核能電廠 – เหอเหนิงเตี้ยนฉั่ง

核能電廠 – เหอเหนิงเตี้ยนฉั่ง

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

ช่วงนี้ข่าวทีวีไต้หวันมีเรื่องนึงที่ค่อนข้างเป็นที่สนใจของประชาชนอยู่บ้างนั่นคือ การลงประชามติเรื่องเปิดใช้โรงงานพลังไฟฟ้านิวเคลียร์โรงที่สี่ ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตก้งเหลียว (貢寮) เมืองนิวไทเป การลงประชามติจะมีขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ซึ่งมีวาระเรื่องที่ให้ประชาชนลงคะแนนออกเสียงทั้งหมดสี่เรื่อง แต่ที่เป็นที่สนใจมากหน่อยก็เรื่องของการจะเปิดใช้โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์โรงที่สี่ (ที่สร้างเสร็จแต่ไม่เคยได้เปิดใช้) หรือไม่

ไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก (Photo courtesy of Taipower)

คือเรื่องของโรงไฟฟ้าโรงนี้มันค่อนข้างซับซ้อนอยู่สักหน่อยค่ะ มีหลายปัจจัยและเหตุการณ์ที่ค่อยๆ สั่งสมกันมาจนทำให้ไม่ได้เปิดใช้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมปีนี้ (ค.ศ. 2021) ได้เกิดไฟดับขึ้นในบางพื้นที่ของทั้งเกาะเป็นเวลาถึงห้าชั่วโมง (แล้วก็มีดับตามมาอีกในวันรุ่งขึ้น) ประชากรประมาณสี่ล้านหลังคาเรือนไม่มีไฟใช้สี่ถึงห้าชั่วโมงในวันที่อากาศร้อนตับแลบ เหตุเกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคบางประการของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (power grid น่ะค่ะ ฉันไม่แน่ใจว่าภาษาไทยมีคำศัพท์เฉพาะทางไหม) ที่โรงไฟฟ้าเมืองเกาสง ก็เลยทำให้มีการหยิบยกเรื่องของโรงไฟฟ้าโรงนี้ขึ้นมาอีกครั้ง คุณนายฮวงที่เป็นสายกรีนก็เลยให้ความสนใจกับประเด็นร้อนนี้สักหน่อย ประจวบกับไปอ่านเจอที่มาที่ไปของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไต้หวัน ขอเอามาเล่าให้อ่านกันเพลินๆ จัดเข้าประเภท FYUI = For Your Useless Information น่ะค่ะ😅

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือ 核能電廠 – เหอเหนิงเตี้ยนฉั่ง ที่ชาวไต้หวันเรียกกันนั้น ได้เริ่มเปิดดำเนินการครั้งแรกในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1977 โรงแรกนี้ถูกสร้างขึ้นที่หมู่บ้านเฉียนหัว (乾華) บริเวณเชิงเขาในเขตสือเหมิน (石門) เมืองนิวไทเป โดยชาวบ้านในละแวกนั้นมีอาชีพปลูกชา Black Tea ถ้าจะให้ฉันบอกตำแหน่งที่ตั้งก็ขอใช้คำว่ายอดเกาะเลยละกัน😉 เพราะถ้าพิมพ์หาในแผนที่อากู๋ก็ไม่เจอหรอกค่ะ ก็ถูกแทนที่ด้วยเหอเหนิงเตี้ยนฉั่งไปแล้วไงคะ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่กำลังก่อสร้าง ในเขต Shihmen ของเมืองนิวไทเปยังคงมองเห็นได้ (Photo courtesy of Eighteen Kings Temple)

ขอเล่าเพิ่มเติมนิดนะ คุณชายเคยเล่าให้ฟังว่า ในตอนที่ฮีเป็นเด็กมักจะได้ยินผู้ใหญ่คุยกันถึง 十大建設 – สือต้าเจี้ยนเซ่อ มันคืออภิมหาโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐาน ที่อดีตประธานาธิบดีเจี่ยงจิงกั๋วมีดำริให้ทำขึ้น เป้าหมายเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศนี้ ตัวอย่างบางส่วนของโครงการนี้ที่เราได้ใช้งานกันเห็นๆ ก็คือ สนามบินเถาหยวน (เดิมชื่อสนามบินเจียงไคเช็ค แต่มาถูกเปลี่ยนชื่อในสมัยประธานาธิบดีเฉินสุ่ยเปี่ยน) แล้วก็ฟรีเวย์ทั้งสองเส้นโดยเฉพาะฟรีเวย์เบอร์ 1 ที่บรรดานักท่องเที่ยวต้องรู้จักแน่ เมื่อนั่งรถจากสนามบินเข้ามาตัวเมืองไทเปน่ะค่ะ ตานี้พอดีช่วงต้นยุคทศวรรษ 70s เนี่ยโลกเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้น รัฐบาลของคุณเจี่ยงก็กลัวว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงาน ไม่มีไฟฟ้าใช้แล้วมันจะยุ่ง ก็เลยบรรจุ 核能電廠 เข้าไว้เป็นหนึ่งในโครงการ 十大建設 ด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จึงกำเนิดขึ้นด้วยเหตุนี้ค่ะ

เจียง ไคเช็ค ประธานาธิบดีในขณะนั้นในปี 1970 เยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก (Photo courtesy of Taipower)

ตอนแรกที่มีข่าวว่าจะสร้าง ชาวบ้านทั้งหลายก็ไม่ค่อยรู้หรอกค่ะว่ามันคืออะไรกันแน่ ติดจะดีใจนิดๆ ด้วยซ้ำว่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงานเพิ่ม คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นอะไรทำนองนี้ล่ะค่ะ จากนั้นก็มีโรงที่สองและที่สามตามมาปั่นไฟฟ้าให้ชาวเกาะได้ใช้กันตามดีมานด์ (demand) ที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จนกระทั่งวางแผนจะสร้างโรงที่สี่ในเขตก้งเหลียวนี่ล่ะ ที่ได้เริ่มมีการคัดค้าน เพราะถึงเวลานั้น ชาวบ้านรู้แล้วว่าเหอเหนิงเตี้ยนฉั่งต้องใช้ผู้ที่ถูกฝึกมาเข้าไปทำงาน ไม่ใช่จ้างชาวบ้านแถวนั้นเข้าไปทำงาน

นอกจากนี้ยังเริ่มตระหนักถึงอันตรายที่มีต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะ nuclear waste ที่ไม่มีที่กำจัด ต้องขนไปทิ้งที่เกาะหลันอวี่ – 蘭嶼 ซึ่งชาวบ้านบนเกาะนั้นก็โวยวายคัดค้านอีกด้วย และเมื่อเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลประเทศรัสเซีย (Chernobyl Nuclear Disaster) ขึ้นอีกในปี 1986 จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา จนถึงรัฐบาลของหม่าอิงจิ่วได้สั่งระงับการดำเนินการต่อไว้ก่อน

ที่ไต้หวันมีการใช้พลังงานทุกอย่างมาผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากน้ำ ลม ถ่านหิน นิวเคลียร์ ฯลฯ ถ้าใครเคยมาเที่ยวที่นี่ก็คงเห็นนะคะว่า ในเวลากลางคืนที่นี่สว่างไสวราวกลางวันก็ไม่ปาน ป้ายตามร้านค้าที่เปิดกันค่อนข้างดึกก็ใช้ไฟฟ้ากันทั้งนั้น คือถ้าถามความเห็นฉัน ฉันเองก็ไม่มีคำตอบที่มันชัดเจนให้ได้หรอกค่ะว่าควรเปิดเหอเหนิงเตี้ยนฉั่งโรงที่สี่มาใช้งานไหม คือถ้าจะเปิดใช้งานก็ต้องมีการซ่อมแซมเนื่องจากปิดไว้นาน เครื่องไม้เครื่องมือมันก็เสื่อมสภาพไปบ้าง ซึ่งก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แล้วถ้าไม่เปิดใช้ การที่จะรื้อถอนก็ใช้เวลาตั้ง 25 ปีแน่ะ แถมก็ต้องใช้เงินในการรื้อถอนอีกนะ😔 แล้วถ้าตามที่รัฐบาลนี้ประกาศไว้ว่าจะให้ไต้หวันใช้ Green Energy ซึ่งการสร้างกังหันลมหรือสิ่งอื่นๆ เหล่านั้น ก็ต้องลงทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาลอีกเหมือนกัน คือที่ค่าไฟฟ้าของไต้หวันไม่แพงมาก ส่วนนึงก็เพราะมีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ กว่าครึ่งของไฟฟ้าบนเกาะนี้มาจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์นี่ล่ะค่ะ

ถ้าคนไต้หวันจะไม่เอาเหอเหนิงเตี้ยนฉั่งกันจริงๆ ฉันก็สงสัยว่าแล้วพวกเขาจะรับได้กับค่าไฟฟ้าที่ต้องสูงขึ้น และอาจต้องลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ไหม อย่างที่บอกไว้ตอนต้นบทความน่ะ

ผู้อยู่อาศัยในเขต Jinshan ของเมืองนิวไทเปจัดการประท้วงต่อต้านขยะนิวเคลียร์ในปี 2545 ที่หน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก (Photo: Huang Chi-hao, Taipei Times)

เรื่องของโรงไฟฟ้าโรงนี้มันค่อนข้างซับซ้อน คือมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นมาตลอดเวลาเช่น ในปี 1982 ก็มีพนักงานโรงไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุโดนรังสีเสียชีวิต ปี 1988 ชาวเกาะหลันอวี่หนึ่งร้อยคนมาชุมนุมประท้วงที่หน้าสำนักงานใหญ่ของการไฟฟ้าไต้หวัน คัดค้านเรื่องการทิ้งกากนิวเคลียร์ นอกจากนี้ก็เคยมีอดีตนักการเมืองหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคหมินจินตั่ง นั่งประท้วงคัดค้านการเปิดใช้โรงที่สี่ด้วยการอดอาหารจนเกือบเสียชีวิต แล้วที่มีแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเกิด Fugushima Nuclear Disaster เมื่อปี 2011 ก็ยิ่งทำให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวต่อต้านการเปิดโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์โรงที่สี่มากยิ่งขึ้น ล่าสุดก็เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง กลุ่ม No Nukes Taiwan ก็ได้ทำการรณรงค์คัดค้านขึ้นอีก โดยพยายามชักชวนให้ประชาชนโหวตไม่เอานิวเคลียร์ในการลงประชามติในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ โดยประท้วงคัดค้านกันอย่างสงบด้วยการจัดวางรองเท้าหนึ่งพันคู่ที่จัตุรัสเสรีภาพ ในบริเวณด้านหน้าของอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ค

“Solidarity through shoes, oppose nuclear power,”

ตัดสินใจยากจริงๆ นะคะ รัฐบาลน่าจะมีการให้ข้อมูลทั้งแง่บวกและแง่ลบแก่ประชาชนอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา เพราะถ้าดูจากบรรดารายการทีวีที่เชิญใครต่อใครมาถกกัน มันก็ยิ่งทำให้คนสับสนกันเข้าไปใหญ่ ถ้าให้ข้อมูลกันแบบเปิดเผยตรงไปตรงมาถึงข้อดีข้อเสีย ประชาชนมีความตระหนักรู้มากขึ้น ฉันว่าอาจจะทำให้การลงประชามติมันแจ่มชัดง่ายขึ้นค่ะ นี่ฉันยังคิดอยู่เลยว่า ถ้าปวดหัวคิดมากๆ เข้าว่าจะโหวตยังไงดี เดี๋ยวไปเสี่ยงเซียมซีถามหลวงพ่อที่วัดบนเขาหลังบ้าน เป็นคุณนายฮวงสายมูซะเลย จบ😅

Don`t copy text!