Old Normal

Old Normal

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– Old Normal –

ตั้งแต่ที่เจ้าโควิด-19 เริ่มอาละวาดมา ได้ยินได้เห็นคำว่า New Normal บ่อยเหลือเกิน สำหรับฉันแล้ว ชีวิตก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เป็นอีแจ๋วยังไงก็ยังเป็นอยู่ Social Distancing ก็ไม่รู้จะทำกับใคร เพราะส่วนใหญ่ก็อยู่บ้านคนเดียวเกือบตลอดเวลา แล้วที่ไต้หวันนี่จะว่าไป ฉันว่าชีวิตก็ยังคงดำเนินไปค่อนข้างปกติ ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็จะเป็นสถานที่ที่ปกติจะมีคนไปเยอะๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามเบสบอล ซึ่งเมื่อวานซืนนี้ (8 พฤษภาคม 2020) ได้มีการลองเปิดสนามให้คนเข้าไปชมไปเชียร์กันได้อีกครั้ง เนื่องจากไม่มีเคสผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลาติดต่อกันถึง 26 วัน (ที่ผ่านมาถ้ามีผู้ติดเชื้อคือ คนที่กลับมาจากต่างประเทศ และจนถึงวันนี้ 10 พ.ค. ไม่มีเคสผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลาติดต่อกันถึง 28 วันแล้วค่ะ😊 ) โดยให้เข้าได้แค่หนึ่งพันคน แล้วนั่งเก้าอี้มีระยะห่างพอสมควร อีกทั้งยังบันทึกชื่อและที่อยู่ไว้ด้วย และแน่นอนว่าต้องเช็กอุณหภูมิ ใส่หน้ากาอนามัยตาม New Normal ช่วงนี้ ถ้าทุกอย่างราบรื่นดี ครั้งต่อไปก็จะเพิ่มผู้ชมเป็นสองพันคน รอดูกันต่อไปค่ะว่า ชีวิตชาวเกาะนี้จะกลับไปเป็นแบบ Old Normal กันได้รึเปล่า😉

เลยคิดว่าอยากคุยให้ฟังถึงธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ของประเทศนี้ ที่ฉันพบเจอตั้งแต่มาเป็นชาวเกาะ (สามี) อยู่เนี่ย เอาเรื่องที่ตกหล่นลืมเล่า😅 เมื่อตอนตรุษจีนก่อนละกันนะคะ

ช่วงหลังวันปีใหม่ถึงวันตรุษจีน เป็นช่วงเวลาที่บริษัทในไต้หวันจัดงานเลี้ยง เพื่อตอบแทนพนักงานที่ทำงานกันมาทั้งปี งานเลี้ยงนี้เรียกว่า ‘尾牙 – เหว่ยหยา’ ต้นกำเนิดของวิถีปฏิบัตินี้คือ ในสมัยโบราณ ผู้ที่ทำการค้าขายต้องการไหว้ขอบคุณ ‘土地公 – ถู่ตี้กง’ หรือ ‘福德正神 – ฝูเต๋อเจิ้งเสิน’ (แปลเป็นไทยคงประมาณ เทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์พูนสุข) ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนจะรู้จักกันในนาม ‘เหล่าเอี๊ย หรือตี่จู่เอี๊ยะ’ ขอบคุณที่เทพเจ้าท่านช่วยดูแลให้ทำกิจการค้าได้อย่างราบรื่นดีมาตลอดทั้งปี เมื่อไหว้เสร็จก็นำอาหารมากินเลี้ยงกัน

ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นงานเลี้ยงประจำปีของบริษัทในไต้หวัน ไม่ว่าจะบริษัทเล็กใหญ่แค่ไหนก็ต้องมีเหว่ยหยา บริษัทเล็กๆ ก็คือไปจัดงานกันตามภัตตาคาร เหมาโต๊ะจีนกันกี่โต๊ะก็ว่ากันไปตามจำนวนพนักงาน ถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่เลย ก็อาจไปเหมาสนามกีฬาในร่มจัดงาน แล้วก็ไปจ้างให้โรงแรมใหญ่ๆ จัดทำอาหารกล่องแบบหรูหรา ประมาณอาหารสำหรับฮ่องเต้เจี๊ยะก็มี มาแจกให้พนักงานนั่งกิน พร้อมกับชมการแสดงบนเวที ที่จะจ้างศิลปินดังๆ มาแสดงกัน มีทั้งร้องเพลง หรือพวกเดี่ยวไมโครโฟนก็มี แล้วแต่งบประมาณของแต่ละบริษัท แล้วก็มีการจับฉลากแจกรางวัลให้กับพนักงานด้วย ถ้าบริษัทใหญ่หน่อยรางวัลก็จะอลังการกันมากหน่อย ฉันเคยดูข่าวเคยมีรางวัลที่หนึ่งเป็นรถยนต์ด้วย แต่อันนี้คือบริษัทยักษ์ใหญ่นะ ตรงนี้ขอเมาท์คุณชายนิดนะคะ ฮิฮิ คุณชายไม่เคยพาฉันไปงานเลี้ยงเหว่ยหยาด้วย ฮีบอกว่า “นี่มันงานเลี้ยงบริษัทคนจีนนะ ไม่ใช่บริษัทอเมริกัน จะได้พาเมียไปด้วย” แต่ละปีฮีก็ไม่เค้ยไม่เคยจับฉลากได้รางวัลอะไรกะใครเขา จนกระทั่งปีที่เก้าหรือสิบมั้ง ฮีพาฉันไปร่วมงานด้วย (ตอนนั้นทำงานให้ Post-production house เจ้าใหญ่ของที่นี่ มีพนักงานประมาณ 80 คนได้มั้ง) เนื่องจากปีก่อนนั้นลูกน้องในหน่วยงานฮีพาเมียไป ฮีเลยพาอิฉันไปเปิดหูเปิดตาเอาประสบการณ์จริงๆ กับเขาซะที ปรากฎว่าปีนั้น ตอนนายใหญ่จับฉลากแจกรางวัล มาถึงรางวัลกล้องดิจิตอลของโกดักแบบพกพาที่รูปทรงแบนๆ จอใหญ่ๆ (ที่ฉันอยากได้อยู่) โป๊ะเชะ! นายเรียกชื่อฮี เย้! ดีใจๆ ได้กล้องใหม่แล้ว ฮี่ฮี่ เดินกลับมาที่โต๊ะ หย่อนก้นลงบนเก้าอี้ไม่กี่นาที นายเรียกชื่อฮีอีกรอบ หนนี้เป็นรางวัลซองแดงเงินสด อะฮ้า! เห็นไหมล่ะ พานางกวักมาด้วย ได้ทีสองเด้งเลย 😜

อ้อ! เกือบลืมเล่า ที่ฉันออกจะขำและคิดว่าน่ารักดีก็คือ ในงานเลี้ยง พวกเจ้าของบริษัทจะต้องร่วมแสดงบนเวทีด้วย อาจจะเป็นร้องเพลง หรือบางคนเล่นมายากลก็มี จะว่าไปก็บันเทิงดีนะคะ ให้ลูกน้องเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของเจ้านายบ้าง แล้วก็บางครั้งทางบริษัทจะถือโอกาสประกาศโบนัสกันในงานก็มี แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละบริษัท ตรงนี้ก็มีเรื่องคุยให้ฟังเพิ่มกันนิดนึง เมื่อตอนปี 2011 กองถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Life of Pi ได้มาปักหลักถ่ายทำกันที่ไถจง เมืองใหญ่อันดับสามของเกาะนี้ (อยู่แถวๆ กลางเกาะ) คุณชายเป็นหนึ่งในสองคนไต้หวันที่ได้รับเลือกให้ร่วมทีม CG – Computer Graphics จากฮอลลีวูด เมื่อมีการจัดงานเลี้ยงเหว่ยหยา ตามธรรมเนียมที่นายใหญ่ต้องแสดงอะไรเล็กๆ น้อยๆ บนเวที งานนั้นคุณชาย (และฉัน ที่ดูจากคลิปที่คุณชายอัดมาฝาก) เลยมีโอกาสได้ฟังหลี่อัน (หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนาม ‘อัง ลี’) ร้องเพลง ผู้กำกับร้องแบบเขินเล็กน้อย น่ารักดีค่ะ

แหม เล่าเพลิน ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องถัดมาที่ฉันเห็นว่าแปลกดีตอนมาใหม่ๆ คือ ที่ไต้หวันเวลาติดต่อทำอะไรกับหน่วยงานราชการ นอกจากบัตรประชาชนแล้ว ฉันยังต้องนำตรายางชื่อภาษาจีนติดตัวไปด้วย แทนที่จะใช้ลายเซ็น ที่นี่ใช้ประทับตรายางเป็นหลักฐาน เอ ไม่เลวนะ รู้สึกเหมือนเป็นฮ่องเต้หรือพวกศิลปินในสมัยโบราณ ที่ต้องมีการประทับตราชื่อในเอกสารหรือภาพวาด ฮิฮิ อ้อ! เปิดบัญชีกับธนาคารก็เช่นเดียวกันค่ะ แต่ฉันสามารถเลือกได้ว่าให้ใช้ลายเซ็นหรือตรายางอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับการถอนเงิน หรือจะต้องใช้ทั้งสองอย่างประกอบกันก็ได้ ถ้ายังจำกันได้ที่เล่าไปในบทระบอบการปกครองว่า เวลาลงคะแนนเลือกตั้งต้องใช้บัตรประชาชนกับตรายางชื่อไปแสดงในการใช้สิทธิ์ลงคะแนนด้วย ดังนั้น จะเห็นร้านทำตรายางได้ทั่วไปในไต้หวัน จะใช้งาช้าง หิน ไม้ ฯลฯ เลือกเอาตามงบประมาณในกระเป๋าได้เลย ส่วนใหญ่ร้านรับทำตรายางจะรับทำกุญแจและล็อกด้วย แต่บางแห่งรับทำแต่ตรายางอย่างเดียวก็มี

มีอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้น่าจะจัดได้ว่าเป็น Ancient Normal เลยมั้ง ฉันได้รับการสอนให้ทำตั้งแต่เด็กๆ คุณหม่ามี้สอนน่ะค่ะ แต่เพิ่งมารู้ที่มาที่ไปของธรรมเนียมปฏิบัตินี้ เมื่อสัก 6-7 ปีก่อนนี้เอง ฉันไปอ่านเจอมาจากหนังสือเกี่ยวกับชาเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนั้นเล่าความเป็นมาของใบชา วิธีการปลูก วิธีการชงชา ฯลฯ จะว่าไปแล้วฉันว่ามีทุกเรื่องที่ครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวพันกับชาเลยทีเดียว เรื่องที่ฉันชอบที่สุดคือ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการใช้นิ้วมือเคาะเบาๆ บนโต๊ะอาหารแทนการกล่าวคำขอบคุณเวลาคนรินน้ำชาหรือเหล้าให้

ตามตำนานว่ามาจากสมัยที่เฉียนหลงฮ่องเต้เสด็จประพาสทางใต้ ได้มีการตกลงกับผู้ติดตามว่า ห้ามเปิดเผยฐานะที่แท้จริงของฮ่องเต้ มีอยู่วันหนึ่งขณะนั่งกินข้าวกันอยู่ในโรงเตี้ยม เฉียนหลงฮ่องเต้รินน้ำชาให้ตัวเองเสร็จ ก็รินให้คนสนิทด้วย คนสนิทผู้นั้นไม่สามารถที่จะลงคุกเข่าคำนับเพื่อขอบคุณที่ฮ่องเต้รินน้ำชาให้ได้ เพราะจะเปิดเผยฐานะที่แท้จริงของฮ่องเต้ จึงใช้การงอนิ้วมือเคาะแทนการคำนับขอบคุณ โดยนิ้วกลางแทนหัว นิ้วชี้และนิ้วนางแทนแขนสองข้าง เหมือนกับการคุกเข่าคำนับหน้าผากจรดพื้น แต่สมัยนี้เท่าที่ฉันเห็น หรือที่คุณหม่ามี้สอนฉันไว้ ส่วนใหญ่ใช้แค่นิ้วชี้กับนิ้วกลางเคาะเบาๆ บนโต๊ะแทนการกล่าวคำขอบคุณ

นี่คือที่มาของธรรมเนียมปฏิบัติ ‘磕頭~เคอโถว’ หรือ kowtow บนโต๊ะอาหาร รู้สึกคุณนายฮวงนี่หนีไม่ค่อยพ้นเรื่องอาหารจริงจริ๊ง ฮ่าฮ่าฮ่า

ส่วนเรื่องปิดท้ายคือธรรมเนียมปฏิบัติการให้ดอกไม้ในวันแม่ ตั้งแต่มาถึงปีแรกก็เห็นว่า ที่มีขายๆ กันทั่วไปคือดอกคาร์เนชัน ฉันก็นึกว่าที่นี่ดอกคาร์เนชันเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ ไม่เหมือนบ้านเราที่ใช้ดอกมะลิ แต่เคยดูข่าวพยากรณ์อากาศอยู่ปีหนึ่ง อาหมวยนักพยากรณ์ให้ความรู้ใหม่กับฉันค่ะ อ้อ เดี๋ยวต้องบอกก่อน วันนี้ (10 พฤษภาคม 2020 ) วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม เป็นวันแม่ ‘母親節 – หมู่ชินเจี๋ย’ ของไต้หวันและอีกบางประเทศ แล้วจริงๆ ดอกไม้วันแม่ของคนจีนที่เรียกในภาษาจีนกลางว่า ‘母親花 – หมู่ชินฮวา’ (สมัยโบราณเรียกกันว่า 萱草 – เชวียนเฉ่า) คือ ‘金針花 – จินเจินฮวา’ หรือที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ ‘ดอกไม้จีน’ ที่ใส่ในแกงจืดนั่นล่ะ ที่เราเห็นกันคือดอกตูมแห้งที่เอามาใส่แกงจืด แต่ที่นี่เอามาทำหลายอย่าง มีทั้งชาดอกจินเจิน หรือผสมไส้ซาลาเปา หรือผสมในหมั่นโถวก็มี

เคยแปะในเฟซบุ๊กส่วนตัวให้เพื่อนๆ ดูกัน บางคนบอกว่า เห็นดอกสดๆ สวยแบบนี้ เลยกินน้ำแกงดอกไม้จีนไม่ลงไปเลย โถ! เป็นงั้นไป😉

 

Don`t copy text!