Lost in Translation

Lost in Translation

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

ถึงแม้ว่าฉันจะเป็นหมวยเยาวราช เติบโตมาในครอบครัวคนจีน รู้ธรรมเนียมจีนบ้าง แต่พอมาอยู่ไต้หวัน ถึงได้รู้ว่าเรานี้หนอก็แค่กบในไชน่าทาวน์ มีขนบธรรมเนียมประเพณีจีนอีกมากที่เราไม่รู้ แถมภาษาจีนกลางที่เคยเรียนตอนเด็กๆ จากเหล่าซือ (ครู) ที่อาเตี่ยเชิญมาสอนที่บ้านนั้น ก็แทบจะใช้การอะไรไม่ได้

ส่วนใหญ่แล้วคนจีนในเมืองไทยเป็นคนแต้จิ๋ว รวมทั้งบ้านฉันด้วย ด้วยความที่แต่ละวันฉันใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนมากกว่าอยู่บ้าน เพราะฉะนั้นภาษาแต้จิ๋วก็เลยไม่ค่อยจะกระดิกเท่าไหร่ ไม่งั้นอาจจะพอเอาตัวรอดได้บ้าง เพราะภาษา ‘ไถ อวี่’ หรือภาษาไต้หวัน มีความคล้ายคลึงกับภาษาแต้จิ๋วอยู่มากทีเดียว คือที่ไต้หวันใช้ภาษาจีนกลาง (Mandarin) เป็นหลัก แล้วก็มีภาษา ‘ไถ อวี่’ (Taiwanese) กับภาษา ‘เค่อ เจีย – แคะ’ (Hakka) เป็นภาษาท้องถิ่น ลองนึกภาพหมวยเยาวราชเดินอยู่ในไทเป แล้วเจอคนไต้หวันถามทาง ได้แต่ทำตาปริบๆ เหมือนคนเป็นใบ้ มันแสนจะอึดอัดคับข้องใจจริงจริ๊ง ว่าแล้วคุณสามีก็ส่งไปเรียนภาษาจีนกลางที่ศูนย์ภาษาจีนกลางของมหาวิทยาลัยซือต้า (National Taiwan Normal University) ซะเลย

ที่ศูนย์ภาษาจีนกลางของซือต้าสอนเป็นคอร์สละ 3 เดือน จะมีนักเรียน 6-10 คนในแต่ละห้อง เรียนวันละ 2 ชั่วโมง จริงๆ สามีอยากให้ฉันเริ่มเรียนตั้งแต่ต้น แต่สาวมั่นนี่คะ ขอซ่าหน่อยเหอะ บอกสามีว่าขอฉันสอบ placement test เถอะนะจ๊ะ ขอทดสอบความรู้ที่สมัยเด็กๆ อาเตี่ยอุตส่าห์จ้างครูมาสอนที่บ้านว่ายังเหลือติดอยู่ในเส้นหยักสมองมั่งไหม สัญญาจ้ะว่าจะซื่อสัตย์ ไม่ใช้วิชา ‘เดาดิโอโลจี้’ (หรือมั่วเดาสุ่มไปนั่นเอง ฮิฮิ) แหม จะว่าคุยนะคะ อาเตี่ยไม่เสียเงินเปล่าเลยค่า ผ่านไป 20 ปีเศษ ความรู้ภาษาจีนกลางที่เหลือติดอยู่ในซอกลึกสุดของหยักสมองเส้นไหนก็ไม่รู้ ทำให้ฉันสามารถสอบได้เริ่มเรียนที่บทที่ 12 ของเล่มที่ 1 อย่างน้อยก็ประหยัดเงินสามีไปได้ 1 คอร์สเชียวนา

ช่วงที่เรียนคอร์สแรก ฉันมีเพื่อนสนิทในห้องชื่อ ‘พอล’ เป็นคนไต้หวันที่อพยพไปอยู่อเมริกาตั้งแต่เด็กๆ ลางานใช้วันลาพักร้อนมาเรียน มีอยู่วันหนึ่งเลิกเรียนแล้วก็ไปนั่งกินข้าวกลางวันกัน ฉันกินเส้นหมี่ผัด ควักกระปุกพริกป่นคู่ใจออกมาใส่หมี่ ไม่รู้จะเอาตะเกียบวางที่ไหน กลัวว่าถ้าวางพาดบนขอบชามเดี๋ยวมันจะกลิ้งหล่นไปเพราะตะเกียบมันกลมมนซะขนาดนั้น เลยปักพรวดมันลงไปในหมี่มันซะเลย หนุ่มพอลเธอสะดุ้งโหยงเลยค่ะบอกว่า “หยาบคายมากนะยู” ฉันงง “หยาบตรงไหน” พอลส่ายหัวตอบว่า “ยูเป็นลูกคนจีนได้ไง ไม่รู้หรือว่า ปักตะเกียบลงไปในชามแบบนี้ เหมือนปักธูปไหว้คนตาย ถือว่าหยาบคายมาก” เพล้ง! หน้าแตกกระจัดกระจายเลยค่ะ ก็แหม ฉันโตมาแบบใช้ช้อนกินข้าวนี่ ไม่ได้ใช้ตะเกียบ หรือหากกินก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา ด้ามตะเกียบจะเป็นแบบทรงสี่เหลี่ยมซะส่วนใหญ่ ก็เลยไม่เคยมีปัญหานี้ พอลเห็นเราจ๋อยเลยปลอบใจว่า ไม่เป็นไรหรอก สมัยเด็กไอก็โดนอาม่าของไอด่าเอาเหมือนกันแหละ เพราะไอก็ชอบทำแบบนี้ เฮ้อ! ขอบใจที่ปลอบใจจ้ะ แต่มันก็จริง เป็นลูกคนจีนแต่ไม่รู้ธรรมเนียมคนจีน แย่จังเรา

อยู่แบบโดดเดี่ยวมาเกือบปี ก็ได้รู้จักกับเพื่อนๆ คนไทยที่แต่งงานมาอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่แล้วก็เหมือนฉันล่ะค่ะ ไปเจอคิวปิดแผลงศรเอาตอนไปเรียนต่อที่อเมริกาบ้าง อังกฤษบ้าง ตอนรู้จักกันแรกๆ ก็นัดกันไปช้อปปิ้ง ที่ไต้หวันจะมีลดราคากระหน่ำกันตอนปลายปี ซึ่งพอถึงเวลานี้เราจะซื้ออะไรก็มักจะโทรถามน้องลูกเจี๊ยบกัน เพราะเจี๊ยบเป็นคนละเอียด เธอจะศึกษาอย่างถี่ถ้วนว่าห้างไหนได้ราคาหรือของแถมดีกว่า ความละเอียดของเจี๊ยบนี่มีให้ได้ฮากันบ่อยๆ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เรานัดกันกินข้าว ปู (ตอนนั้นอายุ 35 ปี) ซึ่งกำลังท้องได้ประมาณ 5 เดือน ก็คุยว่าจะไปเจาะน้ำคร่ำดูว่าเด็กในท้องเป็นยังไง ฉันก็เลยถามว่า หมอสั่งเจาะเหรอ คนแรกท้องก่อน 35 นี่คนที่สองนี่นา ต้องเจาะด้วยเหรอ ปูตอบว่า หมอไม่ได้สั่ง แต่ปูอยากเจาะเพื่อความสบายใจ เจี๊ยบก็ถามต่อว่า พี่ที่บอกอายุ 35 เนี่ย นับไทยหรือนับจีนอะพี่ (คนจีนนับอายุตั้งแต่เด็กอยู่ในท้องแม่ เพราะฉะนั้นต้องบวกหนึ่งปีเข้าไป) ทุกคนเงียบไปประมาณ 3 วินาทีก่อนจะหัวเราะก๊ากกันแบบเต็มที่ เจี๊ยบถามแบบงงๆ ว่า พวกพี่หัวเราะอะไรกัน ปูพึมพำว่ามันคิดได้ไงวะ แต่พอฉันย้อนมาคิด เออ มันก็จริงอะนะ ก็เราอยู่ที่นี่กันนี่หว่า มันก็อาจจะต้องนับแบบจีนน่ะ ฮ่าฮ่าฮ่า

หนึ่งในความฝันครั้งเยาว์วัยของฉันคือ อยากให้มีคนเรียกว่า ‘ฮูหยิน’ ก็สมัยเด็กๆ เวลาดูพวกหนังชุดทางทีวีของฮ่องกง เห็นตัวละครเรียกฮูหยินๆ ฟังแล้วมันช่างไพเราะเสนาะหูดีจัง โตมาก็ลืมๆ ไป (ตามประสาคนช่างฝัน เอ๊! หรือเขาเรียกว่าพวกฟุ้งซ่าน ฮิฮิ) มีอยู่วันนึง กำลังนั่งดู จูมง กันอยู่ แล้วจูมงเรียกเมียว่า ‘夫人 – ฟูเหริน’ หรือในภาษาแต้จิ๋วคือฮูหยิน เท่านั้นล่ะ ความฝันที่ฝังอยู่ในก้านสมองส่วนความจำตอนอายุ 12-13 ปี ก็ผุดขึ้นมาทันที เลยหันไปบอกคุณชายว่า “นี่ ยู ต่อจากนี้เรียกไอว่าฟูเหรินดีกว่านะ ไออยากเป็นฟูเหรินมาตั้งแต่เด็กนู่นแน่ะ” ฮีหันมามองแล้วถามว่า “ถามจริง?” “จริ๊ง” (เมียฮีตอบแบบมั่นใจมาก) คุณชายหัวเราะก๊ากพูดว่า “ใครได้ยินเข้า อายเขาตาย มีใครเขาเรียกกัน” ฉันก็ใส่เป็นชุดเลยว่า “ทำไมต้องอายใคร คนเราไม่เหมือนกันนิ เราไม่ได้ทำผิดคิดร้ายใครซะหน่อย แล้วนี่นะยู เมียคนอื่นเค้าขอแหวนเพชร ไอขอให้ยูเรียกว่าฮูหยินเนี่ย ต้องเสียตังค์หรือเปล่า ฮะ!” ฮีก็ขำๆ เมียฮี แล้วพอกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ฮี ฮีก็จัดการฟ้องแบบขำๆ ให้ฟังกัน ฮากันตึงทั้งครอบครัว จากนั้นฉันกลับมาเยี่ยมบ้านที่กรุงเทพฯ ก็มาเล่าให้แม่ฟังขำๆ เล่น แม่ก็เอามาเล่าต่อให้เตี่ยฟัง เตี่ยก็หัวเราะขำลูกสาวตัวเองแล้วพูดว่า “มีใครเขาเรียกตัวเองว่าฮูหยินกัน” แหม! ก็ใครจะไปรู้ล่ะว่าคนจีนเขาต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ควรยกย่องตัวเองเป็นฮูหยิน ต้องให้คนอื่นเขาเรียกเรา ก็นึกว่าสามีเรียกภรรยาได้นิ

ยังมีอีกค่ะเรื่องไม่รู้ธรรมเนียม มีครั้งหนึ่งตอนนั้นอยู่ที่นี่สักสิบปีได้แล้ว มด เพื่อนคนไทยนัดกินข้าวที่บ้านเขา โดยจะจัดปาร์ตี้วันเกิดเล็กๆ ให้เพื่อนไต้หวัน (ชื่อแอน) ที่ฉันก็รู้จักด้วย โดยบอกให้ฉันซื้อเค้กวันเกิดไป ฉันไม่รู้จะไปซื้อที่ไหนดีเพราะไม่มีร้านเค้กเจ้าประจำ ปรึกษาสามีว่าฉันจะทำบลูเบอรีชีสพายไปแทนเค้กดีไหม สามีตอบว่า “ไม่ได้ ต้องเป็นเค้ก ยูเคยได้ยิน birthday pie เหรอ ไม่เคยใช่ไหม เคยได้ยินแต่ birthday cake เท่านั้น ใช่ปะ” ฉันก็ยังดื้อตอบแบบน้ำขุ่นๆ ว่า “แหม ก็เราเป็นผู้บุกเบิกไง แล้วแอนเขาก็คงซาบซึ้งนะที่ไอทำให้ เพราะเขาก็รู้ว่าไอทำกับข้าวไม่เก่ง” สามีก็ส่ายหัวบอกว่า “ก็ถ้าอะไรก็ได้ ถ้างั้นมันก็มี birthday บ๊ะจ่าง ซิ” โอ๊ย ขำจริงๆ คุณชายเธอคิดได้ไงเนี่ย

“birthday บ๊ะจ่าง”

 

Don`t copy text!