โรงเรียนในไต้หวัน

โรงเรียนในไต้หวัน

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

ฉันโชคดีที่ไม่มีลูกที่จะต้องเข้าโรงเรียนให้วุ่นวายเหมือนอย่างเพื่อนๆ แต่เท่าที่ฟังและดูก็คงไม่ต่างจากเมืองไทยเท่าไหร่นักที่โรงเรียนกวดวิชากลายเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูเอามากๆ ละแวกไทเปนี่จะเห็นโรงเรียนกวดวิชาเยอะมากแทบเหมือน 7-Eleven นั่นเชียว โดยเฉพาะโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ

เด็กไต้หวันเริ่มเข้าเรียนอนุบาล (เรียกว่า ‘โย่วจื้อหยวน’) ที่อายุ 3 ขวบ มีอนุบาล 1-3 ซึ่งเด็กจะอยู่ที่โรงเรียนทั้งวัน ตอนเย็นพ่อแม่เลิกงานก็ไปรับกลับได้ แต่พอเข้า ป.1 นี่สิ เริ่มยุ่งแล้วค่ะ ที่นี่ปีการศึกษาเริ่มที่เดือนกันยายนเหมือนอเมริกา แล้วเด็กที่จะเข้าเรียนก็ต้องครบ 6 ขวบเต็มก่อนวันที่ 1 กันยายน สำหรับโรงเรียนที่จะเข้าเรียนก็ต้องตามเขตทะเบียนบ้านที่อยู่ โดยทางเขตจะส่งจดหมายมาแจ้งว่าให้เข้าเรียนที่โรงเรียนไหน แล้วพ่อแม่ก็พาลูกไปสมัคร ระดับประถม (เรียกว่า ‘กั๋วเสี่ยว’) นี่จะแบ่งเป็น 3 ช่วง (คือ ป.1-2, ป.3-4, แล้วก็ ป.5-6 ) และจะมีครูประจำชั้นคนเดียวกันในแต่ละช่วง แต่ที่ฉันว่าวุ่นวายที่สุดก็เรื่องเวลาเลิกเรียนที่ไม่เหมือนกัน คือ ป.1-2 เรียนเต็มวันแค่วันเดียวคือวันอังคาร ที่เหลืออีก 4 วันเรียนแค่ครึ่งวัน พอขึ้น ป.3-4 เรียนครึ่งวันแค่วันพุธกับวันศุกร์ อีก 3 วันก็เรียนเต็มวันไป ส่วน ป.5-6 เรียนเต็มวันสี่วัน ยกเว้นแค่วันพุธที่เลิกตอนเที่ยง ฟังแล้วปวดหัวไหมคะ ถ้าฉันมีลูกคงมีการลืมไปรับลูกแหงแซะ เฮ้อ เป็นแม่ประเทศนี้มันยุ่งจริงๆ ไหนยังจะต้องส่งข้าวกลางวันให้ลูกอีก โรงเรียนที่นี่ไม่มีโรงอาหารแบบบ้านเราหรอกค่ะ ต้องไปยืนรอหน้าประตูโรงเรียน พอเที่ยงลูกก็วิ่งออกมารับกล่องข้าวแล้วก็เอากลับไปนั่งกินที่โต๊ะเรียน เย็นก็เอากล่องข้าวกลับบ้านด้วย คงสงสัยใช่ไหมคะว่าแล้วพ่อแม่ที่ทำงานทั้งคู่จะทำยังไง ก็จ่ายเงินค่าอาหารกลางวันให้โรงเรียนจัดให้ ส่วนวันที่เด็กเรียนแค่ครึ่งวันก็จ่ายเงินให้โรงเรียน ‘อันชินปัน’ ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนกวดวิชาประเภทหนึ่ง มารับเด็กจากโรงเรียนไป จะมีครูคอยดูแลสอนให้เด็กทำการบ้านจนเสร็จ หาข้าวให้กิน รอจนกว่าพ่อแม่จะมารับ โรงเรียนประเภทอันชินปันนี้ก็จะอยู่ละแวกแถวโรงเรียนที่เด็กเรียนนั่นแหละค่ะ

ส่วนโรงเรียนกวดวิชาตัวจริงที่เรียกว่า ‘ปู่สีปัน’ นั้นจะพบเห็นได้ทั่วไป อาจจะมากหน่อยในละแวกใกล้ๆโรงเรียนมัธยม ในระดับมัธยมต้น (หรือ ‘กั๋วจง’) ก็ยังคงเรียนตามเขตทะเบียนบ้านเช่นกัน เขตจะส่งรายชื่อโรงเรียนมาให้เลือกสมัคร อันนี้เรียน 3 ปี จากนั้นก็ต่อระดับมัธยมปลาย (เรียกว่า ‘เกาจง’) อีก 3 ปี ระดับนี้ใช้วิธีสอบดูคะแนนว่าจะเข้าโรงเรียนมัธยมปลายที่ไหนได้บ้าง อันนี้ข้ามเขตกันได้เลย เรียกการสอบเข้ามัธยมปลายว่า ‘會考 – หุ้ยเข่า’ แต่ถ้าจบมัธยมต้นแล้วต้องการเรียนต่อสายอาชีพ ต้องสอบ ‘統測 – ถ่งเช่อ’ ซึ่งเป็นการสอบเข้าเรียนในโรงเรียนอาชีวะ ซึ่งภาษาจีนกลางเรียกว่า ‘高工 – เกากง”  เรียน 3 ปีจบเหมือนมัธยมปลาย แล้วถ้าเกิดเปลี่ยนใจอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็ไปสอบเทียบเอา แล้วก็สอบเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้

ส่วนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีสอบ 2 ครั้ง ครั้งแรกจัดสอบช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปีเรียกว่า ‘學測 – เสวียเช่อ’ เอาคะแนนที่ได้ยื่นสมัครมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้เลย ซึ่งสามารถเลือกสมัครได้ 6 สถาบัน แต่ละสถาบันเลือกได้ 2 คณะ ถ้าสถาบันที่สมัครไปตอบรับต้องสอบสัมภาษณ์ก่อน ถ้าผ่านก็ได้เข้าเรียน แต่ถ้าผลคะแนนไม่ดี หรือยื่นสมัครแล้วไม่มีที่ไหนตอบรับ สามารถสอบได้อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมที่เรียกว่า ‘直考 – จื๋อเข่า’ งวดนี้ต้องทำคะแนนดีๆ แล้วไปยื่นสมัครมหาวิทยาลัยที่ต้องการกันอีกครั้ง ถ้ารับก็เข้าเรียนได้เลยค่ะ

แต่ที่ไต้หวันนี่มีระบบการขอย้ายมหาวิทยาลัยได้ด้วย ซึ่งแต่ละปีมีนักศึกษาที่เรียนๆ ไปแล้วเกิดไม่ชอบใจสถาบันที่เรียนอยู่ หรืออยากเปลี่ยนไปเรียนสาขาอื่น ก็ยื่นเรื่องสมัครขอโอนหน่วยกิตไปเรียนต่อที่อื่นได้ คุณชายของฉันต้องไปสอบสัมภาษณ์เด็กที่ขอโอนหน่วยกิตมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยที่สอนอยู่ช่วงเดือนมกราคมของทุกปี คือบางทีก็มีประเภทที่ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำคะแนนได้ไม่ดีพอเข้าสถาบันดังๆ ได้ แต่พอเข้าไปเรียนปีแรกก็พยายามทำเกรดดีๆ เพื่อจะขอโอนหน่วยกิตมาเรียนที่สถาบันที่ตัวเองต้องการ ลักษณะนี้เรียกว่า ‘轉學 – จ่วนเสวีย’ แปลตรงตัวก็ย้ายโรงเรียน หรือก็มีแบบโดนเตะออกจากที่เดิมก็มีนะคะ

การศึกษาภาคบังคับของไต้หวันคือ 12 ปี โดยโรงเรียนรัฐบาลนี่เรียนฟรี ที่นี่มีโรงเรียนเอกชนไม่มาก เพราะมาตรฐานโรงเรียนรัฐจัดอยู่ในระดับดีทีเดียว โดยเฉพาะในเมืองไทเปที่ได้งบประมาณเยอะกว่าเมืองอื่น อย่างโรงเรียนประถมที่ฉันสอนภาษาไทยให้อยู่ตอนนี้ บางคาบที่สอนมีนักเรียนคนเดียว กลายเป็นการเรียนแบบตัวต่อตัวเลยนะ เห็นงบประมาณด้านการศึกษาของที่นี่แล้วอิจฉาเด็กไต้หวันจริงๆ

แน่นอนว่ามีโรงเรียนอินเตอร์ด้วย สำหรับพวกลูกชาวต่างชาติที่มาทำงานในไต้หวัน ที่โด่งดังเข้ายากสุด(แพงสุดด้วยมั้ง ปีละเกือบล้านนึงได้) ก็คือ Taipei American School ตอนที่ฉันมาถึงปีแรก พี่สาวคนหนึ่งของฉันอยากให้ลูกมาเรียนที่ไทเป เพื่อจะได้ทั้งภาษาจีนกลางและภาษาอังกฤษ ฉันก็เลยหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ได้ที่อยู่มาก็ดั้นด้นไป แต่ให้ตายเถอะโรบิน! กว่าจะฝ่าด่านยามหน้าประตูเข้าไปถามรายละเอียดได้ ฉันนึกว่ากำลังจะเข้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาอย่างนั้นเลย รปภ. ถาม จะมาทำไม ขอชื่อคนที่จะเข้าไปพบ บลา บลา บลา โฮ้ย ยุ่งจังเว้ย พอเข้าถึง admission office ได้ ยิ่งมึนใหญ่ คือเขาจัดลำดับของการให้ที่นั่งเรียนในห้องแบบนี้ค่ะ first priority ได้แก่พวกลูกของชาวอเมริกันที่ถูกส่งเข้ามาทำงานอยู่ในไทเป จากนั้นก็ค่อยเป็นพวกลูก expat ชาติอื่นๆ แล้วถึงจะเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในไต้หวันซึ่งพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งถือพาสปอร์ตต่างชาติ อาเจ๊ที่ admission office แนะนำว่าถ้าฉันต้องการเอาหลานมาสมัครเรียน ฉันต้องเป็นผู้ปกครองหลานตามกฎหมาย นั่นคือฉันต้องทำเรื่องรับหลานเป็นบุตรบุญธรรมเสียก่อน แล้วถึงจะมีสิทธิ์สมัครได้ แต่จะได้เข้าเรียนหรือไม่ยังไม่รู้ แล้วแต่ละปีก็ต้องมานั่งลุ้นอีกว่าจะได้ที่นั่งในชั้นเรียนอีกไหม โอ้โฮ มันจะยุ่งยากอะไรขนาดนั้น

หลานเอ๋ย เรียนโรงเรียนวัดพลับพลาชัยแถวบ้านอาม่าไปเถิดนะลูกนะ

Don`t copy text!