มูลนิธิฉือจี้

มูลนิธิฉือจี้

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– มูลนิธิฉือจี้ –

มีผู้อ่านคนหนึ่งได้ไปเห็นโพสเกี่ยวกับมูลนิธิฉือจี้ของไต้หวันแล้วรู้สึกทึ่ง เนื่องจากไม่เคยรู้มาก่อน จึงขอให้ฉันเล่าให้ฟังเกี่ยวกับฉือจี้ ขออนุญาตตัดข้อความบางส่วนมาให้อ่านกันก่อนนะ

ฉือจี้ ‘ยิ่งทำงานหนัก ตัวตนยิ่งเล็กลง’ เมื่อหลายปีก่อน เกิดพายุไซโคลนพัดถล่มประเทศพม่าจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก รัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้องค์กรต่างประเทศเข้าไปช่วยเหลือเด็ดขาด แต่ความจริงมีองค์กรต่างประเทศแห่งหนึ่ง ได้พูดจาทำความเข้าใจกับทางการพม่า จนสามารถเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยได้อย่างเงียบๆ เป็นรายแรก…

ฉันคิดว่าเมื่อได้อ่านถึงตรงนี้ ผู้อ่านคนนั้นคงรู้สึกสงสัยว่ามูลนิธิฉือจี้สามารถฝ่าด่านรัฐบาลทหารพม่าเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างไร ถ้าใครที่เคยรู้เรื่องขององค์กรนี้มาบ้าง คงพอจะเดาได้ว่าทำไมรัฐบาลทหารพม่าถึงยอมรับความช่วยเหลือ ฉันเองก็ได้ยินเรื่องของฉือจี้มาบ้างตั้งแต่มาอยู่ที่ประเทศนี้ รู้ว่าเป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ระดับโลก ใหญ่แบบที่นึกไม่ถึงเลยล่ะค่ะ

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อคือตอนที่แวะเข้าไปกราบสวัสดี อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ คุยให้ท่านฟังว่าแต่งงานจะไปอยู่ไต้หวัน อาจารย์เลยเล่าว่าเพิ่งไปมาเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของมูลนิธิฉือจี้ที่ฮวาเหลียน ฉันก็เลยมาถามคุณชายว่ายูรู้จักไหม คุณชายคุยให้ฟังแบบย่อๆ (ตามประสาคนไม่ช่างพูด) ว่า ผู้ก่อตั้งเป็นแม่ชีท่านหนึ่ง สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฮวาเหลียน (เป็นเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ) มีโรงพยาบาล มีโรงเรียน มีสถานีโทรทัศน์ ‘ต้าอ้าย’ เป็นของตัวเอง จบ แหม! มันจะพูดน้อยอะไรขนาดนี้!! 😒 ฉันก็เลยลองเปิดทีวีหาช่องต้าอ้ายดูซิ เผื่อจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาประดับสมองบ้าง ตอนแรกที่ฮีบอกว่ามีสถานีโทรทัศน์ ฉันก็นึกว่าคงเป็นช่องบรรยายธรรมที่เจออยู่มากมายหลายช่องตอนที่หมุนเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ เพื่อหารายการน่าสนใจดู ปรากฏว่าเซอร์ไพรส์มากค่ะ มีรายการหลากหลายทีเดียว ทั้งสารคดีของเมืองนอก หรือรายการที่ผลิตเอง แม้แต่ละคร ซีรีส์ก็มีด้วย สนุกด้วยนะคะ อย่างปีนี้ในงานแจกรางวัล Golden Bell Awards ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับรายการทางทีวี ละครดราม่าของช่องต้าอ้ายเรื่อง 菜頭梗的滋味 – Taste of Caitou’ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลถึง 5 สาขา และคว้ารางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมไปครอง   รายการที่ออกอากาศไม่ได้ต่างจากช่องทั่วไปอื่นๆ แบบนี้ ก็ต้องมีคนดูช่องนี้แน่นอน จริงไหมคะ บางครั้งก็มีการบรรยายธรรมจากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนที่เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ โดยถ่ายทอดจากสำนักงานใหญ่ที่ฮวาเหลียน

‘มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน’ ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 1966 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ จุดเริ่มต้นนั้นเนื่องจากท่านธรรมาจารย์ได้บังเอิญประสบพบกับเหตุการณ์ที่หญิงชาวเขาคนหนึ่งเสียชีวิตจากการแท้งลูกเพียงเพราะไม่มีเงิน จึงถูกปฏิเสธจากทางโรงพยาบาลไม่ให้การรักษา ท่านได้ฟังด้วยความเวทนา จึงตั้งปณิธานว่าจะสร้างโรงพยาบาลเพื่อคนจนขึ้นมาให้ได้ ท่านได้ชักชวนแม่บ้านแถวนั้นอีก 30 คน เริ่มเจียดเงินจากค่ากับข้าววันละ 50 สตางค์หยอดลงกระปุก และชักชวนให้ประชาชนบริจาคโดยใช้แนวคิดเจียดเงินค่ากับข้าวแค่วันละ 50 สตางค์ ด้วยแนวคิดนี้บวกกับตวามตั้งใจจริงของท่านและกลุ่มแม่บ้าน 30 คน ในที่สุดโรงพยาบาลฉือจี้แห่งแรกก็จัดตั้งได้สำเร็จที่ฮวาเหลียนในปี ค.ศ.1986  เมื่อมีการจัดอันดับโรงพยาบาลยอดเยี่ยมทั่วโลกในปี ค.ศ. 2017 โรงพยาบาลฉือจี้ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 13 ถือเป็นโรงพยาบาลที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเอเชีย แถมมี Stem Cells Center ด้วย น่าทึ่งไหมคะ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาและมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นแรงผลักดันให้ฉือจี้กลายมาเป็นองค์กรการกุศลระดับโลก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์กรระดับโลกรองๆ จากองค์การกาชาดสากลเลยทีเดียว

ศูนย์รีไซเคิล
ศูนย์รีไซเคิล

ฉันเคยนั่งรถเมล์ผ่านสำนักงานของฉือจี้ในตัวเมืองไทเปอยู่สองแห่งคือที่แถวสถานีรถไฟซงซัน กับอีกแห่งคือตรงข้ามต้าหูพาร์กที่เขตเน่ยหู ซึ่งไม่ไกลจากบ้านฉันมากนัก เมื่อมี ‘คุณขอมา’ จึงเช็กกูเกิลแมปดู เอ๊ะ แถวบ้านฉันก็มีนี่นะ ประมาณกิโลเดียวเอง อย่างนี้ก็ปั่นจักรยานแวะไปดูกันหน่อยสิ ไปถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ‘ซือเจี่ย – 師姐’ แปลเป็นไทยตามภาษาคุณ น.นพรัตน์ ก็น่าจะเป็น ‘ศิษย์พี่’ คืออย่างนี้ค่ะ ในอาณาเขตของมูลนิธินี้ เราจะเรียกใครก็ตาม ก็จะเรียกกันแบบนี้ ถ้าเป็นผู้ชายก็เรียก ‘ซือซง – 師兄’ ผู้หญิงก็เรียก ‘ซือเจี่ย – 師姐’  ตามธรรมเนียมคนจีนน่ะค่ะ ให้เกียรติเรียกพี่กันถึงแม้ว่าเราอาจจะอายุมากกว่าก็ตาม ซือเจี่ยที่ประจำอยู่ในสำนักงานหลักได้พาฉันไปที่อาคารที่เป็นแหล่งแยกขยะรีไซเคิล แล้วแนะนำให้ฉันรู้จักกับซือเจี่ย ซือซงที่ทำงานกันอยู่ ทุกคนเป็นอาสาสมัครที่มาทำงานแยกขยะให้อย่างเต็มใจ จะมากันเมื่อไรก็มา ดีจัง แล้วซือเจี่ยก็ชวนฉันว่า ถ้าว่างอยากมาทำก็มา แล้วเอาชาม ช้อน แก้วน้ำมาด้วย ตอนเที่ยงมีข้าวให้กิน แต่เป็นอาหารเจนะ

วันรุ่งขึ้นฉันก็เลยปั่นจักรยานไปอีกรอบ แหม! ก็มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีหรือที่คุณนายฮวงจะพลาด😉 แถมเป็นงานรักษ์โลกที่ถูกจริตฉันอีกด้วย เฉินซือเจี่ยที่อาสามาทำประจำ บอกให้ฉันเริ่มทำงานง่ายๆ ไปก่อนคือ การฉีกหนังสือออกมาเป็นแผ่นๆ แยกระหว่างที่เป็นแบบไม่มีสีกับมีสี เพราะเวลาเอาไปขายให้โรงงานรีไซเคิล ราคาไม่เท่ากัน ส่วนงานแยกขยะพลาสติกที่เฉินซือเจี่ยทำอยู่นั้นซับซ้อนนิดนึง เพราะต้องรู้ประเภทของพลาสติก อันไหนเป็น PE, PP หรือจะ P อื่นๆ ประเภทไหนเนี่ย ต้องใช้ความชำนาญพอสมควร ทางมูลนิธิจะมีรถบรรทุกออกไปรับขยะรีไซเคิลมา โดยกำหนดว่าวันไหนรับขยะประเภทอะไร หรือถ้าใครจะโทรให้ไปรับเป็นพิเศษก็ได้ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นของชิ้นใหญ่ๆ เอามาแล้วถ้าซ่อมได้ก็ซ่อมแล้วขายต่อ ฉันเห็นมีเสื้อผ้าแขวนเป็นราวๆ เลย ซือเจี่ยบอกว่า ใครจะซื้อก็ได้ แต่ไม่มีการตั้งราคา อยากให้เท่าไรก็ให้ ไม่บังคับ เงินที่ได้จากกิจการรีไซเคิลก็นำไปใช้ในกิจการสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย

 

มูลนิธิพุทธฉือจี้ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลกระจายอยู่ทั่วเกาะไต้หวันถึงห้าแห่ง ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอยู่ที่ฮวาเหลียน มีคณะแพทยศาสตร์ด้วยนะ ถ้าฉันมีลูก ฉันคงส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนฉือจี้แน่เลยค่ะ เพราะชอบหลักการที่เน้นสอนเด็กให้เป็นคนดีของสังคม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่ประเทศไทยเองก็มีสาขาของมูลนิธิฉือจี้และโรงเรียนด้วยเช่นกัน โรงเรียนตั้งอยู่ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากนักธุรกิจชาวไต้หวันที่ไปลงทุนในเมืองไทยในการก่อตั้ง ร่วมแรงร่วมใจกันจนมีสมาชิกและจิตอาสากระจายอยู่ในหลายจังหวัด พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือ มีนักธุรกิจมากมาย (ทั้งชาวไต้หวันและชาวไทย) ที่ให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน ที่ดิน ฯลฯ หรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เช่น นักธุรกิจบางคนรับเอาพลาสติกหรือโฟมที่ผ่านการคัดแยกแล้ว มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผ้าห่ม ถุงเท้า ผ้าพันคอ เสื้อผ้า ฯลฯ โดยไม่คิดเงินค่าผลิตใดๆ ทั้งสิ้น แล้วนำมาวางจำหน่ายอยู่ในร้านของมูลนิธิ (หรือนำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย) เป็นการช่วยหาเงินเข้ามูลนิธิอีกทางหนึ่ง ทุกคนพร้อมที่จะแบ่งปันแบบไร้พรมแดน ให้โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทนไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือชื่อเสียงก็ตาม

ดังเช่นคำชี้แนะของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนว่า “เมื่ออาศัยอยู่ใต้ผืนฟ้า ยืนอยู่บนผืนแผ่นดินใด ก็ต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณผืนแผ่นดินนั้น” ฉันไม่แปลกใจเลยค่ะว่า ทำไมมูลนิธิฉือจี้ถึงได้แพร่ขยายมีสาขาให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไปได้ทั่วทุกมุมโลกขนาดนี้🙏

 

Don`t copy text!