虎爺 – เทพเสือ

虎爺 – เทพเสือ

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

ไหนๆ ก็กำลังจะย่างเข้าสู่ปีเสือทอง เมื่อคุณนายฮวงไปอ่านเจอเรื่องราวตำนานของเทพเสือหรือที่ชาวไต้หวันเรียกกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘หู่เหย (ออกเสียงที่ตัว ย.ยักษ์นะคะ) – 虎爺’ ก็ต้องเอามาเล่าให้แฟนๆ คอลัมน์อ่านกันสักหน่อยนะคะ 😉

ปกติเวลาที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเสือ มักจะไม่มีใครนึกถึงความสงบและการปกป้องคุ้มครองใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่ชาวจีนค่ะ ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ชาวจีน – โดยเฉพาะผู้ที่นับถือลัทธิเต๋า จะให้ความเคารพนับถือหู่เหย ที่จัดว่าเป็นเทพผู้ช่วยของเทพเจ้าหลักในแต่ละสถานที่ ซึ่งตรงนี้ฉันหมายถึง ในแง่ของความเชื่อในตำนานของเมือง หมู่บ้าน หรือศาลเจ้าค่ะ ดังนั้น เทพเสือจึงมีหลายชื่อแล้วแต่สถานที่ที่สถิตอยู่ อันได้แก่ 天虎將軍 – เทียนหู่เจี้ยงจวิน (แปลเป็นไทยก็น่าจะประมาณ แม่ทัพเสือสวรรค์)  飛虎將軍 – เฟยหู่เจี้ยงจวิน (แปลเป็นไทยก็น่าจะประมาณ แม่ทัพเสือบิน)  山軍尊神 – ซันจวินจุนเสิน (แปลเป็นไทยก็น่าจะประมาณ เทพที่เคารพแห่งกองทัพบนเขา เอิ่ม ภูเขาไหนก็ไม่รู้นะคะ เขาเหลียงซานรึเปล่าน้อ😆) 下壇元帥 – เซี่ยถันหยวนส้วย (แปลเป็นไทยก็น่าจะประมาณ จอมพลใต้แท่นบูชา)  黑虎將軍 – เฮยหู่เจี้ยงจวิน (แปลเป็นไทยก็น่าจะประมาณแม่ทัพเสือดำ) โอ้โฮ สมญานามท่านเทพเสือเยอะจริงๆ มีแค่ชื่อเซี่ยถันหยวนส้วยเท่านั้นเองที่ฉันพอจะเดาได้ว่า น่าจะเป็นชื่อที่ใช้เรียกเทพเสือในศาลเจ้า😉 พอฉันนั่งนึกๆ อ้อ มิน่าล่ะ เป็นเพราะเหตุผลนี้เอง ที่กรุงเทพฯ ถึงได้มีศาลเจ้าพ่อเสือ ถ้ามีโอกาสคงต้องไปเยี่ยมชมดูว่า ภาษาจีนเขียนว่าอย่างไร

ตามที่อ่านจากนิตยสารไทเปมา ในมุมมองของชาวจีนฮั่น (คือชาวจีนที่มิใช่พวกราชวงศ์มองโกล หรือแมนจูน่ะค่ะ) จากวัฒนธรรม ความเชื่อและตำนานต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกเคารพยำเกรงของชาวจีนที่มีต่อเสือ คงเป็นเพราะชื่อเสียงของเสือในด้านความโหดร้ายและความดุร้ายมั้งคะ พูดง่ายๆ ก็แบบกล้าๆ กลัวๆ นั่นล่ะอิฉันว่านะ😅 เห็นเขาว่า (เขาคือบทความน่ะค่ะ😁) มุมมองนี้สังเกตได้จากตำแหน่งในจักรราศีของจีน (ก็ไม่ได้บอกรายละเอียดว่ามันเกี่ยวตรงไหน ฉันก็เลยจนใจจะอธิบายเพิ่มเติมนะ) ตลอดจนสถานที่กราบไหว้บูชา และบางครั้งก็ในข้อห้ามในงานแต่งงานและงานศพ เอ๊ ฉันเคยเล่าข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่องคนเกิดปีเสือกับพิธีแต่งงานของคนจีนใช่ไหมคะ

ในมุมมองของชาวจีนสมัยใหม่ เสือยังคงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์มงคลแต่ก็คุกคามในเวลาเดียวกัน คนที่เกิดปีเสือมักจะถูกกีดกันและแยกตัวออกจากการรวมตัวทางสังคมขนาดใหญ่เช่น งานแต่งงาน ฯลฯ (แหม discrimination นี่ เมื่อไรจะหมดไปจากโลกนี้ซะทีนะ😞) จะว่าไปจะสมัยนี้หรือสมัยก่อน ชาวจีนก็ยังไม่ได้เปลี่ยนมุมมองมากนักนะคะ ก็ยังคงเคารพยำเกรง กราบไหว้บูชาหู่เหยอยู่จนปัจจุบันนี้ สำหรับในไต้หวัน ถ้าไปวัดหรือศาลเจ้าไหนก็ตาม จะพบเห็นหู่เหยอยู่บริเวณโต๊ะหมู่บูชาหรือใต้พระที่นั่งของเทพเจ้าผู้เป็นเทพหลักในวัดหรือศาลเจ้าแห่งนั้น ทำหน้าที่เป็นพาหนะหลักของเทพเจ้าหลักท่านนั้นๆ เอ๊ จำไม่ได้ว่า ฉันเล่าให้ฟังในบท ‘ไฉเสิน’ รึเปล่าว่า รูปปั้นของไฉเสินฝ่ายบู๊ จะเป็นเทพเจ้าขี่เสือดำน่ะค่ะ ถ้าใครบูชาท่าน ก็มักจะตามเก็บหนี้สินที่มีคนติดไว้ได้อย่างราบรื่น ฉันคิดว่าชื่อ 黑虎將軍 ของหู่เหย อาจจะมีที่มาจากตรงนี้ก็ได้นะคะ เล่าเพลินไปไหนอีกแล้ว คุณนายฮวงนี่นะ😆 กลับมาว่ากันเรื่องรูปปั้นหู่เหยในไต้หวันกันต่อ สมัยก่อนหู่เหยในวัดหรือศาลเจ้าก็เป็นรูปปั้นหน้าตารูปร่างเสือปกตินี่ล่ะ แต่ในปัจจุบันมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อาจจะมีร่างเป็นคน หัวเป็นเสือ หรือบางที่ก็เป็นรูปปั้นคนสวมหมวกเสือ ส่วนวัสดุทีใช้ทำก็มีทั้งรูปหล่อสำริด ปูนปั้นดินเผา ไม้ หิน แกะสลักเป็นหู่เหย แต่จะใช้วัสดุอะไรก็ตาม ใบหน้าของหู่เหยจะสร้างสรรให้มีรอยยิ้มเสมอ เพื่อที่จะได้ลดความน่าเกรงขามลงไปสักนิดนึง จะได้เกิดปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่มากราบไหว้บูชา

ชาวไต้หวันเชื่อกันว่า ถึงแม้หู่เหยจะเป็นแค่เทพผู้ช่วยของเทพเจ้าหลักในวัดหรือศาลเจ้าก็ตาม แต่อิทธิฤทธิ์ก็มิได้ด้อยไปกว่าท่านเทพเจ้าเหล่านั้นนัก ส่วนในแง่ที่ว่าจะช่วยดูแลปกปักรักษาผู้ที่กราบไหว้บูชาในด้านไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเทพผู้ช่วยของเทพเจ้าท่านไหนค่ะ เช่น ถ้าอยู่กับไฉเสิน ก็เชื่อว่าหู่เหยก็จะช่วยนำโชคลาภมาสู่ผู้ที่มากราบไหว้ ถ้าอยู่ในศาลของ 保生大帝 – เป่าเซิงต้าตี้ ก็จะช่วยดูแลรักษาโรคให้ผู้ป่วยได้

วิธีไหว้หู่เหยในวัดหรือศาลเจ้าในไต้หวันนั้น ให้วางของเซ่นไหว้ในระดับที่ต่ำกว่าเครื่องเซ่นไหว้เทพหลัก แต่เห็นว่า บางที่ (แถวๆ ภาคกลางเกาะ) ก็ไม่ได้จัดโต๊ะแยกให้ ให้วางบนโต๊ะกลางที่ไว้สำหรับวางเครื่องเซ่นไหว้ของเทพหลักนั่นล่ะ ส่วนของที่ใช้ไหว้หู่เหยก็มีหมู เนื้อแกะ เนื้อวัว ไข่ (จะไข่เป็ดหรือไก่ก็ได้ทั้งนั้น) ปลาหมึก แล้วก็เหล้า ส่วนผลไม้ก็ตามนี้ค่ะ แอปเปิ้ล – สื่อความหมายถึงความสุขสงบ สาลี่ – ขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป แต่ห้ามใช้กล้วยหอม สับปะรด องุ่น มาไหว้หู่เหย เพราะเชื่อกันว่าจะก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้กราบไหว้ ในไทเปมี 3 วัดที่คนนิยมไปไหว้หู่เหยกัน ได้แก่ 台北廣堤宮 艋舺金虎爺會 – ไถเป่ยก่วงตีกง เหมิงเจี่ยจินหู่เหยหุ้ย  台北府城隍廟 – ไถเป่ยฝู่เฉิงหวงเมี่ยว 台北天后宮 – ไถเป่ยเทียนโห้วกง

จะตรุษจีนแล้ว ก็ขอให้ปีเสือทองนี้ หู่เหยช่วยขจัดเจ้าไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์ให้หมดไปจากโลกนี้ด้วยเถิด แต่พวกเราก็ต้องดูแลระมัดระวังตัวกันเองด้วยน้า การ์ดห้ามตกนะคะ 😘

Don`t copy text!