土地公 – ถู่ตี้กง

土地公 – ถู่ตี้กง

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– 土地公 – ถู่ตี้กง –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ช่วงใกล้ปีใหม่ของทุกปี มักจะมีข่าวทีวีเกี่ยวกับงานเลี้ยง ‘尾牙 – เหว่ยหยา’ (หาอ่านรายละเอียดได้ในบท Old Normal) เสมอว่าบริษัทใหญ่ๆ จะจัดที่ไหน จะมีศิลปินดารานักร้องคนไหนไปแสดงในงานบ้าง ปีนี้ก็เช่นกัน ฉันเริ่มเห็นรายงานข่าวเกี่ยวกับเหว่ยหยากันบ้างแล้ว แต่เป็นข่าวในทางตรงกันข้ามกับทุกปีกล่าวคือ ปีนี้แทบจะทุกบริษัทงดจัดเหว่ยหยา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นี่ล่ะค่ะ นักข่าวไปสัมภาษณ์พวกนักแสดงโชว์ต่างๆ เช่น นักมายากล หรือพวก street performer ที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำมาทุกปีจากงานเหว่ยหยาเหล่านี้ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า ปีนี้เลยขาดรายได้หลักประจำปีไป ฉันเห็นแล้วก็สงสาร แย่ไปตามๆ กันทั่วโลก เพราะเจ้าไวรัสตัวแสบนี้ เฮ้อ

ป้ายศาลเจ้า
ทางขึ้นศาลเจ้า

จากที่เคยเล่าไปว่า งานเลี้ยงประจำปีของบริษัทในไต้หวันที่เรียกว่าเหว่ยหยานี้ สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อน ผู้ที่ทำมาค้าขายต้องการไหว้ขอบคุณ ‘土地公 – ถู่ตี้กง’ (土地 แปลว่า ผืนดินหรือแผ่นดิน) หรือ ‘福德正神 – ฝูเต๋อเจิ้งเสิน’ ที่ช่วยดูแลให้กิจการค้าราบรื่น ไหว้เสร็จก็นำของไหว้มากินเลี้ยงกัน วันนี้ก็เลยคิดว่ามาเล่าเพิ่มเติมให้ฟังกันเกี่ยวกับถู่ตี้กงสักหน่อยละกัน เพราะจะว่าไปแล้ว ท่านจัดว่าเป็นเทพเจ้าที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับมนุษย์เรามาก อย่างชื่อที่ใช้เรียกท่านก็มีคำว่า อากง (土地公) บ้าง หรืออาแปะ (土地伯) บ้างต่อท้าย แสดงให้เห็นถึงการยกย่องที่มนุษย์มีต่อท่านแบบญาติสนิท ถู่ตี้กงท่านมีหลายชื่อมากค่ะ อย่างที่ไต้หวันนี่เท่าที่ฉันเคยได้ยินคนเรียกกันก็มีสองชื่อคือถู่ตี้กง กับฝูเต๋อกง – 福德公 ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนจะเรียกท่านว่าตี่จู๋เอี๊ย – 地主爺 ที่ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ตี้จู่เหย (อ่านออกเสียง ย.ยักษ์ นะคะ ไม่ใช่เสียงตัว ห.หีบ) แต่ที่บ้านฉันเราเรียกกันว่า เหล่าเอี๊ย จะเรียกชื่อไหนก็ตามท่านก็คือ เทพเจ้าที่คุ้มครองบ้าน ชุมชน หรือสถานที่ที่มีการตั้งศาลเจ้าอยู่นั่นเอง เทียบกับของทางคนไทยเราก็คือศาลพระภูมิเจ้าที่นั่นเองค่ะ

ตอนที่ฉันมาถึงไต้หวันใหม่ๆ ก็งงว่า ทำไมในบ้านอาปาอามาของคุณชายไม่เห็นมีตั้งศาลเหล่าเอี๊ยแบบบ้านของอาเตี่ยและหม่ามี้ของฉันที่กรุงเทพฯล่ะ ในใจก็นึกไปเองว่าบ้านนี้เขาคงไม่เคร่งศาสนากันมั้ง แต่พออยู่ๆ ไปก็ได้คำตอบเองค่ะ เพราะไปไหนๆ ก็จะเห็นป้ายบอกทางไป 福德宫 (อ่านว่า ฝูเต๋อกง เหมือนกันแต่ กง – 宫 ตัวอักษรนี้มีความหมายว่า วังหรือตำหนัก) พอถามคุณชายว่าคืออะไร ฮีก็อธิบายสั้นๆ ว่า ฝูเต๋อกงก็เหมือนกับศาลเจ้าที่บ้านของยูที่กรุงเทพฯ ไง แต่ที่นี่จะตั้งกันอยู่ตามชุมชน คนจะไหว้ก็นำของไปไหว้ที่ศาลเจ้าฝูเต๋อกงหรือถู่ตี้กงนี้ล่ะ อืม ก็มีเหตุผลดีนะ เพราะที่นี่บ้านอยู่กันแบบคอนโดฯ แล้วก็พื้นที่ใช้สอยไม่มาก ตั้งเป็นศาลเจ้าชุมชนแบบนี้สะดวกกว่า ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนเราที่อยู่อาศัยกันในตึกแถวเป็นส่วนใหญ่ มักจะตั้งศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยกันไว้บนพื้นของชั้นล่างสุด ตำแหน่งก็ต้องตั้งให้หันหน้าตรงกับประตูทางเข้าบ้าน เพื่อที่ท่านจะได้สอดส่องดูแลไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามา  ปกปักรักษาคุ้มครองผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น บ้านฉันที่กรุ่งเทพฯก็ตั้งตามตำรานี้เป๊ะเลยค่ะ แล้วเท่าที่ฉันเห็นเวลาเดินผ่านร้านรวงตึกแถวในย่านถนนทรงวาด หรือถนนเยาวราช ก็ตั้งศาลตี่จู๋เอี๊ยกันแบบนี้ทุกที่ล่ะค่ะ น่าจะถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยแหละ

บางแห่งจะมีภรรยาถู่ตี้กง
ศาลเจ้าถู่ตี้กงแห่งหนึ่งในไทเป

ตานี้มาว่ากันถึงตำนานความเป็นมาของถู่ตี้กงกันบ้าง ตามภาษาจีนที่ฉันแกะอ่านมาเห็นว่า ตำนานพื้นบ้านที่เล่าขานกันมาเกี่ยวกับท่านนั้น มีมากมายหลายตำนานมากๆ ค่ะ แต่เท่าที่เขายกตัวอย่างมามีสองตำนาน ตำนานแรกเล่าว่า ในสมัยราชวงศ์โจว รัชสมัยของฮ่องเต้โจวอู่ มีขุนนางท่านหนึ่งชื่อว่า 張福德 – จางฝูเต๋อ เมื่ออายุได้ 36 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมสรรพากร ท่านจางฝูเต๋อเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ ขยันขันแข็งทำงานจนเป็นที่รักของประชาชนทั่วไป เมื่อท่านเสียชีวิตลงที่อายุ 102 ปี ผู้คนไปเคารพศพท่านกันอย่างล้นหลาม และต่างพากันอัศจรรย์ใจยิ่งที่ท่านถึงแก่กรรมไปสามวันแล้วแต่สภาพร่างกายทุกอย่างยังเหมือนเดิมทุกประการ ต่อมาทางการได้แต่งตั้งเจ้ากรมสรรพากรคนใหม่มาแทนชื่อว่า 魏超 – เว่ยเชา ขุนนางคนนี้นี่คดโกง ไม่เที่ยงธรรม รักเงินยิ่งชีพ ชาวบ้านทั้งหลายคิดถึงความซื่อสัตย์เที่ยงธรรมของท่านจางฝูเต๋อเป็นที่สุด ชาวบ้านยากจนคนนึงจึงนำหินสี่ก้อนมาก่อเป็นศาลเจ้าเล็กๆ เพื่อบูชาท่าน ต่อมาชาวบ้านผู้ยากจนนั้นได้ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเชื่อว่าเป็นเพราะท่านจางฝูเต๋อช่วยปกปักรักษาดูแล จึงสร้างศาลและหล่อรูปของท่านเป็นทองขึ้นมาไว้บูชาและขนานนามท่านว่า 福德正神 ซึ่งแปลได้ประมาณว่า เทพเจ้าแห่งโชคลาภและความมั่งคั่ง พ่อค้าในสมัยโบราณนิยมบูชาท่านเพื่อให้กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรือง ฉันคิดว่านี่น่าจะเป็นที่มาของการเลี้ยงเหว่ยหยานะคะ

อีกตำนานหนึ่งก็ยังคงเป็นในสมัยราชวงศ์โจวเช่นกัน แต่เล่ากันว่า จางฝูเต๋อหรือจางหมิงเต๋อเป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านของหมอคนหนึ่ง ซึ่งได้จากบ้านไปเพื่อรับตำแหน่งในวังหลวง ทิ้งลูกสาวเล็กๆ ไว้ จางฝูเต๋อได้พาคุณหนูของเขาออกเดินทางตามไปหาบิดา ในระหว่างทางได้ผจญกับพายุหิมะ เขาจึงถอดเสื้อคลุมของตัวเองปกป้องคุณหนูตัวน้อยจากความหนาวเย็น จนตัวเองหนาวตาย ในขณะนั้นเองบนฟ้าได้ปรากฏตัวอักษรเก้าตัวขึ้นคือ 南天門大仙福德正神 – หนันเทียนเหมินต้าเซียนฝูเต๋อเจิ้งเสิน น่าจะแปลได้ประมาณว่า ประตูสวรรค์ทางทิศใต้ได้เปิดรับเซียนผู้ยิ่งใหญ่ฝูเต๋อเจิ้งเสิน (อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันนะคะ เป็นการตีความจากที่ฉันอ่านมา) และความภักดีต่อเจ้านายของเขาก็ทำให้ท่านหมอซาบซึ้งใจมาก จึงสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อเจ้านาย

อย่างที่บอกค่ะ ตำนานเกี่ยวกับถู่ตี้กงมีมากมาย ตามที่แกะอ่านมาก็มีกล่าวอีกว่า มีถู่ตี้กงได้หลายๆ ท่านแล้วแต่เง็กเซียนฮ่องเต้ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ท่านจะแต่งตั้ง ให้ผู้ใดเป็นถู่ตี้กงเพื่อดูแลพื้นที่แต่ละแห่งหน แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมักจะเป็นผู้ที่มีคุณธรรมประจำชีวิตเป็นหลัก เมื่อเสียชีวิตลงจึงได้รับการแต่งตั้งจากสวรรค์ให้เป็นเทพปกปักรักษาบริเวณนั้นๆ

เป็นไงคะ ตำนานของตี่จู๋เอี๊ย – 地主爺 ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนไหว้กันอยู่แทบทุกตรุษ ที่บ้านฉันอาเตี่ยจะไหว้เหล่าเอี๊ยทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือนจีนค่ะ จัดว่าเป็นวันพระของทางจีนก็น่าจะได้มั้ง เอาไว้จะไปแกะอ่านภาษาจีนตำนานที่เกี่ยวกับเทพเจ้า ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเรารู้จักคุ้นเคยกันมาเล่าให้ฟังอีก ถ้ายังไม่เบื่อกันซะก่อน แต่วันนี้อิฉันขอลาไปพักสายตาก่อนล่ะนะ😅

Don`t copy text!