梅花 – เหมยฮวา

梅花 – เหมยฮวา

โดย : คุณนายฮวง

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วันในไต้หวัน’ โดย คุณนายฮวง สาวไทยสุดไฮเปอร์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ไทเปได้หลายปีดีดักกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันและมุมมองหลากหลาย เรื่องราวดีๆ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์

***********************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เล่าให้ฟังเรื่อง ‘茶花 – ฉาฮวา’ ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ‘油桐花 – โหยวถงฮวา’ ก็เล่าไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ไหนๆ ก็ไหนๆ จะละเลยดอกไม้อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของคุณนายฮวงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชนิดอื่นๆ ไปได้อย่างไร นั่นก็คือ ‘梅花 – เหมยฮวา’ ที่อากู๋แปลเป็นไทยว่า ดอกบ๊วย ภาษาอังกฤษคือ Plum Blossoms อันจัดเป็นญาติสนิทร่วมตระกูลของ apricot – แอปริคอต ซึ่งภาษาไทยน่าจะเรียกทับศัพท์ไปเลยมั้ง ใช่ไหมคะ หรือมีชื่อไทยด้วย ถ้าใครรู้ช่วยบอกกันนิดก็ดีค่ะ จะได้รู้ไว้😅 เพราะในความเข้าใจของฉัน ลูกท้อน่าจะหมายถึงพีชมากกว่า ไม่น่าใช่แอปริคอต อิฉันก็ไม่ใช่ทั้งนักพฤกษศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ซะด้วยสิ😄 เอาเป็นว่า วันนี้ขอคุยให้ฟังแค่เรื่องเหมยฮวาดีกว่านะ

ซากุระมีก้านดอก ออกดอกเป็นช่ออยู่ด้วยกันในหนึ่งตา

อันว่าน้องบ๊วยนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Prunus mume ชื่อสามัญคือ Chinese plum, Japanese plum, Japanese apricot ปกติออกดอกในช่วงกลางๆ ค่อนมาปลายหน้าหนาวต่อมาถึงต้นฤดูใบไม้ผลิ สำหรับที่แถวไทเปนี่ก็ประมาณเดือนมกราคมค่ะ ที่ฉันจะไปด้อมๆ มองๆ ตามหาแถวต้าหูพาร์ก (Dahu Park) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเท่าไร เพราะเคยเจอโดยบังเอิญ ตอนแรกที่เห็นไกลๆนึกว่าเป็นซากุระพันธุ์ของญี่ปุ่น ยังแปลกใจว่า ปีนั้นทำไมซากุระออกเร็ว นึกว่าเป็นเพราะอากาศแปรปรวน ซากุระเลยงงๆ ออกมาช่วงหน้าหนาว พอเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ถึงได้รู้ว่าเป็นเหมยฮวา จริงๆ แล้วหน้าตามันก็คล้ายกันมาก แต่เผอิญฉันเคยอ่านเจอถึงความแตกต่างของสองดอกไม้นี้มาก่อน จำได้แม่นเลยว่า วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดคือ เหมยฮวาไม่มีก้านดอก ดอกเหมือนงอกออกมาจากกิ่งของต้นเลย ดูๆ ไปเหมือนเอาดอกบ๊วยแปะไว้บนกิ่ง (เหมือนแปะสติกเกอร์ประมาณนั้น😆) แล้วอีกอย่างคือ เหมยฮวานี่ชอบฉายเดี่ยวค่ะ บานออกมาเป็นดอกเดี่ยวๆ จากหนึ่งตา ในหนึ่งกิ่งมีกี่ตา ก็จะมีเหมยฮวาบานออกมาเท่าจำนวนตานั่นล่ะค่ะ ไม่เหมือนดอกซากุระ (櫻花 – อิงฮวา) ที่หนึ่งตาจะมีดอกบานออกมาหลายๆ ดอก มีก้านดอกอยู่กันเป็นช่อเป็นพวงสวยงามไปอีกแบบนึง

แล้วก็กลีบดอกของเหมยฮวาจะกลมมน ในขณะที่กลีบของอิงฮวาที่ตอนปลายจะมีลักษณะเป็นแฉก ต้องมองแบบสังเกตสังกากันนิดนึง ถึงจะเห็นแฉกที่ปลายกลีบ ส่วนสีของอิงฮวามันก็มีกันตั้งแต่สีขาวไปจนถึงชมพูเข้ม แล้วแต่พันธุ์น่ะค่ะ อย่างพันธุ์ของไต้หวันที่ฉันเห็นบ่อยๆ เวลาไปไฮกิ้งบนเขาเรียกว่า 山櫻花 – ซันอิงฮวา จะมีสีชมพูเข้ม ส่วนเหมยฮวานั้นเห็นว่ามีตั้งแต่สีขาวไปจนถึงสีแดงเข้มเฉดม่วง แต่ฉันยังไม่เคยเห็นเหมยฮวาสีอื่นเลยค่ะ เห็นแต่สีขาว จริงๆ ถ้าพูดถึงในแง่ความเจริญตา ฉันชอบอิงฮวามากกว่านิดนึง เพราะด้วยลักษณะของการออกดอกเป็นช่อพราวไปหมดทั้งต้น (ถ้าโชคดีได้เห็นตอนกำลังบานสะพรั่งไปทั้งต้นนะคะ) แต่ถ้าในแง่ของความชื่นใจทางนาสิก ฉันขอเทคะแนนให้เหมยฮวาค่ะ เพราะเหมยฮวามีกลิ่นหวานหอมของดอกไม้ ในขณะที่อิงฮวากลิ่นจางมากจนพูดได้ว่าแทบจะไม่มีกลิ่นเลย

และที่สำคัญที่สุด (ที่ฉันยังมึนอยู่ว่า ทำไม้ ทำไม ฉันลืมเขียนถึงเหมยฮวาไปได้นะ 😅) คือ เหมยฮวาเป็นดอกไม้ประจำชาติไต้หวันค่ะ!!… 梅花 梅花 满天下 – เมย ฮวาเม้ย ฮวาหม่าน เทียนเซี่ย 🎵🎶🎤 นั่น…เสียงเพลงเหมยฮวาของเติ่งลี่จวินลอยมาเลย😉😁😂 แต่อย่าเข้าใจผิดว่าเพลงเหมยฮวาเป็นเพลงประจำชาติของไต้หวันนะ เพลงชาติไต้หวันคือเพลง “三民主義 – ซันหมินจู่อี้” (ที่เป็นแนวคิดของ ดร.ซุนยัดเซ็น ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานระบอบการปกครองของไต้หวัน) ฉันฟังเพลงเหมยฮวามาตั้งแต่เด็กๆ เลยได้รู้ว่าเหมยฮวาเป็นดอกไม้ประจำชาติของไต้หวันก็จากการฟังเพลงนี้ล่ะค่ะ คนแต่งเพลงนี้คือ คุณหลิวเจียชัง (劉家昌) ที่ได้แต่งเพลงนี้เพื่อเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 1976 และแล้วเพลงโปรดของอิฉันก็ได้รับรางวัลม้าทองคำสาขาเพลงประกอบภาพยนต์ยอดเยี่ยมในปีนั้น ทั้งหนังและเพลงถูกผลิตออกมาเพื่อปลุกจิตสำนึกรักชาติ หลังจากที่ไต้หวันถูกเชิญออกจากการเป็นสมาชิกของสหประชาชาติในปี 1971

ผลบ๊วยสดหมักเกลืออยู่ในขวดโหล

และเนื่องจากเหมยฮวายังคงสามารถบานสะพรั่งได้อย่างมีชีวิตชีวา ส่งกลิ่นหอมอบอวลอยู่ในอากาศ ท่ามกลางหิมะที่หนาวเย็นในฤดูหนาว ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความยืดหยุ่น การปรับตัว และความไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ยากในช่วงฤดูหนาวอันโหดร้ายนี้เอง จึงได้รับการประกาศให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไต้หวันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 1964 ดังนั้น บนเครื่องบินของ China Airlines ที่เป็นสายการบินแห่งชาติ เราจึงได้เห็นเหมยฮวาเป็นโลโก้ใหญ่ยักษ์ประดับอยู่ที่ส่วนหางของเครื่องบินด้วย นอกจากเป็นโลโก้แล้ว ถ้าไปพิจารณาดูงานศิลปะจีน เรามักจะเห็นกิ่งก้านเหมยฮวาปรากฏอยู่ในภาพวาดของจีน (Chinese paintings) หรือเป็นลายบนถ้วยโถโอชามเสมอๆ เพราะจัดเป็นหนึ่งในตอกไม้แห่งสี่ฤดู – The Flowers of the Four Seasons ซึ่งนอกจากเหมยฮวาแล้วก็ยังมี ดอกกล้วยไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ ดอกบัวที่เป็นสัญลักษณ์ของฤดูร้อน ดอกเบญจมาศที่เป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วง ลองสังเกตความงามของดอกไม้ทั้งสี่ในงานศิลปะจีนกันดูนะคะ

ชารสบ๊วยร้อนของร้านชุนสุ่ยถัง มีอูเหมยใส่มาให้ในถ้วยชาด้วย

เหตุผลถัดมาที่ทำให้เหมยฮวาเป็นดอกไม้โปรดของฉันก็คือ… เดากันได้ใช่ไหมคะ เรื่องกินน่ะสิคะ😋 นอกจากให้ดอกที่สวยงามเป็นที่เจริญตาเจริญใจในหน้าหนาวแล้ว ต้นเหมยยังให้ผลเหมยหรือ 梅子 – เหมยจึ ที่เรารู้จักกันในนามลูกบ๊วยนั่นล่ะค่ะ เอามาทำสารพัดของกินได้อีกหลายอย่าง ลูกบ๊วยนี่ก็ของชอบ น้ำบ๊วยนี่ยิ่งโปรดใหญ่ แต่โปรดสุดคือเหล้าบ๊วย😜😂 พูดเล่นค่ะ ฮิฮิ ที่ไต้หวันเวลาถ้าไปร้านอาหารจีน แล้วถ้าใครถามว่าจะดื่มอะไร ฉันมักจะเลือกสั่ง 酸梅湯 – ซวนเหมยทัง เป็นอันดับแรก มันคือน้ำบ๊วยน่ะแหละ ทำจากลูกบ๊วยแห้งที่เรียกว่า 烏梅 – อูเหมย ถ้าจะเสิร์ชดู พิมพ์ภาษาอังกฤษว่า Smoked plum ก็ได้ค่ะ ฉันว่าหน้าตามันก็คือลูกบ๊วยแห้งที่เรากินกันนั่นล่ะ เอาอูเหมยไปต้ม ใส่น้ำตาลหน่อยก็ได้ซวนเหมยทังมาดื่มแล้วค่ะ นอกจากน้ำบ๊วย ก็ยังมีซอสบ๊วยที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่า 梅子醬 – เหมยจึเจี้ยงอีก ใช้จิ้มหมูเห็ดเป็ดไก่หรือปอเปี๊ยะทอดก็ยังได้ คุณหม่ามี้อิฉันน่ะเวลามาที่นี่ บางทีก็มักจะหิ้ว 梅酒 – เหมยจิ่ว (Plum wine) หรือเหล้าบ๊วยกลับไปดื่มแทนไวน์แบบฝรั่ง แต่ฉันว่ามันก็อร่อยดีนะ เปรี้ยวๆ นิดๆ ช่วยเจริญอาหารดีเหมือนกัน ที่ไต้หวันมีชื่อหน่อยก็คือ 烏梅酒 – อูเหมยจิ่ว แต่ฉันว่าคนไทยคงคุ้นกับยี่ห้อดังของญี่ปุ่นเนอะ จริงๆ เห็นเขาว่าเหมยจิ่วทำไม่ยากนะคะ เคยเห็นเพื่อนคนนึง นางทำเอง โพสต์กระบวนการทำให้ดูกันในเฟซบุ๊ก แต่ฉันก็ยังไม่เคยลองทำดูสักที คุณชายบอกว่า ซื้อเอาเหอะ ชัวร์ดี

ซากุระสวยๆ

เพลงเหมยฮวา ร้องโดยคุณหลิวเจียชัง ผู้แต่งเพลง

ฟังแล้วออกจะแปร่งๆ หูอยู่ซะหน่อย ไอ้คำว่าชัวร์ดีของฮีนี่หมายความว่าอะไรฟะ😅😂

Don`t copy text!