Birthday Snippets

Birthday Snippets

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– Birthday Snippets –

เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันที่ ‘อ่านเอา’ มีอายุครบรอบสองขวบ พอพูดถึงเรื่องวันเกิด เลยทำให้ฉันนึกถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อในเรื่องของวันเกิด อายุ อะไรประมาณนี้ ด้วยความที่เคยเป็นหมวยเยาวราชมาก่อน ก็เลยพอมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง แต่พอมาเป็นคุณนายฮวง ก็ได้รู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา ขอเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ก่อนละกันนะ

เคยเล่าไปแล้ว (ในบท Lost in Translation มั้ง) ว่า ชาวจีนนับอายุกันตั้งแต่ทารกยังอยู่ในท้องแม่ (เรื่องนี้รู้มาตั้งแต่สมัยเป็นหมวยเยาวราชแล้ว) เกิดมาปุ๊ปก็มีอายุหนึ่งขวบเรียบร้อย ดังนั้น หนึ่งปีให้หลังจึงถือเป็นการฉลองอายุครบสองขวบ ซึ่งในการฉลองนี้จะมีการเตรียมของที่มีความหมายต่างๆ ให้เด็กคว้าจับ (เรียกพิธีนี้ว่า 抓週 – จวาโจว) ถือเป็นการทำนายว่าโตขึ้นอนาคตเด็กจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเด็กคว้าเงิน พ่อแม่ก็จะดีใจว่าลูกจะร่ำรวยเงินทอง อาจเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ทำมาค้าขึ้นสุดๆ อันนี้นี่ฉันเห็นในหนังจีนแนวพีเรียดมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ฉันคิดว่าสมัยนี้คงไม่มีใครยึดถือธรรมเนียมนี้กันเท่าไหร่แล้วมั้ง ส่วนใหญ่ก็เห็นให้เด็กเป่าเทียนบนเค้กวันเกิดกันซะมากกว่า แต่ความรู้ใหม่เรื่องการนับอายุที่เพิ่งมารู้ตอนมาเป็นคุณนายฮวงนี่สิ ที่ทำให้ฉันเริ่มสังเกตดูว่า มีแนวโน้มเป็นไปตามความเชื่อของชาวจีนไหม

ฉันมาฉุกใจสังเกตเอาตอนที่ได้ข่าว เดวิด โบวี เสียชีวิตที่อายุ 69 ปี จำได้ว่าตอนมาถึงแรกๆ จะงงกับวิธีการบอกอายุของคนที่นี่ คือเวลาคนถามอายุเท่าไหร่ ถ้าอายุที่ลงด้วยเลข 9 เช่น 19, 29, 39, 49, 59… เป็นต้น เขาจะไม่บอกอายุจริงนี้ จะข้ามไปหนึ่งปี บอกว่าอายุ 20, 30, 40, 50, 60… ไปเลย เอ! ไหงงั้นหว่าถามหาเหตุผลกับคนรอบตัวดู มีน้องคนหนึ่งอยู่ที่นี่มานานเกินยี่สิบปีได้แล้ว น้องบอกว่าคือ เหมือนกับเขากลัวกันว่าจะอยู่ไม่ถึงเลขหลักใหม่ คือเลขเก้ามันเกือบพ้นไปขึ้นเลขหลักใหม่แล้ว ก็บอกเลขหลักใหม่ไปเลยแล้วกัน แถมเล่าขำๆ ว่า ตอนน้องมาใหม่ๆ ก็เถียงแม่สามีว่าจำอายุลูกชายผิดแล้วล่ะ สามีน้องปีนี้เพิ่งอายุ 29 เอง ไม่ใช่ 30!! เป็นเรื่องสิคะ😅 ฉันฟังแล้วก็ขำว่า ไปเถียงกะแม่สามีเนี่ยนะ มีหรือที่เขาจะจำอายุลูกชายคนเดียวของเขาไม่ได้😂😁 ถามคุณชาย ฮีก็อธิบายประมาณนี้เหมือนกัน น้องคนไทยอีกคนที่นางอยู่มาน่าจะเกือบสามสิบปีได้ จนแทบจะกลายเป็นชาวไต้หวันไปแล้ว นางก็อธิบายแบบนี้เหมือนกัน ฟังแล้วก็ออกจะงงๆ เล็กน้อย คือรู้สึกมันไม่ค่อยจะเมกเซนส์เอาซะเลยสำหรับฉันน่ะ

แต่พอมานั่งดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Goblin’ ที่ ‘กงยู’ ขวัญใจอิฉันแสดงนำ ตัวนางเอกเจอยมทูตมาเยี่ยมเยือนครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบ พออายุ 19 ปี ก็มาเจอกับพระเอกและยมทูต (ที่เป็นพระรองของเรื่อง) แล้วก็มีเรื่องให้เฉียดความตายหลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระเอกจึงรอดพ้นมาฉลองวันเกิดครบ 20 ปีได้ แต่มีฉากที่ยมทูตอธิบายให้นางเอกฟังประมาณว่า ถึงแม้ว่าเธอจะรอดพ้นความตายมาได้ แต่ทุกๆ อายุที่ลงด้วยเลขเก้า เธอก็จะต้องพบกับเรื่องเฉียดตายอีก (ซึ่งอาจจะไม่โชคดีรอดไปได้) จะต้องเจอกับยมทูตที่อาจจะไม่ใช่เขา (ที่กลายมาเป็นเพื่อนกันไปแล้ว) อาจจะเป็นยมทูตคนอื่นก็ได้ ตอนท้ายเรื่องนางเอกมาเสียชีวิตที่อายุ 29 ปี ดูเรื่องนี้จบเลยตอกย้ำถึงความเชื่อเรื่องนี้ของชาวจีนไปเลยว่า คงจริงที่เขาบอกอายุข้ามตัวเลขเก้ากันมาแต่โบราณ ก็ชาวเกาหลี ชาวญี่ปุ่น ชาวจีนนั้นมีต้นกำเนิดรากฐานมาจากที่แห่งเดียวกันนี่นา สำหรับในกรณีของ เดวิด โบวี ก็เป็นตามความเชื่อนี้จริงๆ He couldn’t make it to 70 years old…RIP…May God bless your soul.

เรื่องถัดมาคือการฉลองวันเกิดของผู้สูงอายุ ขออธิบายเพิ่มนิดนึงว่า ชาวจีนนิยมทำการฉลองวันเกิดให้เด็กทารกแล้วก็ผู้สูงอายุ ช่วงอายุตรงกลางไม่ค่อยนิยมฉลองกัน นี่หมายถึงสมัยโบราณนะคะ จำได้ว่าสมัยเด็กๆ จะได้ยินบ่อยๆ ว่า ฉลองแซยิดครบ 60 ปี ตอนนั้นก็คิดว่า อือ ท่าทางคนจีนเราจะเริ่มนับว่าเป็นผู้สูงวัยตอนอายุหกสิบมั้งเนี่ย แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็รู้เพิ่มขึ้นมาอีกนิดว่า การฉลองที่อายุ 60 70 80 90 ปีนั้น จะมีความสำคัญมากหน่อยเรียกกันว่า 大壽 (อ่านว่าต้าโซ่ว) ซึ่งอันนี้ฉันว่าสอดคล้องกับเรื่องที่ก้าวข้ามพ้นเลข 9 มาได้มั้ง เลยฉลองใหญ่กันซะหน่อย แต่เพิ่งมารู้ตอนมาอยู่ที่นี่ว่า คนจีนจะไม่ฉลองหลังวันเกิด ถ้าจะจัดงานวันเกิด ก็ต้องจัดงานฉลองก่อนหรือตรงวันเกิดพอดี ห้ามฉลองหลังวันเกิด ซึ่งเหตุผลตรงนี้ไม่มีใครบอกฉันได้ ถามอากู๋ก็ไม่บอกว่าทำไมเหมือนกัน

เนื่องจากคุณนายฮวงมีความสุขกับการกิน ก็ขอเล่าเกี่ยวกับของกินในวันเกิดละกัน ฮี่ฮี่😋 เริ่มจากสิ่งที่กินมาตั้งแต่เด็กๆ นะ พอถึงวันเกิดอาม่าก็ได้กินทุกปี จนถึงเดี๋ยวนี้ ภัตตาคารจีนร้านโปรดของบ้านเราก็จะจัดเตรียม ‘สิ่วท้อ’ เอาไว้ให้อาเตี่ยกับคุณหม่ามี้ตลอดทุกเที่ยวที่เราไปฉลองวันเกิดอาเตี่ยหรือวันเกิดคุณหม่ามี้

ภาพ : pinterest

‘壽桃~โซ่วเถา’ (Longevity Peach) หรือในภาษาแต้จิ๋วคือ ‘สิ่วท้อ’ เป็นซาลาเปาไส้ลูกบัว (หรือไส้ครีมยอดฮิตในบ้านเรา) ที่ใช้ในงานวันเกิดของผู้สูงอายุ ความหมายคือให้เจ้าของวันเกิดมีอายุมั่นขวัญยืน ลูกหลานอาจจัดตะกร้าที่เต็มไปด้วยโซ่วเถา มอบให้เป็นของขวัญวันเกิดแก่ญาติผู้ใหญ่ หรือแจกให้แขกที่มาร่วมอวยพรวันเกิดตามตำนานพื้นบ้านจีนนั้น ต้นท้ออมตะ (Peaches of Immortality) จะออกผลท้อทุกหนึ่งพันปี ใครก็ตามที่ได้กินผลท้อจากต้นท้อนี้ จะมีชีวิตอมตะ ดังนั้น ชาวจีนจึงใช้โซ่วเถามาเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายอวยพรให้มีอายุยืนยาว ปกติแล้วโซ่วเถาจะทำเป็นรูปลูกท้อสีขาวมีสีแดงแต้มที่ส่วนยอด ให้ดูเหมือนผลท้อของจริง เผอิญในรูปบนสุด(รูปปก) นี้เป็นโซ่วเถาจากภัตตาคารของเชฟมิชลินชาวฮ่องกง ที่สีม่วงเป็นสีของภัตตาคารน่ะค่ะ แต่ข้างในเป็นไส้ลูกบัวตามตำรับดั้งเดิมนะ 😉

คนไต้หวัน (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ) จะกิน 麵線 (อ่านว่าเมี่ยนเซี่ยนหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อหมี่ซั่ว) กับ 豬腳 (อ่านว่าจูเจี่ยวหรือที่คนไทยเรียกขาหมู, คากิ) ในวันคล้ายวันเกิด สำหรับหมี่ซั่วนั้น ชาวจีนแต้จิ๋วในเมืองไทยก็กินกัน (แต่มีบางครั้งใช้วุ้นเส้นต้มแกงจืดให้กินแทนก็ได้เหมือนกัน โดยเวลาปรุงห้ามตัดเส้นขาดออกจากกัน) ฉันเลยรู้ความหมายมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า หมายถึงให้อายุยืนยาวเหมือนเส้นหมี่ซั่ว (เส้นหมี่ซั่วที่ขายในซูเปอร์มาร์เกตที่นี่ บางยี่ห้อจะเขียนไว้หน้าซองว่า 長壽麵線 – ฉางโซ่วเมี่ยนเซี่ยน โดยฉางโซ่วแปลว่าอายุยืน) แต่ขาหมูนี่ไม่เคยรู้มาก่อนค่ะ เคยลองถามอาโกวของคุณชาย ได้คำอธิบายว่า เกี่ยวกับสารอาหาร ขาหมูมีคอลลาเจนเยอะ ดีต่อผิวพรรณและข้อต่อเช่นหัวเข่าของคนสูงวัย จะได้ดูอ่อนเยาว์เดินเหินคล่องแคล่ว และมีความหมายอีกอย่างนึงคือ ให้ขาของท่านผู้อาวุโสเจ้าของวันเกิด มั่นคงแข็งแรงเหมือนขาของหมู!! จะได้เดินแล้วไม่ล้มง่ายๆ ข้อสุดท้ายนี่ทำเอาฉันหัวเราะกิ๊กเลย แต่ยังไงกินของอร่อยแฮปปี้ในวันเกิดก็ดีออก จริงไหมคะ

Don`t copy text!