มังกรนำทาง

มังกรนำทาง

โดย : คุณนายฮวง

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– มังกรนำทาง –

คลิกซื้อ E-Book ‘ในสวนอักษร’ ที่นี่

ตอนเล่าเรื่องวัดในบท ‘วัด วัด วัด’ แค่เล่าให้ฟังถึงวัดใหญ่ๆ ในไทเปว่ามีที่ไหนบ้าง แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก อยู่มาก็นานพอสมควร แต่มีเรื่องหนึ่งที่เพิ่งรู้เมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้เอง เคยเอ่ยถึงเขาเสือในบทเรื่อง Hiking ไว้ เมื่อก่อนนี้เราสองคนไปไฮก์ที่เขาเสือ (虎山 – หู่ซัน) กันบ่อยๆ เพราะเดินสบาย ทางเดินกว้างขวาง ไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้ถ่ายรูปแตะยอดตึกไทเป 101 โดยไม่ต้องแย่งกับนักท่องเที่ยวด้วย แล้วทุกครั้งที่ไป เราก็จะหยุดไหว้พระที่ ‘松山慈惠堂 – ซงซันฉือฮุ่ยถัง’ ซึ่งเป็นวัดทางลัทธิเต๋าที่ตั้งอยู่ตรงเชิงเขา ทางขึ้นเขาอยู่ติดกับกำแพงวัด เดินไต่บันไดขึ้นเขาไปไม่กี่ขั้น มีทางแยกเดินเข้าด้านหลังของวัดได้อีกด้วย ตานี้มีอยู่ครั้งนึง ฉันมีคำถาม (จำไม่ได้แล้วค่ะว่าเรื่องอะไร😅) ก็เลยเดินไปถามโต๊ะที่ตั้งอยู่ด้านในตรงริมประตูฝั่งซ้ายมือ อาซือเจี่ยที่คอยแจกน้ำชาให้ผู้มาไหว้พระดื่มฟรี (เพื่อเป็นสิริมงคลต่อคนที่ดื่ม) ตอบคำถามแล้วก็ชี้มือบอกทางฉันเสร็จ อิฉันก็จะเดินเข้าไปเลย ซือเจี่ยร้องห้าม ‘ไม่ได้นะ ลื้อต้องไปเดินเข้าประตูฝั่งโน้น เวลาจะเดินเข้าวัดต้องเดินเข้าทางประตูฝั่งขวา ไหว้พระเสร็จ แล้วเดินออกทางประตูซ้าย’

ทางขึ้นไฮค์กิ้งเทรลของภูเขาเสือ อยู่ด้านหลังของป้ายนี้

งงสิคะ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องมีวิธีเดินเข้าวัดด้วย แล้วคุณนายฮวงผู้ช่างสงสัย ก็ต้องหาคำตอบไม่ให้ค้างคาใจ😉 คืออย่างนี้ค่ะ ปกติวัดจีนจะมี 3 ประตู (ให้นึกภาพเราหันหน้าเข้าหาวัดนะคะ) ตามธรรมเนียมจีนว่ากันว่า เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้เดินเข้าอารามพร้อมมังกร แล้วเดินออกกับเสือ ดังนั้น ถ้าไปสังเกตตรงประตูฝั่งขวามือ จะต้องมีรูปวาดหรือแกะสลักเป็นตัวมังกรอยู่ และทางประตูฝั่งซ้ายก็จะมีรูปเสืออยู่ ถ้ากลัวจำไม่ได้ ก็จำสั้นๆ ว่า มังกรเป็นไกด์นำทางแล้วกันนะคะ😄 ส่วนประตูตรงกลางนั้นเป็นประตูสำหรับพระเจ้าค่ะ อย่าได้ไปใช้ประตูนี้เชียว แต่โดยมากที่ฉันสังเกตเห็น ทางวัดจะเอากระถางธูปใหญ่ๆ มาตั้งกั้นไว้ เข้าใจว่าคงกันเผื่อไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องเกิดปัญหาสำหรับคนที่ไม่รู้ธรรมเนียม (อย่างฉัน) อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดในช่วงเทศกาลที่มีคนมาไหว้กันเยอะมาก เช่นช่วงตรุษจีน ทางวัดก็อาจจะเปิดหมดทั้งสามประตูให้เดินกันเพื่อความสะดวก ซึ่งฉันคิดว่า ดีนะ ไม่ยึดติดดี ทุกอย่างยืดหยุ่นกันได้ตามสถานการณ์หรือความจำเป็น อ้อ! นี่ฉันหมายถึงวัดหรือศาลเจ้าใหญ่ๆ นะ ถ้าเป็นศาลเจ้าเล็กๆ ก็มีแค่ประตูเดียว นั่นก็ไม่ต้องกังวลละค่ะ

รูปเสือและมังกร ที่จะอยู่ตรงประตูทางเข้าซ้าย-ขวาของอารามวัดจีน

พอพูดถึงน้ำชาที่ทางวัดมีให้ดื่มฟรีเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วก็นึกถึงความเปิ่นของตัวเอง เมื่อครั้งแรกที่ไปเยือนเป่าอันกงนั้น เดินชมรอบวัดเสร็จ เห็นบนโต๊ะตัวหนึ่งที่ตั้งอยู่หน้าเคาน์เตอร์ขายเครื่องรางของวัด มีถาดวางแก้วน้ำเล็กๆ อยู่เต็มไปหมด ก็นึกว่าคงเป็นน้ำให้คนหยิบดื่มเอง แต่เราเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมมาดีนะคะ ก็เลยถามซือเจี่ยที่อยู่ตรงเคาน์เตอร์ว่าน้ำดื่มนี่หยิบเองได้ใช่ไหม ซือเจี่ยตอบว่า นั่นไม่ใช่น้ำดื่ม เป็นน้ำมนต์ที่จะใช้ในการประกอบพิธีอะไรสักอย่าง จำไม่ได้อีกแล้วค่ะ😅 เกือบไปแล้วไหมล่ะ คุณนายฮวง แล้วมาคิดๆ ดูเอง ไม่น่าโง่เลยเรา คนจีนส่วนใหญ่มักจะเรียกแขกเจี่ยะแต๊ (ดื่มน้ำชา – ภาษาแต้จิ๋ว) ดังนั้น ถ้าทางวัดจะเตรียมให้คนไหว้พระดื่ม ก็ควรจะเป็นน้ำชามากกว่าน้ำเปล่า ถึงจะเข้าเค้า ใช่ไหมคะ

ธรรมเนียมถัดมาที่ควรรู้คือ อย่าใช้นิ้วชี้อะไรในวัด โดยเฉพาะพระพุทธรูปหรือรูปเทพเจ้า ให้ใช้วิธีผายมือไปในทิศทางนั้นแทนเอา จะสุภาพกว่านะคะ แล้วเมื่อเวลาจะเดินเข้าวัด ให้ก้าวข้ามธรณีประตู เพราะว่าไม้ที่กั้นขึ้นมาตรงธรณีประตูนั้น เป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ให้วิญญาณเร่ร่อนเข้าสู่อารามศักดิ์สิทธิ์ของพระท่านค่ะ แต่ธรรมเนียมนี้คนไทยเราก็มีเช่นกัน ถ้าใครเคยอ่าน สี่แผ่นดิน คงจำตอนที่แม่พลอยเข้าวังครั้งแรกได้นะ สำหรับฉันแล้ว ไม่ว่าจะเข้าวัดจีน วัดไทย โบสถ์ฝรั่ง หรือมัสยิดก็ตาม จะก้าวข้ามธรณีประตูเสมอ ถือว่าให้เกียรติสถานที่นั้นๆ แล้วก็คงเป็นความเคยชินด้วยน่ะค่ะ

สิงโตคู่เฝ้าประตู

พูดถึงเรื่องประตูแล้วก็ขออธิบายเพิ่มเติม เผื่อมีคนไม่รู้ ฉันน่ะหมวยเยาวราช โตมาในไชน่าทาวน์กรุงเทพฯ เลยออกจะชินๆ หลายเรื่อง คุณๆ คงเห็นที่วัดจีนมีสิงโตหินเฝ้าประตูคู่กันนะ มองปราดเดียวก็คงคิดว่าหน้าตาเหมือนกันใช่ไหมคะ แต่ถ้าสังเกตรายละเอียด สิงโตสองตัวนั้นเป็นตัวผู้กับตัวเมียค่ะ ตัวที่อยู่ฝั่งขวาใกล้กับประตูมังกรคือตัวผู้ ส่วนที่อยู่ฝั่งซ้ายใกล้กับประตูทางออกที่มีรูปวาดเสืออยู่คือตัวเมีย (เอ ไม่รู้จะสื่อว่าผู้หญิงเราคือแม่เสือด้วยรึเปล่าเนี่ย😊) ตัวผู้จะถือเหรียญเงินหรือลูกบอล อันนี้แล้วแต่สถานที่ ส่วนตัวเมียจะมีลูกสิงโตอยู่ด้วย แล้วในปากสิงโตจะมีลูกบอลกลิ้งไปมาอยู่ ซึ่งเอาออกมาไม่ได้ เพราะว่าถูกแกะสลักมาตั้งแต่ต้นให้มีลูกบอลอยู่ในปากสิงโต ไม่ใช่ว่าเอามาใส่ทีหลัง น่าทึ่งไหมคะที่คนจีนมีวิธีแกะสลักได้ขนาดนี้ ตอนเด็กๆ ที่ไปเรียนภาษาจีนที่กวางเจา คุณหม่ามี้ซื้อล็อกเกตงาช้าง ที่แกะสลักเป็นลูกบอลมีลายจีนๆ ให้ใส่ แต่ที่ฉันกรี๊ดกร๊าดมากก็ตรงที่ ในลูกบอลนั้นยังมีลูกบอลแกะสลักลวดลายซ้อนกันอยู่อีกหลายๆ ลูก ตอนนั้นเนี่ยตื่นเต้นมากกับงานแกะสลักฝีมือระดับเทพขนาดนั้น (แหม สี่สิบปีก่อนนั้น เจองานแกะสลักแบบนี้ ก็ต้องอึ้งทึ่งกันหน่อยล่ะ)

ระฆังที่แขวนในวัด
กวงหมิงเติง

ส่วนประกอบใหญ่ๆ ในวัดอีกสองสิ่งที่เห็นได้ชัดคือระฆังกับกลอง ระฆังใช้ตีเพื่อรับรุ่งอรุณของแต่ละวัน จึงถูกแขวนอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนกลองนั้นใช้ตีเพื่อบอกเวลาปิดประตูของวัด จึงถูกแขวนอยู่ทางทิศตะวันตก แต่ถ้าวัดเก่ามากๆ ก็อาจจะกลายเป็นว่าสองสิ่งนี้จัดว่าเป็นวัตถุโบราณคู่วัด ไม่มีการใช้งานอีกต่อไป ทางวัดอาจใช้วิธีอื่นแทน เช่น เปิดเทปเสียง หรือประกาศผ่านลำโพงเอา อันนี้ก็หมายถึงวัดใหญ่ๆ น่ะนะ แล้วในอารามของบางวัดจะเห็นว่ามีแท่งกลมๆ ใหญ่ๆ หรือเป็นกำแพงเลยก็มี โดยมีเจาะช่องเล็กๆ และมีพระพุทธรูปบรรจุอยู่พร้อมไฟส่องประกายเจิดจรัส เรียกกันว่า ‘光明燈 – กวงหมิงเติง’ ที่ด้านล่างของแต่ละช่องมีชื่อของผู้บริจาคบำรุงวัดอยู่ ถ้าใครมีชื่ออยู่ที่ช่องกวงหมิงเติงนี้ถือว่าเป็นสิริมงคลต่อคนคนนั้นค่ะ อย่างวัดบนเขาหลังคอนโดฯ ของฉัน เวลาที่ไปทำอันไท่ซุ่ยแก้ชงตอนก่อนตรุษจีน ซือเจี่ยที่วัดเคยบอกฉันว่า ‘ที่วัดนี้เราเรียกว่ากวงหมิงเติง ไม่เรียกอันไท่ซุ่ย เพราะวัดของเราคือวัดทางศาสนาพุทธ’ ฉันก็รับคำ ‘อ้อ ค่ะ ขอบคุณซือเจี่ยที่ชี้แนะค่ะ’ ดังนั้น ฉันจึงต้องไปลงชื่อบริจาคเงินบำรุงวัดเร็วหน่อย เพราะช่องที่ของกวงหมิงเติงอาจจะเต็มได้ เนื่องจากไม่ใช่วัดใหญ่

เจี่ยวเปยหงายอันคว่ำอันแบบนี้แปลว่า Yes-ได้
ใบเซียมซี

สาระน่ารู้เรื่องสุดท้ายที่ขอนำเสนอวันนี้คือ วิธีเสี่ยงเซียมซี😁 วัดที่ไต้หวันส่วนใหญ่จะมี ‘筊杯 – เจี่ยวเปย’ ตั้งอยู่มุมใดมุมหนึ่งแถวๆ หน้าองค์พระประธาน เป็นไม้สีแดงรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ด้านหนึ่งเป็นหน้าตัดเรียบ อีกด้านนูนโค้งขึ้นมา ให้ถือเจี่ยวเปยประกบกันไว้ในอุ้งมือ แล้วก็แนะนำตัว จากนั้นให้ถามคำถามประมาณ yes – no question จากนั้นปล่อยไม้ลงบนพื้น ถ้าไม้ด้านหน้าตัดเรียบ คว่ำลงกับพื้นทั้งสองอัน คำตอบคือ no แต่ถ้าอันหนึ่งหงายอีกอันหนึ่งคว่ำ คำตอบคือ yes ค่ะ แต่ถ้าถามแบบคำถามเฉพาะหน่อย เช่น ปีนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ก็ให้ถือเจี่ยวเปยแล้วถามประมาณว่า จะถามเกี่ยวกับชะตาของปีนี้ได้ไหมคะ ถ้าทิ้งไม้ลงบนพื้นแล้วคำตอบออกมาเป็นคว่ำอันหงายอัน คำตอบคือได้ ก็สามารถไปเลือกหยิบไม้เซียมซีในกระบอก ที่วางอยู่ใกล้ๆ กับเจี่ยวเป่ยนี้ขึ้นมาหนึ่งอัน ดูเบอร์แล้วก็ไปหยิบใบคำทำนาย บางแห่งจะมีหนังสือแปลคำทำนายไว้ให้ตรงนั้นเลย หรือบางที่ก็อาจจะมีตั้งโต๊ะรับช่วยแปลให้ฟัง แต่ถ้าทิ้งไม้แล้วออกมาคว่ำทั้งคู่ แปลว่า no ก็จบกันเลย แต่เคยมีคนบอกฉันว่า การถามว่าถามได้หรือไม่ได้นี้ สามารถทำได้สามครั้ง ถ้าคว่ำหมดทั้งสามรอบก็หยุด-จบ ไม่ต้องถามต่อแล้ว ท่านไม่ตอบแน่ๆ

เอาล่ะค่ะ ขอจบสาระน่ารู้ (รึเปล่า) เกี่ยวกับวัดจีนแค่นี้ละกันนะ  คงพอจะได้ไอเดียว่าควรปฏิบัติอย่างไรแล้วนะคะ ถ้าไปวัดจีน ท่องไว้ค่ะว่า ให้มังกรนำทาง😊

Don`t copy text!