เกาหลิงฮว้าเซ่อหุ้ย

เกาหลิงฮว้าเซ่อหุ้ย

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– เกาหลิงฮว้าเซ่อหุ้ย –

เมื่อปลายเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2018 ทางกระทรวงมหาดไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่า เกาะนี้ได้ก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ – 高齡化社會’ (เกาหลิงฮว้าเซ่อหุ้ย) ไปเรียบร้อยโรงเรียนไต้หวันซะแล้ว เพราะประชากรที่มีอายุเกิน 65 ปี มีจำนวนถึงร้อยละ 14.05 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่ไต้หวันเกษียณอายุการทำงานที่อายุ 65 ปีค่ะ ตอนมาถึงใหม่ๆ รู้ตัวเลขอายุเกษียณยังนึกชอบใจว่าดีจังแฮะ มากกว่าที่อื่นเขาตั้งห้าปี คือในความรู้สึกฉัน คนอายุหกสิบยังมีกำลังวังชาที่จะทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ ถ้าไม่ได้ทำอะไร อยู่บ้านเฉยๆ มันก็จะมีแต่ถดถอยทั้งทางร่างกายและสมองนะ แต่ถ้าคนที่เบื่อการทำงาน นั่นก็อีกเรื่องนึง อาจจะอยากเกษียณเร็วๆ จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ

พอได้ยินข่าวนี้ คุณชายพูดเลยว่า รุ่นเราเกษียณนี่ท่าทางจะแย่ เนื่องจากถึงเวลานั้น มดงานในระบบมีน้อย เพราะอัตราการเกิดก็ต่ำลงด้วย เงินที่จะส่งเข้าสารพัด ‘เป่า’ มันก็ต้องน้อยตามลงไป บรรดาสวัสดิการสังคมทั้งหลายก็คงจะลดระดับความฟู่ฟ่าลงไป เล่ามาถึงตรงนี้ คงต้องอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับบรรดาเป่าทั้งหลายนิดนึง เคยเล่าให้ฟังไปแล้วถึงระบบ National Health Insurance หรือที่ชาวไต้หวันเรียกกันย่อๆ ว่า ‘建保 – เจี้ยนเป่า’ แต่เกาะนี้ยังมีอีกหลาย 保 นะ เป่าแรกคือ ‘國保 – กั๋วเป่า’ ซึ่งก็คือ ระบบประกันสังคมสำหรับคนไต้หวันที่ไม่มีงานทำ สำหรับกั๋วเป่ากับเจี้ยนเป่า ถ้าจ่ายเอง เอกสารแจ้งเก็บเงินจะมาทุกสองเดือน เราเอาใบนี้ไปจ่ายได้แทบจะทุกที่ ตามร้านสะดวกซื้อก็ได้ ธนาคารก็ได้ ไปรษณีย์ก็ได้ หรือจ่ายออนไลน์ก็ยังได้ ทุกช่องทางจะมีระบุเงื่อนไขการจ่ายแนบมาด้วยเสร็จสรรพ เช่น จ่ายที่ไปรษณีย์ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ถ้าไปจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อต้องเสียเพิ่ม 4 หยวนให้ร้านสะดวกซื้อเป็นค่าดำเนินการจัดเก็บ

ร้านอาหารนี้ เจ้าของร้านรับแต่พนักงานสูงวัย จุดประสงค์คือ ให้พวกเขาออกมาทำงานตามกำลัง จะได้ไม่เฉาอยู่บ้าน มีทั้งทำงานในครัว เสิร์ฟอาหาร หรือขายข้าวกล่องด้านหน้าร้าน จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

ตานี้มาว่ากันถึงเป่าต่อไป ที่ไต้หวันถ้าคนที่มีงานทำ จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสังคมทุกเดือน โดยหักจากเงินเดือนตามอัตรารายได้ของแต่ละคน แล้วหน่วยงานผู้ว่าจ้างก็ต้องช่วยจ่ายอีกเท่าไรก็ว่ากันไปตามกฎ เป่าสำหรับคนทำงานต้องจ่ายนี้ มีแบ่งเรียกกันสามชื่อคือ ‘勞保 – เหลาเป่า’ เป็นของแรงงานทั่วไปตามบริษัทเอกชน พวกแรงงานรายวันก็จัดอยู่ในประเภทนี้ แต่ถ้าของทหารเรียกว่า ‘軍保 – จวินเป่า’ ถ้าของครูและข้าราชการเรียกว่า ‘กงเป่า – 公保’ ระบบประกันสังคมเหล่านี้มีสวัสดิการความช่วยเหลือที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปนิดหน่อย แต่ที่ฉันแปลกใจ (แล้วก็ชอบด้วย) คือ เงินช่วยงานศพในกรณีที่บุพการีหรือคู่สมรสเสียชีวิต โดยเอาเอกสารการจัดงานศพจากทาง funeral home ยื่นขอเบิกได้ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยนะ อย่างที่รู้มาคือประมาณแปดหมื่นจากกงเป่า หกหมื่นจากทางเหลาเป่า ซึ่งสำหรับกั๋วเป่าก็มีสวัสดิการนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ฉันนึกว่าจะมีแค่เวลาตกงาน หรือได้รับเงินหลังจากเกษียณแล้วแค่นั้นซะอีก เอาเป็นว่าขอออธิบายระบบสารพัด ‘保 – เป่า” ทั้งหลายแต่เพียงแค่นี้ละกันนะ ไม่งั้นจะมึนกันซะก่อน😉

แว่นขยายที่ห้อยไว้กับชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ต เอาไว้ให้อ่านฉลากบนซองบรรจุภัณฑ์

กลับมาว่าเรื่องของสังคมผู้สูงอายุกันต่อ อ้อ! ก่อนจะลืม ตามปฏิทินจีนวันที่ 9 เดือน 9 ถือเป็น วันผู้สูงอายุของไต้หวัน หรือที่เรียกในภาษาจีนกลางว่า ‘重陽節 – ฉงหยังเจี๋ย’ ที่เลือกวันนี้เพราะเลข 9 ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ‘จิ่ว-九’ ซึ่งพ้องเสียงกับ 久 ที่แปลว่า ‘นาน” ดังนั้น วันที่ 9 เดือน 9 จึงเป็น ‘จิ๋วจิ่ว’ = 久久= นานๆ ความหมายคือ ให้ผู้สูงอายุอยู่กับเรานานๆ ดีไหมคะ 😉 ตอนมาถึงเกาะนี้แรกๆ ก็พอจะรู้ว่ามีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุบ้าง เช่น พออายุครบ 65 ปี ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเจี้ยนเป่าแล้ว แล้วก็ตอนเรียนภาษาจีนที่ซือต้า จำได้ว่าเหล่าซือเคยคุยให้ฟังประมาณว่า ผู้สูงอายุที่บ้านอยู่ในไทเป จะได้บัตรอีซี่การ์ดที่นังรถเมล์ได้ฟรีวันละสองเที่ยว เพราะรัฐบาลสนับสนุนให้ผู้สูงอายุออกมานอกบ้าน พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือเดินเล่นไปมาก็ยังดีกว่าอยู่บ้าน เนื่องจากเล็งเห็นว่า จะดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจ แบบนี้ก็ไม่เจ็บป่วยง่าย รัฐก็ไม่ต้องมาเสียเงินกับการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยมากนัก ตอนนั้นฟังแล้วก็คิดว่า เออ มันก็ดีนะที่เขาคิดเผื่อไว้ก่อน ให้คนสุขภาพแข็งแรง ดีกว่ามาจ่ายค่ารักษาพยาบาลกัน

แล้วเมื่อครั้งที่ฉันยังสอนภาษาไทยให้โรงเรียนประถมแถวตึกไทเป 101 ตอนกลางวันฉันก็มักเดินออกมาหาข้าวกลางวันกินในบรรดาห้างสรรพสินค้าแถวนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่ง นั่งกินข้าวมันไก่อยู่ในฟู้ดคอร์ต เผอิญได้ที่นั่งเป็นโต๊ะยาว เลยแอบได้ยินอาอึ้มคนหนึ่งคุยให้สาวออฟฟิศที่นั่งติดกันฟังว่า แก๊งอาอึ้มที่นั่งเมาท์แตกกันอยู่ตรงนี้น่ะ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มารู้จักกันที่นี่แหละ พอพวกลูกๆ ออกไปทำงานกันแล้ว พวกอาอึ้มก็นั่งรถออกมากินข้าวกลางวันกันที่นี่ นั่งเมาท์ๆ กันไปเพลินๆ บ่ายสามบ่ายสี่ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ฉันได้ยินแบบนี้แล้วก็ อิจฉาบรรดาซีเนียร์ที่นี่จริงเลย อย่างว่าล่ะนะคะ การเดินทางสะดวกสบาย ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า ก็มีที่นั่งสำหรับคนแก่แน่ๆ อาอึ้ม อาม่าทั้งหลายก็ออกมากันสิ จะอยู่บ้านทำไมให้เฉาเปล่าๆ แล้วก็เคยเจอกับอาอึ้มบ้านติดกัน แกจะไปนั่งรถเมล์ไปเรียนถักโครเชต์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง แกคุยให้ฟังว่ามีคอร์สสอนนู่นนี่เยอะเลย ถ้าฉันสนใจก็ไปเรียนได้ แต่ต้องจ่ายเงินค่าเรียนเอง สำหรับอาอึ้มไม่ต้อง ซีเนียร์เรียนฟรี แล้วอาอึ้มก็เอาโปรแกรมตารางคอร์สต่างๆ มาให้ฉันในอีกสองสามวันต่อมา เยอะจริงๆ ค่ะ มีทั้งคอร์สพวกงานฝีมือ ภาษาต่างๆ แม้แต่คอร์สสอนคอมพิวเตอร์ก็มี แหม เล่นเอาอยากจะกดไลก์ให้สักล้านครั้ง เตรียมการให้ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพกันขนาดนี้

นอกจากที่เล่าประสบการณ์ที่เจอเองมาแล้ว ฉันก็สงสัยว่า แล้วถ้าไม่ใช่ผู้สูงอายุชาวไทเปล่ะ จะมีสวัสดิการอะไรไหม ลองค้นข้อมูลดู โอ้โฮ มีเยอะเชียว เล่นเอาตาลายเลยตอนอ่านเว็บไซต์ของทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่น😅 ฉันจะจำหมดไหมเนี่ย ถึงเวลาที่มีสิทธิ์ใช้ได้น่ะ แต่ที่คงจะจำได้และได้ใช้แน่ๆ คือ ผ่าต้อกระจกฟรีเนี่ยล่ะค่ะ แฮ่ะๆ เอาเป็นว่า เล่าให้ฟังกันนิดหน่อยละกันนะคะ เริ่มจากสวัสดิการจากรัฐบาลกลางก่อนนะคะ โดยเน้นที่กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ระดับกลาง-ต่ำ

เรื่องแรกคือ ผู้สูงอายุสามารถยื่นคำร้องขอเงินค่าครองชีพรายเดือนเป็นจำนวนเงิน 3,879 หรือ 7,759 หยวน ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

เรื่องที่สองคือ ถ้ามีผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยหนัก (หมายถึงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) และไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านอื่นจากรัฐ เช่น ไม่ได้เข้าพำนักในสถานพยาบาลของรัฐ (เนื่องจากไม่มีที่ว่างหรือเหตุใดก็แล้วแต่) หรือไม่มีบริการการดูแลรักษาพยาบาลถึงที่บ้าน และทางครอบครัวไม่สามารถจ้างคนมาดูแลแทนได้ คนในครอบครัวต้องดูแลเอง ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ ในกรณีเช่นนี้ สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยช่วยเหลือเดือนละ 5,000 หยวนได้ ที่หน่วยสวัสดิการสังคมในเขตที่มีทะเบียนบ้านอยู่

เรื่องที่สามคือ การทำฟันปลอมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อสุขภาพช่องปากและคุณภาพชีวิตของซีเนียร์ รัฐบาลกลางได้มีการจัดตั้งงบประมาณเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ

ตานี้ก็มาถึงสวัสดิการของผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในละแวกไทเป (คือเมืองไทเป+เมืองนิวไทเป) มีหลายเรื่องเช่นกันค่ะ คุยให้ฟังพอเป็นตัวอย่างละกันนะคะ ถ้าให้แจกแจงหมดคงต้องมีภาคสองภาคสามแน่ๆ 😄 เริ่มจากสวัสดิการที่ฉันชอบก่อนเลย ฮิฮิ… เพื่อให้เป็นสังคมผู้สูงอายุแบบมีระดับหน่อย ก็ต้องให้ชาวซีเนียร์เข้าชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ฟรี (ที่เป็นของรัฐนะคะ) รอหกสิบห้าก่อนเหอะ คุณนายฮวงจะไป National Palace Museum กับ Fine Art Museum ทุกเดือนเลย 😉 รายการลดแลกแจกแถมถัดมาคือ น้องคนหนึ่งคุยให้ฟังว่า เคยพาแม่สามีไปใช้บริการตัดแว่นฟรีที่ร้านแว่นแถวๆ บ้าน จะมีร้านที่ร่วมรายการกับทางเขตแต่ละเขต โดยต้องไปตามเขตทะเบียนบ้านของตน แล้วก็ไม่เคยใช้สิทธิ์นี้มาก่อน แน่นอนค่ะว่า ถ้าของฟรีเลยก็ต้องสเปกตามที่กำหนดเท่านั้น แต่ถ้าไม่ชอบกรอบแบบนี้ เลนส์แบบนั้น อยากได้พิเศษยังไงก็ต้องจ่ายเพิ่มส่วนต่างเอง

รูปตัวหนังสือในทีวีที่ตัวใหญ่ เพื่อผู้สูงอายุจะได้เห็นชัดๆ

แล้วก็อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า รัฐสนับสนุนให้ซีเนียร์ออกจากบ้านน่ะ ทางเทศบาลนครจะออกบัตรเดินทางผู้สูงอายุ (敬老悠遊卡 – จิ้งเหล่าโยวโหยวข่า) ให้กับพลเมืองสูงวัยที่อายุครบ 65 ปี ในแต่ละเดือนจะมีแต้มอยู่ในบัตรให้ 480 แต้ม โดย 1 แต้มมีค่าเท่ากับ 1 หยวน ใช้บริการรถเมล์ รถไฟ รถแท็กซี่สำหรับซีเนียร์ ฯลฯ ได้หมด ส่วนลดเท่าไหร่หักจ่ายยังไงว่ากันไปตามกฎของแต่ละระบบขนส่งมวลชน ถ้าแต้มหมดก่อนในเวลาหนึ่งเดือนก็เติมเงินเอง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ที่ Sport Center ในแต่ละเขตได้อีกเช่นกัน จ่ายค่าเข้าใช้บริการอะไร หักแต้มกี่แต้ม หรือวันเวลาไหนเข้าฟรี อันนี้แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละที่ค่ะ เคยนั่งคุยกะเจ๊คนหนึ่งในห้องซาวน่าตอนไปว่ายน้ำที่ Sport Center  ของเขตบ้าน เจ๊แกติดใจอิฉันค่ะ เลยบอกว่า แกมาทุกเช้าวันพฤหัสฯ เพราะเข้าสระฟรีก่อนกี่โมงก็จำไม่ได้แล้ว แหะๆ😅 มาเวลาเดียวกับเจ๊สิ จะได้นั่งคุยกัน เอิ่ม! เจ๊ขา อิฉันยังไม่ซีเนียร์ถึงขั้นจะออกจากบ้านมาร่วมกลุ่มเมาท์แบบพวกกลุ่มอาอึ้มที่เคยเจอในฟู้ดคอร์ตนะคะ😆

Don`t copy text!