เขาดินไทเป

เขาดินไทเป

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– เขาดินไทเป –

 

เคยได้รับคำขอให้เขียนเล่าเกี่ยวกับ Taipei Zoo จากน้องคนหนึ่ง แล้วก็ลืมไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดาวเด่นของสวนสัตว์ไทเป เจ้าแพนด้าน้อย ‘หยวนไจ่ – 圓仔’ มีอายุครบ 7 ขวบแล้วนะ แถมได้เป็น ‘เจี่ยเจีย – 姐姐’ อีกด้วย เพราะแม่หมีแพนด้า ‘หยวนหยวน – 圓圓’ เพิ่งคลอดน้องสาวของหยวนไจ่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนนี้เอง ฉันเห็นข่าวแล้วก็ตื่นเต้นเล็กน้อย ยังพูดกับคุณชายเลยว่า หน้าหนาวนี้เราได้ไป ‘เขาดิน’ กันอีกแน่ ลูกแพนด้าน่าจะกำลังน่ารักพอดี ฮิฮิ

ฮู้ย! ก็ตอนเจ็ดปีก่อนที่หยวนไจ่เกิดน่ะ เป็นข่าวกันอยู่ตลอด คนไปต่อแถวเข้าดูกันเป็นชั่วโมง คุณนายฮวงก็เอากะเขาด้วย ฮ่าๆๆ แหม ก็สัตว์โปรดของอิฉันน่ะ นอกจากยีราฟแล้ว ก็มีเจ้าหมีตาดำที่อายครีมยี่ห้อไหนก็แก้ไม่ได้นี่ล่ะค่า😆 ที่ชอบๆ จริงๆ 🎵 เห็นครั้งแรกตอนสามสิบกว่าปีก่อนที่สวนสัตว์ในกรุงปักกิ่ง อาเจ็กอาแปะที่ไปด้วยกันในทัวร์จะตื่นเต้นกับกำแพงเมืองจีน หรือพระราชวังต้องห้ามอะไรก็ตามสบายเลยค่ะ แต่คุณหนูเล็กจากเยาวราชน่ะ ยืนเกาะกรงพยายามคุยกับน้องหมีแพนด้าตัวยักษ์อยู่เป็นนานสองนาน😄

ในตัวอาคารบ้านแพนด้า
ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับมูลสัตว์ต่างๆ และการนำไปใช้ประโยชน์

หลังจากที่ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วแห่งพรรคกั๋วมินตั่งได้รับเลือกตั้งแบบถล่มทลายเข้ามา ก็ทำให้สัมพันธภาพระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ดีขึ้น ทางจีนแผ่นดินใหญ่จึงมอบหมีแพนด้าสองตัวมาให้เป็นทูตสันถวไมตรีกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น ทางสวนสัตว์ไทเปได้ให้ชื่อว่า ‘หยวนหยวน –   圓圓 กับ ถวนถวน – 團團’ ที่มีความหมายประมาณว่า ‘รวมเป็นหนึ่งเดียว – unite’ แล้วก็สร้างที่อยู่ให้มีชื่อว่า Xinguang Special Exhibit House (Giant Panda House) เพราะว่าคนออกเงินสร้างคือกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน – ซินกวงกรุ๊ป ซึ่งมีทั้งพื้นที่ที่เป็นอินดอร์และเอาต์ดอร์ เป็นตึกสองชั้น ชั้นล่างเป็นบ้านของน้องหมี ส่วนชั้นบนเป็นร้านขายของและภัตตาคาร ตอนที่ต้องต่อคิวยาวเหยียดรอเข้าไปดูหยวนไจ่ ก็เพราะเขาจะกำหนดปริมาณคนที่เข้าไปดูเป็นรอบๆ ไป ถ้าจำไม่ผิดรอบละครึ่งชั่วโมงมั้งคะ เราสองคนไปถึงก็ไปรับบัตรคิวก่อน จากนั้นก็ไปเดินเล่นดูสัตว์อื่นๆ ถึงเวลารอบของเราก็ค่อยกลับมายืนต่อแถวรอเข้าชม ตอนนั้นเนี่ยเจ้าหยวนไจ่เป็นขวัญใจชาวไทเปมาก มีข่าวการเจริญเติบโตของนางทุกวัน ถึงขนาดในศาลาว่าการเทศบาลนครไทเป มีรูปนางติดบนกำแพงอยู่หลายรูปหลายแห่งภายในตัวอาคาร แถมมีคัตเอาต์เป็นรูปเจ้าหยวนไจ่กำลังเกาะขา ให้คนไปยืนถ่ายรูปได้ด้วย ถ่ายออกมาแล้วก็เหมือนกับหยวนไจ่กำลังเกาะขาคุณอยู่น่ะ อิฉันล่ะกรี๊ดกร๊าดกับไอเดียมาก แหม ก็เวลาไปติดต่อราชการแล้วมีจุดให้ถ่ายรูปเล่นขำๆ แบบนี้ มันก็สนุกดีอยู่นา ใช่ไหมคะ

หยวนไจ่กำลังออดอ้อนเกาะขาคนค่ะ (Cr. https://www.itsfun.com)
คุณนายฮวงกับแว่นกันแดดหมีแพนด้า
ไม่รู้หยวนหยวน หรือถวนถวน

ปี 2020 นี้ สวนสัตว์ไทเปมีอายุครบ 106 ปีเชียวนะ ในปี ค.ศ.1914 ที่ญี่ปุ่นยังครอบครองเกาะนี้อยู่ ได้มีชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งก่อตั้งสวนสัตว์เอกชนขึ้นที่บริเวณหยวนซัน (แถบที่ Grand Hotel หรือหยวนซันฟั่นเตี้ยนตั้งอยู่น่ะค่ะ) ในปีถัดมารัฐบาลญี่ปุ่นขอซื้อต่อมาแปรสภาพเป็นสวนสาธารณะ จนกระทั่งปี 1946 ทางเทศบาลนครไทเปได้เข้าไปจัดการดูแล สวนสัตว์ไทเปได้กลายเป็นสถานที่ ให้ความรู้และความบันเทิงกับประชาชนมาหลายต่อหลายรุ่น จนกระทั่งปี 1973 ทางรัฐบาลเห็นว่า พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่สามารถขยายได้มากนัก จึงมีมติให้ย้ายสวนสัตว์ไทเปไปที่บริเวณมู่จ้า ซึ่งก็คือที่ตั้งในปัจจุบันนี้ โดยใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมดถึง 13 ปี สวนสัตว์ที่มู่จ้าได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1987 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,031 ไร่ แต่ส่วนที่เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมมีพื้นที่ประมาณ 563 ไร่ จัดว่าใหญ่นะคะ เราสองคนใช้เป็นที่เดินเล่นออกกำลังตอนหน้าหนาวเป็นบางครั้ง ก็นานๆ ทีไปเยี่ยมชมน้องสัตว์ทั้งหลายบ้าง เมื่อยก็แวะพักหาขนม หาน้ำกินไป อิฉันเนี่ยชอบออกกำลังกายแบบบันเทิงๆ อย่างนี้ล่ะค่ะ😉

เขาดินของไทเปนี่ไม่เลวนะคะ ให้ความรู้เรื่องสัตว์ แมกไม้นานาพรรณใช้ได้เลยล่ะค่ะ แต่ละที่จะมีบอกชื่อสัตว์และรายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์นั้นๆ ให้ยืนอ่านตามสบาย แล้วตามต้นไม้ต่างๆ ก็มีป้ายบอกชื่อและรายละเอียดเช่นกัน จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง ฉันไปยืนดูเจ้าหมีโคอาลาที่ปกติออกจะเป็นสัตว์เกียจคร้านพอตัวอยู่ (อ่านจากป้ายหน้ากรง บอกว่า หมีโคอาล่านอน 18-20 ชั่วโมงต่อวันแน่ะ น่าจะจัดเป็นจอมขี้เกียจได้นะนี่😊) แล้าตานี้มีอยู่ตัวหนึ่ง ไม่รู้นึกยังไง อยู่ดีๆ ก็กระโดดจากต้นไม้ต้นที่กำลังเกาะอยู่ ไปอีกต้นที่อยู่ใกล้ๆ กัน อิฉันกับคุณชายร้องเฮ้ยพร้อมกันเลย เพิ่งได้รู้ว่าโคอาลากระโดดเป็นด้วยก็วันนั้นแหละค่ะ ไม่ใช่แค่ป้ากะลุงสองคนเท่านั้นนะที่ตื่นเต้น พ่อหนูแม่หนูทั้งหลายที่ยืนดูอยู่ก็ฮือฮากันใหญ่เหมือนกัน ฮ่าๆๆ นอกจากบ้านหมีโคอาลา และบ้านน้องหยวนไจ่แล้ว อีกที่หนึ่งที่ฉันชอบดูก็คือบ้านนกเพนกวิน ที่อยู่เข้าไปลึกสุดของที่นี่ ฉันชอบดูเพนกวินเดินกระดึ๊บๆ ดูงุ่มง่ามตลกน่ารักดี แต่พอเวลาโดดลงน้ำ ก็ว่ายน้ำได้ว่องไวมาก พลิ้วทีเดียว

แม่หมีโคอาลากอดลูกนอนหลับ

และที่แน่นอนว่าขาดไม่ได้ที่ต้องไปเซย์ฮัลโหลด้วยก็คือน้องช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยเรา กับน้องยีราฟ แต่ต้องตะโกนเอาหน่อยนะ เพราะที่นี่เขาสร้างแบบให้สัตว์อยู่สบายๆ มีที่ให้เดินเล่นหรือหลับนอนแบบกว้างขวางมาก ไอ้ที่จะแบบคนดูสามารถให้อาหารได้นี่ไม่มีค่ะ ตอนฉันเป็นเด็ก ด้วยความที่ถูกชะตา รักชอบยีราฟเป็นพิเศษ เวลาไปเขาดิน – สวนสัตว์ดุสิตทีไร ต้องรบพี่สาวให้อุ้มส่งขึ้นสูงๆ เพื่อเอาถั่วฝักยาวป้อนให้ยีราฟกินทุกครั้ง ไม่รู้ว่าเพราะถูกชะตากับน้องคอยาวอย่างนี้รึเปล่า เลยทำให้ฉันโตมาสูงซะจนเพื่อนๆ เคยให้ฉายาว่ายีราฟด้วย ฮิฮิ

ตัวจำลองช้างตัวแรกของสวนสัตว์ไทเป ที่มีรายละเอียดให้เดินชม อ่านได้ตามสบาย

ถ้าใครมาเที่ยวไทเป แล้วพาลูกเล็กๆ มาด้วย ฉันแนะนำว่าพามาเที่ยว Taipei Zoo ก็โอนะคะ ได้ความรู้และความเพลิดเพลินดี มีสัตว์จากทั่วทุกมุมโลกให้ดู เที่ยวเสร็จก็นั่งกระเช้า (Maokong Gondola) ต่อขึ้นไปชมพิพิธภัณฑ์ชาที่เมาคง รอชมวิวไทเปยามค่ำคืนสักนิด แล้วค่อยนั่งกระเช้ากลับลงมาต่อรถไฟฟ้ากลับเข้าเมืองก็ได้นะคะ การเดินทางสะดวกสบายแบบนี้ ต่อให้ลูกเล็กขนาดต้องนั่งรถเข็นก็ไม่มีปัญหาค่ะ คุณชายเคยคุยให้ฟังว่ารถไฟฟ้าสีสายสีน้ำตาลเนี่ย สร้างเพื่อไป Taipei Zoo ที่มู่จ้าโดยเฉพาะเลยล่ะ และแล้วฉันก็ออกจะเสียดายที่ถ้ากลับไปกรุงเทพฯ คงไม่สามารถไปฟื้นความหลังเอาถั่วฝักยาวเลี้ยงน้องยีราฟได้ซะแล้ว ก็เขาดินของเราย้ายออกไปไหนก็ไม่รู้ ฉันไม่รู้จักถนนหนทางแล้วน่ะสิคะ จะว่าไป อิฉันน่ะเวลากลับไปกรุงเทพฯ ก็กลายเป็นบ้านนอกเข้ากรุงไปแล้วล่ะ โดยเฉพาะรอบนอกๆ นี่ ไปก็หลงแน่นอน😅

ถ้าใครสนใจอยากชมวิดีโอของน้องสาวหยวนไจ่ ไปดูได้ที่เฟซบุ๊กเพจของสวนสัตว์ไทเปได้เลยค่ะ https://www.facebook.com/TaipeiZoo

คลิกซื้อ E-Book ‘ในสวนอักษร’ ที่นี่
Don`t copy text!