บ้านในไต้หวัน 2

บ้านในไต้หวัน 2

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

คราวที่แล้วคุยให้ฟังเรื่องบ้านในไทเป ตานี้เรามาคุยกันถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัยกันสักนิดแล้วกัน เรื่องแรกคือที่จอดรถ อย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่าตอนฉันซื้อคอนโดฯ ฉันต้องจ่ายเงินซื้อที่จอดรถด้วย เป็นเงินถึง 1 ล้านหยวน เล่าให้เพื่อนที่เมืองไทยฟัง นางถามกลับว่า “แพงกว่ารถเอ็งอะดิ” เออว่ะ! ใช่! ฮ่า ฮ่า คอนโดฯที่นี่จะสร้างที่จอดรถ แล้วจะแบ่งขายส่วนหนึ่ง อย่างคอนโดฯ ของฉันมีที่จอดรถสองชั้น ชั้นแรกเป็นที่จอดรถที่แบ่งขาย รถฉันจอดอยู่ชั้นนี้ล่ะค่ะ ส่วนชั้นสองเป็นที่เช่า มีการจับฉลากว่าใครจะได้เช่ากันทุก 6 เดือน ถ้าใครไม่จ่ายค่าส่วนกลางก็ไม่มีสิทธิ์จับฉลาก ฉันว่าเป็นบทลงโทษที่ไม่เลวจริงๆ

คนที่จับไม่ได้หรือไม่มีสิทธิ์จับก็ต้องไปแย่งจอดริมถนนข้างนอก หรือไปเช่าที่อื่นจอด ค่าเช่าที่จอดรถในแถบละแวกที่ฉันอยู่ อยู่ที่ประมาณ 3,000 หยวนต่อเดือน แต่ถ้าในดาวน์ทาวน์ไทเปอยู่ที่ 6,000 หยวนขึ้นไป เห็นไหมคะ มีรถที่นี่ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย แถมภาษีรถยนต์ที่นี่ไม่ใช่จ่ายปีละครั้งแบบบ้านเรา มีภาษีป้ายทะเบียน (License Plate Tax) กับภาษีเชื้อเพลิง (Fuel Tax) และถ้ารถอายุเกิน 5 ปีต้องจ่ายค่าตรวจสภาพอีก ตรวจบ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับอายุของรถ อย่างรถฉันตอนนี้อายุเกินสิบปีก็ต้องเข้าตรวจสภาพทุก 6 เดือน นี่ยังไม่พูดถึงค่าที่จอดรถ อย่างถ้าไปห้างสรรพสินค้า ใบเสร็จ 1,000 หยวนขึ้นไป ประทับตราจอดรถฟรีได้ 1 ชั่วโมง ฉันเคยไปซื้อ MacBook Pro ที่ Sogo อาหมวยคนขายช่วยแบ่งใบเสร็จให้เป็น 2 ใบเพื่อประทับตราที่จอดรถ ได้ 2 ชั่วโมง จ่ายไปตั้งเจ็ดหมื่นกว่าหยวนเนี่ยนะ ได้สองชั่วโมง! ส่วนใหญ่ตามห้างในเมืองนี่ค่าจอดรถชั่วโมงนึงเฉียดร้อย ที่แบบเคยชินตอนอยู่เมืองไทยว่า ร้อนนักขับรถไปเดินเล่นในห้าง ต้องเลิกนิสัยนี้เลย?

เอาละค่ะ เรื่องที่สองที่เป็นปัจจัยในการเลือกซื้อบ้านของฉันก็คือ เรื่องทิ้งขยะ จัดเป็นปัญหาไม่เล็กของคนที่นี่เหมือนกัน คือที่ไต้หวัน คุณจะเอาขยะมาวางทิ้งไว้ที่ถนนหน้าบ้านไม่ได้ แต่ละวันจะมีรถขยะมาตามเวลา ให้คนเอาขยะมาทิ้ง รถขยะจะเปิดเพลงมาแต่ไกลเป็นสัญญาณ พอถึงจุดที่จอด ก็หยุดให้คนเหวี่ยงถุงขยะใส่รถ รถขยะปกติ (household garbage) สีเหลืองจะนำมาก่อน ตามด้วยรถขยะรีไซเคิล ที่ไทเปจะแยกประเภทขยะทิ้งอย่างชนิดทำเอากะเหรี่ยงอย่างฉันปวดหัวไปเหมือนกัน ก็ตอนที่ฉันอยู่อเมริกา ยังไม่ต้องแยกซะขนาดนี้นี่นา แต่ตอนนี้ถ้าถามใหม่ ฉันชอบระบบการทิ้งขยะของไทเปมากเลยค่ะ

ขยะที่จะทิ้งต้องแยกเป็น 4 ประเภทคือ ขยะรีไซเคิล ซึ่งเรารู้ๆ กันอยู่นะคะ ได้แก่ พวกพลาสติก, แก้ว, โฟม ฯลฯ ประเภทที่ 2 ก็คือขยะปกติ (household garbage) ส่วนประเภทที่ 3 และ 4 เนี่ยล่ะค่ะที่ฉันชอบเอามากๆ ยินดีลำบากแยกขยะไม่เกี่ยงงอนเลย นั่นคือ ขยะประเภท compost อันนี้ได้แก่ ผัก เปลือกผลไม้ หรือมันหมู กระดูกไก่ เปลือกไข่ เปลือกกุ้ง สารพัดขยะที่ตอนทำกับข้าวแล้วเราหั่นทิ้งไม่เอานั่นล่ะค่ะ เทศบาลจะเก็บเอาไปทำปุ๋ย

ส่วนขยะประเภทสุดท้ายคือ อาหารที่คนกินเหลือ อันนี้เค้าเก็บเอาไปเลี้ยงหมูค่ะ ฉันเข้าใจว่าทั้งสองประเภทนี้เก็บไปแล้วก็คงต้องเอาไปผ่านกระบวนการต่างๆ ซะก่อนจะนำไปใช้ตามต้องการ อ้อ! สำหรับถุงขยะที่ใช้สำหรับขยะปกตินั้น ต้องซื้อกับแคชเชียร์ของร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เกต มีหลายขนาดให้เลือก เป็นถุงขยะที่เทศบาลกำหนดให้ใช้เท่านั้น เพราะต้องการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกและขยะ จึงเปลี่ยนจากเก็บค่าขยะมาเป็นบังคับให้คนซื้อถุงขยะจากเทศบาล ซึ่งได้ผลค่ะ คอนโดฯ ฉันนี่เห็นได้ชัดเลย แล้วพวกซูเปอร์ฯ ก็เลิกให้คนซื้อถุงพลาสติกของร้านตัวเองใส่ของ (ซื้อใบละ 1-3 หยวน) เปลี่ยนมาให้คนซื้อถุงขยะของเทศบาลใส่ของแทน เริ่มที่ราคาใบละ 5 หยวน ตานี้คนเลยเริ่มพกถุงไปเองกันมากขึ้นทันที รัฐบาลใช้นโยบายเรื่องราคามาบังคับแบบนี้ รู้จักธรรมชาติของคนจริงๆ

เนื่องจากฉันวิ่งขึ้นลงห้าชั้นเพื่อทิ้งขยะซะเกือบจะตกบันไดก็หลายรอบอยู่ ตอนเลือกซื้อบ้านจึงมองหาคอนโดฯ เป็นหลัก เพราะมีคนจัดการเรื่องขยะให้ แล้วอีกเหตุผลหนึ่งคือใหม่กว่าพวกกงอวี้ด้วย ตอนนี้ปัญหาใหญ่ของคนอยู่กงอวี้ในไต้หวันก็คือเรื่อง ‘都更 – ตูเกิง’ ซึ่งก็คือกงอวี้ที่เก่ามากๆ จะมีพวกบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต้องการซื้อแล้วรื้อถอนเพื่อเอาที่ดิน (โดยเฉพาะที่อยู่ในทำเลดีๆ) มาสร้างโครงการหรูๆ ใหม่เพื่อขายแพงๆ หรือบางทีก็เป็นฝ่ายรัฐบาลเองที่ต้องการปรับปรุงเมืองให้ดูดีขึ้น ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นข่าวก็คือละแวกไทเปนี่ล่ะค่ะ แน่นอนว่าการจะทำตูเกิงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องมีการทำประชามติของประชาชนชาวแฟลต(กงอวี้) เวลาดูข่าวฉันแค่คิดว่าถ้าโหวตเสียงของผู้พักอาศัยได้กี่เปอร์เซ็นต์ ก็คงลงมือทุบทิ้งสร้างใหม่ได้เลย แต่พอไปหาข้อมูลจริงๆ จังๆ แล้ว… มึนค่ะมึน มีข้อกฎหมายหลายประเภท ร้อยแปดพันเก้ามาตราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แถมรายละเอียดปลีกย่อยในการแบ่งแยกประเภทของการทำตูเกิงนี่ก็เพียบ

ถ้าจะเอาแบบง่ายๆ ย่อๆ หน่อยก็ประมาณว่า ถ้าผู้อยู่อาศัยกว่าครึ่งลงชื่อเห็นด้วยที่จะให้ตูเกิง (แต่บางประเภทก็อาจจะถึงสี่ในห้าส่วนเลยก็มี) ก็สามารถไปยื่นเรื่องร้องขอต่อเทศบาลได้ แต่นี่แค่ขั้นแรก ยังจะต้องผ่านการพิจารณา การสอบสวนต่อหน้าสาธารณชนที่ภาษาอังกฤษเรียก public hearing น่ะค่ะ แล้วก็ขั้นตอนต่างๆ อีกมากมายกว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะทำได้หรือไม่

สรุปง่ายๆ ว่ากินเวลานานมาก อาจจะลูกโตซะก่อนที่จะทุบทิ้งก็ได้ ฟังแล้วเหนื่อยไหมคะ ฉันเลยกะว่าอยู่บ้านนี้ไปสักประมาณสามสิบปี แล้วคงต้องหาทางย้ายไปที่ใหม่กว่า จะได้ไม่ต้องเจอเรื่องตูเกิงให้ปวดหัว

 

Don`t copy text!