เจ่าชัน -早餐

เจ่าชัน -早餐

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– เจ่าชัน -早餐 –

พอเขียนเรื่องเกี๊ยวแล้ว คุณนายช่างกินอย่างอิฉันเลยน้ำลายแตกฟอง ฮิฮิ ขอเมาท์ต่อเรื่องอาหารเช้าแบบท้องถิ่นกันหน่อยละกันนะคะ ในประเทศนี้จะมี ‘เจ่าชันเตี้ยน – 早餐店’ แปลเป็นไทยได้ว่า ร้านขายอาหารเช้า (早餐 = อาหารเช้า 店 = ร้าน) พบเห็นได้ทั่วไป แต่ถ้าเป็นย่านธุรกิจที่มีออฟฟิศเยอะๆ ก็อาจจะมาในรูปแบบรถเข็น แทนที่จะเป็นหน้าร้านที่ให้ลูกค้าเข้าไปนั่งกินได้ ซึ่งเจ่าชันเตี้ยนบางร้านอาจจะขายแต่อาหารเช้าแบบจีนล้วนๆ แต่ก็มีบางร้านที่อาจจะมีแซนด์วิชขายด้วย ซึ่งก็เป็นแซนด์วิชแบบฟิวชันหน่อยๆ เช่น แซนด์วิชไส้หมูหย็อง (แต่ไม่มีน้ำพริกเผาทาบนขนมปังนะ😄) เรามาคุยให้ฟังกันเฉพาะเจ่าชันแบบไต้หวันดีกว่าเนอะ

ตอนมาถึงใหม่ๆ ก็อาศัยเจ่าชันเตี้ยนนี่ล่ะค่ะ เป็นที่พึ่งหลักสำหรับมื้อเช้า เพราะคุณชายไปทำงาน ฉันก็ต้องไปเรียนภาษาจีนที่ซือต้า แล้วบ้านเช่าหลังแรกของเราที่เป็นกงอวี้ (แนวเดียวกับแฟลตดินแดงน่ะ ถ้าจำไม่ได้ ลองไปอ่านบท บ้านในไต้หวัน 1 นะคะ) จัดว่าเป็นย่านที่พักอาศัยที่หนาแน่นพอสมควร จึงมีเจ่าชันเตี้ยนหลายร้านอยู่ เราก็ส่วนใหญ่สั่งน้ำเต้าหู้ที่ภาษาจีนเรียกว่า ‘โต้วเจียง – 豆漿’ แล้วอาหารหลักก็สั่งหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป ส่วนใหญ่ฉันกินแค่ซาลาเปาไส้หมูสับลูกนึง+น้ำเต้าหู้แก้วเล็กสุดก็อิ่มแล้ว

พอพูดถึงน้ำเต้าหู้กับซือต้าเลยนึกถึงความเปิ่นของฉัน ตอนเพิ่งเริ่มเรียนที่ซือต้าใหม่ๆ มีอยู่วันหนึ่งฉันตื่นสายก็เลยกะว่าเดี๋ยวมาหาข้าวเช้ากินเอาแถวโรงเรียน ขึ้นจากรถไฟฟ้ากำลังเดินต่อไปโรงเรียน เจอรถเข็นขายน้ำเต้าหู้ เอาวะ รองท้องไปก่อนละกัน ก็จัดการสั่งอย่างมั่นอกมั่นใจเลยค่ะ (คุณชายสอนว่าจะพูดยังไงแล้วนี่ ท่องจนขึ้นใจ ไม่น่าพลาด) “อั่ว เอี้ยว อิ๊ เปย โต้ว เจียง – เอาน้ำเต้าหู้แก้วนึง” อาอึ้มคนขายก็ถามกลับมาว่า “หนี่ เอี้ยว ปิง เตอะ ฮั่ว ซื่อ เวิน เตอะ – เธอจะเอาแบบเย็นหรือ… ล่ะ” ????? เอ ที่เหล่าซือ (ครู) สอนมันมีแต่คำว่า ปิง – เย็น กับ เยร่อ – ร้อน นี่หว่า แล้วไอ้เวินนี่มันแปลว่าอะไรวะ เอางี้ละกัน “อั่ว เอี้ยว ปู๋ ซื่อ ปิง เตอะ – ฉันเอาแบบไม่เย็นน่ะจ้ะ” ฮ่าฮ่า ให้มันรู้บ้างไผเป็นไผ ได้น้ำเต้าหู้แบบที่ต้องการมากินจนได้ซิน่า คำว่า ‘เวิน’ แปลว่าอุ่น ซึ่งก็พอดีเลยค่ะ เพราะฉันไม่ชอบกินของร้อน กลับมาเล่าให้คุณชายฟัง ฮีหัวเราะบอกใช้ได้ ใช้ได้ ไม่อดตายแน่😆

เซาปิ่งกับเซียงซูปิ่ง

กลับมาเล่าเรื่องอาหารเช้ากันต่อ ชอบนอกเรื่องเรื่อย แหะๆ😅 อย่างที่บอกค่ะว่า ส่วนใหญ่ฉันมักจะกิน ‘เปาจึ – 包子; หรือที่เราเรียกกันว่าซาลาเปา (เพราะเร็วดี สั่งปุ๊บ คนขายก็หยิบใส่ถุงให้ปั๊บ) จนกระทั่งอาเตี่ยกับหม่ามี้มาเยี่ยมเยือนดูความเป็นอยู่ของอาหมวยเล็กซะหน่อย เช้าแรกตื่นมา ฉันแค่บอกว่าจะเดินออกไปซื้อที่เจ่าชันเตี้ยนมาให้กิน ยังไม่ทันพรรณนาเลยว่ามีอะไรบ้าง อาเตี่ยสั่งฉับทันทีว่า “ป๊าเอาเซาปิ่งกับโต้วเจียง” โอ้โฮ อิฉันรู้ละว่าความชอบกินของอิฉันมาจากไหน ฮ่าๆๆ ฉันรู้จักเซาปิ่งก็เพราะคุณเตี่ยของอิฉันนี่แหละค่ะ ‘เซาปิ่ง – 燒餅’ ก็คือแป้งที่เอาไปอบในโอ่ง (นี่ว่ากันแบบวิถีดั้งเดิมนะ) จะคล้ายๆ กับ ‘นาน’ ของทางอินเดีย ส่วนใหญ่จะมีโรยงาอยู่ข้างหน้า ไม่มีไส้อะไร รสชาติแป้งออกหวานนิดๆ อร่อยดีเหมือนกัน

ฟั่นถวน

นอกจากเซาปิ่งแล้ว มีอีกอย่างที่ฉันชอบกินคือ ‘ฟั่นถวน – 飯糰’ มันคือข้าวห่อไส้สารพัด ที่แต่ละร้านจะสรรสร้างกันขึ้นมา ส่วนใหญ่ไส้ข้างในหลักๆ หน่อยก็มีไชโป๊สับ ปาท่องโก้ท่อนสั้นๆ ซึงไฉ่ (ผักกาดดองเปรี้ยว) หมูหย็อง ส่วนที่จะเพิ่มเติมเข้ามาอีกก็อาจมีไข่พะโล้หรือไข่ต้ม หมูพะโล้ เนื้อปลาทูน่ากระป๋อง เนื้อไก่ ข้าวโพดต้ม ฯลฯ แล้วแต่ร้านไหนจะบริหารจัดการยังไงค่ะ ฉันไม่ชอบไชโป๊ ก็จะบอกคนขายว่าไม่ต้องใส่ หรืออย่างบางร้านที่เคยเจอ ฉันจิ้มเลือกได้เลยว่าจะเลือกใส่อะไรบ้าง ส่วนข้าวก็… บางร้านมีให้เลือกด้วยว่าจะเอาข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวผสมธัญพืช แต่ถ้าทั่วๆ ไปส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียวผสมข้าวเจ้า เรื่องของข้าวที่ใช้นี่ก็แล้วแต่ร้านด้วยค่ะว่า จะผสมสัดส่วนข้าวอะไร ยังไงบ้าง ถือว่าเป็นสูตรเฉพาะของแต่ละร้านแล้วกัน

ฟั่นถวน+แผงขายฟั่นถวน

ตอนเพื่อนสมัยมัธยมปลายมาเที่ยว ฉันพาไปกินอาหารเช้าที่ร้านเจ่าชันเตี้ยนแบบดั้งเดิม คุณเพื่อนทั้งหลายบอกว่าสั่งมาทุกอย่างเลยแล้วกัน มันเยอะไปหมด ขี้เกียจฟังฉันบรรยาย ชิมเลยง่ายดี แหม แบบนี้ก็เข้าทางคุณนายฮวงสิคะ ไม่ต้องบรรยายให้เหนื่อย ชิมกันไป วิเคราะห์กันไป สนุกด้วย ฮิฮิ นอกจากฟั่นถวน, เปาจึ, เซาปิ่งแล้ว ในเจ่าชันเตี้ยนโดยทั่วไปก็จะมี…

หลัวปัวเกา

‘โหยวเถึยว – 油條’ หรือปาท่องโก๋ที่ท่อนยาวปานไม้บรรทัดนั่นเลย ฉันกินไม่เคยหมดท่อน ก็มันชินกับปาท่องโก๋บ้านเรานี่คะ

‘หลัวปัวเกา – 蘿蔔糕’ ที่คนแต้จิ๋วเรียกว่าไชเถ่าก้วย คนไทยเรียกว่าขนมผักกาดมั้งคะ เป็นแป้งผสมกับหัวไชเท้าน่ะค่ะ ที่นี่จะตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดร้อนๆ แล้วจิ้ม ‘เจี้ยงโหยวเกา – 醬油膏’ ที่เป็นซีอิ๊วข้นนิดๆ รสชาติเค็มหน่อยๆ อึ้ม อร่อย😋

‘กัวเทีย – 鍋貼; ที่เล่าให้ฟังในบทเรื่องเกี๊ยวน่ะ คนไต้หวันกินเป็นอาหารเช้าด้วย เพื่อนฉันกินกันแล้วก็บอกว่า อร่อยกว่าเกี๊ยวซ่า เพราะแป้งบางๆ อร่อยดี

‘ตั้นปิ่ง – 蛋餅’ อันนี้ถ้าให้เทียบกับของไทยเราก็คงเป็นโรตีใส่ไข่มั้ง น่าจะใกล้เคียงที่สุดแล้ว ที่นี่กินโดยมีเจี้ยงโหยวเกาเป็นตัวประกอบ อันนี้แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนด้วย หรืออยากจิ้มซอสที่หน้าตาคล้ายซอสศรีราชาบ้านเราก็ได้ ทางร้านจะมีวางพวกซอสทั้งหลายไว้ให้ ใส่กันได้เองตามใจชอบ

ตั้นปิ่ง

‘ชงโหยวปิ่ง – 蔥油餅’ อันนี้ก็เหมือนกับตั้นปิ่ง เพียงแต่เปลี่ยนจากใส่ไข่ มาเป็นใส่ต้นหอมสับแทน

‘หมั่นโถว – 饅頭’ ที่บางร้านก็มีแบบสีขาวธรรมดาๆ หรือมีแบบผสมต้นหอมลงไปในแป้งด้วย หรือไม่ก็แบบผสมงาดำก็มี แต่ก็คือหมั่นโถวที่มีแต่แป้ง ไม่มีไส้ข้างใน

‘จิ่วไช่เหอ – 韭菜盒 หรือจิ่วไช่เปา – 韭菜包’ เป็นแป้งห่อไส้กุยช่ายที่บางร้านผัดผสมกับไข่ เต้าหู้แข็ง เห็ดหูหนู แล้วเอาลงจี่ในกระทะร้อนๆ อันนี้ก็ของโปรดฉันด้วย

‘เซียงซูปิ่ง – 香酥餅’ พวกนี้ก็คล้ายๆ กับขนมเปี๊ยะแถวเยาวราชน่ะค่ะ ไส้ข้างในก็มีตั้งแต่ไส้ถั่วแดง ไส้เผือก ไส้พุทราจีน ไส้งาดำ ฯลฯ สรุปคือไส้หวานเป็นส่วนใหญ่ ชื่อขนมนี้อาจจะเปลี่ยนไปตามแต่ละร้าน หรือแต่ละไส้ข้างในบ้าง แต่โดยรวมจะมีคำว่าซูปิ่งอยู่

‘เสี่ยวหลงเปา – 小籠包’ ที่ชาวไทยรู้จักกันดี แต่ที่นี่บางร้านที่ฉันเคยเจอ เป็นเสี่ยวหลงเปาที่เหมือนซาลาเปาไส้หมูสับดีๆ นี่เอง ก็งงๆ ตอนมาเสิร์ฟเหมือนกัน แต่โดยมากจะเป็นเสี่ยวหลงเปาที่เป็นแป้งบางๆ แบบติ่งไท่ฟงนั่นล่ะ

เสี่ยวหลงเปา

‘โต้วเจียง – 豆漿’ น้ำเต้าหู้ที่นี่ เราสั่งได้ว่าจะใส่น้ำตาลหรือไม่ใส่ หรือจะใส่เกลือเป็น ‘เสียนโต้วเจียง – 咸豆漿’ ก็มี หรือบางร้านเสียนโต้วเจียงมาแบบใส่เครื่องมาให้เสร็จ ซึ่งโดยมากคือปาท่องโก๋ แต่อาจมีอย่างอื่นด้วยแล้วแต่สูตรของแต่ละร้าน ฉันไม่ชอบกินเสียนโต้วเจียง คงเป็นเพราะความเคยชินว่าน้ำเต้าหู้มันเป็นของหวานมั้ง

เสียนโต้วเจียง

‘หมี่เจียง – 米漿’ เห็นว่าทำจากข้าว แต่ฉันลองแล้วก็รู้สึกว่ารสชาติไม่ได้ต่างจากน้ำเต้าหู้สักเท่าไร

อาหารเช้าในปัจจุบันของคุณนายฮวง

แต่เดี๋ยวนี้ เนื่องจากต้องดูแลสุขภาพ อาหารเช้าของฉันเลยกลายเป็น ‘Taiwanese style oatmeal’ (ชื่อตั้งเองโดยคุณนายฮวงค่ะ อิอิ) มันคือพวกงาดำบด อัลมอนด์บด ขิงผง ชาเชียวผง เก๋ากี้บด ข้าวโอ๊ต สารพัดถั่ว ลูกเกด เม็ดเก๋ากี้ ขมิ้นผง flax seeds เมล็ดเจีย ฯลฯ สารพัดอย่างที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือที่ฉันอยากกิน สรุป ฮ่าๆๆ บดละเอียดแล้วก็ชงน้ำร้อนผสมๆ กัน แล้วก็มีผลไม้สามสี่อย่างอีกด้วย อาหารเช้าของฉันรสชาติอาจจะไม่อร่อย แต่สารอาหารน่าจะเพียบอยู่ เพื่อสุขภาพ ‘อนาคตชาวคลองหก’ อย่างเรา ก็จำต้องโบกมือลาเจ่าชันเตี้ยนกันไปล่ะนะจ๊ะ😉

Don`t copy text!