大稻埕+迪化街 – ต้าเต้าเฉิง+ตี๋ฮว้าเจีย

大稻埕+迪化街 – ต้าเต้าเฉิง+ตี๋ฮว้าเจีย

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

ตั้งใจจะคุยให้ฟังเกี่ยวกับตี๋ฮว้าเจียที่มักจะเอ่ยถึงบ่อยๆ ในหลายๆ บทความ แล้วอิฉันก็ลืมทู้กที แหะๆ แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะฉันเห็นว่า มีคนเขียนถึงเยอะแล้วด้วยมั้ง ความตั้งใจก็เลยเลือนๆ ไปตามประสาสาวน้อย😅 นี่นึกอยากเขียนเล่าให้ฟังขึ้นมาก็เพราะว่า เมื่อตอนต้นเดือนตุลาคุณนายโฮเพื่อนรักของฉันที่นี่กลับมาไทเป (คือตอนนี้คุณนายโฮใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ) แล้วอยากไปเดินหาของกินอร่อยๆ ที่คนท้องถิ่นเขาฮิตกันแถวตี๋ฮว้าเจีย คุณนายโฮก็จัดแจงนัดเพื่อนชาวไต้หวันที่เติบโตมาในย่านนี้ แล้วก็ชวนคุณนายสายเจี๊ยะอย่างอิฉันไปด้วย มีหรือที่ฉันจะพลาดโอกาสดีๆ แบบนี้ รีบแจ้นไปตามนัดสิคะ😆

ขอเล่าประวัติย่อๆ ของพื้นที่แถวนี้ให้ฟังกันสักนิดละกันนะ เผื่อมีใครยังไม่เคยอ่านเจอ ตี๋ฮว้าเจียนี้เป็นถนนสายเก่าแก่ที่สุดในไทเป เก่าแก่ขนาดนับย้อนไปได้ถึงยุคที่ชาวดัทช์ปกครองอยู่เลยทีเดียว (ค.ศ.1624-1661) เข้าใจว่าคงเป็นถนนดินอะไรแบบนั้นน่ะค่ะ เดิมทีเรียกว่า 中街 แปลตรงตัวก็ Centre Street ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นรูปแบบถนนในช่วงยุค 1850 เมื่อบรรดาพ่อค้าวาณิชได้อพยพย้ายกิจการจากเขต  Bangka (คือภาษาฮกเกี้ยนที่ภาษาอังกฤษเขียนแบบนี้ หรือบางทีก็เขียน Monga ซึ่งฉันว่าใกล้เคียงกับสำเนียงจริงๆ มากกว่า ตัวหนังสือภาษาจีนคือ 艋舺เหมิงเจี่ยตามสำเนียงจีนกลาง) อ้อ มีภาพยนต์ไต้หวันชื่อนี้ด้วยนะคะ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับแก๊งค์มาเฟียท้องถิ่นในช่วงยุคทศวรรษ 60-70 ดาราดังของไต้หวันแจ้งเกิดจากหนังเรื่องนี้กันหลายคน เช่น เจ้าโย่วถิง หร่วนจิงเทียน หนังทำเงินถล่มทลายเป็นประวัติการณ์มาก แต่ฉันผู้ไม่ค่อยนิยมความรุนแรง รู้สึกเฉยๆ นะ เดาพล็อตเรื่องออกตั้งแต่ต้นเรื่องเลย ใครสนใจลองเสิร์ชดูพิมพ์คำว่า Monga ได้เลยค่ะ สถานที่ถ่ายทำก็แถวๆ วัดหลงซาน ปัวผีเหลียว – 剝皮寮 ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมนั่นล่ะค่ะ

กลับมาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่า คุณนายฮวงนี่แก้ไม่หายจริงๆ เรื่องออกนอกเรื่องเนี่ย ขออภัยค่ะ😅

ฉันคิดว่าที่พ่อค้าอพยพเข้ามาตั้งร้านรวงกันที่ตี๋ฮว้าเจียนี้ก็คงเพราะเป็นความสะดวกเนื่องจากอยู่ใกล้กับต้าเต้าเฉิง อันเป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญยิ่งของไทเปในช่วงศตวรรษที่19 ตี๋ฮว้าเจียจึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของไทเปในยุคนั้น สินค้ามีตั้งแต่ยาจีน ผ้าแพรพรรณ (หลักฐานการค้าผ้าก็คือ ตลาดผ้าของไทเปชื่อหย่งเล่อซื่อฉั่ง – 永樂市場 ที่ตั้งอยู่ตรงต้นถนนในปัจจุบันนี้) เครื่องเทศ และชาไต้หวัน ฉันเคยเล่าให้ฟังในบทเกี่ยวกับชาใช่ไหมนะ ที่บอกว่าชาเหวินซันเป่าจงที่ปลูกในละแวกไทเป โด่งดังข้ามน้ำทะเลแบบจักรพรรดิญี่ปุ่นนิยมดื่มเลยทีเดียว ฉันเองก็ชอบดื่มชาเหวินซันเป่าจงนะ รสชาติเบาๆ ดี เอ้าออกนอกเรื่องอีกละ😆 กลับมาๆ คุณนายฮวงเอ๊ย

เรื่องการค้าชาในแถบต้าเต้าเฉิงได้ดึงดูดพ่อค้าเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอย่างคึกคักตั้งแต่ปี ค.ศ.1851 โดยคุณหลินหลันเถียน – 林藍田 ที่เป็นชาวจีหลงโดยกำเนิด ได้เข้ามาเปิดร้านชาถึงสามร้านด้วยกัน และในปี 1867 ชาวต่างชาติก็ได้เริ่มเข้ามาร่วมในสมรภูมิการค้าชา จนถึงปี ค.ศ.1872 มีบริษัทของชาวอังกฤษเข้ามาตั้งถึงห้าบริษัทด้วยกัน ถือได้ว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนแรกๆ ของบรรดา Expat ในไทเปเลยทีเดียว (ในปัจจุบันบรรดา Expat ส่วนใหญ่พักอาศัยกันอยู่แถวเทียนหมู่) เมื่อการค้าขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้มีการสร้างทางรถไฟเข้ามาช่วยในการขนส่ง สถานีรถไฟแห่งแรกในไทเปจึงถือกำเนิดขึ้นที่ตี๋ฮว้าเจียนี้ในเดือนตุลาคมปี 1891 เป็นเส้นทางจีหลง-ไทเป แล้วได้มีการต่อรางไปทางตั้นสุ่ยทำการเปิดเดินรถเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1901 ทางรถไฟนี้มีมาจนถึงปีค.ศ.1937 จึงปิดตัวลง เมื่อพรรคกั๋วมินตั่งได้อพยพมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่เกาะนี้ ก็ได้เปลี่ยนชื่อถนนจาก 中街 มาเป็น 迪化街 ในปี ค.ศ.1947 โดยยืมชื่อเมือง 迪化 ในเขตซินเจียงมาตั้ง ซึ่งปัจจุบันนี้คือเมืองอูรุมชี – Ürümqi นั่นล่ะ

เอ…ว่าจะเล่าย่อๆ ปาเข้าไปสองย่อหน้าเชียว😁 ไม่ว่ากันนะคะ ฉันประเภทอ่านมาเยอะ พอจะเล่าก็เลยเรื่อยเปื่อยไปบ้าง แหะๆ กลับมาเล่าถึงทริปเยือนตี๋ฮว้าเจียล่าสุดของคุณนายฮวงกับคุณนายโฮกันดีกว่า หลังจากที่พบเจอกับเพื่อนไต้หวันของคุณนายโฮกันแล้ว คุณไกด์กิตติมศักดิ์ผู้เติบโตมาในย่านนี้ รู้จักร้านเก่าแก่ของจริงทุกร้าน พูดถึงร้านเก่าแก่ ฉันเห็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะแถบเกียวโต definition ของคำว่าร้านเก่าแก่ของชาวเกียวโตนั้น จะต้องอยู่ยืนยงมาเกินร้อยปีขึ้นไป!! โอ้มาย แต่ฉันก็มาคิดๆ ดู คงเป็นเพราะเดี๋ยวนี้มีแต่คนอ้างกันว่าเป็นร้านเก่าแก่กันเกร่อมั้ง ทั้งๆ ที่บางทีตั้งมาได้ยี่สิบปีเท่านั้น อันนี้มันก็พูดยากเนอะ ฉันถึงบางทีต้องถามคู่สนทนาให้เขาช่วยบอก definition ของคำนั้นๆ ที่คุยกันอยู่ด้วยเพื่อความกระจ่างแจ้งกัน😉 อู๊ย ไม่เข้าเรื่องซะทีอิฉัน🤣 เอ้า เจอกันแล้วๆ เพื่อนก็พาเราเดินไปบนตี๋ฮว้าเจียมุ่งขึ้นเหนือ ซึ่งทำให้ฉันเพิ่งรู้ว่าถนนเส้นนี้ยาวมาก ฉันไม่เคยเดินมาถึงช่วงนั้นเลย มากี่หนก็เดินถึงแค่แยกถนนหมินเซิง แล้วก็เลี้ยวลงไปเดินต่อริมแม่น้ำที่ทางเข้าหลักของต้าเต้าเฉิงในปัจจุบัน 

ฟู้ดคอร์ทกลางแจ้งหน้าวัด
อาหารบ้านๆ แต่อร่อยไม่แพ้ใคร
อาหารบ้านๆที่พวกเรากินกัน

แล้วอิฉันก็ต้องตื่นเต้นกรี๊ดกร๊าดมาก ที่กินจุดหมายที่คุณเพื่อนพามานั้นคือ ฟู้ดคอร์ทกลางแจ้ง (อันนี้ฉันตั้งเองค่ะ😁) หน้าวัด 大稻埕慈聖宮 – ต้าเต้าเฉิงฉือเซิ่งกง (No. 17, Lane 49, Bao’an St, Datong District, Taipei City) ที่ฉันดูในรายการทีวีหลายรายการ แล้วก็นั่งสงสัยกันว่าอยู่ตรงไหน เพราะไปตี๋ฮว้าเจียกี่รอบก็ไม่เคยเห็นสักที เย้ ในที่สุดก็เจอแล้ว😊

หน้าวัดต้าเต้าเฉิงฉือเซิ่งกง

วัดนี้เป็นหนึ่งในสามวัดหลักของบริเวณต้าเต้าเฉิงนี้ค่ะ สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1864 อีกสองวัดก็คือวัด 法主公 – ฝาจู่กง กับวัด 台北霞海城隍廟 – ไถเป่ยเสียไห่เฉิงหวงเมี่ยว ที่ฉันเคยเล่าให้ฟังไปแล้วในบทเยว่เซี่ยเหล่าเหริน ที่หน้าวัด 大稻埕慈聖宮 – ต้าเต้าเฉิงฉือเซิ่งกง มีร้านขายอาหารเรียงกันเป็นแถวยาวพอควรเลยล่ะ ถ้าถามอากู๋พิมพ์คำว่า 大稻埕慈聖宮 เข้าไป คำตอบที่ขึ้นมาคือแหล่งรวมอาหารอร่อยที่คนท้องถิ่นมากินกันเนืองแน่นตั้งแต่เช้า คุณเพื่อนบอกว่า 6-7 โมงเช้าก็เริ่มขายกันแล้ว ขายจนบ่ายสองก็หมด หรือบางทีอาหารอาจหมดก่อนนั้นซะอีก

ร้านขาหมูหมี่สั่วที่มีคนรอคิวกิน

ซึ่งก็จริงค่ะ เพราะเราไปถึงเลยเที่ยงครึ่งไปนิดหน่อยแล้ว ของอร่อยหลายอย่างขายหมดแล้วเลยอดชิม ถ้าจะกินก็ต้องมาแต่เช้า แต่ไม่เป็นไรค่ะ ฉันตั้งใจไว้แล้วว่าจะชวนคุณชายไปโซ้ย breakfast กันที่นั่นสักวันนึงในอนาคตแน่ๆ คุณเพื่อนชี้เป้าของอร่อยให้สองสามอย่าง อร่อยแบบคนยืนต่อคิวกันน่ะ มีขาหมูหมี่สั่ว ไก่ม้วน (แต่พวกเรากินข้าวร้านที่อยู่หน้าลานวัดทางฝั่งซ้าย ถ้าหันหน้าเข้าวัดนะคะ) สองร้านนี้ฉันเห็นคิวยาวเลยปล่อยไปก่อน มีโอกาสคงได้ชิมสักวันนึงล่ะนะ😋

Food stall เรียงเป็นแถวยาว ร้านใกล้สุดในภาพนี้คือ ร้านขายเนื้อฉลามรมควัน ขึ้นชื่อเหมือนกัน

ร้านไก่ม้วนที่คิวยาวเหยียดจนคุณนายฮวงถอดใจ😋

พอพวกเรากินเสร็จก็เข้าไปไหว้พระกัน คุณเพื่อนเล่าให้ฟังว่า วัดนี้สร้างขึ้นโดยพ่อค้าที่อพยพเข้ามาค้าขายที่นี่ แล้วก็ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่หม่าจู่มาจากบ้านเกิด (ซึ่งส่วนมากก็เป็นชาวเมืองฝูเจี้ยน ที่อพยพข้ามช่องแคบไต้หวันมากัน) เพื่อให้ช่วยคุ้มครองเรือสินค้าที่เข้า-ออกท่าเรือให้เดินทางราบรื่นปลอดภัย ในวัดมีจัดชุดธูปเทียนขายชุดละ 50 หยวน และใครไหว้ก็ต้องออกเงินค่าธูปเทียนเองนะ นี่คุณเพื่อนบอกมาค่ะ ไม่งั้นสิ่งที่คุณขอจะไม่สัมฤทธิ์ผล จุดเทียนปักที่โถงกลางก่อน ปักเล่มละด้านนะคะ มีที่ปักด้านซ้ายและขวา จากนั้นก็เริ่มไหว้ปักธูปหนึ่งดอกที่กระถางธูปกลางก่อน แล้วเดินออกประตูด้านซ้ายไปไหว้เทพเจ้าให้ครบ แล้วกลับมาทางประตูด้านข้างฝั่งขวา ทำเช่นเดียวกัน โดยปักธูปหนึ่งดอกในแต่ละกระถางที่ศาลของเทพเจ้าแต่ละองค์ ถ้าไม่แน่ใจพิธีการไหว้ก็ถามคนดูแลวัดที่ขายธูปให้ก็ได้ค่ะ

ขนมเปี๊ยะร้านเก่าแก่ ลูกเล็กๆในถุงนั่นคล้ายกับของไทยเรา แต่เป็นรสเค็ม ไม่ใช่รสหวานแบบบ้านเรา อร่อยดีเหมือนกัน

ไหว้พระเสร็จเราก็เดินไปซื้อขนมเปี๊ยะร้านเก่าแก่หลายเจเนอเรชั่นแถวๆ นั้น ในร้านมีขนมปังสไตล์ไต้หวันขายด้วยนะ ไม่ได้มีแต่ขนมเปี๊ยะจีนๆ อ้อ…บอกชื่อร้านซะหน่อย ร้านชื่อ 龍月堂糕餅舖 อยู่ที่ No.169, Section 2, Yanping N Rd, Datong District, Taipei City ฉันซื้ออย่างละชิ้นกลับมาฝากคุณชาย มีที่สะดุดตาที่ฉันไม่เคยกินมาก่อนคือ ขนมโก๋รสบ๊วยค่ะ ถ้าถามว่าอร่อยมั้ย มันก็แปลกดีอะนะ กินได้ค่ะ ฉันเป็นพวกลองกินดูของแปลกๆ ไม่เคยกินนี่นะ แต่คุณชายชอบขนมงาดำ ฮีบอกอร่อยดี ขนมถั่วก็โอ ส่วนฉันติดใจขนมเปี๊ยะเนยสด – 奶油餅 แฮะ หวานนิดๆ ครีมมี่หน่อยๆ ชอบ😋

มีร้านขนมหมัวจี๋ (ที่คนไทยเรียกโมจิ) เก่าแก่ด้วยนะคะ ถ้าเดินมาตามถนนตี๋ฮว้าเจียไปทางวัด 大稻埕慈聖宮 พอถึงแยกถนนเป่าอัน เลี้ยวขวา ร้านหมัวจี๋อยู่ตรงนั้นล่ะ พอดีว่าฉันถามดูแล้วเป็นหมัวจี๋ทำจากข้าวเหนียว ซึ่งฉันไม่ชอบกินเท่าไร ก็เลยไม่สนใจจะลอง ฉันชอบกินหมัวจี๋ที่ทำจากข้าวฟ่างมากกว่า มันนิ่มๆดี แต่หาซื้อยากหน่อย ไม่ค่อยเจอคนขาย ปกติ ถ้าไปแช่น้ำแร่ที่อูไหลก็จะซื้อตรงเหล่าเจียกลับมากินทุกที ร้านนั้นเขาทำสดๆให้เลย

เอาล่ะค่ะ โม้มาพอสมควรแล้ว ถ้ามีอะไรอยากเล่าอีกก็จะมาเล่าให้ฟังกันนะ หรือไม่ก็ถ้ามิตรรักแฟนคุณนายฮวงอยากรู้เรื่องอะไร ฝากน้องฮูกบอกมาได้ค่ะ เดี๋ยวจัดให้ ขอไปเอนหลังพักผ่อนก่อนน้า ไจ้เจี้ยน – 再見😘

 

Don`t copy text!