剪纸 – เจี่ยนจื่อ

剪纸 – เจี่ยนจื่อ

โดย : คุณนายฮวง

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

จำบทที่ฉันเล่าว่าไปเที่ยวจูหมิงมิวเซียมได้ไหมคะ มีบริเวณที่แสดงรูปปั้นของนักวิทยาศาสตร์หรือนักประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เช่น ไอน์สไตน์ มาดามมารี คูรี (สตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล แถมได้รับถึงสองครั้ง ในสาขาฟิสิกส์และเคมี เกี่ยวกับการค้นพบและประโยชน์ของแร่เรเดียม) แต่ใช่ว่าจะมีเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกนะ มันก็ต้องมีชาวจีนบ้างสิคะ ฉันก็เลยได้รู้จักชื่อชาวจีนที่เป็นผู้คิดค้นทำกระดาษในวันนั้นล่ะค่ะ เขาคือคุณไช่หลุน – 蔡倫 เป็นขันทีในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ที่เอ่ยถึงต้นกำเนิดของกระดาษก็เพราะว่า อยากคุยให้ฟังถึง 剪纸 – เจี่ยนจื่อ (剪 = ตัด  纸 = กระดาษ) หรือศิลปะการตัดกระดาษของชาวจีน ที่เป็นไปได้ว่า อาจจะมีอายุนับย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 2-3 กันนั่นทีเดียวเชียว😮

ตอนมาถึงเกาะนี้ใหม่ๆ ฉันเนี่ยอยากเรียนรู้ศิลปะการตัดกระดาษมาก แต่ก็ไม่รู้จะไปหาเรียนที่ไหน แถมภาษาจีนยังไม่กระดิกซะอีก อยู่ๆไปพอรู้ว่าที่ไหนมีสอน สายตาก็ไม่อำนวยเสียแล้ว แถมเพื่อนคนนึงที่เคยไปเรียนบอกกับฉันว่า ต้องใช้มีดตัดซึ่งนางได้แผลกลับบ้านทุกวันช่วงที่เรียน คุณนายฮวงที่เกิดมาพร้อมมือ+เท้าโง่ๆ (ภาษาจีนกลางมีสำนวน 笨手笨腳 – เปิ้นโส่วเปิ้นเจี่ยว ที่แปลว่าซุ่มซ่าม 笨 = โง่  手 = มือ  腳 = เท้า) ก็เลยใจฝ่อ เลิกล้มความคิดที่จะเรียนไปเลย😆 แต่มารู้ทีหลังว่า จริงๆ แล้ววิธีการตัดมีทั้งแบบใช้มีดและกรรไกรตัดนะ เคยอ่านเจอในนิตยสารไทเป มีโชว์วิธีการตัดเป็นตัวอักษร 春 – ชุน ที่แปลว่าฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งนิยมใช้ปิดบนประตูหน้าต่างช่วงตรุษจีน ดูไม่ซับซ้อนเท่าไรนัก จำได้ประมาณว่าพับๆ กระดาษออกมาเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วก็ใช้กรรไกรตัดๆ ที่มุมปิดเป็นริ้วๆ ตามวิธี พอคลี่กระดาษออกมาอีกที ตรงกลางกระดาษก็กลายเป็นตัว 春 แล้ว ลองตัดตามดูออกมาไม่ยักกะสวยเหมือนของเขา เลยตัดใจไม่ตามล่าหาฝันด้านนี้ดีกว่าเนอะ😆 แล้วอีกอย่างสายตาก็ไม่สามารถใช้ทำงานละเอียดๆ ได้แล้วด้วย😅 เอาเป็นว่า สายตาของอิฉันมีไว้ชื่นชมของสวยงามก็พอเนอะ😉

เจี๋ยนจื่อ (ภาษาจีนกลาง ถ้าตัวอักษรที่ออกเสียงไม้เอกอยู่ติดกันสองตัว เวลาออกเสียงให้เปลี่ยนเสียงตัวแรกเป็นเสียงจัตวา) หรือการตัดกระดาษนี้ มีการพัฒนาจากงานอดิเรกบ้านๆ จนกลายมาเป็นงานศิลปะในยุคสมัยราชวงศ์ถังต่อมาจนถึงราชวงศ์ซ่ง แต่มาเฟื่องฟูสุดๆในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง เป็นงานศิลปะบ้านๆ ที่จัดเป็นงานอดิเรกของฮูหยินและคุณหนูทั้งหลาย (คือชาวบ้านทั้งหลายถ้ามีเวลาว่าง ก็คงนั่งตัดเล่นเหมือนกันน่ะ แต่ฉันว่าคงต้องทำมาหากินกันซะมากกว่า ถ้าต้องการใช้จริงๆ ถึงจะมานั่งตัดนะ อันนี้มาจากความคาดเดาของฉันเองน่ะค่ะ😁) ตัดเสร็จก็เอามาแปะประดับตกแต่งประตูหน้าต่างในบ้าน (เจี๋ยนจื่อก็เลยมีชื่อเล่นอีกชื่อว่า 窗花 – ชวง ฮวา  窗 = หน้าต่าง  花 = ดอกไม้) ส่วนใหญ่จะตกแต่งประดับประดาในเทศกาลงานมงคลรื่นเริงต่างๆ เช่น ช่วงตรุษจีน งานแต่งงาน หรือ ฉลองเด็กเกิดใหม่ และในเมื่อใช้ในงานมงคลก็แน่นอนค่ะว่า กระดาษสีแดงต้องมาอันดับหนึ่ง เพื่อให้เจี๋ยนจื่อเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภและความสุข

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจเลยค่ะว่า เจี๋ยนจื่อยอดฮิตติดอันดับหนึ่งนั้นก็คือการตัดเป็นรูปตัวอักษร 福 – ฝู หรือภาษาแต้จิ๋วคือ ฮก ที่แปลว่า โชคลาภ เจี๋ยนจื่อตัว 福 นี้เราจะเห็นกันเยอะสุดก็ตอนช่วงตรุษจีน คุณๆ ลองไปเดินแถวเยาวราชช่วงนั้นสิ รับรองมีให้เลือกซื้อหลากหลายลายแน่นอน ส่วนอักษรจีนยอดฮิตอีกตัวหนึ่งก็คือ 囍 – ซวงสี่ ที่แปลว่า ความสุขยกกำลังสอง😊 ตัวนี้จะเห็นบ่อยๆ ในงานแต่งงานชาวจีนนะคะ พวกข้าวของเครื่องใช้ในพิธีแต่งงานของชาวจีน จะต้องมีกระดาษสีแดงตัดเป็นตัวอักษรซวงสี่แปะไว้อยู่แทบทุกชิ้น คงจำกันได้ที่ฉันเล่าถึงคุกกี้อาร์เซนอลที่แปะตัวอักษร 囍 เพื่อแจกญาติมิตรตอนฉันแต่งงานนะ

เจี๋ยนจื่อนี้ได้แพร่หลายจากจีนออกมาถึงด้านตะวันตกของทวีปเอเชียในราวศตวรรษที่ 8-9 และแพร่ต่อไปถึงประเทศตุรกีที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชียและทวีปยุโรปประมาณศตวรรษที่ 16 มาถึงตุรกีแล้วก็แพร่หลายต่อเข้าไปถึงยุโรป ที่ชาวเยอรมันเริ่มมีการตัดกระดาษเป็นงานศิลปะที่เรียกว่า scherenschnitte ในศตวรรษที่ 16 นั้น ก็คงได้รับอิทธิพลมาจากเจี๋ยนจื่อนี่ล่ะ เจี๋ยนจื่อมีประวัติอันยาวนานและได้รับความนิยมแพร่หลายกันไปทั่วขนาดนี้ ก็เลยได้รับการบรรจุอยู่ในลิสต์ของ UNESCO Intangible Cultural Heritage Lists ไม่ธรรมดานะคะเนี่ย จากงานอดิเรกศิลปะพื้นบ้านของชาวจีน กลายมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกเชียวนา😍

ตอนที่ฉันไปเที่ยวเกาะหม่าจู่ และได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประจำเกาะ ก็ให้บังเอิญที่มีงานศิลปะการตัดกระดาษของศิลปินชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และชาวไต้หวันร่วมกันจัดแสดงเป็นนิทรรศการพิเศษอยู่ในช่วงนั้น โอ้โฮ เห็นแล้วอึ้งตะลึงในความงดงามของผลงานทั้งหลายที่จัดแสดงอยู่มากๆ ค่ะ แต่ละชิ้นนี่รายละเอียดเยอะมาก แล้วไม่ใช่งานชิ้นเล็กๆ ด้วยนะ ฉันถ่ายรูปมาหลายชิ้นเลย ขนาดเลือกถ่ายรูปงานที่ชอบแล้วนะ ก็ยังถ่ายมามากพอสมควร เลือกๆ มาให้คุณๆ ได้ชมกัน เผื่อจะมีใครที่ยังสายตาอำนวยแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากไปเรียนบ้าง 😊

Don`t copy text!