ตัวอักษรจีน

ตัวอักษรจีน

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

– ตัวอักษรจีน –

มีผู้อ่านคนหนึ่งเคยคอมเมนต์ในอ่านเอาว่า อยากให้ฉันเล่าเรื่องตัวอักษรจีน เลยขอคุยให้ฟังกันสักนิดนะคะ อย่างที่รู้ๆ กันว่าตัวหนังสือจีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีสองแบบ แบบแรกคือ Traditional Chinese Character (ตัวเต็ม) ซึ่งใช้กันอยู่ในไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในบางประเทศที่ก่อตั้งมานานก่อนที่แบบที่สองจะแพร่หลาย นั่นก็คือ Simplified Chinese Character (ตัวย่อ) ที่ใช้กันในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ขอเรียกว่า ต้าลู่ – 大陸 ที่แปลว่าแผ่นดินใหญ่ละกันนะ) สิงคโปร์ มาเลเซีย และชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่เริ่มตั้งชุมชนหลังการใช้ตัวย่ออย่างแพร่หลาย

Mcdonald’s NYC

อย่างในเมืองไทยเรา หนังสือพิมพ์จีนที่อาเตี่ยของฉันอ่านทุกเช้า ยังคงเป็นตัวเต็มอยู่ แต่การเรียนการสอนภาษาจีนในสถานศึกษาต่างๆ ส่วนมากจะใช้อักษรจีนตัวย่อ เพื่อให้สอดคล้องกับต้าลู่ที่มีการติดต่อค้าขายกันอยู่ค่อนข้างเยอะ (อันนี้เดาเอานะ ฮิฮิ) ตอนไปเที่ยวเชียงใหม่เมื่อประมาณสามปีก่อน เห็นป้ายภาษาจีนที่วางบ้างแขวนบ้างอยู่หน้าร้านรวงทั้งหลายในคูเมือง ก็ใช้ตัวย่อกันทั้งนั้น แล้วก็เจอนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ฉันฟังสำเนียงก็รู้ว่าเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ (เดี๋ยวนี้เก่งขนาดแยกสำเนียงออกด้วยนะ – ขอชมตัวเองนิดเถอะ ฮี่ฮี่) จึงไม่ประหลาดใจว่าทำไมในเมืองไทยถึงสอนตัวย่อ

หนังสือเรียนที่ศูนย์ภาษาจีนกลางของมหาลัยซือต้า

อักษรจีนตัวย่อถูกสร้างและเริ่มใช้โดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนของต้าลู่ในปี พ.ศ. 2492 เนื่องมาจากแนวคิดที่ว่า การใช้อักษรจีนตัวย่อจะช่วยเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ของชาวจีนมากขึ้น ฉันเข้าใจว่าตัวอักษรที่มีการเปลี่ยนเป็นตัวย่อ น่าจะเป็นพวกคำที่ใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน มีประมาณสามพันกว่าตัว ข้อมูลตรงนี้เคยอ่านมาจากที่ไหนสักแห่งนานมากแล้วค่ะ เลยจำแหล่งอ้างอิงไม่ได้แล้วต้องขออภัยด้วย แต่ฉันเคยถามคุณชายถึงเรื่องนี้ คุณชายบอกว่าจริงๆ แล้วตัวหนังสือจีนในสมัยก่อนนู้น (สมัยที่ยังเป็นก๊กๆ กัน ก่อนที่จิ๋นซีฮ่องเต้จะควบรวมให้เป็นประเทศเดียว และกำหนดให้ใช้ตัวหนังสือมาตรฐานตัวเดียวกัน ซึ่งก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ก่อนที่จะมาเป็นตัวอักษรตัวเต็มในปัจจุบัน) ก็ไม่ได้ใช้เหมือนกันหมดทุกก๊กซะทีเดียว มีความแตกต่างกันอยู่บ้างนิดๆ หน่อยๆ พวกส่วนประกอบบางตัวของตัวย่อในปัจจุบันก็เอามาจากพวกอักษรโบราณเหล่านั้นบ้าง จึงไม่ใช่ว่าเป็นการสร้างใหม่ขึ้นมาทั้งหมดทีเดียว

ตอนสมัยเด็กๆ คุณเตี่ยได้จ้างครูมาสอนภาษาจีนพวกเราพี่น้องที่บ้านตอนเย็นๆ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะอาทิตย์ละ 2-3 วัน เริ่มเรียนตอนฉันอยู่สัก ป.5 มั้ง แล้วก็เรียนมาเรื่อยจนถึงจบ ม.2 พอปิดเทอมหน้าร้อนปีนั้น คุณเตี่ยก็ส่งไปเรียนซัมเมอร์ที่โรงเรียนสำหรับลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองกวางเจา เพื่อจะได้ฝึกวิทยายุทธที่ร่ำเรียนมาตั้งสี่ปี ทดลองดูว่าพวกเราพี่น้องจะเอาไปใช้ในชีวิตจริงๆ ได้รึเปล่า เป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในชีวิต นั่งเครื่องการบินไทยไปลงฮ่องกง แล้วต่อรถไฟเข้าไปกวางเจา ณ จุดที่เป็นชายแดนที่จะเข้าเขตเสิ่นเจิ้น เราต้องลงเดินเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่กัน ไปผ่าน ต.ม. หอบข้าวของกันพะรุงพะรัง เดินข้ามแดนแบบมีทหารยืนเรียงรายกันเต็มไปหมด แต่ไม่ยักกลัวนะ เห็นเป็นเรื่องสนุกตื่นเต้นดี จินตนาการไปซะว่าเราถ่ายหนังอยู่ บันเทิงเริงใจเก๋ไก๋ไปเรื่อยตามประสาคุณหนูเล็กแห่งเยาวราชค่ะ

textbook ที่ใช้ในเมืองไทย

สมัยโน้นคนจีนยังใส่ชุดแบบท่านประธานเหมากันอยู่เลย ขี่จักรยานกันเต็มถนน เงินที่ใช้ก็แบ่งเป็นสองประเภท คือสำหรับคนท้องถิ่นใช้ กับสำหรับนักท่องเที่ยวใช้ มีห้างสรรพสินค้าชื่อ ‘Friendship Store’ หรือ ‘โหย่วอี๋ซังเตี้ยน – 友誼商店’ ที่คนจีนท้องถิ่นเข้าไปซื้อไม่ได้ เป็นห้างสำหรับคนต่างชาติเท่านั้น แล้วก็ใช้ระบบ ‘siesta’ คือนอนพักหลังอาหารกลางวัน ห้องน้ำทุกที่เป็นแบบไม่มีประตู จำได้ประมาณว่าเรียนตอนเช้า กินข้าวกลางวันเสร็จ นอนพัก ตื่นมาทางโรงเรียนก็พาไปเที่ยว บางเสาร์อาทิตย์ก็มีพาไปเที่ยวนอกเมืองค้างคืนนึง ตอนนั้นยังเด็กๆ ลุยๆ ได้ รู้สึกสนุกดี ห้องน้ำไม่มีประตูก็ขำๆ มาตอนนี้สงสัยไม่ไหว เป็นป้าแล้ว ให้ไปยองๆ นั่งส้วมคงลุกไม่ขึ้นแน่ๆ ฮ่าฮ่าฮ่า แต่เป็นประสบการณ์ที่ดีนะคะ ได้เห็นเมืองจีนตอนยังไม่เจริญเท่าไร ธรรมชาติก็ยังสวยงาม แหม! แล้วเดี๋ยวจะหาว่าคุย ตอนนั้นน่ะพูดจีนกลางปร๋อเลยนะ (อ๊ะๆ วันนี้มาแนวขี้อวดเนอะ 😀) พอกลับมาเรียนต่อ ม.3 พี่สาวคนโตกะให้ไปสอบเข้าเรียน ม.4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็เลยหยุดพักการเรียนภาษาจีนไป กลายเป็นหยุดยาวเลย มาเรียนอีกทีก็ตอนเป็นคุณนายฮวงนี่ล่ะ

รูปตัวเลขที่เป็น 大寫 และ 小寫

ตอนที่เรียนอยู่ที่บ้านสมัยเด็กๆ เรียนตัวเต็ม ใช้จู้อิน (ㄣㄆ ㄇㄈ…) สะกดออกเสียง หัดเขียนตัวอักษรจีนด้วยพู่กัน ก็จะรู้สึกว่ายากจังวุ้ย ขีดมันเยอะไปหมด เขียนแล้วชอบล้นออกมานอกกรอบ พอไปเรียนที่กวางเจา เจอตัวอักษรจีนแบบตัวย่อ ใช้พินอิน (ตัว a b c d…) อีกตะหาก โอ้โฮ! มันจะง่ายอะไรขนาดนี้ ชอบจริงๆ เริ่มถูกชะตากะภาษาจีนขึ้นมาทันที แต่พอถูกคุณชายล่อลวงด้วยการเอาช้อปปิ้งมาล่อให้อพยพตามเธอมาอยู่นี่ เจอตัวเต็มอีกครั้ง โอย เซลล์สมองตายเป็นเบืออีกแล้ว 😅 ถ้าถามความเห็นฉันเกี่ยวกับตัวเต็มตัวย่อในขณะนี้นะคะ ตัวเต็มมันมีที่มาที่ไป ถ้าเราจำความหมายของพวกส่วนประกอบ (radical) ได้ เราก็จะพอเดาเสียงและความหมายได้ค่ะ การเรียนการสอนที่ศูนย์ภาษาจีนกลางของซือต้า ในหนังสือเรียนจะมีให้ทั้งจู้อินและพินอินช่วยสะกดการออกเสียง แต่แน่นอนว่าตัวอักษรที่เรียนเป็นตัวเต็ม เรียนๆ ไปมันก็เริ่มชิน เริ่มเก่งวิชาเดาดิโอโลจี้(อันนี้นี่วิชาเอกของฉันทุกสถาบัน ฮิฮิ) ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวย่อก็น่าจะง่ายดีสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาจีนมาก่อน น่าจะจำง่าย เรียนได้เร็วขึ้น(รึเปล่า? อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะ) แต่ก็เพิ่งเห็นข่าวในทีวีเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตอนนี้ที่ต้าลู่มีการเปิดคอร์สการสอนเขียนภาษาจีนตัวเต็ม คนที่ไปเรียนส่วนใหญ่เป็นพวกคนทำงาน คล้ายๆ ว่า เหมือนไปเรียนพวกวาดรูปศิลปะอะไรประมาณนั้นล่ะ นักข่าวถามคนที่มาเรียนว่าทำไมมาเรียน เขาตอบว่า รู้สึกว่ามันเหมือนเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ควรเรียนรู้ ถือเป็นการพักผ่อนจากการทำงานอย่างหนึ่งด้วย ตามข่าวว่าได้รับความนิยมทีเดียว เปิดกันหลายแห่งแล้ว

ตัวอักษรจีนในเชียงใหม่

มาถึงตรงนี้ ขอให้ความรู้นิดนึง คิดว่าคงมีหลายคนที่อาจยังไม่รู้เรื่องตัวอักษรจีนที่เป็นตัวเลข  การเขียนตัวเลขในภาษาจีนมีสองแบบเรียกว่า 小寫 – เสียวเสี่ย กับ 大寫 – ต้าเสี่ย เราจะคุ้นเคยแบบ 小寫 มากกว่า ให้ดูเปรียบเทียบเลยแล้วกัน

Number            小寫             大寫

0                      〇                   零

1                      一                  壹

2                      二                   貳

3                      三                  叁

4                      四                   肆

5                      五                   伍

6                      六                   陸

7                      七                   柒

8                      八                  捌

9                      九                  玖

Digit                 小寫             大寫

10s                   十                  拾

100s                 百                   佰

1,000s              千                   仟

ตัวแบบ 大寫 จะใช้เขียนตัวเลขที่เกี่ยวกับจำนวนเงิน เหตุผลคือความปลอดภัย ยกตัวอย่างให้ดูนะเช่น ฉันเขียนเช็คจำนวนเงิน 三十萬 (300,000) ถ้ามีใครมาเขียนเติมสองขีดที่ตัว 三 กับเติมอีกหนึ่งขีดเข้าไปที่ตัว 十 จำนวนเงินสามแสนจะกลายเป็นห้าสิบล้านทันที 五千萬 (50,000,000)!

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยเขียนตัว 大寫 ไปเลยว่า 叁拾萬 ก็ไม่มีใครแก้ไขจำนวนเงินบนเช็คได้ หัวใจฉันก็ไม่วายด้วย 😂😂😂

 

Don`t copy text!