媽祖 – มาจู่

媽祖 – มาจู่

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ตอนที่กลับมาจากไทยเมื่อต้นเดือนกุมภา ฉันเห็นข่าวทีวีเรื่องแห่เจ้าแม่มาจู่ (媽祖) ไปตามเมืองต่างๆ แล้วมีอาซิ่มคนหนึ่งมาดักขบวนแห่ เพื่อกราบขอบคุณเจ้าแม่ที่ช่วยให้สามีของเธอหายป่วย ก็ออกจะงงๆ อยู่ ยังถามคุณชายเลยว่า เอ๊ ปกติขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่นี้ แห่กันเกือบๆ กลางปีไม่ใช่เหรอ นี่เพิ่งหลังตรุษจีนไม่นานนิ ทำไมแห่แล้วล่ะ คุณชายก็ตอบว่า ไม่รู้สิ ไม่เคยสังเกต ทำเอาอิฉันเริ่มไม่แน่ใจละว่า ฮีเป็นคนไต้หวันจริงรึเปล่า (วะ) เนี่ย😆 เชอะ ถามอากู๋ก็ได้ฟะ และแล้วคุณนายฮวงผู้ที่รู้เรื่อง (ไม่ค่อยจะมีสาระ😅) เกี่ยวกับเกาะนี้มากกว่าคุณชายก็ถูกต้องอีกแล้ว😉 

เดือนสามตามปฏิทินจันทรคติของจีน ถือเป็นเดือนแห่งการสักการะเจ้าแม่มาจู่ ดังนั้นในช่วงเดือนนี้ ศาลเจ้าแม่มาจู่หลายแห่งในไต้หวัน จะจัดพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่ โดยถือโอกาสนี้อัญเชิญองค์เจ้าแม่มาจู่ลงจากแท่นประทับและแห่ออกมานอกศาลเจ้า ไปตามท้องถนนของเมืองต่างๆ เพื่อให้คนที่นับถือและศรัทธาในองค์เจ้าแม่ได้กราบไหว้ ตอนมาถึงใหม่ๆ เห็นปรากฏการณ์ที่คลื่นผู้คนนับหมื่นนับแสนออกมาออกันเต็มท้องถนนรอขบวนเจ้าแม่นี้ บางคนเดินร่วมขบวนแห่ไปด้วยเลยก็มี ไปกิน-นอนกันตามวัดหรือศาลเจ้าตามเส้นทางแห่ในแต่ละเมือง ทำเอาฉันออกจะอึ้งและทึ่งมากๆ กับความศรัทธาของชาวไต้หวันที่มีต่อองค์เจ้าแม่

คุณชายบอกว่า ขบวนแห่ที่ได้รับความสนใจมากหน่อยก็มี ขบวนของเจ้าแม่มาจู่แห่งเขตต้าเจี่ย เมืองไถจง อีกแห่งก็คือศาลเจ้าแห่งหมู่บ้านไป๋ซาถุน เขตทงเซียว เมืองเหมียวลี่ แต่อิฉันต้องขอบอกว่าไม่ใช่แค่ระดับชาตินะคะ Discovery Channel ยกย่องพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งเขตต้าเจี่ยให้เป็น 1 ใน 3 พิธีกรรมทางศาสนาที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ ยังถูกจัดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) ของมวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้ โดยไต้หวันถือเป็นดินแดนและศูนย์กลางแห่งความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ของโลกอีกด้วย ถ้ายังจำกันได้ที่ฉันเล่าไว้ในบท ตามล่าหาน้ำตาแสงไต้ ที่ฉันไปเที่ยวเกาะ 馬祖 – หม่าจู่ (Matsu Islands) น่ะค่ะว่า รูปปั้นเจ้าแม่มาจู่ที่เกาะ 南竿 – หนันกันนั้น ว่ากันว่าเป็นรูปปั้นของเจ้าแม่ที่องค์ใหญ่สุดในเอเชีย 

ตามที่ฉันค้นหาข้อมูลอ่านมา มีนักวิชาการคนหนึ่งของไต้หวันชื่อ คุณลวี่เหมยหวน ซึ่งได้คลุกคลีอยู่กับการวิจัยความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่มาเป็นเวลายาวนาน ได้กล่าวถึงความแตกต่างของ “พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่” ระหว่างศาลเจ้าเขตต้าเจี่ยเมืองไถจงกับศาลเจ้าแห่งหมู่บ้านไป๋ซาถุนเมืองเหมียวลี่ว่า ศาลเจ้าเจิ้นหลันกง เขตต้าเจี่ย นครไทจง เป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ในไต้หวัน พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่ที่จัดขึ้นปีละครั้งจะเริ่มออกเดินทางจากเขตต้าเจี่ยไปยังจุดหมายปลายทางคือศาลเจ้าฟ่งเทียนกง ตำบลซินกั่ง เมืองเจียอี้ เพื่อจัดพิธีเฉลิมฉลองวันประสูติเจ้าแม่มาจู่ร่วมกับศาลเจ้าแห่งตำบลซินกั่งโดยมีเหล่าผู้ศรัทธาร่วมอวยพร เส้นทางของขบวนแห่จะผ่าน 4 เมือง ได้แก่ ไทจง  จางฮั่ว หยุนหลินและเจียอี้  ใช้เวลาเดินทาง 9 วัน 8 คืน รวมระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตร

เกาะหม่าจู่
วัดมาจู่ 媽祖廟 ที่เกาะหม่าจู่

ส่วนศาลเจ้าก่งเทียนกง ที่หมู่บ้านไป๋ซาถุน ตำบลทงเซียว เมืองเหมียวลี่ จัดเป็นศาลเจ้าระดับหมู่บ้านเท่านั้น แต่ในความรู้สึกของเหล่าผู้ศรัทธาแล้ว เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนจะมีความใกล้ชิดและเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและคอยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่เสมอ ทุกปีจะมีพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนไปยังศาลเจ้าเฉาเทียนกง ตำบลเป่ยกั่ง เมืองหยุนหลิน โดยใช้วิธีเดินเท้าตลอดระยะทางทั้งหมดประมาณ 400 กว่ากิโลเมตร และไม่มีการกำหนดเส้นทางที่แน่นอนไว้ล่วงหน้า การหยุดพักหรือทิศทางของขบวนแห่จะขึ้นอยู่กับการบัญชาของเจ้าแม่ ด้วยเหตุที่เส้นทางของขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่ไม่มีการกำหนดแน่นอน จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่เหล่าสานุศิษย์ต่างถิ่นที่จะได้ขอพรและมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าแม่มาจู่ได้มากขึ้น สมดังคำกล่าวที่ว่า  “อานุภาพแห่งองค์เจ้าแม่มาจู่ ไม่เพียงช่วยปกปักรักษาสานุศิษย์ในท้องถิ่นเท่านั้นแต่ยังปกป้องคุ้มครองคนต่างถิ่นด้วย”

เจ้าแม่มาจู่ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งทะเล เป็นที่เคารพนับถือของชาวประมงและคนเดินเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวฮกเกี้ยน (หรือฝูเจี้ยนในภาษาจีนกลาง) และชาวแต้จิ๋ว ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และก็อย่างที่ฉันเคยเล่าๆไปในบทก่อนๆ นี้บ้างแล้วว่า ชาวจีนในมณฑลฝูเจี้ยนอพยพข้ามช่องแคบไต้หวันมาปักหลักทำมาหากินกันบนเกาะนี้ก็ไม่ใช่น้อยๆ จึงนำความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อเจ้าแม่มาจู่ ที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นเทพที่ดูแลปกปักรักษาคุ้มครองให้พวกชาวเรือปลอดภัยจากอุบัติภัยทางทะเลมาลงหลักปักฐานในไต้หวันด้วย

ในเมืองไทยเราที่ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่เป็นคนแต้จิ๋วก็มีความศรัทธาต่อองค์เจ้าแม่มาจู่เช่นกัน ในไทยเราเรียกท่านว่า หม่าโจ้ว แต่ไม่ใช่เจ้าแม่ทับทิมนะคะ ในหมู่ชาวไทยจะเข้าใจผิดกันว่าหม่าโจ้วก็คือเจ้าแม่ทับทิม จริงๆแล้วเจ้าแม่ทับทิมคือจุ้ยบ้วยเนี้ย (สำเนียงแต้จิ๋ว) หรือที่ชาวจีนไหหลำเรียกว่า ตุ๊ยบ่วยเต๊งเหนี่ยง (水尾聖娘 – สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง ในภาษาจีนกลาง) ซึ่งเป็นเทพแห่งท้องทะเลและการเดินเรือเช่นกัน โดยจุ้ยบ้วยเนี้ยจะเป็นที่นับถือของชาวไหหลำ ในขณะที่หม่าโจ้วจะเป็นที่นับถือของชาวฮกเกี้ยนและชาวแต้จิ๋ว 

ชาวไทยจะเรียกเหมารวมกันไปหมดด้วยความเข้าใจผิดว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่โด่งดังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากหน่อยได้แก่ ศาลเจ้าตุ๊ยบ่วยเต๊งเหนี่ยง เชิงสะพานเตียนฮี่ (ซังฮี้-แต้จิ๋ว) ซึ่งเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ในขณะที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานพระปกเกล้า ย่านพาหุรัด และศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง สามย่าน เป็นศาลของเจ้าแม่มาจู่หรือหม่าโจ้วของชาวแต้จิ๋วค่ะ

 

ภาพจาก https://www.baike.com/

 

Don`t copy text!