情人節 – ฉิงเหรินเจี๋ย

情人節 – ฉิงเหรินเจี๋ย

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– 情人節 – ฉิงเหรินเจี๋ย –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

นอกจากวันสารทจีนหรือที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่า ‘中元節 – จงหยวนเจี๋ย’ (ภาษาแต้จิ๋วออกเสียงว่า ตงง้วนโจ่ย) แล้ว เดือนเจ็ดตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน (農曆 – หนงลี่) ยังมีอีกเทศกาลนึงที่ฉันคิดว่า ออกจะแปลกอยู่สักหน่อย ที่ทำไมถึงมาอยู่ในช่วงกุ่ยเยว่ได้นะ เทศกาลนี้ก็คือ ‘七夕 – ชีซี’ ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน ถือเป็นวันแห่งความรักของคนจีน ภาษาจีนกลางเรียกว่า ‘情人節 – ฉิงเหรินเจี๋ย’ หรือจะเรียก ‘七夕 – ชีซี’ ก็ได้เหมือนกันค่ะ เคยท้วงคุณชายถึงประเด็นนี้ ฮีก็ตอบว่าไม่รู้สิ ฉันก็ถามต่อว่า แล้วยูไม่สงสัยมั่งเหรอว่า ทำไมวันแห่งความรักที่มันเป็นวันออกจะหวานชื่น มาอยู่ในเดือนปล่อยผี ฮีก็ยักไหล่ทำนองว่า แล้วเธอจะช่างสงสัยอะไรนักหนา ก็โบราณเขาว่ากันมาแบบนี้ แหม! ขออนุญาตมองบนหน่อยเหอะ😏

หลังจากไปค้นหากับอากู๋ อ่านดู แล้วก็ใช้วิชาเอกของอิฉัน ซึ่งก็คือวิชาเดาดิโอโลจี้ วิแคะออกมา (คือรู้สึกเขินที่จะใช้คำว่าวิเคราะห์น่ะค่ะ มันฟังวิชาการเกิ๊น😆) คิดว่านะคะ คงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติบวกกับตำนานพื้นบ้าน สองอย่างมาประจวบเหมาะเข้าด้วยกัน วันวาเลนไทน์ของชาวจีนเลยมาตกปุ๊อยู่ในช่วงนี้ มาฟังตำนานฉบับย่อๆ กันก่อนดีกว่านะ ตามตำนานที่ว่ากันมากว่า 2,600 ปีนั้น ลูกสาวคนสุดท้อง (織女 – จือ-นวี่) ที่ฉลาดน่ารักที่สุดในบรรดาลูกสาวทั้งเจ็ดของท่านเซียนบนสวรรค์ที่มีนามว่า ‘玉皇大帝 – อวี้หวงต้าตี้’ แถมฝีมือการทอเมฆของนางก็เป็นเลิศอีกต่างหาก อยู่มาวันหนึ่งนางเกิดเบื่องานทอเมฆขึ้นมา เลยแอบหนีลงมาเที่ยวในโลกมนุษย์ แล้วเกิดมาปิ๊งพบรักกับหนุ่มเลี้ยงวัวชื่อ ‘牛郎 – หนิวหลัง’ ที่คอยดูแลฝูงวัวของอวี้หวงต้าตี้อยู่ ทั้งสองจึงตกลงแต่งงานอยู่กินกันอย่างมีความสุข จนมีพยานรักเกิดมาถึงสองคน คุณนาย (เซียน) แม่เกิดรู้เข้า ก็โกรธมากที่ลูกสาวละทิ้งหน้าที่ทอเมฆ เลยมาเอาตัวลูกสาวกลับไป สาวทอเมฆกับหนุ่มเลี้ยงวัวเลยต้องอยู่กันคนละฟากของแม่น้ำสีเงิน (the Silver River) หรือทางช้างเผือก (the Milky Way) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทุกปีในวันที่ 7 เดือน 7 หมู่นกสาลิกา (Magpie) ที่เห็นใจในความรักของคนทั้งสองจะมารวมตัวกัน ก่อตัวเป็นสะพานข้ามทางช้างเผือก ให้คนทั้งสองได้ข้ามมาพบกัน คนจีนเลยถือวันนี้เป็นวันแห่งความรัก มีการเฉลิมฉลองให้กับความรักของคู่นี้ค่ะ (อยากเห็นเจ้านกสาลิกาที่ว่านี้คลิกดูได้เลยที่นี่ค่ะ >>> Taiwan blue magpie )

Cr. https://theculturetrip.com/

ว่ากันว่าในสมัยราชวงศ์ฮั่น พิธีการเฉลิมฉลองชีซีนี้ ดำเนินการตามพิธีกรรมแบบรัฐพิธีอย่างเป็นทางการกันทีเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้าการเฉลิมฉลองต่างๆ ก็เลื่อนไหลออกมาสู่ประชาชนทั่วไปด้วย โดยสาวๆ ทั้งหลายจะไปไหว้ขอพรจากจือ-นวี่ตามวัดต่างๆ มีการนำบรรดาข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากกระดาษมาเซ่นไหว้ พรที่ขอก็จะประมาณว่า ขอให้ฉลาด แล้วก็เก่งกาจในด้านเย็บปักถักร้อยเหมือนจือ-นวี่ เนื่องจากสมัยก่อน ผู้ชายชาวจีนถือว่า คุณสมบัติเรื่องการเย็บปักเป็นคุณสมบัติสำคัญในการพิจารณาเลือกหญิงสาวที่จะมาเป็นเมียและแม่ของลูก อันนี้ก็ตามความนิยมสมัยก่อนของชาวจีน ถ้าเป็นของไทยเราก็ต้อง ‘เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย’ ใช่ไหมคะ แล้วก็แน่นอนค่ะว่า สาวๆ ทั้งหลายก็ต้องอธิษฐานขอให้ได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ ที่จะรักและทนุถนอมเธอไปจนกว่าความตายจะมาพรากพวกเขาจากกัน นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลชีซี ยังเป็นโอกาสให้สาวๆ ทั้งหลายนำผลงานเย็บปักถักร้อยออกมาโชว์ แล้วก็มีการแข่งขันสนเข็มภายใต้แสงน้อยนิด (ประมาณแสงจากเตาถ่าน หรือพระจันทร์ครึ่งดวง) อันนี้นี่อิฉันว่าตาจะบอดก่อนจะได้ตำแหน่งนางงามสนเข็มไปครองเอาน่ะสิ 😓 นอกจากนี้ เทศกาลนี้ยังมีความสำคัญต่อคู่ที่เพิ่งแต่งงานใหม่อีกด้วยนะคะ คู่แต่งงานใหม่จะทำพิธีไหว้สาวทอเมฆกับหนุ่มเลี้ยงวัวเป็นครั้งสุดท้าย เป็นเสมือนสัญลักษณ์ว่าทั้งคู่จะรักกันยืนนาน มีชีวิตแต่งงานที่มีความสุข (ข้อนี้ฉันก็ว่าแปลกอีกนั่นล่ะ ในเมื่อท้ายที่สุด จือ-นวี่กับหนิวหลังต้องแยกกันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ โดยหนิวหลังต้องทำหน้าที่คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวอีกต่างหาก แล้วมันเป็นชีวิตแต่งงานที่มีความสุขตรงไหนเนี่ย 😅) ทางฝ่ายเจ้าสาวเองก็จะได้รับการต้อนรับจากทางครอบครัวสามี ที่ถือว่าเป็นครอบครัวใหม่ของเธอ

ในวันชีซีนี้ ชาวจีนจะมองขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่อหาดาวสองดวงคือ ดาวเวกา (Vega) กับดาวตานกอินทรี (Altair) ที่ส่องแสงสุกสกาวอยู่ในทางช้างเผือก (the Milky Way) ทั้งดาวเวกาและดาวตรานกอินทรีนี้ ต่างก็เป็นดาวที่สุกใสสว่างที่สุดในบรรดาดาวในกลุ่มของมันเอง และจะมีดาวดวงที่สามที่สว่างที่สุดจากอีกกลุ่มดาวนึง มาเป็นตัวเชื่อมโยงดาวทั้งสอง เกิดเป็นลักษณะที่เรียกว่า ‘สามเหลี่ยมฤดูร้อน – The Summer Triangle’ นี่ว่ากันตามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์นะคะ แต่ตำนานพื้นบ้านโรแมนติกของชาวจีนยังไม่หมดค่ะ กล่าวกันว่า ถ้าหากในวันชีซีนี้ เกิดมีฝนตกขึ้นมา ก็เป็นเพราะแม่น้ำสีเงินเอ่อล้นมากวาดทำลายสะพานนกสาลิกาไปซะ หรืออีกตำรานึงก็บอกว่า ฝนนั้นคือน้ำตาของสาวทอเมฆกับหนุ่มเลี้ยงวัว คู่รักที่ถูกพรากจากกัน และสืบเนื่องจากตำนานสะพานนกสาลิกาที่เป็นสะพานให้คู่รักได้มาพบกันปีละครั้งนี้เอง นกสาลิกาคู่จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตสมรสที่เป็นสุข ซื่อสัตย์มั่นคงต่อกัน

เป็นไงคะ ตำนานฉิงเหรินเจี๋ยของชาวจีน ออกจะโรแมนติกดีนะ ที่ไต้หวันนี่เลยได้ฉลองวันแห่งความรักกันสองรอบ วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ กับชีซีเจี๋ยซึ่งในปี 2020 นี้ตรงกับวันที่ 25 สิงหาคม ก็ดีค่ะ ฉลองวันแห่งความรัก ให้โลกนี้เต็มไปด้วยความรัก ช่วยกันเขี่ยความเกลียดชังทิ้งไป รักกันไว้เถิด🎵🎼 ถ้าใครอยากเป็นหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอเมฆ วันที่ 25 สิงหาคมนี้ ก็อย่าลืมออกมาพบกันเพื่อฉลองวันแห่งความรักของชาวจีนได้นะคะ 😉💖💑😊

情人節快樂 (ฉิงเหรินเจี๋ยไคว่เล่อ) หรือ 七夕節快樂 (ชีซีเจี๋ยไคว่เล่อ) – สุขสันต์วันแห่งความรักค่ะ

Don`t copy text!