中秋節 – จงชิวเจี๋ย

中秋節 – จงชิวเจี๋ย

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– 中秋節 – จงชิวเจี๋ย –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

วันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีนคือ ‘中秋節 – จงชิวเจี๋ย’ หรือที่คนไทยเรารู้จักกันดีในนามของวันไหว้พระจันทร์ ในปี 2563 นี้ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมค่ะ พอพูดถึงเทศกาลนี้ เราก็จะต้องมีภาพของขนมไหว้พระจันทร์ (ภาษาจีนกลางเรียกว่า ‘月餅 – เยว่ปิ่ง’ ภาษาอังกฤษเรียก moon cake) ลอยมาแต่ไกลเลยใช่ไหมคะ เอ๊ะ หรือจะเป็นแค่ฉัน – คนช่างหม่ำอยู่คนเดียวรึเปล่านี่😋 เอาเป็นว่า ยังไงๆ ก็ต้องมีคนนึกถึงขนมไหว้พระจันทร์กันบ้างล่ะน่า😉

ปีแรกที่มาเจอเยว่ปิ่งแล้วก็งง อ้าว นี่มันขนมเปี๊ยะนี่ ไหงคุณชายบอกว่าซื้อเยว่ปิ่งมาให้กิน ก็เลยต้องหาคำตอบเองตามประสาคุณนายฮวงจอมสงสัย แล้วก็ได้คำตอบว่า ขนมไหว้พระจันทร์ที่เราเห็นขายกันอยู่ในเมืองไทยนั้น มันคือเยว่ปิ่งของคนจีนกวางตุ้งที่ไส้ดั้งเดิมฮิตๆกันก็เป็นไส้ลูกบัวไข่แดง แต่คนไทยเราคงเอามาปรับเพิ่มด้วยการเสริมไส้ทุเรียนกวนเข้าไป ส่วนตัวแป้งด้านนอกมันหนาๆแข็งๆหน่อยๆสีน้ำตาล แต่ถ้าสไตล์ไต้หวันนี่ตัวแป้งจะคล้ายๆขนมเปี๊ยะบ้านเรามากกว่า ซึ่งเพื่อนไต้หวันที่สนิทกันบอกว่า เป็นสไตล์ของทางภาคเหนือของจีน (北方式月餅) ส่วนไส้ก็มาแนวถั่วแดง เผือกกวน หรือถ้าสมัยนี้นิยมมีไส้สับปะรดกวน อ้อ แล้วก็ไส้ยอดฮิต – ไข่เค็มอีกด้วย ซึ่งฉันชอบกินแบบไต้หวันมากกว่านะ ตั้งแต่เด็กๆ ฉันไม่ชอบกินขนมไหว้พระจันทร์สักเท่าไรนัก เพราะไม่ชอบตัวแป้งสีน้ำตาลนั่น รู้สึกว่ามันมีกลิ่นอะไรไม่รู้ ไม่ชอบ ถ้ากินก็จะกินแต่ไส้ทุเรียนกวน แล้วแอบเอาตัวแป้งด้านนอกไปทิ้ง (ความลับตอนเด็กมาแตกเอาตอนนี้นี่เอง หวังว่าคุณหม่ามี้จะไม่ได้อ่านบทความชิ้นนี้นะ แหะๆ😅) ส่วนใหญ่ตอนเด็กๆ ฉันจะเลือกกินแต่ขนมโก๋ ซึ่งพี่ๆ ก็ชอบสิ คนกินเยว่ปิ่งน้อยลงไปหนึ่งคน ฮ่าๆๆ

บรรยากาศในเวิร์คช็อป
แถมสูตรขนมน้องกระต่ายให้ดูกัน เผื่อใครอยากลองปั้น “กระต่ายหยก” บนดวงจันทร์บ้าง

พอดีเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา น้องแต้ที่เป็นเจ้าของร้าน Guudnest อันโด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวเทียนหมู่เป็นอย่างดี (เทียนหมู่คือละแวกที่พักอาศัยของชาวต่างชาติที่ย้ายมาทำงานในไทเป อยู่เกือบๆ ถึงเป่ยโถวแหล่งแช่น้ำแร่ของชาวไทเป) ชวนฉันและน้องๆ คนไทยที่ชอบพอกันอีกสี่คน ไปเรียนทำ bunny moon cake ซึ่งเป็นหนึ่งในเวิร์กช็อปที่ทาง Guudnest จัดขึ้นทุกปีในช่วงก่อนถึงจงชิวเจี๋ย ตอนฉันแจ้งคุณชายว่า “นี่ยูๆ วันพุธนี้ไอจะไปเทียนหมู่แต่เช้านะ แต้ชวนไปทำเยว่ปิ่ง” ฮีทำตาโต “ห้ะ! จริงอะ ยูเนี่ยนะ” แหม! มันจะตื่นเต้นอะไรปานนั้น แค่จะได้กินเยว่ปิ่งฝีมือฮูหยินของยูเนี่ย ยังไงมันก็คงไม่ถึงขั้นท้องเสียหรอกน่า😆 และแล้วคุณนายฮวงผู้ไม่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงเรื่องทำขนมหรืออาหาร (เป็นแต่กิน ว่างั้นเหอะ😜) ก็ได้นำกระต่ายน้อยเยว่ปิ่งสิบสองตัวกลับมาให้คุณชายชิมจนได้ ถึงแม้จะมีสองตัวที่ออกมาเป็นขวานฟ้าหน้าดำก็ตามที😁😂

ก่อนปั้นต้องชั่งน้ำหนักแป้งกันก่อน งานนี้อิฉันกับน้องโบว์ก็แข่งกันว่าใครจะแบ่งแป้งได้ขนาดเป๊ะๆ เป็นที่ครื้นเครงมาก 😁
น้องเติ้ล-มือวางอันดับหนึ่งของกรุ๊ป บรรจงวาดหน้าตาน้องกระต่ายได้ออกมาน่าเอ็นดูจริงๆ😍

จริงๆ แล้วสนุกดีนะ ต่อให้ฉันไม่ใช่คนชอบทำขนมหรืออาหารก็เถอะ แต่การไปเรียนกับน้องๆ เรียนกันไปเมาท์กันไป มันก็กลายเป็นเวิร์กช็อปที่บันเทิงเฮฮาจนทุกคนติดใจอยากเรียนคอร์สอื่นๆ ต่อ ครูผู้สอนที่เป็นพ่อหนุ่มไต้หวันหน้าเข้มราวกับหนุ่มละติน สามารถทำให้เรื่องอบขนมกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ไปได้จริงๆ แต่น้องแอนคนสวยก็ยังแอบโก๊ะจนได้ เริ่มตั้งแต่เทแป้งพรวดโดยไม่รู้ว่าต้องเทผ่านเครื่องร่อนแป้ง ส่วนอิฉัน (กลัวน้องแอนจะเหงาโก๊ะอยู่คนเดียว เลยโก๊ะตามมาติดๆ😜) ก็เทแป้งลงไป เอ ทำไมเขย่าเท่าไรแป้งมันก็ไม่ลงนะ จนน้องโบว์ที่นั่งตรงข้ามต้องสาธิตพร้อมบอกขำๆ ว่า พี่ต้องกดตรงต้ามถือแบบนี้ด้วยค่ะมันถึงจะลง😊 พอตอนปั้นจับไส้ใส่ ดูพ่อครูรูปหล่อ (ที่แต้เล่าให้ฟังว่า ฮีเป็นใครมาจากไหน แล้วแต้ไปเกี้ยวตัวมาสอนได้ยังไง น้องเติ้ลเลยเติมสรรพคุณสรุปให้ว่า รูปหล่อ พ่อรวย เมียหวง😂) วางไส้ลงตรงกลางแป้ง แล้วก็จับดึงๆ ห่อก็เสร็จ เอ๊ะ ก็ไม่ยากนิ แต่พอทำเอง อ๊ะ ทำไมห่อไส้ไม่มิดล่ะ เอ๊า แผ่นแป้งแตกอีก โอย สรุปกว่าอิฉันและหมออ้น (ที่ถึงขนาดกล่าวว่า อบขนมยากกว่าเป็นหมออี๊ก😆) จะปลุกปั้นเจ้ากระต่ายน้อยสำเร็จ เล่นเอาฮากันหลายรอบ

ยังค่ะ ยังไม่เสร็จ ต้องปั้นหูกับหางติดอีก น้องกระต่ายของฉันหลายตัวเลยที่หูยาวสองข้างไม่เท่ากัน เลยโดนแซวว่า สงสัยตอนคลอด หมอทำคลอดคว้าหูได้ข้างเดียวแล้วดึงออกจากท้องแม่กระต่ายมาแน่เลย😅 เออ แล้วฉันก็เพิ่งรู้ว่ามีปากกาไว้ใช้เขียนหน้ากระต่าย ที่เป็นสีผสมอาหารด้วย เช๊ยเชยจริงๆ คุณนายฮวงเอ๊ย😁 ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ที่สนุกดีค่ะ นี่ยังกะว่าถ้าแก๊งค์เพื่อนมัธยมมาเยี่ยมอีก จะไปขอให้แต้เปิดเวิร์กช็อปทำขนมพายสับปะรดไต้หวัน ทำเองเป็นของฝากจากไต้หวันกันสนุกๆ ดีกว่าซื้อจากร้านค้าตรงที่ได้เฮฮากันนี่ล่ะ😊 ถ้าใครอยากเห็นว่า การทำ bunny moon cake ง่ายแค่ไหน คลิกลิงค์นี้ดูนะคะ https://www.facebook.com/watch/?v=3627095637341846&extid=mXbhzEnJkTyxtH4E

กระต่ายน้อยขวานฟ้าหน้าดำของคุณนายฮวง ส่วนที่เห็นไกลๆบนถาดสวยงามนั่นคือ ฝีมือของครูรูปหล่อ พ่อรวย เมียหวง😂
ถ้าใครไม่มีปากกาวาดหน้า ใช้ไม้จิ้มเอาแบบนี้ก็ได้นะ😊 (ภาพจากเพจร้าน Guudnest )
หน้าตามูนเค้กแบบต่างๆ (ภาพ : https://naiise.com/)

เคยเล่าแล้วว่าจงชิวเจี๋ยเป็นหนึ่งในสามเทศกาลใหญ่ของชาวจีน ชาวจีนจะเดินทางกลับบ้านเกิดกันเพื่อฉลองเทศกาลนี้กับครอบครัว ที่ไต้หวันนี้นอกจากจะกินและให้เยว่ปิ่งกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นิยมกินในช่วงเทศกาลนี้ หรือให้เป็นของกำนัลหรือของฝากก็คือส้มโอ ที่ภาษาจีนกลางเรียกว่า 柚子 – โย่วจึ ซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำว่า 有子 – โหยวจึ ที่แปลตรงตัวได้ว่ามีลูก ซึ่งสำหรับในเทศกาลนี้มีความหมายถึง มีลูกๆ กลับมาบ้านรวมตัวกันในครอบครัวอย่างสมัครสมานสามัคคี อีกตำรานึงก็บอกว่า โย่วจึเสียงพ้องกับคำว่าเป่าโย่ว ที่แปลว่าปกป้องคุ้มครอง เป็นความหมายที่ดีคุ้มครองให้คนปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลาย แล้วช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงที่ส้มโอให้ผลด้วย จึงเหมาะที่จะกินด้วยกันในครอบครัวพร้อมชมพระจันทร์เต็มดวงกัน แต่ที่ไต้หวันนี่เทศกาลไหว้พระจันทร์ เหมือนเป็นเทศกาลบาร์บีคิวแห่งชาตินั่นเลย ฉันถามคุณชายว่าทำไมต้องกินปิ้งย่างกัน ฮีตอบว่า เข้าใจว่าครอบครัวรวมตัวไหว้และชมพระจันทร์กัน ไม่มีไรทำเลยปิ้งๆ ของกินกัน แล้วก็บรรดาผู้ผลิตบาร์บีคิวซอสคงมาตีกระแสให้มันคึกคักขึ้น เลยค่อยๆ กลายมาเป็นธรรมเนียมไปว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ต้องมีบาร์บีคิว อือ! ขำๆ ดีเหมือนกันนะ😂

โชว์ผลงานกันหน่อยสิคะ 😊

ส่วนในเรื่องของตำนานที่เกี่ยวกับจงชิวเจี๋ยนี้ ตามที่เคยอ่านเจอมา มีอยู่หลายตำนานด้วยกัน ลองถามอากู๋กันดูก็ได้ค่ะ มีขึ้นมาให้เลือกอ่านหลายตำนานอยู่ แต่ที่ฉันอ่านเจอในนิตยสารไทเปนี่แล้วชอบที่สุดคือ เรื่องของกระต่ายหยก – 玉兔 อ่านว่า อวี้ทู่ ตามตำนานนี้กล่าวถึง 玉皇大帝 – อวี้หวงต้าตี้ ผู้เป็นเทพเจ้าปกครองสวรรค์ ได้แปลงกายมาเป็นชายชรายากจนที่หิวโหย เร่ร่อนขออาหารจากบรรดาสัตว์ต่างๆ ในโลก น้องลิงได้ปีนเก็บรวบรวมผลไม้บนต้นต่างๆ มามอบให้ ในขณะที่น้องนากก็จับปลาในแม่น้ำมาให้ ส่วนเจ้าหมาจิ้งจอกก็ได้ไปขโมยนมเปรี้ยวก้อน (ภาษาจีนเรียก 凝乳 – หนิงหรู่ จะคล้ายๆ คอตเทจชีสน่ะค่ะ) มาให้ชายชรา จะมีก็แต่น้องกระต่ายที่ทำได้เพียงแค่เก็บหญ้ามาให้ ซึ่งเจ้ากระต่ายน้อยเองก็รู้ว่าไม่เพียงพอ คุณตาผู้ชรากินไม่อิ่มแน่ จึงเสียสละตัวเองให้เป็นอาหารของคุณตา โดยกระโดดเข้ากองไฟที่คุณตาก่อเอาไว้ คุณตาจึงแปลงร่างกลับเป็นอวี้หวงต้าตี้ แล้วก็ส่งน้องกระต่ายน้อยผู้เสียสละชีวิตตัวเองแก่ชายชราที่หิวโหย ให้ขึ้นไปเป็นกระต่ายหยก หรือ 玉兔 – อวี้ทู่ อยู่บนพระจันทร์ ทำงานอยู่ในพระราชวังจันทรา หรือ Moon Palace ภาษาจีนคือ 廣寒廣 – ก่วงหันกง มีหน้าที่บดสมุนไพรเพื่อทำยาอายุวัฒนะ ดังนั้นจากตำนานนี้ กระต่ายจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเสียสละ ความไม่เห็นแก่ตัว

ความคิดสร้างสรรค์ของชาวไต้หวัน ที่ชอบเติมสีสรรให้กับส้มโอในช่วงจงชิวเจี๋ย

เป็นยังไงคะตำนานน้องกระต่ายบนดวงจันทร์นี้ ชอบกันไหมคะ ฉันน่ะชอบมาก ฉันรู้สึกว่า โลกเราต้องการคนที่ไม่เห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นอีกสักนิด เสียสละกันคนละหน่อย โลกจะได้น่าอยู่มากขึ้นนะคะ จะว่าไป ฉันรู้สึกว่าบ้านหลังน้อยกระจิ๊ดริดของอิฉันน่าอยู่ขึ้นเหมือนกันนะ หลังจากที่พาน้องกระต่ายน้อยทั้งสิบสองตัวกลับมาอยู่ด้วย เพราะเตือนให้นึกถึงความสนุกและความรู้สึกดีๆ ที่ได้รับในช่วงทำ bunny moon cake

จงชิวเจี๋ยปีนี้เป็นปีที่พิเศษสำหรับฉันจริงๆ ค่ะ ได้ทำมูนเค้กเป็นครั้งแรกในชีวิต เอ จะว่าไปอิฉันก็มีศักยภาพเรื่องอบขนมใช้ได้อยู่นา อย่างน้อยก็ทำสำเร็จลุล่วงโดยสวัสดิภาพ😆😅

 

Don`t copy text!