ซ่งเหม่ยหลิง

ซ่งเหม่ยหลิง

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

-ซ่งเหม่ยหลิง -​

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพูดถึงเรื่อง SARS Epidemic ที่เกิดเมื่อปี 2003 เลยทำให้นึกย้อนไปถึงว่า ปีแรกที่มาอยู่เกาะนี้ ไม่ใช่แค่การแพร่ระบาดของไวรัสซาร์สที่เป็นข่าวใหญ่ประจำปีนั้น พอถึงช่วงปลายเดือนตุลาคมปีนั้นก็มีข่าวใหญ่อีกข่าวหนึ่งก็คือ ข่าวการเสียชีวิตของ ‘ซ่งเหม่ยหลิง’ หรือที่ชาวโลกรู้จักกันดีในนามของ ‘มาดามเจียงไคเช็ค’ เธอเสียชีวิตในวันที่ 23 ตุลาคม 2003 ณ อะพาร์ตเมนต์ที่พักอาศัยในแมนฮัตตัน เมืองนิวยอร์ก เสียชีวิตในขณะนอนหลับที่อายุ 105 ปี แบบนี้คนไทยถือว่ามีบุญใช่ไหมคะ (อันนี้เป็นคำถามนะ เคยได้ยินคนพูดประมาณนี้ แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน) แต่สำหรับฉันแล้ว ถ้าคิดในแง่ที่ไม่ต้องเจ็บป่วยมีสายระโยงระยาง ทรมานอยู่ในโรงพยาบาล นอนหลับแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกแบบนี้ ก็น่าจะกล่าวได้ว่าเธอมีบุญจริงๆ แต่ถ้ามองในแง่ว่า เธออาจจะยังมีเรื่องที่ทำค้างคาอยู่ หรืออยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ แบบนี้ก็อาจจะเสียชีวิตแบบยังมีห่วงอยู่นา เอ้า! ออกนอกเรื่องไปโน่นอีกแล้ว คุณนายฮวง😅 ขออภัยค่ะ กลับมาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่านะคะ😉

Cr. https://commons.wikimedia.org/

จำได้ว่าตอนข่าวออกครั้งแรกนี่ ฉันได้ยินแล้วเอ่ยปากกับคุณชายว่า “ว้าว ฉันไม่ยักรู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่นะเนี่ย นึกว่าเสียชีวิตไปนานแล้วซะอีก ไม่เคยได้ยินข่าวคราวมานานมากแล้ว” ก็อย่างว่าล่ะนะคะ สมัยยี่สิบสามสิบปีก่อน การข่าวมันยังไม่ได้รวดเร็วเหมือนสมัยนี้ ที่มีพวกสื่อโซเชียลมีเดียให้กระจายข่าวไปทั่วโลกได้ภายในไม่กี่นาที แล้วพวกช่องข่าวอย่าง CNN ก็ยังไม่ได้เป็นช่องสำนักข่าวต่างประเทศประจำบ้านแบบสมัยนี้ ยังจำคำตอบของคุณชายได้เลยว่า “ไม่แปลกหรอกที่ยูจะคิดอย่างนั้น เพราะเขาก็ไม่ได้อยู่ไต้หวันตั้งนานแล้ว” ฉันเลยถามต่อว่า “อ้าว แล้วทำไมเขาไม่อยู่ที่นี่ล่ะ ยังไงก็อุตส่าห์หนีคอมมิวนิสต์มาตั้งรกราก พัฒนาเกาะซะเจริญเลย” คุณชายตอบว่า “ซ่งเหม่ยหลิงเป็นคนอเมริกัน เขาก็ต้องไปอยู่อเมริกาซิ” อธิบายแบบนี้อิฉันก็งงสิ พอฮีเห็นเมียทำหน้างงเป็นยีราฟตาแตกเลยอธิบายเพิ่มเติมว่า “ซ่งเหม่ยหลิงไม่คิดว่าตัวเองเป็นชาวจีน เขาคิดว่าตัวเองเป็นชาวอเมริกัน” ฟังแล้วเลยถึงบางอ้อ นี่เป็นภาพลักษณ์ของมาดามเจียงไคเช็คในสายตาของคนไต้หวันรุ่นใหม่สินะ

สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของไต้หวัน – ซ่งเหม่ยหลิง เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1898 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ตอนอายุได้แค่ 9 ขวบ ก็ถูกส่งไปเรียนที่อเมริกา จนจบการศึกษาจาก Wellesley College ในปี 1917 สาขาวิชาวรรณคดีอังกฤษ ในเมื่อเธอใช้ชีวิตในช่วงวัยเรียนอยู่ที่อเมริกา ซึ่งจัดว่าเป็นช่วงเวลาที่มีบทบาทในการกำหนดความคิดหรืออุปนิสัยของมนุษย์พอสมควร ก็น่าอยู่หรอกที่เธอจะคิดว่าอเมริกาเป็นบ้านที่สองของเธอ ฉันเคยยืมหนังสือสามสาวตระกูลซ่ง (จริงๆ แล้วเคยตามอ่านตั้งแต่ตอนลงในนิตยสาร พลอยแกมเพชร อยู่บ้าง) จากคุณหม่ามี้มาอ่านนานแล้ว จำรายละเอียดไม่ค่อยได้เหมือนกัน จำได้แวบๆ ว่า ตระกูลซ่งนี้เทียบได้กับตระกูลเคนเนดี้ของอเมริกา ที่จำแม่นสุดคือ มีการกล่าวถึงสามศรีพี่น้องตระกูลซ่งนี้ว่า ‘คนโตรักเงิน คนที่สองรักชาติ คนสุดท้องรักอำนาจ’ น่าเสียดายจังค่ะ เมื่อตอนตรุษจีนไปค้นคลังหนังสือของหม่ามี้ หนังสือเล่มนี้หายไปซะแล้ว อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าประโยคนั้นก็มิได้ผิดความจริงไปซะเท่าไรนัก ถ้าพิจารณาจากคู่สมรสของแต่ละคน

‘คนโตรักเงิน คนที่สองรักชาติ คนสุดท้องรักอำนาจ’

ซ่งอ้ายหลิง(宋藹齡) ผู้เป็นลูกสาวคนโตของ ชาร์ลี ซ่ง (นักธุรกิจที่มั่งคั่ง และเป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินคนสำคัญของซุนยัตเซ็น) แต่งงานกับข่งเสียงซี นักการเงินการธนาคารที่มั่งคั่งที่สุดของจีนในยุคนั้น

ซ่งชิ่งหลิง (宋慶齡) ลูกสาวคนกลาง ที่เป็นภรรยาคนที่สามและคนสุดท้ายของซุนยัตเซ็น เธอต่อสู้เคียงข้างสามีและช่วยงานปฎิวัติชาติตลอดสิบปีของชีวิตสมรส และยังมีบทบาททางด้านการเมืองต่อไปหลังจากที่สามีเสียชีวิตไปแล้ว โดยผ่านทางพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน

ซ่งเหม่ยหลิง (宋美齡) ลูกสาวคนสุดท้องของตระกูลซ่ง ที่ทั่วโลกรู้จักในนามของมาดามเจียงไคเช็ค เธอเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ขึ้นปกนิตยสาร Time ถึงสามครั้งด้วยกัน จัดเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลกคนหนึ่ง เคยมีสื่อกล่าวถึงเธอว่า เธอคือมันสมองและผู้ปกครองตัวจริงของรัฐบาลไต้หวันในยุคนั้น

ที่มีคำกล่าวว่า Behind every great man there is a great woman ฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ😆😂😂 อย่างกรณีของมาดามเจียงไคเช็คนี่ยิ่งเห็นได้ชัดนะ เธอเป็นทั้งที่ปรึกษา เลขาและล่ามส่วนตัวของสามี ด้วยความที่เธอสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เทียบเท่าเจ้าของภาษา เธอเดินสายสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำของชาติตะวันตก เช่น เชอร์ชิล สตาลิน รูสเวลท์ เพื่อสร้างฐานความมั่นคงให้กับสามีและประเทศจีน เธอได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดได้กล่าวคำปราศัยในรัฐสภาสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1943 นับเป็นชาวจีนคนแรกและสตรีคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้

ในปี ค.ศ.1949 เมื่อเจียงไคเช็คพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ ต้องอพยพมาอยู่ที่เกาะไต้หวัน แต่ก็มิได้ทำให้เธอลดบทบาทในเวทีโลกแต่อย่างใด ที่ไต้หวันยังคงสามารถเป็นสมาชิกของสหประชาชาติอยู่จนถึงปี ค.ศ.1971 ฉันว่าส่วนหนึ่งก็เป็นผลงานของซ่งเหม่ยหลิงนี่ล่ะค่ะ และหลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิตในปี 1975 เธอก็ได้อพยพไปใช้ชีวิตที่บ้านในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นับจากนั้นเธอก็ถอยฉากจากสปอตไลต์ ใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ มีกลับมาไต้หวันบ้างในปี 1988 เพื่อร่วมพิธีศพของเจียงจิงกั๋ว ลูกชายคนโตของเจียงไคเช็คที่สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากพ่อ และอีกครั้งที่นับเป็นครั้งสุดท้ายคือในปี 1995

เมื่อเธอเสียชีวิตในปี 2003 ทางทำเนียบขาวโดยประธานาธิบดี จอร์ช ดับเลิยู บุช ได้ออกแถลงการณ์ไว้อาลัยว่า…

Madame Chiang was a close friend of the United States throughout her life, and especially during the defining struggles of the last century. Generations of Americans will always remember and respect her intelligence and strength of character. On behalf of the American people, I extend condolences to Madame Chiang’s family members and many admirers around the world.

และหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ไทม์ ก็ได้เขียนคำไว้อาลัยในมรณกรรม (Obituary) ของเธอดังนี้…

As a fluent English speaker, as a Christian, as a model of what many Americans hoped China to become, Madame Chiang struck a chord with American audiences as she traveled across the country, starting in the 1930s, raising money and lobbying for support of her husband’s government. She seemed to many Americans to be the very symbol of the modern, educated, pro-American China they yearned to see emerge—even as many Chinese dismissed her as a corrupt, power-hungry symbol of the past they wanted to escape.

Cr. https://commons.wikimedia.org/

ในประโยคสุดท้ายนี้ ตรงที่กล่าวว่า power-hungry นั้น ทำให้ฉันรู้สึกว่า เป็นการตอกย้ำถึงภาพลักษณ์ที่หลายคนมีต่อน้องนุชสุดท้องแห่งสามสาวตระกูลซ่งจริงๆ ‘คนโตรักเงิน คนที่สองรักชาติ คนสุดท้องรักอำนาจ’

Don`t copy text!