ระบบขนส่งมวลชนไต้หวัน

ระบบขนส่งมวลชนไต้หวัน

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– ระบบขนส่งมวลชนไต้หวัน –

ถ้าจะเดินทางระหว่างเมืองด้วยระบบขนส่งมวลชนในประเทศนี้ มีให้เลือก 5 อย่าง เอาเฉพาะบนเกาะหลักก่อนนะคะ อย่างแรกคือรถไฟธรรมดาที่มีรางวิ่งได้รอบเกาะเลย อย่างที่สองคือรถไฟความเร็วสูง (High speed train – 高鐵 – เกาเถี่ย) วิ่งเฉพาะทางฝั่งตะวันตกจากไทเปถึงเกาสง (ที่เป็นเมืองท่าใหญ่ทางใต้) อันดับสุดท้ายบนเกาะใหญ่คือรถบัส ซึ่งมีทั้งของรัฐบาลและเอกชน ของรัฐบาลก็หน้าตาธรรมดาๆ ของเอกชนก็อลังการประมาณที่นั่งแบบเฟิสต์คลาส หรือบิสสิเนสคลาสของเครื่องบินกันเลย ที่เหลืออีก 2 อย่างคือเครื่องบินกับเรือนั้น ใช้เดินทางออกไปที่เกาะเล็กเกาะน้อยด้านนอกค่ะ ตอนฉันมาถึงใหม่ๆ ยังมีเครื่องบินบินระหว่างไทเป-เกาสงอยู่ แต่พอเกาเถี่ยสร้างเสร็จ คนก็เลือกใช้บริการเกาเถี่ยกันมากกว่าเพราะสะดวกกว่าเยอะ

ส่วนระบบขนส่งมวลชนในเมืองก็มีรถเมล์กับรถไฟฟ้า ซึ่งในไต้หวันมีเพียงสองเมืองที่มีรถไฟฟ้า MRT(มีทั้งบนดินและใต้ดิน) คือไทเปกับเกาสง แต่เกาสงไม่มีรถเมล์มากเหมือนไทเป คงเป็นเพราะเกาสงไม่แออัดเท่าไทเป หาที่จอดรถง่าย คนจึงนิยมใช้พาหนะของตัวเองมากกว่า ส่วนไทเปเมืองหลวงนั้นก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่ ทั้งรถยนต์ รถสกูตเตอร์ รถเมล์เต็มไปหมด แต่ไทเปรถไม่ติดแบบกรุงเทพฯ นะคะ ชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าเย็นรถมากก็จริง แต่มีติดไฟแดงนานกว่าปกตินิดเดียว ฉันคิดว่าคงเป็นเพราะคนไทเปส่วนใหญ่ใช้บริการของขนส่งมวลชนกัน คงต้องขอให้คำจำกัดความนิดนึงตรงนี้ว่าคนไทเปที่ฉันพูดถึงคือ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทเป(Taipei City) รวมกับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนิวไทเป (New Taipei City) อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ เมืองไทเป(Taipei City) คือกรุงเทพฯ แล้วเมืองนิวไทเป (New Taipei City) ก็คือนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการรวมกันนั่นล่ะ

คนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คนไทเปโดยกำเนิด แต่อพยพย้ายเข้ามาทำมาหากินในไทเป ไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้านในไทเป ก็ต้องอาศัยอยู่ที่เมืองนิวไทเป แล้วก็นั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้าเข้ามาทำงาน ซึ่งรถไฟฟ้ามีเครือข่ายครอบคลุมละแวกไทเป (ขอใช้คำนี้แทนเมืองไทเปและเมืองนิวไทเปแล้วกันนะคะ) เกือบหมด รถเมล์ก็สะดวก เข้าถึงทุกตรอกซอกซอยเลยค่ะ คนไทเปโชคดีกว่าคนกรุงเทพฯเรื่องนี้ ที่กรุงเทพฯ ฉันเห็นรถเมล์วิ่งกันแต่ถนนเส้นใหญ่ๆ ใครบ้านอยู่ในซอยก็ต้องเดินเอาหรือนั่งรถป๊อกๆ ฉันเองก็นิยมใช้บริการขนส่งมวลชนมากกว่าขับรถเอง แหมในไทเปน่ะบางที่ต่อให้ฉันยินดีจ่ายค่าที่จอดรถ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีที่จอดให้นะคะ ต้องวนรถหากันอยู่หลายรอบก็เคยมาแล้ว

ระบบขนส่งมวลชนของละแวกไทเป อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลนคร นายกเทศมนตรีเป็นผู้ดูแลทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ จนถึงตำรวจจราจร รัฐบาลไต้หวันสนับสนุนให้คนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากกว่าขับรถ ดังนั้น จึงใช้นโยบายเรื่องราคาและวิธีจ่ายเงินเข้ามาช่วยล่อใจผู้ใช้บริการ ที่นี่คนส่วนใหญ่จะใช้ Easy Card และ iPass ของเกาสง แต่บัตรทั้งสองชนิดก็สามารถใช้ได้ทั่วเกาะ ขึ้นกับเซ็นสัญญาการใช้ไว้กับใครบ้าง บัตรเหล่านี้ไว้ขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์กันค่ะ ซื้อได้ที่สถานีรถไฟฟ้าทุกแห่ง พอเงินในบัตรหมดก็เติมเงินได้ที่สถานีรถไฟฟ้าหรือร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ที่มีอยู่แทบทุกหัวมุมถนน สะดวกสุดๆ แล้ววิธีคิดราคาค่าโดยสารสำหรับคนที่ใช้ Easy Card ขึ้นรถไฟฟ้าจะได้รับส่วนลด 20% แล้วถ้าต่อรถเมล์ก็จะได้รับส่วนลดอีก รถเมล์ที่วิ่งในไทเปราคาครั้งละ 15 ดอลลาร์ แต่ถ้ามีการวิ่งข้ามเขตไปนิวไทเปก็จะต้องเสียตอนลงรถอีกครั้งหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วรถเมล์วิ่งข้ามเขตกันเกือบทุกสาย โดยจะมีป้ายรถเมล์ช่วงแบ่งการจ่ายเงิน

มีป้ายไฟฟ้าแขวนบอกว่า อีกกี่นาทีรถเมล์สายไหนจะมาถึง

ที่ไต้หวันป้ายรถเมล์แต่ละป้ายมีชื่อป้าย อาจจะเป็นชื่อสถานที่เช่นโรงเรียน, สถานีรถไฟฟ้า หรือชื่อตำบล หมู่บ้าน แล้วที่ป้ายนั้นๆ ก็จะมีบอกว่าป้ายนี้มีรถสายไหนจอดบ้าง พร้อมทั้งรายละเอียดวิธีจ่ายเงิน (ว่าต้องจ่ายครั้งเดียวหรือสองครั้ง และป้ายไหนเป็นช่วงแบ่งเขตการจ่าย), ความถี่ของการปล่อยรถจากต้นสาย, เวลาที่วิ่งให้บริการ และแผนที่การเดินรถของแต่ละสาย ซึ่งฉันว่าสะดวกมากสำหรับผู้โดยสาร แถมบางป้ายมีป้ายไฟฟ้า มีตัวหนังสือขึ้นบอกว่าอีกกี่นาทีรถเมล์จะมาถึง! แล้วบนรถก็จะมีป้ายไฟฟ้าตัววิ่งพร้อมเสียงประกาศบอกว่าป้ายที่จะจอดต่อไปคือป้ายไหน คนหูหนวกหรือตาบอดจะไม่มีปัญหาเลยในการขึ้นรถเมล์ ยกตัวอย่างดีกว่านะคะ อย่างฉันต้องขึ้นรถเมล์จากบ้านไปสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้สุดจ่ายค่ารถ 15 หยวน จากนั้นต่อรถไฟฟ้าที่คิดราคาตามจำนวนสถานี ราคาขั้นต่ำสุดคือ 20 หยวนสำหรับ 5 สถานี แต่ฉันใช้ Easy Card จ่ายเพราะฉะนั้นราคาลด 20% แล้วคือ 16 หยวน แต่เนื่องจากฉันขึ้นรถเมล์มาต่อรถไฟฟ้า ฉันก็จ่ายแค่ 9 หยวน แล้วถ้าจากรถไฟฟ้า ฉันต้องนั่งรถเมล์ต่ออีก หนนี้ฉันจ่ายแค่ 7 หยวน ประหยัดไปทั้งหมดคือ 15 หยวนหรือค่ารถเมล์หนึ่งครั้งนั่นเอง เห็นไหมคะล่อใจกันสุดๆ ไปเลย ว่าแล้วก็แอบฝันว่าเมื่อไหร่กรุงเทพฯ จะเป็นแบบนี้มั่งหนอ

หมายเหตุ :

ขอแจ้งข้อมูลล่าสุดที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 นี้นิดนึงนะคะ รถเมล์ที่วิ่งละแวกไทเป ผู้โดยสารต้องแตะบัตรอีซี่การ์ดทั้งตอนขึ้นและตอนลงรถแล้วนะคะ แต่ราคาค่าโดยสารยังคงเท่าเดิมคือ 15 หยวน สำหรับรถเมล์ที่มีการแบ่งค่าโดยสารเป็น 2 ช่วงนั้น ถ้าผู้โดยสารขึ้นที่ป้ายที่เป็นช่วงแบ่งเขตการจ่าย จะไม่มีการหักเงินเกิดขึ้นเมื่อแตะบัตรตอนลงรถ แต่สำหรับรถเมล์ที่จะต้องจ่ายค่าโดยสารทั้งหมด 3 ช่วงนั้น ตอนลงรถพอแตะบัตร ก็จะถูกหักค้าโดยสารเพิ่มตามระยะทางที่นั่งมา ถ้าไม่แตะตอนลงด้วย แล้วจะไปนั่งรถไฟฟ้า หรือขี่ U-bike ต่อ ก็จะไม่ได้รับส่วนลดที่ควรจะได้รับ อย่างที่อธิบายไว้ในระบบเก่าด้านบนนั้นล่ะค่ะ ทางกรมขนส่งมวลชนแจ้งว่า นโยบายใหม่นี้ ออกมาเพื่อป้องกันการสับสนว่าจะต้องจ่ายค่าโดยสารตอนขึ้นหรือลงรถ ก็ไม่รู้นะคะว่าจะช่วยได้จริงรึเปล่า เพราะอย่างฉันเองวันนี้ (28 มิถุนายน) ตอนลงรถเมล์ก็ไม่ได้แตะบัตร เพราะเก็บใส่กระเป๋าเงินไปแล้ว และด้วยความเคยชินด้วย พอไปต่อรถไฟฟ้า ก็ไม่ได้รับส่วนลด 7 หรือ 8 หยวนตามที่ควรจะเป็น ก็งงๆ ว่า ยังไม่ถึงเดือนกรกฎาคมซะหน่อย ทำไมไม่ได้รับส่วนลดแล้วล่ะ แต่ก็ขี้เกียจเสียเวลาถาม ปล่อยไป แค่คิดว่าท่าทางจะมีกรณีแบบนี้อีกหลายครั้งแน่เลยกว่าจะชิน เพราะส่วนใหญ่ขึ้นรถเมล์ช่วงแบ่งเขตการจ่ายอยู่ตลอด?

Don`t copy text!