฉันชอบแฟชั่นเสื้อผ้าของชาวจีนที่มีวิวัฒนาการ ผสมระหว่างของชาวฮั่นกับฉีเผาของชาวแมนจูมากกว่านะ โดยเฉพาะช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง ยุคที่พระนางซูสีไทเฮากำลังจะหมดอำนาจนั่นล่ะ มีทีวีซีรีส์เรื่องนึงที่ฉันชอบดูมาก ติดงอมแงม เป็นเรื่องที่มีเค้าโครงมาจากชีวิตจริงของ 安吳寡婦 – อันอู๋กว่าฟู่ ซึ่งเป็นลูกสาวบุญธรรมของพระนางซูสีไทเฮา ชื่อเรื่อง Nothing Gold Can Stay (那年花開月正圓 – น่าเหนียนฮวาไคเยว่เจิ้งหยวน) ที่มีเจ้าแม่จอแก้วของจีนแผ่นดินใหญ่ ‘孫儷 – ซุนลี่’ รับบทนำ เรื่องนี้สนุกดีค่ะ เกี่ยวกับเรื่องค้าขายหน่อยๆ แนวอิฉันเลย ฉันน่ะติดใจชุดของนางเอกหลายชุดมาก โดยเฉพาะกระโปรง ดูแล้วก็อยากได้สักตัว ฮิฮิ😊 อยากบอกว่า สนุกจริงๆ คุณนายฮวง strongly recommend เลยนา😉

คุณนายฮวงในชุดฉีเผาประยุกต์

กลับมาว่ากันเรื่องฉีเผาต่อ😅 ฉีเผาที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากต้นตำรับดั้งเดิมแบบหลวมๆ กลายมาเป็นแบบเข้ารูปนั้น ก็เพราะได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองท่าใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ที่ในยุคก่อนนู้น (ช่วงต้นศตวรรษที่ 20) เป็นเมืองที่รับอิทธิพลของชาวตะวันตกอย่างเต็มที่ อย่างที่เห็นได้จากรูปของสามมุกงามแห่งตระกูลซ่งนั่นล่ะค่ะ ส่วนในเรื่องของความสั้น-ยาวของฉีเผานั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมของแต่ละยุคสมัยเช่นกัน บางยุคก็อยู่ที่ประมาณครึ่งน่อง บางยุคก็ยาวถึงข้อเท้าเลยก็มี ระดับของการผ่าข้างก็เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยผ่าสูงมาก เต็มที่ก็ประมาณเหนือหัวเข่าเล็กน้อยหรือพอดีเข่า เพื่อให้เดินเหินสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ถ้าพวกผ่าสูงขึ้นกว่านั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมีอาชีพพิเศษ แต่ฉีเผามาถูกดับฝันตายสนิทไปจากโลกแฟชั่นก็ช่วงของยุคปฎิวัติทางวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) มาดามเจียงชิงนางบอกว่าฉีเผาเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมคร่ำครึทั้งสี่ เป็นวิถีชีวิตแบบเก่าที่สมควรขจัดทิ้งให้สิ้นจากแผ่นดินจีน ว่าไปโน่นเลย ต้องใส่ชุดสีดำ เทา น้ำเงิน เท่านั้น😓 โชคดีค่ะที่จีนแผ่นดินใหญ่มีการเปิดประเทศในยุคของประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิงอีกครั้ง ฉีเผาเลยฟื้นคืนชีพมาโลดแล่นอยู่บนเวทีแฟชั่นได้อีก

แต่ที่ทำให้ฉีเผาโด่งดัง เป็นที่สนใจของวงการแฟชั่นสากลสุดๆ จริงๆ น่าจะเป็นเพราะหนังของผู้กำกับหนังฮ่องกง หว่องการ์ไว (Wong Kar-wai) เรื่อง In the Mood for Love เมื่อปี ค.ศ. 2000 เรื่องนี้จางมั่นอวี้ใส่ฉีเผาได้สวยจนหมวยทั้งหลายทั่วโลกปลื้มฉีเผากันมาก (รวมทั้งอาหมวยเล็กแห่งเยาวราชด้วย😜) ไม่แค่หมวยหรอกนะ เพราะหนังเรื่องนี้ไปฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ บรรดาดีไซเนอร์ทั้งจีนและฝรั่งเลยหลงรักฉีเผาไปด้วย เกิดกระแสตามแฟชั่นฉีเผากันทั่วโลกนับแต่นั้นมา (อันนี้จากการสังเกตของฉันนะคะ)

ร้านรับตัดฉีเผาที่ถนนจงซันเป่ยลู่
ร้านรับตัดฉีเผาที่ถนนจงซันเป่ยลู่

ตอนมาถึงไทเปใหม่ๆ ฉันเห็นเสื้อผ้ายี่ห้อนึงของดีไซเนอร์ชาวไต้หวันในห้าง โอ้ แม่เจ้า สวยจริง เป็นแนวชุดจีนสไตล์ประยุกต์ ฉีเผาเก๋ๆ ก็หลายอยู่ หรูหรามาก แต่ก็ไม่รู้จะใส่ไปไหน อยู่นี่ไม่ได้ไปออกงานไหนกะใครเค้าเลย ก็เลยไม่รู้จะซื้อไปทำไม ถ้าใครมาไทเป ลองมองหาดูก็ได้นะ ชื่อยี่ห้อ Shiatzy Chen หรือถ้าอยากจะสั่งตัดฉีเผา ลองไปดูที่ร้านตรงถนนจงซันเป่ยลู่ ช่วงที่ตัดกับถนนหมินจู่ก็ได้นะคะ มีอยู่ร้านนึง น่าจะเก่าแก่พอสมควร ฉันเคยตามเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศไปเอาชุดที่สั่งตัดไว้ ราคาใช้ได้นะคะ ไม่ได้แพงเวอร์ หรือถ้าหากไปไหว้พระที่ Taipei Xia-Hai City God Temple – 台北霞海城隍廟 (เคยเล่าถึงในบทเยว่เซี่ยเหล่าเหริน) ที่แถว Dadaocheng – 大稻埕 เห็นว่าในซอยตรงข้ามกับศาลเจ้านี้ เดินเข้าไปประมาณ 100 เมตรได้ มีร้านรับตัดฉีเผาโดยช่างมีชื่อเก่าแก่ อยู่ทางฝั่งขวามือชื่อร้าน Yu-Feng Cheongsam – 玉鳳旗袍 แต่เรื่องราคานี่ไม่ทราบนะคะว่าขนาดไหน กะอยู่ว่าถ้าคราวหน้าไปแถวนั้น จะไปเดินหาดูสักหน่อย

เว็บไซต์ของ Shiatzy Chen

ฉันเองเป็นหมวยที่หลงรักฉีเผามาตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ สมัยเด็กๆ ทุกตรุษจีนคุณหม่ามี้ก็จะซื้อชุดใหม่สีแดงๆ ให้ใส่ แต่สมัยเกือบห้าสิบปีก่อน มันไม่ได้มีชุดแนวจีนๆ ขายเต็มเยาวราชแบบสมัยนี้หรอกนะ แล้วส่วนใหญ่ชุดของเด็กๆ ที่ขาย ก็มักจะเป็นชุดเสื้อ-กางเกงซะส่วนมาก ฉันก็เลยมักจะได้ใส่แต่ชุดที่เป็นเสื้อคอจีนกับกางเกง ไม่มีฉีเผาให้ใส่ พอมาสมัยนี้ที่ขายกันอยู่เต็มเยาวราช คุณชายบอกว่า ยูอยากเป็นสาวเสิร์ฟในภัตตาคารจีนรึยังไง จบข่าว😂

Don`t copy text!