ดอกไม้โปรดเจียงไคเช็ค

ดอกไม้โปรดเจียงไคเช็ค

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

ในบทเหมยฮวา ฉันเคยเอ่ยถึง The Flowers of the Four Seasons ที่มักจะพบเห็นได้ในศิลปะจีน ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงคือดอกเบญจมาศที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่า 菊花 – จวี๋ฮวา ดังนั้น ทุกปีในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจึงมีงาน The Shilin Residence Chrysanthemum Festival ซึ่งเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 เพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดของประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค (31 ตุลาคม) มีเว้นช่วงไม่ได้จัดงานในปี 1975 ปีที่เจียงไคเช็คเสียชีวิต แล้วก็เว้นยาวมาจนถึงปี 2002 จึงเริ่มจัดอีกครั้ง

ฉันสงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็นดอกเบญจมาศ เหตุผลไม่น่าแค่เพราะเป็นช่วงฤดูกาลนะ ตามประสาคุณนายฮวงค่ะ สงสัยแล้วต้องหาคำตอบ😉 ค้นไปค้นมาเจอข้อมูลว่า ในอดีตบริเวณอันกว้างใหญ่ของ Shilin Residence จะมีสวนดอกไม้อยู่สามชนิดคือ ดอกเหมย ดอกกุหลาบ และดอกเบญจมาศ สวนดอกกุหลาบนั่นขึ้นชื่อมาแต่ไหนแต่ไรเพราะเป็นดอกไม้โปรดของมาดามเจียง – ซ่งเหม่ยหลิง อันนี้ฉันรู้มาตั้งแต่อพยพมาอยู่เกาะนี้แล้ว แต่ความรู้ใหม่ที่เพิ่งไปอ่านเจอก็คือ ดอกเบญจมาศเป็นดอกไม้ที่เจียงไคเช็คโปรดปรานค่ะ ฉันคิดว่านอกจากความสวยงามแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จวี๋ฮวาคือดอกไม้โปรดของจอมพลเจียงไคเช็คน่าจะเป็นเพราะ จวี๋ฮวาเป็นสัญลักษณ์ของอายุยืน ชาวจีนนิยมให้เป็นของขวัญในวันคล้ายวันเกิด

ดอกเบญจมาศที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่า 菊花 – จวี๋ฮวา ภาษาอังกฤษคือ Chrysanthemum บางทีพวกฝรั่งก็ขี้เกียจพูดยาวๆ เลยเรียกกันสั้นๆ ว่า mums ตอนทำงานอยู่บอสตัน คุยกับเพื่อนในออฟฟิศ นางอธิบายให้ฟังว่าเรียก mums นี่ล่ะง่ายดีแล้วก็ครอบคลุมดอกไม้ตระกูลนี้ได้หมดทุกสายพันธุ์ เห็น (อากู๋) ว่า ดอกเดซี่ (Daisy) อันเป็นดอกไม้โปรดของคุณ Shopgirl นางเอกในภาพยนต์เรื่อง You’ve Got Mail (ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนต์สุดโปรดตลอดกาลของคุณนายฮวง😊) ก็เป็นพวกตระกูลเดียวกัน มิน่าล่ะฉันก็ว่าเห็นบางพุ่มในงานดอกไม้เป็นดอกเดซี่ แถมด้วยดอก Margaret ก็ใช่ด้วยนะ ฉันเคยทำดอกไม้ผ้าเป็นช่อดอกมาร์กาเร็ต ตอนเรียนวิชาหัตถกรรมสมัยมัธยมต้น ยังมีแผลเป็นอยู่บนนิ้วโป้งซ้าย เพราะตอนรีดกลีบดอกดันเสยมาโดน เป็นหลักฐานความซุ่มซ่ามของฉันอยู่เลย😅 ออกนอกเรื่องอีกแล้ว เอาเป็นว่าพวกดอกไม้วงศ์ตระกูลนี้มีมากหลายพอสมควรละกันค่ะ

ดังนั้นที่ชาวจีนเรียกกันว่า 菊花 – จวี๋ฮวานั้น จึงหมายรวมไปถึงดอกเก๊กฮวยที่เราชาวไทยรู้จักกันเพราะน้ำเก๊กฮวยด้วยค่ะ แต่สำหรับจวี๋ฮวาคำเดียวสั้นๆของชาวจีนนี้ เขาใช้เรียกตั้งแต่ดอกเบญจมาศที่มีขนาดใหญ่ ไปจนถึงดอกเก๊กฮวยที่เป็นดอกไม้ขนาดเล็กๆ เล็กซะจนตอนฉันเห็นดอกสดครั้งแรกที่บนดอยแถวเชียงใหม่นึกว่าเป็นดอกไม้ป่าแบบแนวกินไม่ได้น่ะค่ะ😅 ดอกเก๊กฮวยที่เอามาต้มทำน้ำเก๊กฮวย (ภาษาจีนกลางเรียกว่า 菊花 – จวี๋ฮวาฉา ) นี้จัดอยู่ในสปีชี่ส์ C.morifolium มีทั้งดอกสีขาวและสีเหลือง ฉันเคยประหลาดใจตอนซื้อดอกเก๊กฮวยแห้งว่า เอ บางยี่ห้อก็ดูสีซีดจัง ยี่ห้อที่สีเข้มเขาใส่สีรึเปล่าหว่า คุณชายเลยให้ความรู้เพิ่มเติมแก่เมียฮีซะหน่อย ไม่งั้นรู้สึกนางจะพารานอยด์ไปหมด😆

ไม่แต่เฉพาะชาวจีนที่ถือว่าดอกเบญจมาศเป็นดอกไม้ที่มีความหมายมงคลนะคะ สำหรับญี่ปุ่นก็เช่นกัน บางคนอาจไม่รู้ว่า ดอกเบญจมาศเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่น ตราประทับของจักรพรรดิและเจ้าชายจึงเป็นรูปดอกเบญจมาศ หน้าตาแตกต่างกันนิดหน่อยเท่านั้นเองค่ะ บางครั้งสื่อมวลชนไทยยังเอ่ยถึงราชวงศ์ญี่ปุ่นว่าราชวงศ์เบญจมาศด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่ราชวงศ์นะคะ ดอกเบญจมาศยังเป็นส่วนประกอบในสัญลักษณ์ของสิ่งอื่นๆ ด้วยเช่น ตราของทางรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีกลีบดอกไม้สามกลีบสื่อถึง ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ (legislature, executive and judiciary) หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของญี่ปุ่น ก็มีรูปดอกเบญจมาศค่ะ นอกจากจีนและญี่ปุ่นแล้ว ดอกเบญจมาศยังเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายต่างๆ กันไปตามแต่ความเชื่อของแต่ละชาติ ถ้าใครสนใจอยากศึกษาหาความรู้เพิ่ม ก็ลองถามอากู๋กันดูนะคะ😁

งานเทศกาลดอกเบญจมาศปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม ที่ Shilin Residence นี่มีเรือนทดลองการปลูกดอกเบญจมาศด้วยนะ พัฒนาสายพันธุ์ซะจนได้ดอกเบญจมาศยักษ์มาโชว์ให้อิฉันได้ตื่นเต้นวี้ดว้ายกระตู้วู้น่าดู บางดอกนี่ฉันว่าใหญ่กว่าหน้าอิฉันซะอีกนา😁 คุณนายฮวงเป็นสายบุปผาชนก็เลยไม่พลาดงานนี้ เก็บรูปดอกไม้สวยๆ มาฝากแฟนๆ ให้ชมกัน😄

Don`t copy text!