累積點數 – เหล่ยจีเตี่ยนซู่

累積點數 – เหล่ยจีเตี่ยนซู่

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เล่าเรื่องนโยบายชักชวนให้นักเรียน นักศึกษาเข้าห้องสมุด ความพยายามในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านหนังสือไปในบท ‘ถูซูกวั่น’ ที่ทางห้องสมุดใช้เรื่องสะสมแต้มเพื่อแลกของไปให้ฟัง แล้วเลยมานั่งนึกๆ ประเทศนี้นี่จริงๆ แล้ว จะว่าไปก็ชอบใช้การสะสมแต้ม (ที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่า 累積點數 – เหล่ยจีเตี่ยนซู่) เป็นการกระตุ้นพฤติกรรมของมนุษย์ในแทบจะทุกเรื่องเลยมั้ง จำได้ว่าตอนมาถึงใหม่ๆ งงกับยุทธวิธีกระตุ้นยอดขายของร้านค้า คือคุณๆ ต้องเข้าใจนะคะว่า สมัยที่ฉันยังเป็นอาหมวยเยาวราช ยังไม่มีเทสโก้โลตัส ซูเปอร์ฯ ของห้างทั้งหลาย ก็ไม่ได้มีการซื้อของใช้จ่ายแล้วสะสมแต้ม แต้มเอามาหักเป็นเงินได้เมื่อซื้อของครั้งต่อไป ตอนอยู่อเมริกา จ่ายตลาดมีบัตรสมาชิกก็จริง แต่จะเป็นลักษณะว่า สมาชิกได้จ่ายในราคาลดพิเศษ มาอยู่เกาะนี้เจอระบบเหล่ยจีเตี่ยนซู่ แล้วใช้หักเป็นเงินลดไปในการซื้อครั้งต่อไป ซึ่งไม่ใช่แค่ซูเปอร์มาร์เกตค่ะ ร้านขายน้ำผลไม้ปั่นเล็กๆ แถวบ้าน หรือแม้แต่โรงเตี๊ยมเจ้าประจำของอิฉันที่จิ่วเฟิ่น ก็ยังใช้ระบบเหล่ยจีเตี่ยนซู่เลย ฉันเนี่ยในกระเป๋ามีบัตรสมาชิกเป็นปึกๆ เลยอะค่ะ 😅

ที่หน้าคลีนิกจะมีป้ายบอกเวลาเปิดทำการ

แบบนั้นนี่ยังพอเข้าใจได้นะคะว่าเป็นเรื่องของยุทธวิธีทางการตลาด แต่หลังจากที่ฉันพูดจาโน้มน้าวให้คุณชายเปลี่ยนงานจากทำ visual effects มาเป็นสอน visual effects แทนได้สำเร็จ ก็งงเป็นยีราฟตาแตกอีกรอบกับระบบเหล่ยจีเตี่ยนซู่ของอาจารย์มหาวิทยาลัย😲 คืออย่างนี้ค่ะ จะมีการประเมินอาจารย์ประจำ (ไม่รวมพวกสอนพาร์ตไทม์) ทุกสามปี ในระหว่างสามปีนี้ อาจารย์จะต้องทำการสะสมแต้มให้ได้ครบตามที่กำหนดไว้ ฉันก็จำไม่ได้แล้วว่ากี่แต้ม เพราะมันมีแยกย่อยเป็นประเภทอีก ประมาณทำงานเพื่อสังคม ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ไปเข้าร่วมสัมมนา ฯลฯ ซึ่งถ้าทำแต้มได้ไม่ถึงก็จบกัน โห แบบนี้อาจารย์ก็ต้องมานั่งเสียเวลาทำนู่นนี่นั่น เพื่อสะสมแต้ม แทนที่จะเอาเวลามาเตรียมการสอน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา โดยสายงานของคุณชายก็เลยต้องมีงานแสดงผลงานศิลปะแทนการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ ถ้าได้โชว์ระดับอินเตอร์ก็จะได้แต้มสูงกว่าการโชว์ภายในประเทศ หรืออย่างถ้าลูกศิษย์คุณชายส่งผลงานประกวดได้รางวัล คุณชายในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาก็จะได้แต้มสะสมด้วย หรือถ้าเวลามีประชุมของคณะ แล้วไม่เข้าประชุม ก็อาจเจอหักแต้มได้ ฯลฯ ฟังแล้วเพลียแทนค่ะ ไอ้ที่ฉันเคยคิดว่า ให้คุณชายเปลี่ยนมาทำงานสอน จะได้มีเวลาบ้าง กลายเป็นมีงานจุกจิกเต็มไปหมด เสาร์-อาทิตย์แทบจะไม่ได้ไปไหนกันเลย เพราะต้องทั้งเตรียมการสอน แล้วก็มองหาวิธีสะสมแต้ม!😳

หมออ้นในห้องตรวจ

เคยเอ่ยถึงน้องๆ คนไทยที่ไปมาหาสู่กันอยู่บ้าง ถ้าใครจำบทที่ฉันเล่าเรื่องการทำกระต่ายน้อยขนมไหว้พระจันทร์ได้ ที่ฉันได้ไปเรียนทำขนมไหว้พระจันทร์กับพวกน้องๆ เป็นที่สนุกสนานกัน มีน้องคนนึงที่ฉันเอ่ยถึง คือ ‘หมออ้น’ ตอนที่รู้จักกันใหม่ๆ นี่ แอบทึ่งหมออ้นมากค่ะว่าน้องเค้าเก่งจริงๆ ไม่ได้จบหมอประเทศนี้ แต่สามารถร่ำเรียนภาษาจีนจนถึงขั้นสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ อย่างที่คุณๆ รู้กันนะคะว่า คุณนายฮวงเนี่ยชอบรู้อะไรใหม่ๆ ชอบคุยกับคนที่อยู่ในแวดวงอาชีพที่แตกต่างออกไป มีโอกาสก็เลยขอคุยกับหมออ้น เพื่อจะได้รู้ระบบของเจี้ยนเป่าในแง่มุมของหมอบ้าง หลังจากที่รู้แต่ผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับ ปรากฏว่าพอคุยกับหมออ้นแล้ว อิฉันยิ่งเพลียหนักกว่ารู้เรื่องของคุณชายซะอีก

บัตรอนุญาตประกอบอาชีพแพทย์ของหมออ้น

หมออ้นแต่งงานมาอยู่ที่นี่เมื่อประมาณสิบสามปีก่อน มาถึงก็ไปเรียนภาษาจีนที่ซือต้าเหมือนฉันเลยค่ะ แต่หนักกว่าฉันตรงที่ ต้องไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับศัพท์แสงที่หมอควรจะต้องรู้ แล้วก็ต้องไปขอเรียนเป็นหมออินเทิร์นที่โรงพยาบาลวั่นฟังเป็นเวลาหนึ่งปี ที่เลือกวั่นฟังก็เพราะสะดวกในการเดินทาง ซึ่งในหนึ่งปีนั้น หมออ้นต้องเรียนรู้ทุกแผนกของโรงพยาบาล จากนั้นก็เข้าสอบของทางแพทยสภาไต้หวันขั้นแรกนี้เรียกว่า Basic Science Test พอผ่านการสอบนี้ หมออ้นก็ต้องสมัครเข้าชิงที่เรียน โดยหมออ้นเลือกเรียนเป็น family doctor ที่โรงพยาบาลวั่นฟังอีกเช่นเคย โดยใช้เวลาเรียนต่ออีกสามปี จากนั้นจึงเข้าสอบในระดับขั้นถัดมาคือ Clinical Test ซึ่งการสอบทั้งสองขั้นนั้นต้องสอบทั้งข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาจีน! เนี่ย แล้วจะไม่ให้ฉันทึ่งได้ไงคะ สุดยอดจริงๆ เลยค่ะ จากนั้นหมออ้นก็ทำงานเต็มตัวที่โรงพยาบาลวั่นฟัง ซึ่งถึงแม้จะทำงานออกตรวจคนไข้ในวันจันทร์-ศุกร์ แต่บางทีช่วงสุดสัปดาห์ ทางโรงพยาบาลมีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปตามที่ต่างๆ หมออ้นก็ต้องไปด้วย แล้วยังมีต้องสอนพวกหมอเรสิเด็นท์อีก จนลูกแทบจำหน้าไม่ได้แล้ว เธอเลยตัดสินใจลาออกจากงานโรงพยาบาล มาเป็นหมอประจำที่คลีนิกของคุณพ่อสามีที่อยู่ใกล้บ้านมากๆ แค่เดินสัก 200 เมตรเอง

ประกาศนียบัตรรับรองจากทางแพทยสมาคมไต้หวันของหมออ้น

ตรงนี้ล่ะค่ะ ที่ฉันได้รู้ระบบของเจี้ยนเป่าเพิ่มเติม แล้วก็เลยทำให้รู้สึกว่า ถ้ามองเจี้ยนเป่าในแง่ของการทำงานของหมอแล้ว สงสารหมอค่ะ เพราะว่าทางหน่วยงานระบบประกันสุภาพแห่งชาติ (หรือในภาษาจีนคือ 建保局 – เจี้ยนเป่าจวี๋) มีกฎว่า หมอที่ทำงานในคลีนิก จะต้องทำงานเดือนละ 25 วัน ทางคลีนิกจึงสามารถยื่นขอเงินอุดหนุน (subsidy) จากเจี้ยนเป่าจวี๋ได้ครบเต็มจำนวน แต่ในแต่ละวันอาจจะไม่ได้ตรวจคนไข้ทั้งวันนะคะ คือคลีนิกที่นี่ส่วนใหญ่จะเปิดทำการในแต่ละวันเป็นสามช่วงคือเช้า (8.30-12.00 น.) บ่าย (14.30-17.30 น.) เย็น (18.30-22.00น.) เรื่องของเวลาเปิด-ปิดแต่ละช่วงอาจจะแตกต่างกันไปแต่ละคลีนิกค่ะ โดยมากก็จะประมาณที่ยกตัวอย่างมา แล้วตานี้หมอแต่ละคนก็จะทำงานกันเป็นช่วงๆ ไปในแต่ละวัน แล้วแต่บริหารจัดการกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคลินิกก็จะมีหมอทางด้านต่างๆ ประจำอยู่กันตามเวลาต่างๆ กฎอีกข้อหนึ่งของเจี้ยนเป่าจวี๋ที่ฉันรู้สึกว่าโหดดีเหมือนกันแฮะก็คือ หมอจะต้องทำงานตลอด ถ้าไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล ก็ต้องอยู่คลินิก หมายถึงว่าคือหมอจะต้องมีที่ทำงานประจำอยู่เสมอ ห้ามขาดช่วง คือใบอนุญาตประกอบอาชีพแพทย์จะมีแขวนให้เห็นกันอยู่ในคลินิก ตานี้ถ้าเกิดคลินิกมีการหยุดทำการ ปิดซ่อมแซมเกิดขึ้น หมอก็ต้องไปหาคลินิกอื่น ขอใช้พื้นที่ในคลินิกนั้นๆ เอาใบอนุญาตประกอบอาชีพแพทย์ของตัวเองไปแขวนไว้ค่ะ (ซึ่งแน่นอนค่ะว่า ก็ต้องแจ้งทางเจี้ยนเป่าจวี๋ด้วย) โดยทางทฤษฎีคือแบบนี้ แต่ทางปฏิบัติหมอคนนั้นก็อาจไม่ต้องไปทำงานจริงๆ เนื่องจากคลีนิกนั้นมีหมอประจำเต็มแล้ว ตรงนี้แล้วแต่เงื่อนไขที่จะตกลงกันเองค่ะ แล้วอีกเหตุผลที่ฉันบอกว่าสงสารหมอประเทศนี้มาก เพราะว่าด้วยความที่มีระบบเจี้ยนเป่า ไปหาหมอครั้งหนึ่งตามคลีนิกต่างๆ คนไข้ก็จ่ายแค่ 150-200 หยวน ดังนั้นคนไต้หวันทั้งหลาย ปวดหัวตัวร้อนนิดหน่อย ก็วิ่งไปหาหมอกันแล้ว ดังนั้น ฉันเห็นคลินิกเกือบทุกแห่ง คนรอหาหมอกันเต็มไปหมด😞

ตานี้มาถึงทีเด็ดที่หมออ้นเล่าแล้วทำให้ฉันอ้าปากค้างก็คือ หมอจะต้องสะสมแต้มให้ได้ 90 แต้มภายในเวลา 6 ปี! วิธีการสะสมแต้มของหมอคือ ไปเสียเงิน (หรือบางครั้งก็ฟรี) เข้าคอร์สอบรมสัมมนาในวิชาชีพของตัว แต่ละคอร์สก็มีจำนวนแต้มแตกต่างกันไป อีกวิธีหนึ่งก็คือ หมอต้องคอยอ่านวารสารทางการแพทย์ แล้วก็ขึ้นเว็บไซต์ของทางกระทรวงสาธารณสุข เข้าไปตอบคำถามทางวิชาการแพทย์ พูดชัดๆ หน่อยก็คือ ทำข้อสอบผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อดูว่าหมอคอยอัพเดตความรู้ใหม่ๆ ในวงการแพทย์ของตัวเองอยู่ไหม ตอบถูกก็ได้แต้ม ยังดีนะที่ตอบผิดยังไม่เป็นไร ฉันนึกว่าจะเหมือนการสอบ GMAT สมัยฉัน ที่ตอบผิดแล้วจะถูกหักคะแนน😆

เฮ้อ! ประเทศนี้นี่นิยม ‘เหล่ยจีเตี่ยนซู่’ กันจริงจริ๊ง แม้แต่หมอก็ยังไม่ละเว้น😅

Don`t copy text!