ซ่งชิ่งหลิง

ซ่งชิ่งหลิง

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– ซ่งชิ่งหลิง –

ในบรรดาสามศรีพี่น้องตระกูลซ่ง ฉันชื่นชมซ่งชิ่งหลิงเป็นพิเศษ ในสายตาของฉันนั้น เธอคนนี้เป็น Great woman behind great man ตัวจริงเสียงจริงค่ะ ถึงแม้ว่าเธอจะเกิดมาในตระกูลมีอันจะกิน แต่เธอก็ได้อุทิศชีวิตของเธอ ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เพื่อช่วยเหลือพัฒนาความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมชาติ และยืนหยัดต่อสู้อย่างแน่วแน่มั่นคงในอุดมการณ์ของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะต้องเหินห่างจากพี่น้องก็ตาม

ซ่งชิ่งหลิง (宋慶齡) หรือที่ชาวโลกรู้จักกันดีในนาม ‘มาดามซุนยัตเซ็น’ เกิดที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1893 เธอเป็นคนเงียบๆ ช่างคิด เอาจริงเอาจังมากกว่าพี่สาวและน้องสาว ถูกส่งไปเรียนต่อที่อเมริกาพร้อมกับน้องสาวในปี ค.ศ.1907 แววรักชาติของซ่งชิ่งหลิงฉายเด่นชัดมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ในอเมริกา เมื่อซุนยัตเซ็นทำการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงสำเร็จในปี ค.ศ. 1911 ชาร์ลี ซ่ง ได้แจ้งข่าวดีนี้ต่อลูกสาวในอเมริกา พร้อมทั้งส่งธงของสาธารณรัฐใหม่ไปให้ ซ่งชิ่งหลิงได้ปีนขึ้นบนเก้าอี้ ปลดธงมังกรของราชวงศ์ชิงลง และนำธงห้าสีของสาธารณรัฐจีนขึ้นแทนที่พร้อมกับตะโกนว่า “สิ้นยุคมังกรแล้ว ธงสาธารณรัฐจะโบกสะบัดแทน” แถมยังเขียนบทความลงในนิตยสารของทางวิทยาลัยใจความประมาณว่า  ในความเห็นของนักวิชาการนักการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายๆ คน ต่างเห็นพ้องกันว่า หนึ่งในเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 นับตั้งแต่สงครามวอเตอร์ลูมาก็คือ การปฎิวัติในประเทศจีน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอันรุ่งโรจน์ เพราะมันหมายถึงการปลดปล่อยชาวจีนจากการเป็นทาสของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีมานานกว่าสี่พันปี

สาวน้อยซ่งชิ่งหลิงมองโลกด้วยสายตาไร้เดียงสาเกินไป ว่าไหมคะ ความสำเร็จอันรุ่งโรจน์มันไม่ได้มาอย่างง่ายๆ หรอกค่ะ ตามที่ฉันเคยอ่านๆ มา ฉันว่าช่วงจากปลายราชวงศ์ชิงจนถึงช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปฎิวัติสำเร็จนั้น เป็นช่วงที่วุ่นวายเป็นที่สุด บรรดาผู้นำทางทหารทั้งหลายอยากตั้งตัวเป็นใหญ่กันทั้งนั้น ฉันว่าวุ่นวายแตกเป็นก๊กเป็นเหล่ายิ่งกว่าเรื่อง สามก๊ก ซะอีก เมื่อซ่งชิ่งหลิงจบการศึกษาจาก Wesleyan College เดินทางกลับมาถึงบ้านเกิดเมื่อปี 1913 ได้ไม่ทันไร ก็ต้องอพยพหนีภัยไปญี่ปุ่นทั้งตระกูลพร้อมกับซุนยัตเซ็น เพราะหยวนซื่อไข่ที่บีบบังคับให้ซุนยัตเซ็นลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี แล้วสวมตำแหน่งแทน จากนั้นก็ทำการกวาดล้างพวกที่สนับสนุนซุนยัตเซ็น ยังไม่พอค่ะ อยากจะเอาระบบจักรพรรดิกลับมาโดยตัวเองนั่นล่ะที่ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิซะเอง แต่ฟ้ามีตาค่ะ คนโลภมากอย่างหยวนซื่อไข่อยู่ได้ไม่นานก็ถึงจุดจบ

กลับมาเรื่องซ่งชิ่งหลิงกันดีกว่านะคะ เมื่อพี่สาวของเธอแต่งงาน จึงโอนหน้าที่เลขาของซุนยัตเซ็นมาให้เธอรับหน้าที่ต่อ ด้วยความศรัทธาในอุดมการณ์และตัวเจ้านาย สาวน้อยจึงตกหลุมรักเจ้านายตัวเองที่มีอายุมากกว่าถึง 27 ปี แน่นอนค่ะว่าพ่อแม่ต้องขัดขวาง ใครจะอยากให้ลูกสาวไปเป็นเมียน้อยของเพื่อนตัวเองใช่ไหมคะ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งสาวน้อยผู้ยึดมั่นในความรักได้ เธอหนีตามซุนยัตเซ็นไปทำพิธีแต่งงานกันที่ญี่ปุ่น จัดพิธีง่ายๆ ที่บ้านของเพื่อนชาวญี่ปุ่นของซุนยัตเซ็นในวันที่ 25 ตุลาคม 1915 หลังจากที่เขาหย่าขาดจากเมียคนแรกเรียบร้อย จากนั้นซ่งชิ่งหลิงก็ทำหน้าที่ดูแลสามีทั้งด้านการงานและส่วนตัว ร่วมต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศจีนให้ดีขึ้น เธอสนับสนุนให้สตรีมีส่วนร่วมในการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยการจัดตั้งองค์กรให้การศึกษาแก่หญิงสาวชาวจีน แต่น่าเสียดายที่ทั้งคู่มีเวลาต่อสู้เคียงข้างกันเพื่ออุดมการณ์ได้แค่สิบปี ซุนยัตเซ็นเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับในปี 1925

หลังจากการเสียชีวิตของดอกเตอร์ซุนยัตเซ็น พรรคกั๋วมินตั่งก็แตกแยกออกเป็นสองฝ่าย เจียงไคเช็คที่กุมอำนาจทางทหารของพรรค ก็ทำการกวาดล้างพวกฝ่ายซ้าย ที่เป็นผู้ติดตามและจงรักภักดีต่อซุนยัตเซ็น ซ่งชิ่งหลิงถึงจะเห็นใจผู้ร่วมอุดมการณ์ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เธอประนามเจียงไคเช็คว่าเป็นจอมเผด็จการ ทรยศต่อหลักการของสามีเธอ (ตรงนี้ขอเมาท์นิด ความเห็นส่วนตัวของฉันนะคะ หลังจากที่อ่านมาเยอะอยู่ ฉันว่าเจียงไคเช็คก็อยากจะตั้งตัวเป็นฮ่องเต้เหมือนกันนั่นล่ะ) และหนีออกจากจีนไปมอสโกในปี 1927 จากนั้นจึงไปเบอร์ลิน จนเวลาผ่านไปสี่ปี เธอได้เดินทางกลับมาเมืองจีนอีกครั้ง เพื่อทำการต่อสู้สืบสานอุดมการณ์ของสามีต่อ เธอได้ทำการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของเจียงไคเช็คต่อสาธารณชนอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะเดียวกันก็ทำงานเพื่อชาติด้วย โดยเฉพาะด้านสวัสดิการของเด็กและสตรี เธอได้จัดตั้งโรงพยาบาลใหม่ๆ ขึ้นหลายแห่ง รวมถึงศูนย์ดูแลอุปถัมภ์เด็กกำพร้าจากภัยสงครามกลางเมือง

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์รวมประเทศจัดตั้งขึ้นเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จในปี 1949 ซ่งชิ่งหลิงได้รับเชิญให้ร่วมรัฐบาล ดำรงตำแหน่งรองประธานของสาธารณรัฐประชาชนจีน รองจากประธานเหมาเจ๋อตง เธอตัดสินใจเข้าร่วมกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เพราะเธอเห็นว่าเป็นการทำงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนจีนจริงๆ เธอทำงานรณรงค์ด้านการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ รณรงค์เพื่อสวัสดิภาพของเด็กและสตรี จนได้รับรางวัล Stalin International Peace Prize เมื่อปี ค.ศ. 1951 เธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงในยุคเดียวกันและยุคต่อๆ มา เธอไม่เคยละทิ้งการดูแลจัดการสวัสดิการด้านสังคมให้กับเด็กและสตรีชาวจีนตลอดชีวิตของเธอ จึงไม่น่าประหลาดใจที่เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่มีคนนับถือมากที่สุดในประเทศจีน ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1981 รัฐบาลได้มอบตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนให้กับเธอ (เป็นคนเดียวที่ได้รับตำแหน่งนี้) ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในวันที่ 29 พฤษภาคมปีนั้น และได้ฝังเถ้ากระดูกของเธอไว้เคียงข้างกับบุพการีตามความต้องการของเธอที่สุสานในเมืองเซี่ยงไฮ้ และเปลี่ยนชื่อบริเวณสุสานเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอว่า Soong Ching-ling Memorial Park

ภาพวาดของดร.ซุนยัตเซ็นและผู้สนับสนุน แขวนอยู่ที่ผนังตรงทางเข้าตึกอนุสรณ์สถานซุนยัตเซ็นในไทเป ซ่งชิ่งหลิงอยู่ด้านขวามือของสามี และมีชื่อของแต่ละบุคคลกำกับไว้ในภาพวาด

สำหรับฉันแล้ว ซ่งชิ่งหลิงเป็นสตรีที่เข้มแข็งจริงๆ ค่ะ ทำงานสืบสานปณิธานที่สามีทิ้งไว้ให้ (ในยุคสมัยก่อนไม่ง่ายอย่างสมัยนี้หรอกนะ โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่) เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนเดินดินธรรมดา ทั้งๆ ที่เธอเองก็เกิดมาในตระกูลที่ร่ำรวยมีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลตระกูลหนึ่งของเมืองจีนในยุคนั้น ฉันเลื่อมใสในความรักมาตุภูมิและความแน่วแน่ในอุดมการณ์ของเธอจริงๆ (เราไม่พูดถึงว่าอุดมการณ์ของเธอคือลัทธิไหนนะคะ อุดมการณ์ตรงนี้ฉันหมายถึง ความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมแผ่นดิน ต้องทำความเข้าใจกันก่อน😊) แล้วถ้านี่เป็นคอลัมน์สไตล์หนังกำลังภายในล่ะก็ แบบนี้ในยุทธจักรคงต้องกล่าวว่า “ข้าน้อยขอคารวะซุนฮูหยินหนึ่งจอก” 

Don`t copy text!